หาก A BOY คือ เด็กผู้ชาย ‘ABOY’ ก็คงเปรียบได้กับ ชายหนุ่มผู้ก้าวข้ามผ่านหลายช่วงวัยจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ผู้ที่สะสม เพาะบ่ม ประสบการณ์ทางดนตรี จนตกผลึกออกมาเป็นศิลปินที่มีนามว่า ABOY (เอบอย) หรือ ‘บอย’ – พันเอก ชูเจริญพร ศิลปินเชียงใหม่เชื้อสายจีนยูนนาน ผสานกับความเป็นคริสเตียน และแนวเพลงที่มีกลิ่นอายของ Modern Pop, Blues และ Funky ส่วนผสมที่กลมกล่อมและลงตัวกำลังพอดี กับเส้นทางสายดนตรีเป็นระยะเวลา 2 ปี กับ 5 บทเพลงที่เชื่อว่า หลายๆ คนน่าจะได้ฟังกันบ้างแล้ว อย่าง Ghost in Town, Lady, Priority, Maybe it's just my way และ Let me in
เดินทางมาถึงเพลงล่าสุด ซิงเกิลลำดับที่ 6 ซึ่ง EQ จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยอย่าง ‘They Said’ ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า มาครั้งนี้ไม่ได้คลั่งรักแล้ว! ส่วนที่มาที่ไปของเพลงนี้จะเป็นอย่างไร ไปทำความรู้จักตัวตนของเขาผ่านบทเพลงพร้อมๆ กันค่ะ
https://youtu.be/WtImDovJACk
จุดเริ่มต้นของ ABOY
"ตอนนั้นผมกำลังทำเพจๆ หนึ่งของตัวเอง จะใช้คำว่า BOY แต่ไม่สามารถใช้ได้ เพราะชื่อนี้มีคนใช้ไปแล้ว เลยเติม A ลงไปเป็น ABOY พอดีช่วงนั้นติดตามเพจ AGIRL ด้วย (หัวเราะ) คนทั่วไปอาจอ่านว่า อะบอย หรือ เอบอย แต่ความคิดผมเหมือนเพื่อนฝรั่งเรียกเรา 'เอ้...บอย' ซึ่งตอนที่ทำไม่ได้คิดว่าจะเป็นศิลปิน หรือคนทำเพลง จะทำแค่เป็นเพจเฟสบุ๊กเอาไว้อัดกีตาร์ พวกไอเดียดนตรีที่เราสะสมไว้ หรือพวกคอนเทนต์กีตาร์ พอพี่คลี (วง Klee Bho) ชวนมาทำเพลง ตอนแรกทำภายใต้ 'ABOYKlee' ทำเพลง 'เดินทาง' กับ 'ธรรมดา' ตอนหลังเราว่าง และช่วงนั้นเป็นช่วงโควิดเลยลองทำเพลงของตัวเอง ลองปล่อยเพลงเล่นๆ ภายใต้ชื่อ ABOY ซึ่งไม่ได้คาดหวังอะไรมาก พอปล่อยไปกลับได้รับกระแสที่ดี และได้รับการโปรโมตผ่านทางพี่คลี หรือชาวแก๊งเด๊อะโพ เขาเลยเชียร์ให้เราทำต่อไปเรื่อยๆ ครับ"
ABOY เคยเป็นชาวร็อกมาก่อน!
"ตอนนั้นผมไปเรียนต่อเมืองนอกครับ ในระยะเวลาที่เรียนก็มีโอกาสได้ทำวงกับเพื่อน ตอนแรกก็ตกลงกับเพื่อนว่า จะทำวงด้วยกัน (ชื่อวง FOOLISH DEEP) เพราะชอบแนวเพลงคล้ายๆ กัน พวก John Mayer หรือ Bon Ive ตอนแรกเพลงมันไปแนวนั้น แต่ตอนหลังเริ่มเสพดนตรียุค 80’s มันก็เปลี่ยนไปในเส้นทางนั้นเลย จุดเปลี่ยนที่กลายมาเป็นแบบนี้ น่าจะเกิดจากตอนที่อยู่อเมริกา ผมได้รับอิทธิพลจากเพื่อนเยอะ ทั้งญี่ปุ่น เยอรมัน อเมริกัน เขาจะมีวัฒนธรรมการแชร์เพลงให้ฟัง ตอนนั้นเขาเปิด Bruno Major ให้ฟังซึ่งยังไม่มีใครรู้จัก ผมฟังแล้วชอบ เขาก็แชร์มาให้ฟังอีกหลายๆ วง เราก็ค่อยๆ ซึมซับไป พอถึงจุดที่เราต้องทำเพลงของเราเองคนเดียว 100% มันก็ออกมาเป็นอย่างนี้ เป็นแนวดนตรีที่เราชอบ"
Photo Credit: @aboycanfunk
“ผมเป็นคนขี้เล่น กวนๆ หน่อย (หัวเราะ) จริงๆ มันมี 2 พาร์ทหลักๆ คือ ถ้าเวลาทำงานแล้วต้องซีเรียส ผมจะค่อนข้างมีระเบียบวินัย ตรงต่อเวลา (มั้ง) แต่ในมุมชีวิตประจำวันก็เป็นคนขี้เล่น กวนๆ อะไรอย่างนั้น”
รับบท นักร้องจำเป็น (เพราะต้องร้อง และเล่นเอง!)
