Daily Pickup

'สิว ≠ สยดสยอง' เรื่องของสิวหนักหัวใคร เธอ ฉัน สังคม หรือแพทย์ผิวหนัง

'สิว' คืออาการอักเสบเรื้อรังของผิวหนังที่เกิดขึ้นได้หลายสาเหตุทั้งจากฮอร์โมน ความเครียด การอุดตันของระบบต่อมไขมันในรูขุมขน สาเหตุของสิวแต่ละประเภทมีรายละเอียดที่มากมายกว่าการไม่ทำความสะอาดผิวหน้า หรือความสกปรก ตามมายาคติของคนทั่วไปว่า สิว = สกปรก หรือน่ารังเกียจ

ในบทความนี้เราอยากชวนทุกคนมารู้จักอคติเรื่องสิว กระแส Normalizing Acne การเคลื่อนไหวของเหล่า Gen Z กับแนวคิด Positivity Acne ที่สนับสนุนว่าผิวที่มีสิวนั้นเป็นเรื่องปกติ และผลกระทบของสิวมีมากกว่าแค่เรื่องผิวหนัง

Photo Credit: Peter DeVito

สิว ≠ สกปรก สยดสยอง น่ารังเกียจและไม่สวย 

คำว่า 'สิว' ในไทยกลายเป็นคำด่าว่าที่มาพร้อมอคติว่า คนที่เป็นสิวคือคนที่สกปรก ทั้งที่สิวเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุและการเป็นสิวนั้นก็ไม่สามารถบ่งบอกได้เลยว่าบุคคลนั้นเป็นคนอย่างไร แต่สิวกลับกลายมาเป็นเครื่องตีตราว่าคนๆ นั้นไม่น่าคบหา ซึ่งการตีตราทางสังคมแบบนี้สร้างแรงกดดันให้คนที่ไม่มั่นใจในตัวเองต้องรู้สึกแย่กับสิวที่เกิดขึ้นบนใบหน้าตัวเอง

แรงกดดันนี้กระทบจิตใจของวัยรุ่นมากเกินกว่าจะไปบอกพวกเขาว่า ‘ไม่ต้องสนใจคนอื่น’ และ ‘มั่นใจในตัวเองเข้าไว้’ พวกเขาจะมั่นใจในตัวเองได้อย่างไรเมื่อสิวสร้างผลกระทบต่อภาพลักษณ์ที่ทำให้พวกเขาเกิดทัศนคติแง่ลบต่อร่างกายตัวเอง จนเกิดเป็นความวิตกกังวลในการเข้าสังคม ความไม่มั่นใจ สะสมเป็นความไม่ชอบใบหน้าและร่างกายตัวเอง สภาพจิตใจข้างในของพวกเขาถูกทำร้ายด้วยสิวจากข้างนอก ถ้าการบอกให้มั่นใจนั้นเวิร์กสำหรับทุกคน ปัญหาเรื่องสิวคงจะกลายเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่เลย

Photo Credit: Peter DeVito

เมื่อสิวบนใบหน้า เกิดเป็นปัญหาที่คาอยู่ในใจ

สิวเป็นสิ่งปกติที่สามารถรักษาได้ตามอาการ และประเภทที่เกิด โดยส่วนใหญ่แล้วรายละเอียดที่ซับซ้อนของการเกิดสิวจะค่อยๆ ลดน้อยลงไปเองเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ นอกจากนี้เรายังสามารถดูแลตัวเองเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดสิวด้วยการปรึกษาแพทย์ผิวหนัง ผู้เชี่ยวชาญ หรือใช้ครีมรักษาสิว แต่เมื่อรักษาอาการทางร่างกายภายนอกแล้ว หากสิวส่งผลกระทบต่อจิตใจ การรับคำปรึกษา และเยี่ยวยาทางจิตก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ควรทำควบคู่กันไปด้วย

เมื่อปี 2021 ทางองค์กร National Institute for Health and Care Excellence (NICE) ในประเทศอังกฤษ ได้ออกมาสนับสนุนให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจและสุขภาวะทางอารมณ์จากสิวเป็นระยะเวลานานสามารถเข้าถึงการให้คำปรึกษาทางจิตได้ ด้วยความคิดเห็นว่า ผลกระทบของการเป็นสิวไม่ได้มีเพียงที่ผิวหนังภายนอก แต่สามารถกลายเป็นบาดแผลทางใจที่ส่งผลต่อการเข้าสังคม และการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ โดยเฉพาะกับวัยรุ่นที่อยู่ในช่วงวัยแห่งการเจริญเติบโต หากพวกเขามีแผลทางใจตั้งแต่อายุยังน้อย ผลกระทบนี้อาจเกิดขึ้นเรื้อรังยาวนานเกือบตลอดทั้งชีวิตพวกเขา ดังนั้นการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตจึงเป็นสิ่งที่ควรได้รับความสำคัญมากขึ้น 

Photo Credit: Nazhaya Barcelona

‘Normalizing Acne’ แนวคิดใหม่ที่ทำให้ ‘สิว’ กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา

