Life

‘Tā Moko’ – รอยสักแห่งความภาคภูมิใจ ศักดิ์ศรี และความงาม บนผิวหนังของชาวเมารี ที่กำลังจะจางหายไป

Photo credit: Arno Gasteiger

ทุกวัฒนธรรมบนโลกใบนี้ก็ต่างมีความงดงามในตัวของมันเอง ซึ่งจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละภูมิภาค อย่างประเทศไทยที่มีการฟ้อนรำ ลวดลายต่างๆ ของผ้าไหม ฯลฯ ประเทศนิวซีแลนด์หรือดินแดนแห่งเมฆยาวสีขาว (ชื่อภาษาเมารีของประเทศนิวซีแลนด์ Aotearoa (อาโอเทอาโรอา) ) ก็มีวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าและเปี่ยมเสน่ห์ โดยเฉพาะสำหรับชาว ‘เมารี’ (Māori) ชนเผ่าพื้นเมืองซึ่งอาศัยอยู่บนแผ่นดินนี้มามากกว่า 1,000 ปี มีบ้างที่พวกเขาจะปรากฏพร้อมกับรอยสักตามใบหน้าและลำตัว ‘ทา โมโก’ (Tā Moko) ลวดลายบนผิวหนังที่ชนเผ่าเมารีภาคภูมิใจ

Photo credit: Loyola Marymount University

ตำนาน ประวัติศาสตร์ และความหมายของ ‘ทา โมโก’

แม้จะไม่มีหลักฐานยืนยันว่าการสักทา โมโกเริ่มต้นจากอะไร ก็มีตำนานเล่าขานกันว่ามันมาจากการที่ ‘มาตาโอโรอา’ (Mataoroa) ชายหนุ่มมนุษย์ตกหลุมรักกับ ‘นีวาเรกา’ (Niwareka) เจ้าหญิงแห่งใต้พิภพ ที่ซึ่งแอบหลบมาหาความรื่นรมย์บนพื้นโลก พวกเขาทั้งสองคนจึงได้แต่งงานและอยู่อาศัยร่วมกันในโลกมนุษย์ โดยเจ้าหญิงนีวาเรกามีรอยสักทา โมโกอยู่บนใบหน้า มาตาโอโรอาจึงวาดลวดลายอันสวยงามนั้นบนร่างกายของเขาด้วย แต่ในวันหนึ่งที่มาตาโอโรอาทำผิดต่อนีวาเรกา เธอก็ได้ตัดสินใจกลับไปหาพ่อ มาตาโอโรอาติดตามภรรยาของเขาลงไปถึงโลกใต้พิภพอย่างยากลำบาก จนเมื่อพบเธอ รอยหมึกบนร่างกายของเขาก็เลือนหายไปกับเหงื่อไคล ทำให้ประชาชน ณ ที่นั้นหัวเราะเยาะเขา มาตาโอโรอาจึงขอให้ผู้เป็นพ่อตาสอนเกี่ยวกับศิลปะของทา โมโก การกระทำนั้นสร้างความประทับใจเป็นอย่างมาก นีวาเรกาก็เลยให้อภัย และกลับสู่ผืนโลกด้วยกันพร้อมความรู้ด้านการสักทา โมโก

Photo credit: World History Encyclopedia

ชาวเมารีมักจะสักทา โมโกเมื่อถึงช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของชีวิต ไม่ว่าจะเพื่อบ่งบอกถึงตระกูล สถานะทางสังคม ความรู้ความสามารถ หรือกระทั่งเรื่องราวที่อยากบอกเล่า ในอดีต ทา โมโกยังมีไว้เพื่อทำให้ใบหน้าดูดุดัน เป็นการข่มขู่ศัตรูในยามสู้รบ และยังเสริมให้ดูน่าดึงดูดต่อเพศตรงข้ามอีกด้วย โดยผู้ชายจะสักทั่วทั้งใบหน้า ด้วยความเชื่อของชาวเมารีที่ว่าหัวเป็นอวัยวะศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของร่างกาย ส่วนผู้หญิงจะสักบนคางและริมฝีปาก ซึ่งนับเป็นมรดกที่สืบทอดจากเจ้าหญิงนีวาเรกา นอกจากนี้แล้ว ชาวเมารียังนิยมสักตามคอ แขน ขา และลำตัว ขึ้นอยู่กับความชอบส่วนบุคคล อีกทั้งยังเป็นการประกาศแก่ผู้พบเห็นว่า “ฉันคือชาวเมารี”

Photo credit: NewZealand.com

ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีนวัตกรรมสมัยใหม่ที่ช่วยให้การสักสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น หากไปเยี่ยมชมหมู่บ้านของชนเผ่าเมารี ก็จะยังสามารถพบเห็นการสักทา โมโกแบบดั้งเดิมอยู่ นั่นก็คือการใช้เข็มสักที่เรียกว่า ‘อูฮิ’ (uhi) บ้างก็ใช้กระดูกของนกอัลบาทรอส กับสีหมึกที่ทำมาจากต้นสนเปลือกขาวไหม้ (kahikatea) ผสมด้วยยางของต้น ‘เคารี’ (kauri) หรือเขม่าจากการเผาต้น ‘โคโรมิโก’ (koromiko) และตอกให้หมึกนั้นฝังลงไปบนผิวด้วยอุปกรณ์ที่ชื่อ ‘ทา’ (tā) ซึ่งขณะที่กำลังสักก็จะมีการขับขานบทเพลง เปรียบได้ว่าเป็นพิธีกรรมที่แฝงด้วยความขลัง อีกนัยหนึ่งก็เป็นการกล่อมให้ผู้สักและผู้ถูกสักจิตใจสงบลงด้วย

https://www.youtube.com/watch?v=7akm_eVjE0c

สิ่งที่ทำให้ทา โมโกมีความพิเศษก็คือลวดลายที่มีเอกลักษณ์และความหมายเฉพาะตัว ซึ่งแสดงให้เห็นชัดถึงแนวศิลปะของวัฒนธรรมโพลีนีเซีย จุดสังเกตก็คือลายที่เน้นความโค้งมนและความแหลมคล้ายกับคลื่นทะเล เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น มาดูตัวอย่างลายของทา โมโก พร้อมความหมายของพวกมันกันเลยดีกว่า

