หากเอ่ยชื่อ “แอ้ม-อัจฉริยา ดุลยไพบูลย์” หลายคนอาจจะไม่คุ้นเคยนัก แต่หากเราบอกว่า เธอคือนักแต่งเพลง ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของหลากหลายบทเพลงอย่าง คั่นกู - ไบร์ท วชิรวิชญ์ จาก Ost.เพราะเราคู่กัน 2gether The Series, UNDO - ป๊อบ ปองกูล x WONDERFRAME จากโปรเจ็กต์ JOOX Original 100x100, โลมาไม่ใช่ปลา - NANA, ภาพจำ - ป๊อป ปองกูล, รู้ยัง - ต้น ธนษิต, รักที่เป็นของจริง - นิว จิ๋ว หรือ Make It Happen ที่ดังจากรายการ The Face Thailand เราคิดว่า ณ เวลานี้ หลายคนน่าจะคุ้นหูเพลงเหล่านี้อย่างแน่นอน
กว่า 12 ปีของเส้นทางนักแต่งเพลง และมากกว่า 200 เพลงรัก ที่ถูกถ่ายทอดผ่านปลายปากกาของเธอ สู่บทเพลงรักหลายหลายมิติ วันนี้มาทำความรู้จักเธอมากขึ้น หากเราจะบอกว่า เธอคือนักแต่งเพลงสาวโสด ผู้เชี่ยวชาญในการแต่งเพลงรัก ที่ค่ายเพลงและศิลปินต่างต้องการตัวมากที่สุด
จุดเริ่มต้นของการเป็นนักแต่งเพลง
แอ้มเริ่มต้นแต่งเพลงเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ซึ่งรูปแบบการทำงานในวันนั้นกับวันนี้ไม่เหมือนกันเลยนะ วันนี้ถ้าคุณมีงานเพลงที่แต่งเอง คุณสามารถลองแต่งเพลงแล้วอัปโหลดลงยูทูปได้เลย เป็นยุคที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้โชว์ความสารถเร็วขึ้น แต่สมัยก่อน ถ้าคุณอยากเป็นนักแต่งเพลง คุณต้องเข้าไปในค่ายเพลงใหญ่ๆ ซึ่งค่ายเพลงส่วนใหญ่ เขาก็มีทีมแต่งเพลงอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น การที่เราจะเข้าไปตรงนั้นได้ เราต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยการทำเดโมไปเสนอ ซึ่งแอ้มโชคดีมาก ที่ได้รู้จักพี่ “ก๊อป- ธานี วงศ์นิวัติขจร” ซึ่งตอนนั้น แอ้มเข้าไปอยู่ในทีมเขา ในฐานะนักร้อง ร้องไกด์ แล้วพี่ก๊อปเขาสังเกตเห็นว่า ในขณะที่เรากำลังร้อง เราชอบขอแก้เนื้อ เพราะบางคำเราเห้นว่า เออ คีย์นี้มันออกเสียงยาก เราขอเปลี่ยนเป็นคำนี้ได้ไหม ซึ่งพี่เขาก็ใจกว้างมาก เขาเลยมองว่า เออ น้องคนนี้มันน่าจะเขียนเนื้อเพลงได้ มันมีความเข้าใจในการหาคำมาใส่ในทำนองได้ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มเต้นเลย
เพลงแรกที่เริ่มแต่ง