"ชอบร้องเพลงไหม ก็ไม่ขนาดนั้น ร้องเพลงนี่มาทีหลัง อาจเป็นเพราะ ผมโตในโบสถ์เราต้องร้องตอนเป็นเด็ก ก็จะมีการร้องประสานเสียง อันนี้ผมชอบร้อง เราร้องอีกเสียง เพื่อนร้องอีกเสียง มันเกิด Harmony เหตุผลที่ต้องร้องคือ เคยแต่งเพลงแล้วให้เพื่อนเล่น แต่ไม่มีใครอยากร้อง เราก็เลยเล่นเอง ร้องเอง ซึ่งผมเคยไปเรียนร้องเพลงประมาณ 2-3 ครั้ง แต่การเรียนไม่ใช่ทฤษฎีจ๋า เพราะผมรู้ว่า เราต้องการอะไร เรารู้จักเสียงตัวเองดี เพราะเสียงเราโทนต่ำ แห้งๆ แหบๆ สิ่งที่เราต้องพัฒนา อาจจะเป็นการหายใจ หรือการปรับไดนามิกครับ"
“ตอนแรกผมไม่ได้ตั้งใจจะเป็นนักร้องอะไรขนาดนั้น แต่ก็ไม่รู้จะหาใครมาร้องเพลงที่เราแต่ง”
จุดเด่นของ ABOY
"ถ้าพูดถึงดนตรีของ ABOY จะมีการผสมผสานระหว่างเสียงประสาน กับดนตรีที่ค่อนข้างแน่น แต่พอฟังแล้วก็ไม่ได้แน่นชนิดที่มีเครื่องดนตรีหลายๆ เครื่อง แต่มันแน่นในมู้ดของมัน"
“ABOY เป็น Modern Pop แต่มีความเป็น Blues Funky อยู่นิดหน่อย ซึ่ง Funky ของ ABOY ไม่ได้รวดเร็วกระฉับกระเฉง แต่จะเป็นสัดส่วนสั้น-ยาว”
แรงบันดาลใจที่ทำให้เป็น ABOY ทุกวันนี้
"น่าจะมาจากการฟังเพลงจากศิลปินที่เราชื่นชอบ แน่นอนผมชอบ John Mayer, Bruno Major, Kings of Convenience, Bon Ive, Cory Wong, FKJ ถ้าเป็นผู้หญิงผมชอบ Norah Jones ผมก็ฟังมันไปเรื่อยๆ จนเราไม่รู้ตัวว่า ได้รับอิทธิพล และซึมซับแต่ละวงมา และบางทีก็เกิดจากการเห็นเพื่อนที่เป็นนักดนตรีเขาทำเพลง เขาเล่นดนตรีด้วยครับ"
Photo Credit: @aboycanfunk
“พอเราได้ดูโชว์เยอะขึ้นอย่าง John Mayer หรือ ศิลปินต่างประเทศ เราก็ลองคิดว่า ถ้าเราเป็นคนที่ไปดูศิลปินที่เราชอบ ทุกคนน่าจะมีความคาดหวังอยู่แล้วว่า อยากดูแบบไหน แต่ถ้าเราไปดู และคิดว่าเราไม่ใช่ศิลปิน เป็นแค่คนดูที่ไปดูศิลปินที่เราชื่นชอบเล่นอยู่ ในวันหนึ่งที่เรามีโอกาสเล่นเราต้องเป็นแบบนี้ ที่ทำออกมาได้เป็นอย่างดี และถ่ายทอดทุกอย่างได้อย่างเต็มที่โดยที่ไม่ต้องเขินอาย”
มีอิทธพลของการเป็นคริสเตียนต่อการทำเพลงของ ABOY
"มีผลโดยตรงเลยครับ เพราะ การเป็นคริสเตียนของเราหมายถึง การดำเนินชีวิตภายใต้คำสอนของพระเยซู ซึ่งอยู่ในพระคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งมีหลักข้อเชื่อที่คนคริสเตียนรู้กันคือ บัญญัติ 10 ประการ แต่ทั้งหมดทั้งมวลจะพูดถึงเรื่องความรัก ที่พระเจ้ามีต่อเรา และเราก็ควรจะมีต่อเพื่อนรอบข้าง มันเลยส่งผลโดยตรงเพราะ เรายึดหลักข้อเชื่อในการดำเนินชีวิต