Daily Pickup

A Ghost Story – วังวนแห่งความเศร้า

‘A Ghost Story’ ผลงานภาพยนตร์ของ ‘เดวิด โลเวอรี่’ (David Lowery) ผู้กำกับที่ฝากงานอันน่าจดจำอย่างเรื่อง ‘Ain't Them Bodies Saints’ ตั้งแต่นั้นมา ผลงานของโลเวอรี่ก็สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ชมและแฟนๆ ของเขาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการรีเมคภาพยนต์อนิเมชั่น ‘Pete's Dragon’ ของ Walt Disney ที่สร้างความสวยงามไว้ในใจของคนดูมากมาย เรื่อยมาจนถึงภาพยนตร์เรื่องที่สามของเขา ‘A Ghost Story’ ซึ่งยังคงให้ความรู้สึกที่คล้ายคลึงกับผลงานก่อนหน้านี้ เพียงเริ่มเล่นไปได้แค่สองนาทีก็รู้เลยว่าใครเป็นคนกำกับ ด้วยสไตล์การดำเนินเรื่องที่เป็นซิกเนเจอร์และโดดเด่นไม่ซ้ำใคร

A Ghost Story ได้ขยายความเกี่ยวกับชีวิตและชีวิตหลังความตายได้อย่างสง่างาม เงียบสงบ พร้อมทิ้งช่วงให้ครุ่นคิด ภายในระยะความยาวร่วมชั่วโมงครึ่งกับบรรยากาศเหงาๆ ชวนขนหัวลุก ส่งให้เรารู้สึกร่วมไปกับบรรยากาศภายในเรื่อง เริ่มต้นโดยคู่สามีภรรยาหนุ่มสาว แสดงโดย ‘เคซีย์ แอฟเฟล็ก’ (Casey Affleck) และ ‘รูนีย์ มาร่า’ (Rooney Mara) ภรรยาเล่าให้สามีนักดนตรีฟังว่าเธอย้ายบ้านบ่อยมากตั้งแต่สมัยเด็ก และมักจะซ่อนโน้ตเอาไว้ในบ้านทุกหลังที่ย้ายออกไป เผื่อว่าวันไหนเธอได้มีโอกาสกลับมา จะได้รู้สึกว่ายังมีตัวตนหลงเหลืออยู่ในที่แห่งนั้น ทั้งคู่กำลังวางแผนที่จะย้ายจากบ้านหลังเล็กๆ ที่เช่าอยู่ในชานเมืองดัลลาส ไปเป็นอพาร์ตเมนต์ในเมือง และคืนหนึ่งก็มีเสียงดังขึ้นภายในบ้าน เช้าวันรุ่งขึ้น สามีก็เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์หน้าบ้าน เมื่อภรรยาเดินทางมาถึงโรงพยาบาล เธอมองดูร่างของสามีด้วยสายตาที่ไม่สามารถเดาอารมณ์ได้เลย ก่อนจะจากไปโดยเอาผ้าปูที่นอนปิดร่างไร้ชีวิตเอาไว้ จากนั้นสามีก็ตื่นขึ้นและยังคงถูกคลุมด้วยผ้าปูที่นอน เป็นนัยยะของความเป็นวิญญาณหลังความตาย

ฉากก็ตัดสลับไปยังบ้าน วิญญาณของสามีถูกบังคับให้เฝ้ามองทุกอย่างที่ผ่านไปรอบตัวเขา โดยไม่สามารถสื่อสารอะไร ทำได้เพียงเฝ้ามองขณะที่ภรรยาเศร้าโศก เริ่มดำเนินชีวิตต่อไป และย้ายออกจากบ้านไปตลอดกาล วิญญาณของสามีก็เห็นผีอีกตัวที่หน้าต่างบ้านข้างๆ สามารถอุปมาจากลวดลายดอกไม้บนผ้าปูที่นอนที่คลุมอยู่ได้ว่านี่คือวิญญาณของผู้หญิง ผีทั้งสองสามารถสื่อสารกันโดยไร้คำพูด และแลกเปลี่ยนเรื่องราวต่อกัน เผยให้คนดูเห็นถึงความโศกเศร้าอย่างสุดซึ้ง นี่เป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่ชวนเจ็บปวดที่สุด คงเพราะมันเกี่ยวกับการสูญเสียมากกว่าความตาย เน้นย้ำถึงการคงอยู่เพื่อรอใครสักคน

“ฉันกำลังรอใครสักคน”

“เธอรอใครอยู่?”