“รักได้ รักไปแล้ว” ของ “โฟร์ มด” จริงๆ เพลงนี้ แอ้มทำแค่เมโลดี้ ตอนนั้นทีมเราขาดคนเขียนเมโลดี้พอดี ซึ่งเพลงนี้เราไดมีโอกาสได้เขียนท่อนฮุคพอดี เลยนับว่าเป็นเพลงแรก จากนั้น ก็ได้มีโอกาสฝึกเขียนไปเรื่อยๆ ใน 2-3 ปีแรก ยังไม่ได้เขียนเนื้อเลย ระหว่างนั้น คือได้เขียนร่วม และมีโอกาสได้ช่วยเพื่อนๆ ในทีมคิด ซึ่งตอนนั้นที่ทำหลักๆ คือ ร้องคอรัส ร้องไกด์ ทำเมโลดี้ และสอนร้องเพลงนิดหน่อย จุดเริ่มต้นที่ได้เขียนเพลงจริงจัง มาจากพี่กร กีรติกวีกาญจน์ ที่เอาเพลงละครจาก เอ็กแซ็กท์ มาให้ลองเขียน ชื่อเพลง “ไว้ใจฉันได้เสมอ” ของ “คิว-สุวีระ บุญรอด” (คิว วง FLURE) ตอนนั้นเราก็ไม่มั่นใจเลยนะ แต่พี่เขาเชื่อในตัวเรามาก ซึ่งนั่นคือโอกาสแรก ที่ได้เขียนเนื้อและทำนองเป็นเพลงแรก จากนั้นก็ได้เริ่มเขียนเนื้อ เรียบเรียง ทำนอง ในเพลง “รักที่เป็นของจริง” ให้ “นิว จิ๋ว” ในโปรเจ็กต์ อัลบั้ม 10 Years of Love ตอนนั้น คนเริ่มรู้จักชื่อเสียงเรามากขึ้นจากเพลงนี้
https://www.youtube.com/watch?v=udvklJlK10g
เทคนิคการแต่งเพลง
พี่กอล์ฟเป็นคนแรกที่สอนให้แอ้มรู้ว่า การจะเล่าเรื่องในงานเพลง ควรจะเล่าอะไร แบบไหน และถ่ายทอดโดยศิลปินคนใด เขาไม่ได้มีทฤษฎีอะไรมากมาย แต่ให้คิดภาพของศิลปิน ตัวตนเขาคือแบบไหน ถ้าเขาจะพูดเรื่องราวเหล่านี้ เขาจะพูดแบบใด ซึ่งเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ ในการสร้างศิลปิน สำคัญยิ่งกว่าเทคนิค ที่จะต้องเขียนคำให้คล้องจอง
ประเภทของการแต่งเพลง
แบบแรก ค่ายเพลงหรือทีมมาร์เก็ตติ้งวางคอนเซปต์ ศิลปิน และ positioning มาให้เลย อยากได้เพลงเร็ว สนุก หรือ เพลงช้าอกหัก ต่อจากนั้น ก็เป็นหน้าที่ของเรา ที่ต้องกลับไปครีเอท คุยกับศิลปินเพิ่ม และวางคอนเซปต์กลับไปขายเขา
แบบที่สอง ให้เราไปคิดมาเลย เช่น ให้โจทย์มาว่า จะต้องแต่งเพลงให้ศิลปินคนนี้ ช่วยไปคิดให้หน่อย ว่าเขาควรจะร้องเพลงอะไร ซึ่งส่วนใหญ่ จะเป็นศิลปินหน้าใหม่ หรือเกิร์ลกรุ๊ป บอยแบนด์ ซึ่งแบบนี้เราจะต้องคิดเยอะขึ้น ต้องใช้เวลาทำความรู้จักกับศิลปินเยอะหน่อย ยิ่งถ้าศิลปินที่เด็กๆ บางคนจะยังไม่มีแนวทางของตนเองชัดเจน เราต้องเป็นคนที่ต้องวางสไตล์ให้เขา อาจจะต้องคุยกับค่ายมากขึ้น เพราะค่ายจะรู้ว่าอยากพรีเซนต์ให้ direction ของศิลปินไปทางไหน
