Life

เปิดคลังศัพท์ กับ 27 คำที่คนเล่นคริปโตฯ ควรรู้

Photo credit: Coin Academy

คริปโตเคอร์เรนซียังคงเป็นสิ่งที่ใหม่มากเมื่อเทียบกับการเงินแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะเรื่องคำศัพท์ไม่คุ้นหูที่มีอยู่เต็มไปหมด ซึ่งเชื่อว่าคนเล่นคริปโตฯ มือใหม่เห็นแล้วคงจะปวดเศียรเวียน head กันอยู่ไม่น้อย แต่เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ทุกคนเข้าใจและสนุกกับโลกการเงินยุคใหม่นี้มากขึ้น เราได้รวบรวมคำศัพท์น่ารู้มาฝากกันถึง 27 คำ รับรองว่าถ้าจำได้หมดนี่ ก็คุยกับคนอื่นรู้เรื่องแล้ว

DeFi 

ถ้าไม่รู้จักคำนี้ก็แปลว่าคุณยังไม่รู้จักคริปโตฯ เลย เพราะ ‘DeFi’ หรือ ‘Decentralized Finance’ คือการเงินยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยบล็อกเชน และไร้หน่วยงานส่วนกลางมาคอยควบคุมมูลค่า ซึ่งเป็นแนวคิดที่ทำให้บิตคอยน์และสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ เกิดขึ้นมานั่นเอง

Store of Value

เหรียญคริปโตฯ ที่ผลิตออกมาอย่างจำกัด ทำให้มูลค่าขึ้นอยู่กับอุปสงค์-อุปทานของตลาด เช่น Bitcoin (BTC) มี 21 ล้านเหรียญ Binance Coin (BNB) มี 200 ล้านเหรียญ เป็นต้น

StableCoin

เหรียญคริปโตฯ ประเภทหนึ่งที่มีมูลค่าค่อนข้างคงที่ ไม่ค่อยผันผวนเมื่อเทียบกันเหรียญคริปโตฯ อื่น เพราะถูกนำไปผูกอยู่กับมูลค่าเงินที่จับต้องได้ เช่น Tether (USDT), USD Coin (USDC) ที่ผูกกับเงินดอลลาร์สหรัฐ

Photo credit: Finnomena

Alternate Coin / Altcoin 

เหรียญคริปโตฯ ทุกสกุลที่นอกเหนือจากบิตคอยน์

Memecoin 

ความหมายตรงตัวเลยว่าเป็น ‘เหรียญมีม’ ที่ใช้มีมชื่อดังมาเป็นสัญลักษณ์ของเหรียญ โดย Memecoin เหรียญแรกในโลก คือ Dogecoin (DOGE) ที่มีหน้าน้องหมาพันธุ์ชิบะ อินุ เป็นสัญลักษณ์

Photo credit: Forbes

เงิน Fiat / Fiat Money

เงินสดที่จับต้องได้ ซึ่งอนุญาตให้ใช้ได้ตามข้อกฎหมายของแต่ละประเทศ

Exchange 

ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ที่เปิดให้นำเงิน Fiat ไปแลกเปลี่ยนเป็นเหรียญคริปโตฯ ได้ เช่น Zipmex, Binance, Bitkub ฯลฯ

KYC 

ระบบยืนยันตัวตนตามกฎหมายของผู้เล่นคริปโตฯ เมื่อต้องเปิดบัญชีหรือทำธุรกรรมสำคัญกับ Exchange หรือ Broker

Swap

การแลกเปลี่ยนเหรียญคริปโตฯ ที่มีอยู่ในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ไปเป็นเหรียญคริปโตฯ อีกสกุลหนึ่ง

Photo credit: Blockonomics

Gas Fee / ค่าแก๊ส

ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมทางการเงินบนบล็อกเชน เช่น ซื้อ-ขายเหรียญบน Binance หรือ ลงขาย NFT บน Opensea เป็นต้น

To the moon / Moon 

คำกล่าวในเวลาที่เหรียญคริปโตฯ สกุลเงินหนึ่งมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเหมือนจะพาผู้ถือเหรียญไปแตะดวงจันทร์ได้ เช่น เมื่อประมาณกลางปี ค.ศ. 2021 มูลค่าบิตคอยน์ได้เพิ่มขึ้นเป็น 1,400,000 บาท/1 บิตคอยน์ และในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2021 มูลค่าก็สูงขึ้นไปถึง 2,080,000 บาท/1 บิตคอยน์ เหล่าผู้ถือเหรียญจึงเรียกเหตุการณ์นี้ว่า ‘To the moon’ เป็นต้น

Whale / วาฬ 

นักลงทุนรายใหญ่ที่มีเหรียญคริปโตฯ อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งการซื้อ-ขายเหรียญในแต่ละครั้ง จะสะเทือนไปถึงมูลค่าเหรียญ นักลงทุนรายย่อย และวงการคริปโตฯ อีกหลายแง่มุม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ‘อีลอน มัสก์’ (Elon Musk) CEO ของบริษัท Tesla ผู้ซึ่งเคยซื้อบิตคอยน์กว่า 4 หมื่นล้านบาท จึงทำให้ราคาบิตคอยน์จากที่กำลังดิ่งลง กลายเป็นพุ่งขึ้น

ติดตามข่าวสารการเคลื่อนไหวของวาฬได้ที่ทวิตเตอร์ @whale_alert

Photo credit: The Nation View

Fish / เม่า

คำนี้มีความหมายตรงข้ามกับวาฬ นั่นก็คือนักลงทุนรายย่อยที่มีพอร์ตลงทุนนิดๆ หน่อยๆ และมีโอกาสจะได้รับผลกระทบยามที่วาฬขยับตัว