“ฉันจำไม่ได้”

สำหรับหนังความยาวชั่วโมงครึ่งกับบทพูดเพียงน้อยนิด ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะดึงคนดูให้จมไปกับเนื้อเรื่องได้ ต้องบอกเลยว่า A Ghost Story เป็นหนังที่วัดระดับความอดทนของผู้ชม เพราะบางฉากก็กินเวลานับสิบห้านาทีโดยไร้บทพูด เค้นความสามารถของนักแสดงออกมาอย่างเต็มเหนี่ยวกันเลยทีเดียว ตัดภาพความหลอน จัมพ์สแกร์ในหนังผีอื่นๆ ออกไปก่อนได้เลย เพราะหนังเรื่องนี้ใช้ความเงียบในการสื่อสารถึงความโศกเศร้าของชีวิตหลังความตาย ทั้งคนทั้งผี เช่นเดียวกับในภาพยนตร์ทุกเรื่อง การใช้เสียงและสกอร์ของเพลงประกอบเป็นสิ่งสำคัญ และ ‘แดเนียล ฮาร์ต’ (Daniel Hart) นักแต่งเพลงขาประจำของผู้กำกับเดวิด โลเวอรี ก็ได้เป็นผู้แต่งเพลง ‘The Secret in the Wall ซึ่งทำให้อารมณ์เศร้านั้นดิ่งลงไปอีก ถ้าดูหนังเรื่องนี้ตอนฝนตกก็อาจจะทำให้อินจนน้ำตาตกกันไปพร้อมกับตัวละครเลยก็เป็นได้

เรียกได้ว่าการดำเนินเรื่องของ A Ghost Story เป็นไปอย่างงดงาม ด้วยองค์ประกอบและมู้ดแอนด์โทนของภาพยนต์ที่ยังคงเคล้าไปด้วยกันเป็นอย่างดี ยิ่งมีอัตราส่วนเป็น 4:3 ที่คับแคบ มันก็ให้ความรู้สึกแบบที่ไม่เคยเจอในหนังเรื่องไหนมาก่อน ราวกับว่าเรากำลังเฝ้ามองการดำเนินชีวิตของตัวละครจากมุมใดมุมหนึ่ง ไม่ต่างจากผีในเรื่องที่ซ้อนทับอยู่เหนือการเวลา

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีฉากที่ทำให้นักเขียนรู้สึกประทับใจอยู่มากมายเหลือเกิน ทั้งการที่ผู้กำกับกล้าเล่นกับคนดูด้วยการดำเนินเรื่องที่ฉับไว อย่างเช่น ฉากที่หลังจากภรรยาย้ายออกไปจากบ้านแล้ว ในมุมมองของผีสามียังรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเพียงแค่ชั่วขณะ ในขณะเดียวกัน มนุษย์เองก็ใช้ชีวิตผ่านไปนานจนมีครอบครัวอื่น ย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านหลังนี้นับหลายครอบครัว แต่ผีกลับหยุดอยู่ตรงที่เดิม การตัดสลับเล่นกับกฎของเวลาทำให้การดำเนินเรื่องมีการเปลี่ยนฉากอย่างรวดเร็ว แม้บางฉากในภาพยนตร์จะเล่นกับความเหนือจริงของเหตุการณ์ต่างๆ มันก็ยังเป็นไปด้วยเหตุและผลของมัน

หากจะกล่าวถึงฉากที่น่าจดจำที่สุดของ A Ghost Story ก็คงหนีไม่พ้นตอนที่ภรรยากินพายอยู่นับห้านาที เป็นช่วงเวลาที่คนดูจะรับรู้ได้ถึงความโศกเศร้าอย่างแท้จริง คนที่เคยผ่านเหตุการณ์นี้มาก่อนจะเข้าใจได้ดีว่า การที่ต้องฝืนกินในขณะที่ทุกข์ทรมานเช่นนี้มันยากลำบากมากเพียงใด และมาร่าก็แสดงมันออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งความอึดอัด การฝืนกินจนวิ่งไปอาเจียน น้ำตาที่ไม่มีเหลือให้รินไหล เธอสื่อมันได้อย่างดีเยี่ยม สมกับเป็นฉากอันเลื่องลือของภาพยนตร์เรื่องนี้จริงๆ

