Daily Pickup

งานศิลปะฝีมือ AI : ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่? สุดท้ายแล้วใครเป็นเจ้าของ?

Photo credit: Gray Area 

AI (Artificial Intelligence) คือ ปัญญาประดิษฐ์ที่เกิดจากการประมวลผลของเครื่องจักร โดยเฉพาะประเภทระบบคอมพิวเตอร์ ทุกวันนี้ AI กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเรา และยังถูกนำไปใช้ในด้านต่างๆ รวมถึงนำไปใช้ในการผลิตงานศิลปะดิจิทัลที่กำลังติดกระแสอยู่ในขณะนี้อีกด้วย ทว่าการสร้างสรรค์ผลงานแบบใหม่ที่ว่าก็มีข้อถกเถียงกันในเรื่องของลิขสิทธิ์และความเป็นเจ้าของอย่างแพร่หลาย

ที่มาของประเด็นลิขสิทธิ์

ก่อนจะเข้าเรื่องปัญหา คงต้องมาดูกันก่อนว่า AI สร้างงานศิลปะได้อย่างไร ปัจจุบันจะมีโปรแกรมที่นิยมใช้กันอยู่ 2 แบบคือ โปรแกรมที่ผลิตงานศิลปะจากภาพ และโปรแกรมที่ผลิตงานศิลปะจากข้อความ โดยแบบแรก ศิลปินจะอัปโหลดรูปภาพใดก็ได้ แล้วให้ AI ผลิตซ้ำจนได้ผลงานที่มีรูปร่างและสีต่างไปจากเดิม ส่วนแบบหลัง ศิลปินสามารถพิมพ์ประโยคหรือคำอธิบายสั้นๆ จากนั้น AI จะเปลี่ยนมันเป็นภาพวาดตามประโยคที่พิมพ์ไว้

https://youtu.be/qTgPSKKjfVg

แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ความเป็นไปได้ที่ AI จะมาแทนที่ศิลปินมนุษย์ในอนาคต ปัจจุบัน AI ก็ยังเป็นเพียงสมองกลที่เก็บข้อมูลและดึงเอาสิ่งที่มีอยู่จำกัดมาใช้เท่านั้น ข้อนี้สะท้อนความจริงที่ว่า โปรแกรมเหล่านี้ยังจำเป็นต้องใช้ผลงานและสไตล์ของศิลปินคนอื่นเป็นพื้นฐานในการผลิตงานศิลปะอยู่ เช่น DeepArt.io, Visionist, GoArt ฯลฯ ซึ่งปรับแต่งภาพถ่ายที่อัปโหลด โดยทำให้เหมือนภาพวาดด้วยการเลียนแบบสไตล์ของศิลปินตัวจริง 

Photo credit: DeepArt.io, fotor 

อีกตัวอย่างสำคัญซึ่งขาดไม่ได้เลยคือ กรณีภาพ ‘Edmond de Belamy’ ที่ถูกขายในปี ค.ศ. 2018 ด้วยราคาถึง 432,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยกลุ่มศิลปิน ‘Obvious’ ที่ใช้ระบบ GAN (Generative Adversarial Network) และนำภาพไม่ติดลิขสิทธิ์เป็นต้นแบบในการสร้างผลงาน ทว่ากลับมีศิลปินชื่อ ‘ร็อบบี้ แบร์แร็ต’ (Robbie Barrat) ออกมาเรียกร้องว่า Edmond de Belamy ดัดแปลงมาจากภาพของเขา แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มากนัก เพราะหากพูดกันในแง่ของกฎหมาย การที่กลุ่ม Obvious ใช้ภาพที่เจ้าของอนุญาตให้ใช้ได้อย่างอิสระนั้นไม่ถือว่าผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ 

จากซ้ายไปขวา: ภาพประมูล Edmond de Belamy – ภาพต้นฉบับโดยร็อบบี้ แบร์เร็ต | Photo credit: Artnome 

ผลงานเป็นของใครกันแน่?

จากกรณีภาพ Edmond de Belamy ที่กล่าวไป เห็นได้ว่ามีการถกเถียงเรื่องเจ้าของภาพอย่างร้อนแรง ผู้คนวิพากษ์วิจารณ์ Obvious อย่างหนัก เพราะการไม่ให้เครดิตเจ้าของภาพต้นแบบ ถือเป็นการล้ำเส้นจริยธรรมที่ควรคำนึงถึงในฐานะศิลปินอย่างร้ายแรง แต่ในขณะเดียวกันก็มีฝั่งที่ไม่คิดเช่นนั้น และเห็นด้วยว่าศิลปินสามารถทำอะไรก็ได้กับงานที่ตัวเองผลิต

สำนักงานลิขสิทธิ์แห่งสหรัฐอเมริกาปฏิเสธการรับจดทะเบียนลิขสิทธิ์ของ A Recent Entrance to Paradise | Photo credit: Smithsonian Magazine  

ในปัจจุบัน ปัญหาเรื่องเครดิตเกิดขึ้นในวงการศิลปะบ่อยครั้ง สำหรับศิลปินที่สร้างผลงานด้วย AI แล้วยิ่งน่ากังวลมากเป็นพิเศษ เพราะประเทศส่วนใหญ่ตั้งข้อสังเกตว่า งานศิลปะฝีมือ AI ยังไม่มีความเป็นต้นฉบับมากเท่าภาพฝีมือมนุษย์ จึงไม่อนุมัติร่างกฎหมายลิขสิทธิ์เพื่อคุ้มครองผลงานโดย AI นั่นหมายความว่า หากศิลปินคนหนึ่งชื่นชอบสไตล์ภาพ Edmond de Belamy และต้องการทำผลงานแบบคล้ายๆ กัน ก็จะสามารถนำภาพนี้ไปให้ AI ดัดแปลงเป็นผลงานของตัวเองได้ทันที ซึ่งผลงานที่ว่านี้ก็มีโอกาสที่จะถูกดัดแปลงต่อโดยศิลปินคนอื่นต่ออีกทอดหนึ่ง กลายเป็นวงจรเช่นนี้ไม่สิ้นสุด ทำให้เกิดข้อกังขาตามมาว่า “จะมั่นใจได้อย่างไรว่างานศิลปะที่เราใช้โปรแกรมสร้าง ไม่ใช่ผลงานที่ดัดแปลงมาจากของคนอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต?” หรือ “จะทำอย่างไรหากเกิดกรณีเช่นเดียวกับ Edmond de Belamy ขึ้นกับผลงานของเรา?”

Photo credit: TechCrunch+, NightCafe, boredpanda 

การใช้ AI สร้างงานศิลปะนั้นได้ให้สิทธิในการเป็นศิลปินกับทุกคน แน่นอนว่าเทรนด์นี้ไม่มีแนวโน้มที่จะหายไปง่ายๆ ทั้งความนิยมยังมีแต่จะพุ่งสูงขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่ควรตระหนักรู้คือ หากวงการศิลปะต้องการโอบรับนวัตกรรมใหม่นี้ เรื่องของลิขสิทธิ์และความเป็นเจ้าของผลงานจะเป็นปัญหาแรกๆ ที่เหล่าศิลปินต้องเผชิญและหาทางออกให้กับข้อขัดแย้งเหล่านี้  

อ้างอิง

AIArtists 

Copyright Licensing Agency 

TechCrunch+ 

Smithsonian Magazine