Culture

ชีวิตคนทำงานยามค่ำคืน 'ซอยแห่งแสงสี' อีสานพลัดถิ่น ความเจริญที่กระจายไม่ถึง?

EQ มีโอกาสได้เดินสำรวจ 'ย่านสีลม' แหล่งแฮงเอ้าท์ยามราตรี ที่มีนักท่องเที่ยวพลุกพล่านตลอดทั้งคืนไม่ขาดสาย โดยเฉพาะช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ นอกจากภาพความสนุกสนาน เครื่องดื่ม ดนตรี และแสงสีสุดวิบวับ หากเราลองสังเกตเบื้องหลังการสังสรรค์สุดเมามันส์ มองตามถนน มองหามุมของคนที่ยังทำงาน จะเห็นชั่วโมงยามของการทำงานที่ไม่หยุดหย่อน โดยเฉพาะคนทำงานไกลบ้าน 'ชาวอีสานพลัดถิ่น'

บทสัมภาษณ์ 'ชีวิตของลูกอีสาน' 3 เรื่องราว ที่จะพาเราออกเดินทางสำรวจเส้นทางชีวิต การเผชิญความยากจน ห่างไกลทรัพยากร เข้าไม่ถึงประตูโอกาส และมองไม่เห็นอนาคตในบ้านเกิดของตัวเอง จนต้องเข้ามามาดิ้นรนต่อสู้กับค่าครองชีพที่สูงปรี๊ดในเมืองใหญ่ เพียงเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง จุนเจือครอบครัวให้อยู่รอด "รอวันที่ได้กลับไปอยู่บ้าน" คือ ความหวังที่รอให้วันนั้นมาถึง

'ป้าลูกชิ้น' - อยู่มากี่ชาติก็เหมือนเดิม ‘มีกิน ไม่มีเก็บ’

แม่ค้าขายลูกชิ้นทอด วัย 54 ปี 'ชาวบุรีรัมย์' เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุ 19 ปี ส่วนตัวชอบการค้าขาย เริ่มต้นมาจากขายรองเท้า จนปัจจุบันปักหลักเปิดแผงขายลูกชิ้นทอดมาแล้วกว่า 30 ปี เรียกได้ว่าเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตา และสนิทสนมกับนักท่องเที่ยวย่านสีลมเป็นอย่างดี เน้นกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวกลางคืน เปิดร้านตั้งแต่ 6 โมงเย็นไปจนถึงตี 3

"อยากมา อยากหาเงิน มันเจริญ มันหาเงินง่ายกว่า บ้านเรามันไม่รู้จะทำอะไร บ้านเรามันมีแต่ราชการที่อยู่ได้ เมื่อก่อนพ่อแม่เราก็ไม่มีรายได้ ทำนาอย่างเดียวเนอะ แล้วเราจะหาเงินแบบไหนล่ะ"

"ใครจะอยากมาอยู่กรุงเทพฯ ล่ะลูก เราก็ต้องอดทน อยู่กรุงเทพฯ ค่าใช้จ่ายเยอะแยะ ทำได้ไม่ใช่ว่าเหลือนะ มันก็ได้กินได้ใช้ไม่ค่อยเหลือหรอก"

"บ้านที่บุรีรัมย์ เหลือยาย เหลือพี่น้อง เหลือทุกคน พ่อเสีย เหลือแต่แม่ ก็ต้องส่งเขาเหมือนเดิม ไม่มีใครเขาอยากมาหรอกลูก ถ้ามีตังค์ มีงาน มีอะไรทำอยู่บ้าน อยู่บ้านเราสบายใจกว่า อย่างแม่มีภาระมีครอบครัว พี่น้องแม่ไม่ใครมาเลยนะ เขาไม่มีภาระ ผู้ชายนะเขาเลี้ยงวัวอยู่บ้าน เขาอยู่ได้ เขาไม่มีหนี้ไม่มีสิน แต่เขาก็ไม่มีอะไร"