สิวมีผลกระทบต่อจิตใจก็จริง แต่ว่าผลกระทบนั้นจะมากหรือน้อยก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล  การบอกว่าให้มั่นใจไม่ใช่ทางออกที่สามารถยุติปัญหาที่สิวสร้างขึ้นต่อสภาพจิตใจของคนได้ หรือแม้แต่การรักษาสิวให้หายไปก็อาจไม่ใช่ทางออกที่รอบด้านอีกต่อไปแล้ว

อีกหนึ่งทางออกของสิวที่กำลังเป็นที่สนใจในเหล่าคน Gen Z และGen Y ที่กำลังเจอปัญหาสิวคือ การ ‘Normalizing Acne’ ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักรู้สู่สังคมวงกว้างว่าการมีสิวเป็นเรื่องปกติ และมันไม่ควรจะถูกใช้เพื่อทำร้ายจิตใจของใคร

Normalizing Acne คือการบอกว่า สิวที่เกิดขึ้นนั้นมันปกติ เพราะสิวเกิดได้หลากหลายสาเหตุในกลุ่มคนช่วงวัย 13 - 35 ปี การเป็นสิวไม่ควรจะถูกทำให้เป็นปมตีตราว่าคนเป็นสิวคือ คนไม่สะอาด ไม่น่าคบ หรือไม่สวย และที่สำคัญสิวไม่ใช่คอนเทนต์สยดสยอง (Acne ≠ Gruesome contents) ซึ่งข้อความนี้ได้รับการพูดถึงมากขึ้นหลังจากที่ ‘Eva’ วัยรุ่นอเมริกันถูก Tiktok แบนบัญชีของเธอเพียงเพราะอัลกอรึทึมตรวจจับใบหน้าที่มีสิวของเธอว่าเป็นคอนเทนต์ ‘สยดสยอง’ ที่ทำให้เธอต้องเปิดบัญชีใหม่และติดต่อไปยัง Tiktok ให้เข้าใจถึงความผิดพลาดนี้ พร้อมกับเป็นกระบอกเสียงผ่านคอนเทนต์เพื่อสร้างทัศนคติเชิงบวกของการมีสิว และพูดย้ำว่าการเป็นสิวนั้นไม่ใช่เรื่องผิดแปลกที่น่าอับอายอย่างที่เธอทำมาตลอดว่า

“เป้าหมายของฉันคือการให้คนตระหนักรู้กันว่าการมีผิวที่ไม่ใสนั้นเป็นเรื่องปกติและเพียงเพราะว่าคุณมีตำหนิที่ภายนอกของคุณมันไม่ได้หมายความว่าคุณไม่งดงาม” - Eva.

‘สิว’ คือ ‘ปัญหา’ ที่ต้องรักษาด้วย ‘เงิน’

หากคุณเป็นวัยรุ่นที่มีปัญหาสิวอย่างรุนแรงและเรื้อรัง การรักษาย่อมมีค่าใช้จ่ายสูง ยิ่งในคนที่ไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากครอบครัวแล้ว มันก็ยิ่งเป็นไปได้ยากที่วัยรุ่นจะสามารถจ่ายค่ารักษาปัญหาทางผิวหนัง และทางจิตใจนี้ได้ด้วยตนเอง เรียกได้ว่านี่คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่แนบติดอยู่กับตัวเราเลยจริงๆ

Photo Credit: Peter DeVito

เป็นไปได้ไหมที่คนจะสามารถได้รับการสนับสนุนการรักษาสิวและสุขภาพจิตใจ

จากประเด็นความเหลื่อมล้ำ และประเด็นการสนับสนุนขององค์กร NICE ที่พูดไปข้างต้น มีคำถามที่ตามมาก็คือ เป็นไปได้ไหม ถ้าในอนาคตปัญหาทั้งทางกาย และใจที่เกิดจาก ‘สิว’ จะได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐ หรือหน่วยงานต่างๆ เพื่อการพัฒนาสุขภาวะทางร่างกาย และจิตใจที่ดีได้ แล้วจะเป็นไปได้ไหมที่องค์กรด้านสุขอนามัย สื่อ หน่วยงานการศึกษาจะสร้างค่านิยมใหม่ในสังคมว่า ผิวที่เป็นสิวนั้นเป็นเรื่องธรรมดาของร่างกาย และไม่ควรมีใครต้องทุกข์ทรมานจากบาดแผลทางใจที่เกิดขึ้นจากเรื่อง ‘สิว’ 

ปัญหานี้อาจไม่ใช่แค่ ‘เรื่องสิวๆ’ อย่างที่บางคนคิด การรวมพลังปลุกใจให้รักตัวเองก็อาจจะยังไม่ตอบโจทย์ การ Normalizing Acne อาจเป็นได้เพียงแค่เทรนด์ของวัยรุ่น Gen Z ที่เกิดขึ้น และค่อยๆ หายไปในที่สุด เพราะท้ายที่สุดแล้ว ถ้าสังคมที่เราอยู่ยังไม่พร้อมเป็นพื้นที่ปลอดภัย ที่โอบรับความหลากหลาย ปัญหาเรื่องสิวก็จะยังคงตีตรา และสร้างบาดแผลในใจของใครต่อใครอย่างไม่รู้จบสิ้น  

อ้างอิง

AAD 
hmp global learning network
The Guardian 
BBC