FOMO

ศัพท์นี้ย่อมาจาก ‘Fear Of Missing Out’ ซึ่งไม่ใช่คำใหม่อะไร เพราะมักจะเจอกันในแวดวงการตลาดและสื่อสารมวลชน มันหมายถึง อาการของคนที่กลัวการตกเทรนด์ และรู้สึกว่าตนจะต้องรู้จักกับทุกสิ่งที่กำลังเด่นดังหรือเป็นที่ต้องการ ซึ่งในโลกคริปโตฯ ก็มีคนเหล่านี้อยู่ไม่น้อย และบางครั้ง พฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ก็ทำให้มูลค่าเหรียญปั่นป่วนได้เหมือนกัน

Photo credit: Thaiware

Rekt 

อธิบายง่ายๆ ได้ว่าคำนี้เป็นคำที่ใช้เรียกเหยื่อของเหล่า FOMO เพราะหลงซื้อ-ขายเหรียญตามกระแสจนขาดทุนย่อยยับ

Pump and Dump 

เป็นเทคนิคการอัปฯ มูลค่าเหรียญของคนบางกลุ่ม ที่ทำการปล่อยข่าวลือในโลกโซเชียล เพื่อดึงดูดนักลงทุนหน้าใหม่ให้เข้ามาซื้อ และเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ทำกำไรจากการขายเหรียญ ลักษณะใกล้เคียงกับการปั่นหุ้น

​Initial Coin Offering / ICO

การระดมทุนในโปรเจกต์ต่างๆ ด้วยการเสนอขายเหรียญคริปโตฯ แก่คนทั่วไป ผ่านระบบบล็อกเชน ใกล้เคียงกับ IPO ในฝั่งตลาดหุ้น

Photo credit: Investment Executive

GameFi

มาจากการผสมกันของคำว่า ‘Game’ และ ‘Finance’ มันก็คือ เกมที่เล่นแล้วจะได้ผลตอบแทน (Play-to-Earn) เป็นเหรียญคริปโตฯ หรือสิทธิพิเศษต่างๆ จากเจ้าของโปรเจกต์

Bullish / Bull / ตลาดกระทิง

สภาวะตลาดคริปโตฯ ขาขึ้น

Bearish / Bear / ตลาดหมี

สภาวะตลาดคริปโตฯ ขาลง

Photo credit: SCB

ช้อน

การซื้อเหรียญในช่วงที่คิดว่ามูลค่าลดลงมากที่สุด เพื่อหวังทำกำไรในอนาคต แต่ถ้าประเมินสถานการณ์ผิด ก็อาจเจอกับเหตุการณ์ ‘ช้อนหัก’ ได้

ติดดอย

สภาวะที่มูลค่าเหรียญลดลงกว่าตอนที่นักลงทุนเข้าซื้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการช้อนซื้อเหรียญ เพราะค่าเหรียญที่คิดว่าต่ำแล้ว มันยังต่ำลงได้อีก

ขายหมู

คนที่พลาดกำไรงามๆ จากการรีบขายเหรียญ เพราะคิดว่ามูลค่าเหรียญคงไม่ขึ้นไปมากกว่านี้แล้ว

Cut Loss 

เจ็บแต่จบ ยอมขายเหรียญแบบขาดทุน เพื่อไม่ให้เงินในพอร์ตติดลบไปมากกว่านี้

Photo credit: Investopedia

Hodl

คำนี้มาจากการพิมพ์ผิดของเจ้าของกระทู้หนึ่งในคอมมูนิตี้บิตคอยน์เมื่อปี ค.ศ. 2013 ที่พิมพ์จาก ‘Hold’ เป็น ‘Hodl’ แล้วถูกนำมาแปลงเป็น ‘Hold on for dear life’ หมายถึง การถือเหรียญในระยะยาว โดยไม่สนใจว่าตลาดจะเป็นอย่างไร ซึ่งส่วนหนึ่งคือผู้มีอันจะกินที่กระจายความเสี่ยงจากการลงทุนอื่น หรือไม่ก็เป็นคนที่กำลังติดดอย

Airdrop 

เหรียญฟรีที่แจกโดยเจ้าของโปรเจกต์ เช่น บริษัท Bitkub แจก Airdrop เหรียญ KUB ให้กับคนที่เข้าร่วมงาน Money Expo ฟรี เพียงกดไลก์เพจเฟซบุ๊กเท่านั้น

Photo credit: Bitnovo.Blog

DYOR

ศัพท์นี้ย่อมาจาก ‘Do Your Own Research’ ซึ่งก็คือ การค้นคว้าหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องและจำเป็นกับการเล่นคริปโตฯ ด้วยตัวเอง เป็นคำแนะนำที่รุ่นพี่ในวงการมักจะให้กับมือใหม่ เพราะการลงทุนในสิ่งใดก็ตาม ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจส่วนบุคคลเป็นหลัก

คลังศัพท์ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากทั้งหมดในวงการคริปโตฯ เท่านั้น แต่เราเชื่อว่ามันเพียงพอที่จะทำให้ผู้เล่นคริปโตฯ มือใหม่สามารถพูดคุยกับคนอื่นๆ ในวงการ จับทิศทางในการหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ง่าย และสนุกกับโลกการเงินยุคใหม่นี้มากขึ้น

อ้างอิง

ฐานเศรษฐกิจ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

Thaiware

Finnomena