การจะถ่ายทอดอะไรออกไปสักอย่าง ผมไม่สามารถใช้โทสะของตัวเองล้วนๆ ต่อให้เพลงมันเศร้า อย่าง Please come back to me ก็ไม่ได้ไปต่อว่าเขา แค่ขอร้อง แม้กระทั่งการโอ้อวดตัวเอง ผมว่ามันก็ไม่ควร คริสเตียนก็คือมนุษย์ มนุษย์ใช้ชีวิตล้มเหลวได้ แต่พอล้มเหลวจะทำยังไง แต่สำหรับคริสเตียนเราจะกลับไปหาพระเจ้า ไปสารภาพบาป และเราจะได้รับการอภัย แล้วเราก็จะอภัยเพื่อนรอบข้าง"
“เพลง Let me in คนอาจจะฟัง และตีความไปในรูปแบบที่แตกต่างกัน แต่ในแง่ผมที่เป็นคนแต่ง เราจะเขียนในแง่ความเป็นคริสเตียนอยู่ บางทีเราเศร้า เราหม่น เราเก็บตัวอยู่ พระเยซูกำลังเข้ามาเคาะประตู เพื่อเข้ามาในใจเรา มาเยียวยารักษา”
ความเป็นคนเชียงใหม่ หรือคนจีนยูนนาน กับกลิ่นอายของเพลงจาก ABOY
"จริงๆ ผมไม่ใช่คนเชียงใหม่ ผมเกิดที่พะเยา แล้วย้ายไปอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประมาณ 8 ปี แล้วย้ายไปเชียงรายเรียนมัธยม และย้ายไปเรียนที่เชียงใหม่อีก 4 ปี ทำงานอีก 5-6 ปี ย้ายไปเรียนเมืองนอก แล้วย้ายกลับมากรุงเทพ และย้ายมาอยู่เชียงใหม่ครับ ถ้าพูดถึงการเป็นคนจีนยูนนานก็ได้ฟังเพลงจีนตั้งแต่เด็ก (หัวเราะ) ได้ฟังเพลงหลายๆ รูปแบบเวลาเข้าไปในโบสถ์ อย่าง Jay Chou, Wáng Lìhóng ทำนองเพลงพวกนี้มีความเป็นจีนเยอะ เพราะบางท่อนที่เราแต่งเราจับเซนส์ได้ว่ามันเหมือนทำนองของเพลงจีนที่เราเคยฟังสมัยตอนเด็กๆ"
เสน่ห์ของซีนดนตรีในจังหวัดเชียงใหม่
"เสน่ห์มันแบ่งได้เป็น 2 แบบ แบบแรกคือ เราคลุกคลีดนตรีในซีนเชียงใหม่มาระดับหนึ่ง เราก็จะรู้ถึงความเป็นพี่น้องนักดนตรีเชียงใหม่ ไม่ค่อยเก๊กใส่กัน สมัยก่อนตอนผมเล่นดนตรีเวลามีงานก็จะเรียก และชวนกันไปเล่น มีเล่นแทนกันด้วย มีนัดไปซ้อมดนตรีกัน สมมุติเพื่อนแกะเพลงใหม่มา มันเท่มาก เขาก็จะสอนเรา มีความสัมพันธ์แบบพี่น้องกัน พอเล่นดนตรีมันก็รีแลกซ์มากขึ้น ซึ่งตอนซ้อมมันก็จะผ่อนคลายมากๆ เพราะเคมีมันได้ พลังงานมันตรงกัน เหมือนไปแฮงก์เอาท์มากกว่า อีกอันคือ เชียงใหม่ยุคหลังๆ เริ่มมีพื้นที่ อิสรภาพในการสร้างสรรค์เยอะ ยกตัวอย่าง เราเป็นนักดนตรี เราชอบดนตรีแนวร็อก ก็มีให้เล่นมีให้ฟัง เราชอบป๊อบก็มีแน่นอน แต่เสน่ห์ของเชียงใหม่คือ โฟล์ค ซึ่งมันมีมานานแล้ว แต่มันจะมาบูมในช่วงยุควงเขียนไขและวานิช แต่ 7-8 ปีก่อนตอนที่โฟล์คยังไม่ดัง เชียงใหม่ก็มีพื้นที่ให้เราเล่นเพลงแบบนี้ ถ้าเป็นแจ๊สเชียงใหม่ก็มีบาร์แจ๊สเยอะ บลูส์ก็มี ตอนหลังเริ่มมีฮิปฮอป"