แบบที่สาม เราคิดเพลงมาขายให้เลย แล้วเอาไปเสนอค่าย ว่าอยากให้ศิลปินคนนี้ร้อง แต่วิธีนี้ไม่ค่อยได้ใช้เท่าไหร่นัก
กระบวนการสร้างบทเพลงมีอะไรบ้าง
จริงๆ การแต่งเพลงแบบ Traditional คือจะเริ่มจากทำนองก่อน เป็นการทำงานในช่วงแรกของแอ้ม คือต้องส่งเมโลดี้ให้ผ่านก่อน ค่อยเขียนเนื้อ ซึ่งอันนี้เป็นวิธีที่ดีนะคะ เพราะว่าเราจะได้เพลงที่เพราะมากๆ ส่วนตัวคิดว่าเมโลดี้สำคัญสุด สมมติเพลงมีการเอาไป cover เป็นภาษาต่างประเทศ ก็จะเปลี่ยนแค่เนื้อ แต่ถ้าเกิดมีการเอาไป cover ดนตรีใหม่ปุ๊บ ดนตรีหายไปแล้ว แต่สิ่งที่ยังอยู่คือทำนอง ไม่ว่าเราจะทำเป็น music box อะไรก็ตาม ทำนองเป็นอย่างเดียวที่ยังอยู่ เพราะฉะนั้นหัวใจสำคัญของเพลง ก็คือ ทำนอง แต่ถ้าในปัจจุบัน ที่คุยกับเด็กๆ ที่มาเวิร์กช้อป เขาจะไม่ได้คิดเรื่องนี้ เขาจะเขียนเนื้อไปพร้อมกันเลย ทำให้ทำนอง มีความไหลๆ ไป ไม่ได้เป็นทำนองที่ถูกคิดมาอย่างรอบคอบ อาจจะมีผลทำให้ทำนองยุคนี้มีความคล้ายๆ กันเยอะค่ะ ส่วนตัวแอ้มเองเวลาแต่งเนื้อไปพร้อมทำนอง ก็จะมีปัญหาไปว่าเพลงใหม่ที่แต่ง จะไปคล้ายกับเพลงเก่าๆ ของตัวเอง
ทำงานกับศิลปินคนไหนสนุกที่สุด
“ป๊อป ปองกูล” เขาเป็นศิลปินที่มีไอเดีย และระบบการคิดชัดเจน มีภาพในหัวเป็นมิวสิควิดีโอเลย ซึ่งมันทำให้เราทำงานง่ายขึ้น และที่สำคัญเขาเป็นศิลปินที่ถ่ายทอดอารมณ์เพลงได้ดีมาก คือเขียนเพลงอะไรไป เขาร้องได้เพราะหมด แล้วเขาเป็นคนที่มีความละเอียดในการทำงานสูง ทำงานกับเขาอาจจะใช้เวลานานกว่าศิลปินคนอื่น แต่ผลงานที่ออกมา ก็จะเต็มไปด้วยคุณภาพจริงๆ เขาไมได้เป็นคนที่เอาอะไรไปให้ร้อง ก็ร้อง แต่เพลงนั้นจะต้องมีความเป็นตัวเขาด้วย
https://www.youtube.com/watch?v=TgbdwLQDV3s
โปรเจกต์ศิลปินคนไหนท้าทายการทำงานที่สุด
“BOYFRIENDS” โปรเจกต์ค่ะ ที่ทำกับ GMM GRAMMY ค่ะ เป็นโปรเจกต์ที่รวมน้องๆ หนุ่มในฝัน 10 คน มาจับคู่ร้องเพลง 5 เพลง ความยากของโปรเจกต์นี้คือเป็นช่วงโควิดพอดี ทำให้กว่าจะสรุปรายชื่อศิลปินได้ลงตัว น้องบางคนไม่เคยร้องเพลงมาก่อน เราต้องทำการบ้านเยอะมาก นัดเวลาคุยกับน้องๆ ก็ยาก เพราะน้องๆ กลุ่มนี้ฮอตมากงานยุ่งตลอด ก่อนเข้าห้องอัด เราแทบไม่มีโอกาสได้เทสต์เสียงน้องแต่ละคนเลย น้องบางคนเข้าห้องอัดเป็นครั้งแรก ร้องไม่ได้บ้าง ตื่นเต้นบ้าง ต้องให้กำลังใจน้องๆ หนักมาก อย่างน้องบางคน เราไม่รู้เลย ว่าเขาถนัดร้องเพลงแบบไหน เราต้องอาศัยการไปสืบจากแฟนคลับก็มี (หัวเราะ) เป็นโปรเจกต์ที่ยากแต่ว่าสนุกดีค่ะ เพราะทุกคนทุ่มเทมาก
