Culture

‘ประชาชนเบียร์’ – พลังประชาชนเพื่อการเมืองเรื่องกินดื่ม

ถ้าพูดถึงกลุ่มประชาชนที่รวมตัวกันเพื่อขับเคลื่อนการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ‘ประชาชนเบียร์’ คงจะเป็นอีกชื่อหนึ่งที่ใครหลายคนคงเคยได้ยินผ่านหูมาบ้าง ความใฝ่ฝันที่อยากจะเห็นเสรีภาพในการกินดื่มของคนไทย และการสร้างอาชีพจากการทำเหล้าเบียร์ของประชาชนตัวเล็กๆ คือวัตถุประสงค์หลักของประชาชนเบียร์ ที่พวกเขายังคงต่อสู้อยู่แม้ในวินาทีนี้ และนี่คือเรื่องราวของประชาชนเบียร์ ประชาชนที่อยากเห็นคนไทยสามารถลืมตาอ้าปากได้จากอาชีพที่พวกเขารัก

จากคนธรรมดาสู่ประชาชนเบียร์

เรานัดเจอกับ ‘เบนซ์ – ธนากร ท้วมเสงี่ยม’ ผู้ก่อตั้งเพจประชาชนเบียร์ ณ ร้านขายของชำเล็กๆ แห่งหนึ่งย่านชานเมือง แม้ว่าภายนอกจะไม่ได้ดูแตกต่างจากร้านขายของชำทั่วไป แต่เมื่อเดินเข้าไปในร้าน เราจะพบกับสารพัดคราฟต์เบียร์ฝีมือคนไทย ตั้งเรียงรายอยู่ในตู้เย็นหลายตู้ จึงไม่ค่อยแปลกใจนักว่าทำไมร้านนี้จึงเป็น ‘จุดหมายปลายทาง’ ของคนรักคราฟต์เบียร์อีกร้านหนึ่ง

“ผมไม่กินเบียร์แมส ผมว่าไม่อร่อย แต่พอมาเจอคราฟต์เบียร์ก็รู้สึกสนุกตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้กิน แก้วแรกของผมคือเบียร์ใส่กาแฟ รู้สึกว่ามันเปลี่ยนโลกของเราไปเลย ทำให้อยากเข้าไปรู้จักมันมากขึ้น แล้วก็เริ่มเจอเบียร์แปลกๆ เช่น เบียร์ใส่ทุเรียน เบียร์ใส่พริกแกง เบียร์วาซาบิ ซึ่งคนไทยทำเองหมดเลย แล้วก็เป็นการต้มเองที่บ้านด้วย ส่วนเบียร์ที่ผมรู้สึกว่าพิเศษและล้ำมากๆ ตั้งแต่ที่เคยกินมา คือเบียร์ส้มตำปูปลาร้า มันมีรสชาติเปรี้ยว แต่กลิ่นจะออกปลาร้านิดๆ แล้วก็มีความเผ็ดติดคอ เหมือนกับเรากินส้มตำปูปลาร้า มันไปอีกขั้นหนึ่งแล้วในสมองเรา ซึ่งโอเคว่ารสชาติอาจจะไม่ได้หวือหวา แต่ก็กินได้ แล้วก็แสดงถึงความสามารถของคนต้มเบียร์ที่เก่งมากๆ แต่เขาไม่มีพื้นที่” เบนซ์เริ่มต้นเล่า

จากคนธรรมดาที่อยากต่อยอดธุรกิจเรื่องคราฟต์เบียร์ แต่เมื่อเบนซ์ลองอ่านกฎหมาย เขาจึงตระหนักได้ว่าประชาชนตัวเล็กๆ ไม่มีทางที่จะทำธุรกิจเบียร์ได้เลยในประเทศนี้ และนั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงและเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมาย ที่จะเปิดช่องให้คนในสังคมสามารถประกอบอาชีพ ‘คนต้มเบียร์’ ได้อย่างถูกกฎหมาย และนำไปสู่การรวมตัวของคนดื่ม คนต้ม และคนขายคราฟต์เบียร์ เกิดเป็น ‘ประชาชนเบียร์’ ที่เคลื่อนไหวอย่างแข็งขันในที่สุด