"กลับ! อยู่ได้ยังไงลูก หมดเวลาขายเมื่อไรลูกแม่ก็มาขายแทน แล้วก็จะกลับไปอยู่บ้าน ตอนนี้ก็ให้เด็กๆ เขาทำงานของเขาไปก่อน แม่จะมาอยู่ทำไมกรุงเทพฯ อากาศก็ไม่ดี ฝุ่นก็เยอะ"

"แม่ก็ไม่รู้ทำไมบ้านเราไม่เจริญสักที อยู่มากี่ชาติก็เหมือนเดิม (หัวเราะ) ทุกคนก็ต้องเข้าเมืองเหมือนเดิม อาชีพบ้านเราก็ทำนาแหละ มันมีแค่นั้นไม่รู้จะทำอะไร ขายของก็ขายให้คนในหมู่บ้านนั่นแหละแค่กิน ได้กำไรหรือไม่ได้ก็ไม่มีใครรู้หรอก อยู่กรุงเทพฯ ก็ยังได้กิน"

"อยู่บ้านเราสบายใจกว่า ช่วงโควิดแม่กลับไปอยู่บ้าน 3 ปี ไม่อยากกลับมาเลย แต่มันไม่มีตังค์ เงินที่เราเก็บได้ไม่เยอะ เราต้องเอาไปใช้จ่ายตอนโควิดหมดเลยหนู"

'ป้าหมอน' - สายซัพครอบครัว ‘เก็บเกี่ยว กอบกำ กลับบ้าน’

แม่บ้านวัย 50 ปี 'ชาวอุบลราชธานี' จุดเริ่มต้นเข้ามาทำงานในเมืองกรุง ตั้งแต่เรียนจบป.6 หวังหาเงินส่งตัวเองเรียน แต่ชีวิตวนลูปหมุนไปอย่างไว เหลือเพียงการก้มหน้าทำงานหารายได้จุนเจือครอบครัว สานฝันส่งน้องสาวจนเรียนจบปริญญา จนตอนนี้ชีวิตการทำงานยังคงหนักหน่วง ปัจจุบันต้องทำงานควบอยู่ถึง 2 ที่ด้วยกัน เริ่มงานตั้งแต่ 8 โมงเช้าลากยาวจนตี 3 เพื่อเก็บเงินแล้วกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด

"แม่จบป.6 อยากเรียนต่อเหมือนคนอื่นแหละ แต่ด้วยภาระทางบ้านก็เลยต้องเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ"

"มาทำงานหาเงินส่งให้พ่อแม่ บ้านเราทำนาไง แต่พี่น้องทุกคนได้เรียนทุกคน มีหนูคนเดียวจบป.6 น้องสาวจบปริญญา พี่ชายได้เป็นตำรวจ แต่พี่ชายจบม.6 พ่อขายวัวให้เรียน ลูกชายคนเดียว พอมาแม่คนกลาง จบป.6 แม่เป็นคนชอบเล่นกีฬา เขาก็บอกว่าไปทำงานเถอะ มาทำงานเลี้ยงหลานได้เดือนละ 500"

"จนมามีแฟนแล้วก็ช่วยทำมาหากิน แล้วน้องสาวเขามีโอกาสได้เรียน เพราะโรงเรียนสมเด็จพระญาณสังวรสร้างไว้ เขามีทุนให้ยืมเรียน น้องสาวก็เลยมาเรียนจบม.6 ไอ้เราไม่มีโอกาสได้เรียน ก็เลยดึงน้องสาวมาเรียน น้องสาวเราก็เลยได้เรียนปริญญา แต่เราจบป.6 คนเดียว ก็มีลูกชายลูกสาว ลูกชายจบปริญญาตรีแล้ว"

"เวลาทำงานกลางวันแม่ต้องตื่น 8 โมงเช้า เพื่อไปเข้างาน 8 โมงครึ่งเลิกงาน 6 โมงเย็น แล้วก็อาบน้ำมาทำงานที่นี่ต่อตอน 2 ทุ่มจนร้านปิด"