https://www.youtube.com/watch?v=uX_mv2IMUC0&list=PLRiGi5FnV65c5vDoQEeyf35LJz08p7F6z
เพลงที่ประสบความสำเร็จ ในฐานะนักแต่งเพลงคิดว่าศิลปินมีส่วนด้วยไหม
เกี่ยวส่วนนึง ยกตัวอย่าง “หวาย กามิกาเซ่” จะเป็นผู้หญิงตรงๆ mindset ไม่อยู่ under ใคร แต่ไม่ใช่ผู้หญิงร้ายกาจ อย่าง ”ขนมจีน” ก็จะเป็นผู้หญิงเก็บความรู้สึกหน่อย ซึ่งหลักการตีโจทย์ศิลปินแบบนี้ ก็นำมาใช้จนถึงวันนี้ อย่างตอนที่ต้องทำเพลงประกอบละครเรรื่อง “คั่นกู” เราก็ไม่มีโอกาสได้คุยกับ “ไบร์ท - วชิรวิชญ์ ชีวอารี” ก่อนเลยนะ เราก็ทำการบ้าน ด้วยการไปดูคลิปสัมภาษณ์ แล้วก็รู้สึกได้ว่า ตัวตนของ “ไบร์ท” น่าจะมีความคล้ายคาแรคเตอร์ของ “สารวัตร” ในละคร คือหน้านิ่งๆ กวนๆ แล้วพอทำเพลงออกมา ก็ค่อนข้างตรงกับความเป็นเขาเลย อย่างตอนที่ทำโปรเจ็กต์ “BOYFRIENDS” เราก้ต้องเรียนรู้คาแรคเตอร์ของน้องๆ แต่ละคน เพื่อที่จะทำเพลงออกมาแล้วเป็นเขามากที่สุด
การแต่งเพลงประกอบละครซีรีส์วาย แตกต่างจากการการแต่งเพลงทั่วไปไหม
โดยส่วนตัว ไม่ได้รู้สึกว่า การแต่งเพลงให้ LGBT แตกต่างจากการแต่งเพลงทั่วๆ ไปเลย แต่เราจะศึกษาเนื้อหาของละครและที่มาที่ไปของตัวละครมากกว่า ซึ่งละครซีรีส์วายที่เราดูส่วนใหญ่ ก็จะเป็นพล็อตเรื่องที่พูดถึงความไม่แน่ใจของตัวละคร ไม่รู้ความรู้สึกลึกๆ ของตัวเอง และจะค่อยๆ รู้สึกมากขึ้น การแสดงความรักของวาย มันก็จะไม่ได้หวาน เหมือนหนุ่มๆ สาวๆ ดังนั้น ภาษาที่อยู่ในเพลง มันก็จะมีความเป็นเพื่อนอยู่ในนั้นด้วย
https://www.youtube.com/watch?v=leevExpA8ec
ชอบแต่งเพลงแนวไหนมากที่สุด
ชอบทุกแนว แต่ชอบเขียนเพลงที่มีเนื้อหาเชิงบวก ถ้าเป็นเพลงอกหัก ก็จะไม่ดิ่งมาก คือต่อให้เศร้าสุดๆ ก็ขอ move on นิดนึง เราชอบเขียนเพลง ที่ทำให้คนฟังรู้สึกดีขึ้น มันเหมือนเราได้ทำหน้าที่ให้คนอื่นได้รู้สึกดีด้วย ยกตัวอย่างเพลงล่าสุด คือเพลง “Undo” ที่อยู่ในโปรเจ็กต์ JOOX Original 100x100 season 2 ตอนที่เขียน เรามีความตั้งใจ อยากให้มีคนเอาเพลงนี้ไปง้อแฟน อาจจะเพราะที่เพิ่งเลิกกันไปเพราะความวู่วาม หรือใจร้อนก็ตาม ซึ่งฟีดแบคที่พี่ป๊อป ปองกูล กลับมาเล่าให้ฟัง คือดีมาก เพลงนี้ทำให้พวกเขาได้คืนดีกับแฟน บางคนบอกว่า โกรธแฟนมาก ไม่ให้อภัยแน่นอน แต่พอเขาส่งเพลงนี้มาให้ คือหายโกรธ เรารู้สึกว่านี่คือความสำเร็จเล็กๆ ของนักแต่งเพลง
