"ถ้าไม่ขึ้นค่าแรงให้เป็นธรรม พวกเราจะไม่เขียนงานต่อ"
คือหนึ่งในใจความของการเคลื่อนไหวประท้วงหยุดงานของเหล่าสมาคมนักเขียนอเมริกัน หรือ WGAW (Writers Guild of America West) ที่ออกมาหยุดงานเพื่อประท้วงสตูดิโอ ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2023 ที่ผ่านมา หลังจากยื่นข้อเสนอเจรจากับสตูดิโอไม่เป็นผลสำเร็จ พวกเขาจึงตัดสินใจโหวตว่า จะประท้วงหยุดงานเพื่อให้สตูดิโอฟังเสียงของพวกเขาอย่างจริงจังมากขึ้น
การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องขึ้นค่าแรงครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นกับวงการนักเขียนอเมริกัน ที่ส่งผลกระทบต่อพวกเราทุกคนอย่างแน่นอน ในยุคสมัยที่การรับชมสตรีมมิ่ง ซีรีส์ ภาพยนตร์ออนไลน์ กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนส่วนใหญ่ ในบทความนี้เราอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักการเคลื่อนไหวเพื่อแรงงานนักเขียนกันมากขึ้นว่ามันจะส่งผลกระทบอะไรได้บ้าง และมันจะเปลี่ยนแปลงวงการนักเขียนในอุตสาหกรรมสื่อสร้างสรรค์อย่างไร
Writer Strike ปี 2008 ปฏิวัติวงการซีรีส์อเมริกัน
‘Writer Strike’ ในอเมริกาครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2008 ที่นักเขียนหยุดงานไปกว่า 100 วัน ซึ่งทำให้ซีรีส์ ภาพยนตร์ และรายการที่มีการเขียนสคริปต์ต้องหยุดถ่ายทำ จนสตูดิโอผู้ผลิตต้องเสียเงินไปกว่า 2 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ จากการรวมตัวหยุดงานที่ส่งผลให้ซีรีส์ทีวีหลายเรื่องไม่สามารถถ่ายทำต่อได้ ซึ่งจะสามารถสังเกตได้จากจำนวนตอนที่สั้นลงเป็นพิเศษ รวมถึงคุณภาพซีรีส์ที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จนกลายเป็นช่วงขาลงของซีรีส์ดังหลายเรื่องในยุคนั้น อย่างเช่น ‘Heroes’ ไปจนถึงซีรีส์อย่าง ‘Gossip Girl’
Photo Credit: tvinsider / USA Today
การประท้วงหยุดงานครั้งนี้ทำให้ผู้ชมส่วนใหญ่ และนักแสดงหลายคนได้เห็นว่า ซีรีส์ดีหลายเรื่องนั้น มีนักเขียนเป็นกำลังสำคัญที่แท้จริง นักแสดงจะแสดงได้ดีก็เมื่อได้รับบทที่ดีจากนักเขียนผู้ตั้งใจทำงาน ผู้ชมที่รอเสพความบันเทิงก็ได้รู้แล้วว่า หากบทไม่มีคุณภาพ พวกเขาก็ไม่พอใจกับซีรีส์ หรือภาพยนตร์ที่พวกเขาได้รับชม การเคลื่อนไหวนี้ถือเป็นหนึ่งหมุดหมายที่ปฏิวัติวงการซีรีส์อเมริกัน จนทำให้สตูดิโอต่างๆ ในภายหลังต้องร่วมลงทุนกับกระบวนการเขียนบทมากขึ้น
ขอขึ้นค่าแรงที่เป็นธรรม และคุ้มครองให้นักเขียนให้ได้ค่าแรงขั้นต่ำที่เท่าเทียม
‘ไม่มีใครอยากทำงานแล้วไม่ได้รับค่าแรงที่เป็นธรรม’ คือเสียงของเหล่านักเขียนที่ออกมาเดินขบวนประท้วง ข้อเรียกร้องหลักของการประท้วงครั้งนี้คือ การต่อรองกับสตูดิโอให้ขึ้นค่าแรงเพียง 3% ซึ่งตีเป็นเงิน 429 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ให้แก่นักเขียนทุกคนในสมาคมที่ทำงานหนักขึ้นกว่าเดิม ทั้งทำงานล่วงเวลา ทำงานหลายชิ้นในระยะเวลาเร่งรีบตลอดเวลา ตั้งแต่ที่สตูดิโอต่างๆ เรียกร้องให้มีการผลิตคอนเทนต์สำหรับบริการสตรีมมิ่งต่างๆ มากขึ้นพร้อมกัน
นอกจากขอขึ้นค่าแรงที่เป็นธรรมแล้ว เหล่านักเขียนยังเรียกร้องเพื่อให้มีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อป้องกันการเอาเปรียบค่าแรงในวงการนักเขียนด้วย โดยเฉพาะกับกลุ่มนักเขียนที่ทำงานในแวดวงบริการสตรีมมิ่งในปัจจุบัน ที่ไม่มีมาตรการคุ้มครองค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้พวกเขาได้รับค่าแรงต่ำกว่านักเขียนในวงการโทรทัศน์