เหตุผลที่เลือกทำเพลงเป็นภาษาอังกฤษ
"ผมเคยแต่งเพลงไทยนะ แต่ผมรู้สึกว่าตัวเองแต่งเพลงไทยไม่ค่อยคล่องเท่าไหร่ จริงๆ ผมเริ่มจากการเป็นมือกีตาร์ ซึ่งเราก็เล่นกีตาร์ และไม่ได้ใส่ใจกับเนื้อร้อง ก็แค่อยากแกะ และเล่นกีตาร์กับเพลงที่เราชอบ จนกระทั่งมีโอกาสได้ทำเพลง พวกเรฟฯ คำไทยของเรามันไม่เพียงพอเท่าคนอื่น เรามีแค่ไอเดีย แต่ไม่มีวัตถุดิบที่จะใช้เป็นเครื่องปรุงในการทำให้ออกมาเป็นเพลงๆ หนึ่ง ช่วงที่อยู่อเมริกาผมก็แต่งเพลง 'ถาม' ซึ่งเพลงนั้นก็ไม่ได้ตั้งใจจะอัด แต่เพื่อนที่เรียนวิชา Audio ต้องอัดเสียง และส่งอาจารย์ เห็นเราเล่นกีตาร์ และชอบแต่งเพลงเลยโทรมาถามเรา เราก็เอาเพลงนี้ไปอัด เลยอัพลง YouTube ส่วนภาษาอังกฤษผมรู้สึกว่า มันมีอิสรภาพในการใส่ทำนองของคำมากกว่าภาษาไทย บางคำภาษาไทยใส่ได้แต่มันจะดูเหน่อไปเลย ถ้าเราใช้คำเดียวแล้วมีทำนองประมาณ 5 ทำนอง ภาษาอังกฤษสำหรับผมถ้าจัดวางให้ถูกที่มันก็ดูไม่เหน่อ ไม่ต้อง make sense ทุกบรรทัดก็ได้ verse แรก 4 บรรทัดอาจจะเปลือยๆ มาก่อน ค่อยมาที่ฮุกทีเดียวว่าต้องการสื่ออะไร"
“เวลาผมทำเพลง ผมจะเริ่มจากจินตนาการก่อน เพลงนี้มันมีโครงออกมาแล้วล่ะ แต่มาดูว่า ตรงนี้ควรจะเป็นยังไง แต่บางทีก็คิดไม่ออก ก็ต้องไปฟังวงต่างๆ ที่เราชอบ ว่าเขาทำยังไง และหยิบจับบางอย่างเพื่อเอามาเป็นไอเดียในการทำเพลงของเรา”
แรงบันดาลใจของเนื้อหา และการนำเสนอเพลง
"80% มาจากผู้หญิงใช่ไหมครับ เพราะเพลงผมจะสื่อไปเรื่องความรักค่อนข้างเยอะ ประมาณอีก 10-20% มาจากเรื่อง หรือประเด็นที่เราอิน ณ ช่วงเวลานั้น"
มุมมองความรักของ ABOY
"ยึดหลักในพระภีร์เลยครับ โครินธ์ 13:4-7 เป็นความรักในแง่ของความอดทนนาน ไม่อิจฉา ไม่อวดตัว ไม่หยิ่งผยอง ไม่คิดเห็นแก่ตนเองฝ่ายเดียว ไม่หยาบคาย ให้อภัยต่อกันและกัน ไม่ใช่แค่ในมุมของหนุ่มสาว แต่มันใช้กับทุกอย่างได้ หลายๆ ครั้งที่เราผิดพลาดจากความสัมพันธ์ หรือแยกทางกันไป เกิดจากความรักที่มีอีโก้ ว่าเราไม่ผิดนะ แต่ลองคิดดีๆ จริงๆ เราไม่น่าทำแบบนั้นเลย เพราะหลายๆ ครั้งเขาก็ไม่ได้จดจำความผิดเราสักหน่อย เราไปจดจำเอง เลยไม่เกิดการให้อภัย ความรักเลยหยุดชะงัก และไม่ได้ไปต่อในทางที่ควรจะไป"
เบื้องหลังการทำเพลงของ ABOY
"ผมเริ่มจากการแต่งเพลงก่อน พอเราแต่งเพลงเสร็จก็มาฟังอีกทีว่าชอบไหม ถ้าชอบก็เริ่มขั้นตอนของการบันทึกเสียงเลย ขั้นตอนนี้ก็แบ่งได้ 2 กลุ่มหลักๆ ครับ