https://www.youtube.com/watch?v=tm2N4gntigI
ชีวิตส่วนตัวโสด ยากไหม ที่ต้องใช้อารมณ์และประสบการณ์ไปใส่ในเพลงรักหลากหลายมิติ
ก่อนหน้านี้ตอนเราเด็กๆ เราจะไม่เข้าใจว่าว่าทำไมเวลาอกหักมันเจ็บ แต่พอเราเคยมีความรัก เราจะรู้แล้วว่า เออ เวลาอกหัก ความรู้สึกมันเป็นแบบนี้นะ แล้วเวลาความรู้สึกที่มันมีความรัก มันจะเพ้อได้ประมาณไหน หรือความรู้สึกของการ move on ไม่ได้ มันเป็นยังไง นักแต่งเพลงหลายๆ คนก็พูดเหมือนกัน ว่าถ้ามันเป็นเรื่องจริง มันจะอินมาก แต่ถ้าเราเป็นนักแต่งเพลงอาชีพ มันไม่มีทาง ที่เราจะใช้วิธีนั้นได้ตลอด ดังนั้น การหาข้อมูลมาใส่ในเพลง จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งการเขียนเพลง ก็ไม่ต่างจากนักเขียนบทหนังเท่าไหร่นัก ต้องหาข้อมูล ทำการรีเสิร์ช สมมุติว่า เราต้องเขียนเพลง ถึงคนที่สถานะไม่ชัดเจน และอยากตัดพ้อ เราก็จะใช้ Twitter เป็นเครื่องมือในการทำแบบสอบถาม โพสต์ถามเลย ใครอยู่ตกอยู่สถานะนี้บ้าง มาแชร์กันหน่อย การดู Club Friday , อ่าน Twitter , หรือแม้กระทั่งการศึกษาจิตวิทยา ก็ช่วยได้
วิธีหาแรงบันดาลใจ
การดูหนัง ดูซีรีส์ ก็ช่วยได้เยอะ หรือหากอยากศึกษาเมโลดี้เพิ่มเติม ก็จะฟังเพลงเกาหลี ไม่ได้ Copy นะคะ แต่ศึกษาว่าเมโลดี้ในโลกนี้ พัฒนาไปถึงไหนแล้ว วิธีการเขียนเมโลดี้เป็นยังไง ก็จะฟังเพลงเกาหลี ที่เมโลดี้เพราะๆ ส่วนด้านเนื้อร้อง จริงๆ เป็นคนชอบฟังเพลงไทยอยู่แล้ว ก็จะมีคลังคำในหัวเยอะพอสมควร คือศึกษาจากนักแต่งเพลงที่ชอบอย่างพี่ “บอย โกสิยพงษ์” แต่ถ้าสมัยนี้ก็จะศึกษาจากเพลงของเด็กๆ รุ่นใหม่ ว่าเขาเขียนแบบไหนกัน เป็นการอัปเดตตัวเองไม่ให้แก่เกินไป (หัวเราะ)
อะไรทำให้เป็นคนที่ค่อนข้าง Positive