ห้องนักเขียนต้องมีที่ว่างมากขึ้น และอาชีพนี้ต้องมีโอกาสเติบโต
หนึ่งในนักเขียนของทาง WGA ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ ‘Character Media‘ ทำให้พวกเราได้เห็นว่า ปัจจุบันอาชีพนักเขียนในสหรัฐอเมริกายังคงมีมาตรฐานเพดานการเติบโต และจำนวนที่ว่างที่จำกัดอยู่ หากพวกเขาไม่สามารถขยับเพดาน สร้างพื้นที่ว่างด้วยการเจรจาค่าแรงได้ อาชีพนักเขียนทุกวันนี้ก็จะโดนเอาเปรียบด้วยการว่าจ้างสัญญาที่ระยะเวลาสั้นลง ผลิตงานเยอะแต่ไม่มีความยั่งยืน และโอกาสเติบโตในระยะยาว
"สิ่งที่กลุ่ม WGA เรียกร้องคือ การเพิ่มเงินขึ้นเพียง 3% ถูกแชร์กับนักเขียนทุกคนที่สร้างคอนเทนต์ให้พวกเราเห็น ในห้องของนักเขียน พวกเราถูกกดขี่ให้ตัวเราเล็กลงเรื่อยๆ พวกเราถูกเรียกร้องให้ทำงานนานขึ้นเรื่อยๆ และได้เงินน้อยลงเรื่อยๆ พร้อมกับยังถูกลดโอกาสในการทำงาน ลดการฝึกฝนทักษะเพื่อที่พวกเราจะสามารถไต่เต้าในอาชีพได้ การกระทำเช่นนี้ ทำให้เราถูกบีบให้ตัวตนของเราเล็กลงเรื่อยๆ
ข้อเสนอคุ้มครองนักเขียนไม่ให้ถูก AI เทคโอเวอร์
อีกหนึ่งข้อเสนอสำคัญที่นักเขียนต่อรองกับสตูดิโอก็คือ กลุ่มนักเขียนต้องการจะได้รับการคุ้มครองว่า AI จะไม่สามารถเข้ามาแย่งงาน หรือนำผลงานของพวกเขาไปเรียนรู้ได้ เพื่อรักษาให้อาชีพนักเขียนเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืนต่อไป โดยไม่ต้องถูก AI เข้ามารีไรท์ สร้างสรรค์งานใหม่จากการเรียนรู้ผลงานที่นักเขียนเคยสร้างสรรค์มา แต่ทว่าทางสตูดิโอก็ได้ปฏิเสธข้อเสนอนี้ ซึ่งทำให้เหล่านักเขียนหลายคนโกรธเป็นอย่างมาก หนึ่งในนักเขียน 'Adam Conover' ได้ทวีตถึงเหตุการณ์นี้ไว้ว่า มันคือการดูถูกอาชีพนักเขียนอย่างรุนแรง
"เราต่อสู้เพื่อการอยู่รอดของงานเขียนในฐานะทางเลือกอาชีพ พวกเราเสนอกับพวกเขาไปว่า AI จะต้องไม่ถูกนำมาใช้ในงานของพวกเรา และพวกเขาก็ปฏิเสธข้อเสนอนี้ พร้อมบอกว่า พวกเขาจะหารือกันต่อในการประชุมประจำปีเรื่องความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ว้าว ประชุม! ขอบคุณมากๆ มันเป็นการโต้แย้งที่ดูถูกพวกเรามากๆ"
ท้ายที่สุดแล้วหาก Writer Strike ยังดำเนินต่อไปซีรีส์ดังอย่าง ‘Stranger Things’ ‘The Last of Us’ ‘Abbott Elementary’ หรือ ’Saturday Night Live’ ก็จะต้องถูกชะลอการถ่ายทำออกไปอย่างไม่มีกำหนด จนกว่าทางสตูดิโอจะยอมรับข้อเสนอของนักเขียน และนักแสดงเองที่ออกมาร่วมขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนนักเขียนในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ด้วย และสตูดิโออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ก็จะต้องเสียเงินเป็นจำนวนมากอย่างแน่นอน แต่สิ่งที่น่ากังวลไม่ใช่แค่เรื่องสตูดิโอจะเสียรายได้ หรือซีรีส์ที่เราชอบจะฉายช้ากว่าปกติ
สิ่งที่น่ากังวลก็คือ ปัญหาการตกงานของนักเขียนที่ไม่ได้ค่าแรง คนในกองถ่ายที่ไม่มีงานให้ถ่ายทำ เมื่อพวกเขาไม่สามารถหาเลี้ยงชีพจากอาชีพหลักที่พวกเขารักได้ และการประท้วงนี้ก็ยังคงดำเนินต่อไป คนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ก็จะต้องลำบากกว่าเดิม ในการหาเงินมาเลี้ยงชีพตัวเอง แต่ถ้าหากพวกเขาไม่ออกมาเคลื่อนไหวในอนาคต อาชีพของพวกเขาก็จะถูกกดค่าแรงต่อไป และนักเขียนส่วนมากอาจจะต้องเผชิญกับการตกงาน เนื่องจากถูก AI เข้ามาแทนที่
อ้างอิง