“การเคลื่อนไหวของเราเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อคนอื่น เพราะวันนี้ผมก็ไม่ได้ทำเบียร์แล้ว ต้องยอมเอาสิ่งที่ชอบไปพักวางไว้ก่อน เพื่อจะมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ ผมแค่หวังว่า วันหนึ่งจะเห็นลูกหลานของพี่ๆ น้องๆ ในวงการ สามารถต้มเบียร์อย่างถูกกฎหมายได้ที่บ้าน สามารถทำกันเองได้ มีแบรนด์เยอะแยะเต็มไปหมด แล้วก็มีความเสรีในการกินดื่ม มีชีวิตที่ดีขึ้น เราว่านั่นอาจจะเป็นความสุขที่มากกว่าที่ผมเคยทำมาทั้งหมดในชีวิต ก็เลยเป็นจุดที่ผมอยากเปลี่ยนอะไรสักอย่าง ผมเห็นความลำบากของคนในประเทศเรา แล้วมันก็มีอะไรที่ไม่แฟร์เยอะ เรื่องเบียร์เป็นแค่ส่วนหนึ่ง ที่อาจจะเป็นเสี้ยวเล็กๆ ของการกดขี่มนุษย์ในประเทศไทย” เบนซ์กล่าว

ยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวที่เปลี่ยนแปลง

ในช่วงที่ไฟแห่งการชุมนุมประท้วงของประชาชนกำลังลุกโหมกระหน่ำ ก็ได้มีการรวมตัวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยทุกหัวเมืองทั่วประเทศ ประชาชนเบียร์เองก็เป็นส่วนหนึ่งที่เข้าร่วม โดยหวังว่าพวกเขาจะสามารถใช้พื้นที่ตรงนั้น เรียกร้องให้เกิดการแก้ไขกฎหมาย และสร้างความเข้าใจให้กับภาคประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่การกระจายรายได้ไปสู่คนทำเบียร์มากกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ ทว่า วิธีการจับกุมและคุมขังของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประชาชนต้องลดระดับการเคลื่อนไหวลงในช่วงปีหลัง และทำให้มวลชนจำเป็นต้องหาวิธีการเคลื่อนไหวที่แตกต่างออกไป เช่นเดียวกับการพยายามหาแนวร่วมให้เพิ่มมากขึ้น

“ตอนที่เราทำเรื่องเกี่ยวกับการเมืองเยอะๆ มันก็ดูตรงไปตรงมาและชัดเจนดีว่าจะทำอะไรยังไง แต่พอทำงานมาจริงๆ เราก็เริ่มเห็นภาพที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ เรารู้ว่าสิ่งที่เราต้องการ ก็คือสิ่งที่คนส่วนใหญ่ต้องการ พวกเราต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศ ต้องการแก้กฎหมาย แต่มันไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ด้วยคนกลุ่มดียว มันต้องเป็นทุกคน เราก็เลยพยายามดึงคนทุกสีมารวมกัน โดยมีเบียร์เป็นแกนหลักของมัน เราไม่ได้ทิ้งการเคลื่อนไหวเดิมๆ แต่เราแค่เปลี่ยนมุมมองให้กว้างขึ้น แล้วก็รู้สึกว่ามันต้องค่อยๆ ไล่ระดับการทำงาน เราไม่สามารถทำลายยอดพีระมิดได้โดยไม่ยุ่งกับฐานของมัน เพราะฐานนี่ล่ะที่สำคัญมาก นั่นทำให้ผมพยายามจะสื่อสารกับคนให้มากขึ้น” เบนซ์อธิบาย

เมื่อถามถึงความรู้สึกที่ต้องเปลี่ยนกลยุทธ์การเคลื่อนไหว เบนซ์บอกว่า “สนุกขึ้นเรื่อยๆ ครับ ในการทำงานก็มีอุปสรรคอยู่ตลอด แต่เพราะผมเป็นคนมองโลกในแง่ดีมั้ง ก็เลยรู้สึกว่ามันสนุกขึ้น พอเราทำงานแล้วได้เจอกับปัญหาอะไรสักอย่างหนึ่ง ยิ่งไปชนกับปัญหาใหญ่เท่าไร มันก็เหมือนเราไปเจอทางตัน แต่ก็เป็นทางตันที่ทำให้เราได้เจอทางใหม่ที่ดีขึ้น จะได้พัฒนาตัวเองและเข้าใจบริบทมากขึ้น ผมเลยไม่รู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องยาก”

ชัยชนะจะได้มาเมื่อประชาชนเป็นหนึ่งเดียว

“เมื่อก่อนผมไม่สนใจการเมืองเลย ผมคิดว่าเหล้าเบียร์ไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่พอเข้าใจบริบททุกอย่างของประเทศ ก็กลายเป็นว่าเราได้เรียนรู้และเข้าใจว่าควรจะแก้ตรงไหน ขยับจากตรงไหนไปตรงไหน ก็คือมองภาพใหญ่ทั้งขบวน แต่ปัญหาคือประชาชนรวมตัวกันไม่ได้ มันเลยยังไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง”