Photo credit: Weebly / Zealandtattoo
Unaunahi
Ahu ahu mataroa
  • โครุ (Koru) : ชีวิตใหม่ การเติบโต การเกิดใหม่ การเชื่อมเป็นส่วนหนึ่งกับโลก
  • เฮอิ มาทาอุ (Hei-Matau) : โชคลาภ การเดินทางปลอดภัย ความแข็งแกร่ง ความสำเร็จ
  • โมอานา (Moana) : น้ำ การประสานเข้ากับพลังแห่งธรรมชาติ
  • มังโกปาเร (Mangopare) : ความอุดมสมบูรณ์ ความแข็งแกร่ง ความมุ่งมั่น
  • โคไวไว (Kowhaiwhai) : ความแข็งแกร่งในการรวมกันเป็นหนึ่ง
  • อุนาอุนาฮิ (Unaunahi) : ความอุดมสมบูรณ์และสุขภาพ
  • อาฮุ อาฮุ มาตาโรอา (Ahu ahu mataroa) : ความสามารถทางด้านกีฬา ความท้าทายใหม่ๆ 

ทา โมโก ก็ไม่ใช่สิ่งที่ใครๆ สามารถทำได้ มันเป็นสิ่งที่สร้างโดยชาวเมารี และส่งต่อให้ชาวเมารีเท่านั้น หากรอยสักที่มีลวดลายดังกล่าวไม่ได้ทำขึ้นหรืออยู่บนผิวของชาวเมารี มันจะถูกเรียกว่า ‘คิริตูฮิ’ (Kirituhi) แทน ซึ่งทุกคนสามารถทำได้ ถือว่าเป็นการเคารพวัฒนธรรมโพลีนีเซีย และคิริตูฮิก็ไม่ได้ด้อยในคุณค่าทางศิลปะไปกว่าทา โมโก

Photo credit: Ricky Sánchez

การเปลี่ยนแปลงของสังคมกับผลกระทบที่มีต่อวัฒนธรรม

นับตั้งแต่การล่าอาณานิคมของชาวตะวันตกในช่วงศตวรรตที่ 19 การสักทา โมโกก็เริ่มลดน้อยลงด้วยจำนวนของประชากรเมารีที่ถดถอย ในปัจจุบัน ชาวเมารีซึ่งอาศัยอยู่ในนิวซีแลนด์นั้นนับเป็น 17.1% จากประชากรทั้งหมดของประเทศ (ข้อมูลนี้อัปเดตล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2021) ยิ่งเป็นชาวเมารีสายเลือดแท้ก็ยิ่งมีน้อย ประกอบกับการที่ชาวเมารีไม่ได้ต้องการสักกันทุกคน เนื่องจากรอยสักมักจะถูกมองในเชิงลบ บางสายอาชีพเองก็ต้องการคนที่ไม่ได้ผ่านการสักมามากกว่า และบางครั้ง ผู้ที่มีรอยสักก็ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าใช้บริการสถานที่ต่างๆ ในประเทศอื่น เช่น บ่อน้ำพุร้อนในประเทศญี่ปุ่น วัฒนธรรมนี้จึงได้ลดเลือนลงอย่างน่าเสียดาย

Photo credit: BBC

อย่างไรก็ตาม การสักทา โมโกก็ไม่ได้ตายจากไปโดยสิ้นเชิง ยังมีผู้คนอีกมากที่ไม่ได้มีอคติต่อรอยสัก และผู้ที่มีทา โมโกบางคนก็ยังมีตำแหน่งสูงในหน้าที่การงาน ล่าสุดในยุคสมัยของนายกรัฐมนตรี ‘จาซินดา อาร์เดิร์น’ (Jacinda Ardern) เธอได้แต่งตั้งหญิงชาวเมารี ‘นาไนอา มาฮูตา’ (Nanaia Mahuta) ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จุดสำคัญก็คือ นาไนอาเป็นคนแรกจากชนเผ่าเมารีที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี แถมยังมีทา โมโกอันโดดเด่นบนใบหน้าอีกด้วย แม้จะมีกระแสตีกลับเกี่ยวกับทา โมโกของเธออยู่บ้าง มันก็เป็นสัญญาณอันดีว่าชาวเมารีที่สักลายประเภทนี้ไม่ได้ถูกกีดกันออกไปจากสังคมอุดมคนขาวเสียทีเดียว และถึงแม้ว่าชาวเมารีจะเป็นชนกลุ่มน้อย หากวันใดนโยบายสามารถผลักดันให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีพอจะเชิดหน้าชูตาในสังคม และผู้คนต่างลดอคติในใจที่มีแก่รอยสักลง ทา โมโกก็จะยังคงอยู่ โดยไม่จางหายไปกับกาลเวลาอย่างแน่นอน

อ้างอิง

Haka Tours New Zealand

New Zealand.com

Zealandtattoo

Taryn Beri

BBC