แอ้มโชคดี ที่เป็นคนไม่คิดมาก ไม่ได้มองว่าชีวิตเป็นเรื่องยาก เป็นคนง่ายๆ สบายๆ สมมุติว่าอยากกินอาหารเมนูนี้ แต่ว่ามันซื้อยาก ก็จะไม่กิน คนอื่นอาจจะมองแอ้มว่าเป็นคนที่ซับซ้อนเข้าใจยาก แต่ว่าในชีวิตประจำวันจะง่ายๆ เปลี่ยนอารมณ์ได้ตลอด ส่วนตัวคิดว่าอยากใช้เวลาทุกนาทีให้เป็น positive เพราะไม่อย่างนั้น จะรู้สึกเสียเวลา เหมือนอย่างเวลาเล่ยโซเชียลมีเดีย แล้วเจออะไรที่ Toxic เราจะเลื่อนผ่านไปเลย ในขณะที่บางคนเห็นแล้วอาจจะจิตตก แอ้มโชคดีที่แอ้มไม่เป็นอย่างนั้นค่ะ
นักแต่งเพลงที่ชอบ
ถ้ารุ่นครูก็จะเป็นพี่ “บอย โกสิยพงษ์” เพราะพี่บอยแต่งทั้งเนื้อร้อง และทำนองเพราะมาก จำได้ว่าเด็กๆ ก็ฟังเพลงตามพ่อแม่ ตามเทรนด์มาเรื่อยๆ แต่ว่าเพลงแรกที่รู้สึกว่า “อะไรกันเนี่ย! ทำไมเพราะขนาดนี้ นี่มันเป็นเพลงที่ฉันอยากฟังมาตลอดชีวิตเลย คือเพลง “รักคุณเข้าแล้ว” ในอัลบั้มแรกของพี่ “บอย โกสิยพงษ์” จากนั้นก็ติดตามผลงานพี่เขามาโดยตลอดและยกให้พี่บอย เป็นไอดอลด้านการแต่งเพลงไทย แต่ถ้าเป็นนักแต่งเพลงยุคใหม่ จริงๆ มีคนเก่งๆ หลายคน แต่ถ้าให้พูดถึงคนที่ปังๆ และได้มาตรฐานตลอด ก็คือ “โอม ค็อกเทล” รู้สึกว่าเก่งมาก ส่วนแร็ปเปอร์ ก็ต้องคือ “ฟักกลิ้งฮีโร่” ค่ะ เพราะเวลาเขาเขียนเพลงอะไร เราสามารถคาดหวังได้เลยว่า “ดีแน่นอน”
https://www.youtube.com/watch?v=_9x3KdCJlAY
ในฐานะนักแต่งเพลง แต่งเพลงเสร็จ รู้เลยไหมว่าเพลงนี้ ดังแน่ๆ
ในยุคนี้ รู้ยากมาก บางเพลงที่เราฟัง แล้วรู้สึกว่าเพลงนี้ดีมาก ต้องดังแน่ๆ แต่ก็ไม่ดัง ซึ่งอยากฝากถึงนักแต่งเพลงทุกคนเลย เวลาทำเพลง ทำให้ดีที่สุดก่อน ทำให้เต็มที่ ส่วนจะดังหรือไม่ดัง อย่างน้อยเราก็ได้เต็มที่แล้ว ตัวเราเองที่ตอบได้ ว่าตอนที่เราทำ เราใส่ใจมันมากแค่ไหน เพลงที่ดี ไม่ต้องเป็นเพลงที่ดนตรีแน่น เพราะเพลงแต่ละเพลง มันถูกแต่งมาให้คนฟัง ที่มีความชอบแตกต่างกันอยู่แล้ว ถ้าเพลงยอดวิวน้อย ก็อย่าเพิ่งเสียใจ เพราะงานเพลง มันคืองานศิลปะ
นิยามสูตรสำเร็จของเพลงฮิต
ถ้าสำหรับเทรนด์ตอนนี้ ก็น่าจะเป็นเพลงที่ฟังแล้วเข้าใจง่าย มีความจริงใจอยู่ในเนื้อหา ไม่ต้องเล่าเรื่องซับซ้อน หรือเปรียบเทียบอุปมาอุปไมยอะไรเยอะ แค่ต้องพูดให้รู้สึกว่ามันจริง เพราะความรักของคนยุคนี้ จะต่างกับคนยุคก่อน เพราะฉะนั้นเราต้องตามโลกให้ทัน ถ้าวันนี้เราแต่งเพลงฉันรักเธอ ถึงยังไงฉันก็จะทน อันนี้จะเข้าถึงรุ่นใหม่ยากขึ้น เพราะคนยุคนี้เลือกที่จะ move on มากกว่า ซึ่งตรงนี้ต้องเล่นโซเชียลฯ ถึงจะอัพเดทเทรนด์ความคิดคนได้ค่ะ