เบนซ์พูดเสมอว่า เขาเชื่อในพลังการรวมกลุ่มของประชาชนในการขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม เมื่อไหร่ที่คนมารวมตัวกันมากๆ ก็จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา เช่นเดียวกับการนึกถึงประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่เบนซ์พยายามสื่อสารเกี่ยวกับคราฟต์เบียร์มาโดยตลอด

“มีคนอีกเป็นล้านที่ยังไม่รู้เลยว่าการเมืองคืออะไร เราอยากสอดแทรกการเมืองของเราให้อยู่ในเบียร์ อยู่ในการกินดื่ม และสามารถพูดคุยกันแบบเปิดกว้าง โดยไม่จำเป็นต้องทะเลาะกัน การทะเลาะไม่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มีแต่แบ่งแยกและปกครอง มันเป็นแบบนี้มาตลอด แล้วมันก็ทำให้เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ เราต้องรวมตัวกันให้ได้ก่อน ตอนนี้ยังเป็นขั้นแรกอยู่ ตั้งแต่ผมเคลื่อนไหวมาจนตอนนี้เข้าปีที่ 4 มันยังแค่เริ่มต้น ไม่ได้ใหญ่ไปกว่าเดิม เราคาดหวังกับคนอีกเรือนแสนเรือนล้าน ที่จะออกมาทำอะไรให้ชัดเจน วันนี้แค่จุดเริ่มต้น และเราก็ยังหวังว่ามันจะขยับไปสู่การขยายแนวร่วมที่เพิ่มมากขึ้น” เบนซ์กล่าว

“เราถูกสอนให้มองว่าการพูดถึงการเมืองเป็นเรื่องผิดปกติ ไม่ควรพูด ไม่ควรคุยกัน ในวงเหล้าอย่าคุยเรื่องการเมือง อย่าคุยเรื่องศาสนา เรื่องความเชื่อ ซึ่งผมไม่คิดแบบนั้น ผมคิดว่ามันควรคุย แต่เราไม่ได้คุยแบบด่ากัน เราคุยกันถึงเหตุและผลของสิ่งที่เชื่อ ไม่ได้บลัฟเพื่อเอาชนะกัน แต่คุยเพื่อแลกเปลี่ยนว่าใครคิดยังไง ผมเชื่อว่าถ้าเราสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ กล้าคุยกัน โดยที่ไม่ทะเลาะกันก่อน มันจะทำให้เรารวมตัวกันได้”

พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า

วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติผ่านวาระแรก ‘ร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สรรพสามิต ฉบับที่… พ.ศ….’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า’ โดยมีสาระสำคัญคือการแก้ไข

พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มาตรา 153 ที่ระบุว่า “ผู้ใดประสงค์จะผลิตสุราหรือมีเครื่องกลั่นสำหรับผลิตสุราไว้ในครอบครอง ให้ยื่นคำขออนุญาต่ออธิบดี และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด การขออนุญาตและการออกใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่กำหนดในกฎกระทรวง” ที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นกฎหมายจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

“ผมก็ไม่คิดว่าจะผ่าน แต่เชื่ออย่างหนึ่งว่า การทำงานของเราจะสามารถเปลี่ยนความคิดคน และกฎหมายจะเปลี่ยนเมื่อความคิดคนเปลี่ยน แม้กระทั่งศาลก็เปลี่ยนได้ เราก็เลยทำงานยังไงก็ได้ให้คนเข้ามาร่วมขบวนมากที่สุด ให้เขาเข้าใจว่าบริบทของเหล้าเบียร์ของประเทศนี้เป็นอย่างไร ให้เขาได้ตั้งคำถาม ให้เขาสนใจ แล้วมันจะค่อยๆ ขยับไปทีละนิด แต่ที่สำคัญคือถ้าไม่มีคนเขียนกฎหมาย มันก็ไม่เปลี่ยน ถ้าไม่มีคนในสภาก็ยาก แต่ถ้าไม่มีมวลชนก็ยากเข้าไปอีก มันก็เลยต้องไปคู่กัน การทำงานต้องเป็นไปแบบนั้นล่ะ”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงก่อนการพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 นี้ ก็มีข่าวลือเล็ดลอดออกมาจากทำเนียบรัฐบาลว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้หารือกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล และได้ข้อสรุปว่าไม่อยากให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านความเห็นจากสภา เนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัย ปัญหาเรื่องสุราเถื่อน รวมไปถึงการผลิตที่ไม่ได้คุณภาพ ซึ่งทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนในสังคมอีกครั้งหนึ่ง