"ชีวิตมันมาแบบนี้แล้วไง ทุกวันนี้ถ้าแม่ไม่ทำงานที่นี่ แม่กลับไปทำที่บ้านมันก็มีที่ไร่ ที่นาที่สวนที่จะทำ จะกลับไปทำก็ได้ แต่ตอนนี้มันยังหาตังค์ตรงนี้ได้อยู่ไง เก็บเพื่อเอาไปลงทุนตรงนั้น เก็บเอาไว้กลับบ้าน"

'ป้าแสง' -  อดทนดิ้นรน เพื่อรอชมแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

แม่บ้านวัย 50 ปี 'ชาวร้อยเอ็ด' ผู้อยู่เบื้องหลังแสงสีของการสังสรรค์ ทำงานเก็บกวาดจนทุกอย่างสะอาดเหมือนเดิม มีจุดเริ่มต้นจากการเดินทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ตั้งแต่เรียนจบป.6 มาทำงานก่อสร้างช่วยลุงกับป้า ผ่านการดิ้นรนทำงานในเมืองกรุง หวนคิดถึงบ้านแต่ยังต้องก้มหน้าทำงานเก็บเงิน

"ชีวิตในกรุงเทพ ถ้าคนบอกว่าดีก็ดี มันสะดวกสบาย มันเจริญ แต่มันต้องดิ้นรน"

"มาตั้งแต่ออกจากโรงเรียน ป.6 มากับป้าลุงสมัยก่อนเขารับเหมาก่อสร้าง ไม่รู้ตอนนั้นเขามาทำก็มากับเขา ก็ช่วยเขาทำได้ค่าแรง ถ้าคนไม่ได้เรียนหนังสือมันลำบาก แต่เด็กบ้านนอกใครจะคิด เรียนจบป.6 ก็ไม่ได้เรียนแล้ว แต่ก่อนก็อยู่แต่บ้านไง เราก็ทำไร่ทำนา เลี้ยงน้อง"

"อยู่กรุงเทพฯ หางานง่ายกว่านะ แต่อยู่บ้านนอกก็หาได้อยู่แล้วแหละถ้าขยัน อยู่ไหนก็ดีหมดแหละ แต่กรุงเทพฯ มันก็ดีกว่า มันหางานง่ายแล้วก็หลากหลายกว่า"

"มันไม่ค่อยลำบากหรอก แต่ด้วยเราหางานทำอยู่ ก็หาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเราเนอะ ค่าบ้าน ค่านั่น ค่านี่เยอะแยะ ลำบากด้วย ถ้าจะอยู่ก็อยู่ไปอย่างนั้นแหละ สู้ไป สู้ได้แค่ไหนก็ต้องสู้ สู้ไม่ได้ก็ต้องสู้อยู่ดีนั่นแหละ จะให้ทำอย่างไรเนอะ ลำบากอย่างไรเราก็ต้องสู้เอา เราไม่ได้เกิดมาเป็นคนรวยหนิ น่าเบื่อเนอะ"

"เรื่องกลับไปอยู่บ้านยังคิดไม่ออกเลย ถ้าเรามีเงินมีอะไรเราก็อยากจะกลับ แต่เงินเดือนก็ยังไม่พอเลย ก็ยังไม่รู้เลยจะอย่างไร"

"มันก็คิดถึงแหละ ยิ่งไปบ้านมันก็ยิ่งคิดถึงบ้าน กลับบ้านไปมันก็สบายใจ มันก็ดีแหละ พูดถึงมันก็สบาย อยู่บ้านมันก็มีพี่มีน้อง ลูกหลานอะไรเยอะแยะ เจ็บไข้ได้ป่วยมันก็มีญาติพี่น้องเราดูแล คนต่างจังหวัด อยู่บ้านเราดีกว่า มันดีกว่าอยู่แล้วแหละ อยู่บ้านเราค่าใช้จ่ายมันก็ไม่แพงมาก ค่าบ้านก็ไม่ต้องจ่าย"

"ถ้าบ้านเราเจริญมันก็ดีดิ มันก็จะได้ทำมาหากินอยู่บ้านเรา"