กลุ่มแรกคือ พวกเครื่องสาย, คีบอร์ด หรือ เปียโน แล้วก็เสียงร้อง ตัวอย่างเช่น guitars, strings, pads และ vocals พวกนี้เป็นเครื่องดนตรีที่ผมสามารถอัดเองที่บ้าน หรือตามร้านกาแฟก็ได้
กลุ่มที่ 2 คือ พวก Drums และ Bass เครื่องดนตรีสองชิ้นนี้เป็นเครื่องที่ผมไม่สามารถอัดเองได้ เพราะฝีมือไม่ถึง (หัวเราะ) โดยกลุ่มนี้จะกินเวลาเยอะหน่อย เพราะนอกจากจะอธิบายความต้องการของเราให้นักดนตรีเข้าใจ อธิบายอารมณ์ของเพลงแล้ว ยังต้องบริหารคนด้วย โดยเฉพาะวันเวลาในการอัด ซึ่งผมมารู้ทีหลังว่า ส่งผลกับเพลงไม่น้อยเลยทีเดียว
จากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอนของการ Mix and Mastering ขั้นตอนนี้ก็ปวดหัวไม่น้อย หลักๆ แล้วจะปวดหัวกับความหลอนของตัวเองซะมากกว่า การมิกซ์ + มาสเตอริ่งส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ครับ หรือบางทีถ้าช่วงไหน sound engineer ไม่ค่อยว่าง ก็อาจจะกินเวลาไปถึง 3 สัปดาห์เลยก็ว่าได้"
“เพลงหนึ่งใช้เวลาทำเฉลี่ยประมาณ 2 เดือน เพลงที่ยากที่สุดน่าจะเป็นเพลงต่อไปที่จะทำ ซึ่งเราก็ขึ้นโครงไว้ บางทีก็ไม่รู้ว่าจะเขียนอะไรลงไป ถึงมีไอเดียก็ไม่รู้ว่าจะเขียนออกมาในรูปแบบไหนอย่างไร”
เพลงที่ชอบมากที่สุดของ ABOY ณ ตอนนี้
"เอาจริงๆ ทุกเพลงเป็นตัวตนของผมเลยครับ แต่เป็นตัวของผมในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ถ้าจะให้เลือกเพลงที่ชอบที่สุด ผมขอเลือกเพลง 'Priority' เพราะเป็นเพลงที่เราแทบไม่ต้องคิดอะไรเลย ภาษาที่ใช้ก็ง่ายมาก ผมจำได้ว่า ใช้เวลาแต่งแปบเดียว 2 วันเอง มันเป็นเพลงที่ทั้งแรด มีความสำนึกผิด และซื่อสัตย์ในเวลาเดียวกัน"
https://youtu.be/iysOIdKlETQ
เรื่องราวของซิงเกิ้ลล่าสุด ‘They Said’
"เพลงนี้เป็นเพลงที่เริ่มจากส่วนของดนตรีก่อนครับ ก็คือว่า หลายๆ ครั้ง หลายคนมักจะแต่งเพลงโดยเริ่มจากทำนอง และเนื้อร้อง หรือบางคนอาจจะเริ่มด้วยการเขียนเนื้อร้องเลยก็ได้ แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมชอบเริ่มจากจินตนาการของตัวเองก่อน ซึ่งก็คือภาพในหัวของเรา ภาพที่ผมเห็นก็คือ การสับคอร์ดแบบ funky บวกกับ Bluesy Tone ซึ่งเป็นโทนที่ผมถนัดอยู่แล้ว บวกกับ groove ที่มีจังหวะ ไม่ช้า ไม่เร็ว แต่ฟังแล้วชวนให้ขยับตาม ซึ่ง ณ จุดนี้ยังไม่มีเรื่องของเนื้อหาเข้ามาเกี่ยวข้องแม้แต่น้อย แต่หลังจากที่ประกอบดนตรีเข้าหากันทีละชิ้น ก็ทำให้เริ่มเห็นภาพของเนื้อหามากขึ้น พอได้ใจความหลักของเนื้อ มันก็ส่งผลให้เราเลือกใช้เสียงของเครื่องดนตรีได้ง่ายขึ้น เนื้อหาของเพลงน