“เรายังหวังว่ารอบสองจะผ่าน แล้วก็หวังว่ามันจะแก้ได้ แต่สุดท้ายจริงๆ เราก็ไม่ได้สนใจว่ากฎหมายจะแก้ไหม เพราะว่าการทำงานของเรามันทลายทุกอย่างไปแล้ว กฎหมายที่ห้ามผลิตเบียร์ที่บ้าน ห้ามขายเบียร์ในเวลานู้นเวลานี้ เราจัดกิจกรรมให้เห็นเลยว่าไม่สนใจ อยากให้เขารู้สึกว่ากฎหมายแบบนี้มันไม่แฟร์ และสิ่งที่เราทำคือการดันเพดาน ทำลายทุกอย่างที่เขาเขียนไว้ ให้เขาเห็นเลยว่า นี่ไง มันคือสิ่งที่ควรจะเป็น อนาคตของประเทศไทยมันต้องเป็นแบบนี้ มีคนต้มเบียร์ในประเทศนี้เป็นร้อยเป็นพัน มีการขายกันปกติ ซึ่งมันไม่ทำให้คนเป็นบ้า ไม่ได้ทำให้ประเทศนี้พัง แต่กลับทำให้เทศนี้ดีขึ้น ทุกคนมีรายได้และความสุข เท่านั้นก็ควรจะจบแล้วหรือเปล่า” เบนซ์ตั้งคำถาม

ทิศทางการต่อสู้ของประชาชนเบียร์

“ถ้ามองระยะสั้น ปีหน้าผมอยากเห็นงานที่มีเบียร์ต้มในบ้าน มีเหล้าชุมชน มีสุราที่มาจากประชาชนเยอะๆ กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยที่กฎหมายไม่ต้องแก้ก็ได้ ไม่แก้ก็เรื่องของคุณ แต่ถ้าคุณอยากถือกฎหมาย อยากมีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ในมือ คุณก็ต้องแก้นะ ไม่อย่างนั้นอำนาจที่คุณเคยมีในกฎหมายนี้ก็จะไม่เหลือแล้ว เดี๋ยวคุณจะรู้ว่าประชาชนทำอะไรได้มากกว่านั้นเยอะ เพราะวันนี้ทุกคนเปลี่ยนความคิดไปแล้ว พวกคุณแค่ยังไม่รู้กันเอง”

แม้จะต้องเดินทางกันอีกยาวไกล กว่าความฝันที่จะได้เห็นการผลิตเบียร์และเหล้าอย่างเสรีในบ้านเมืองนี้กลายเป็นความจริง เบนซ์และประชาชนเบียร์ก็จะยังสู้ต่อไป เพื่อสร้างความเข้าใจและรวบรวมสรรพกำลังพลจากคนในประเทศ ให้มาร่วมกันต่อสู้ ร่วมสร้างสังคมที่เปิดกว้างและให้โอกาสทุกคนได้ลืมตาอ้าปากอย่างแท้จริง

“ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นแรก คือการขยายแนวร่วม ก็จะมีการสอดแทรกกิจกรรมไปเรื่อยๆ แล้วก็ให้ความรู้เกี่ยวกับการผลิต กฎหมาย และการกินดื่มควบคู่กันไป เราจะรวมทุกแนวร่วมให้มาเจอกัน ทั้งคนทำเหล้า เบียร์ สาเก สาโท ทุกอย่างที่เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทุกคนเข้าใจในสิ่งที่เราสื่อสาร ขับเคลื่อนในทางของตัวเอง แล้วก็กระจายไปทั่ว ผมเชื่อว่ายังมีคนอีกเยอะที่ไม่เข้าใจในสิ่งที่ผมทำ แต่ก็หวังว่าปีหน้าจะได้เห็นแนวร่วมต่างๆ เข้ามาจับมือและทำงานร่วมกัน โดยมีเป้าหมายใหญ่คือการแก้ไขกฎหมายและการรักษาผลประโยชน์หลักของประชาชน” เบนซ์กล่าวปิดท้าย

ติดตาม ‘ประชาชนเบียร์’ ได้ที่

Facebook: ประชาชนเบียร์

Instagram: beerpeople99

Twitter: beerpeople99

อ้างอิง

พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560

บทนำ: ล้ม “สุราก้าวหน้า”? มติชนออนไลน์