นอกจากนี้แล้ว นักเขียนยังชอบที่มีเสียงรบกวนอยู่เบื้องหลัง เช่น เสียงรถวิ่งผ่าน กระดิ่งลม เด็กๆ กำลังเล่น หรือผู้ใหญ่คุยกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโลกที่เหลือยังคงดำเนินต่อไป ด้วยความธรรมดาของพวกเขา และสำหรับใครที่บอกว่าฉากนี้น่าเบื่อ ไม่เห็นจะมีอะไรพิเศษตรงไหน แน่นอนว่าความเศร้าโศกคือการก้าวผ่าน มันไม่ใช่เรื่องที่น่าตื่นเต้นตั้งแต่แรก อีกสิ่งที่ชวนให้ประทับใจคือการที่ผู้กำกับยังเล่นกับบท ให้สามีที่เป็นผียืนมองภรรยาผู้พยายามก้าวผ่านความโศกเศร้าอยู่ตรงนั้น ถ้าเขาเป็นมนุษย์ก็อาจจะตามเธอเข้าไปในห้องน้ำ ช่วยมัดผม และคอยถูหลังให้ขณะที่อาเจียน แต่ในขณะเดียวกัน การที่เขาเป็นผีก็ทำได้เพียงถูกตรึงให้ยืนตรงนั้นเฉยๆ ยิ่งไปกว่านั้นคือ สภาพทางอารมณ์ของผีมักจะสะท้อนออกมาผ่านสภาพแวดล้อม เช่น ไฟริบหรี่ ทุบจาน ฯลฯ เพราะตัวเขาไม่เคลื่อนไหว แต่สามารถสัมผัสพื้นที่รอบตัว ซึ่งจากที่ดูมาทั้งหมด นักเขียนก็รู้สึกว่าตอนที่เป็นผี เขามีอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าตอนที่ยังมีชีวิตอยู่เสียอีก 

แน่นอนว่า A Ghost Story เป็นภาพยนตร์ที่สร้างอารมณ์และไม่ใช่สำหรับทุกคน เพราะบางช่วงก็ไม่แน่ใจว่าจะต้องรับสารอย่างไร และดูเหมือนว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะมอบกุญแจให้คุณในการตีความ แต่ขอเตือนผู้ชมทุกคนว่า อย่าหาคำตอบเลยดีกว่า เพราะนี่คือภาพยนตร์ที่มีแนวโน้มว่าจะถามคำถาม มากกว่าตอบคำถาม

บทพูดคนเดียวที่ยาวนานโดยแขกรับเชิญในงานปาร์ตี้ แสดงโดย ‘วิลล์ โอลด์แฮม’ (Will Oldham) ซึ่งกำลังพูดถึงจักรวาลนั้น คงใกล้เคียงที่สุดกับคำอธิบายถึงชีวิตที่ไม่จีรัง ความน่ากลัวของความตาย และความพยายามของมนุษยชาติที่จะทิ้งร่องรอยเอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านงานศิลปะ ดูเหมือนว่าบทสนทนาข้างต้นจะย้อนไปให้นึกถึงฉากที่สามีเขียนเพลงให้ภรรยาก่อนกลายเป็นวิญญาณว่า เพลงที่เขียนทิ้งไว้ให้จะอยู่ได้นานกว่าตัวเขาที่เป็นมนุษย์ แต่ในทางปรัชญา A Ghost Story เป็นภาพยนตร์ที่กล้าหาญ และเป็นต้นฉบับที่รำพึงถึงการไตร่ตรองในประเด็นใหญ่ของชีวิตหลังความตาย  เป็นภาพยนตร์แหวกแนวที่ต้องลิ้มลอง ด้วยเสน่ห์ที่เป็นเอกลักษณ์โดยใช้แนวทางใหม่ในการเล่าเรื่อง แม้จะต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์สักหน่อย แต่รับรองได้เลยว่า คนดูจะได้อะไรกลับไปจากหนังเรื่องนี้แน่นอน

ขอขอบคุณรูปภาพจาก Prime Video