Art

ทำความรู้จัก 'Alec Orachi' ว่าด้วยชีวิต ดนตรี และหมวกสีเหลืองอันเป็นเอกลักษณ์

“ผม Alec Orachi ผมเป็นศิลปิน ทำงานศิลปะเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ เพื่อผลักดันความสมดุลให้กับโลกใบนี้”

นั่นคือการแนะนำตัวสั้นๆ ของศิลปินสุดคูลในนาม ‘Alec Orachi’ จากค่าย NewEchoes ที่มาพร้อมกับหมวกป้องกันศีรษะสีเหลืองสดอันเป็นเอกลักษณ์ แม้จะเป็นศิลปินหน้าใหม่ของวงการดนตรีไทย แต่ฝีมือการทำเพลงก็โดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจนกลายเป็นศิลปินที่น่าจับตามอง จากเด็กหนุ่มที่ให้เสียงดนตรีเป็น ‘ที่หลบภัย’ ยามรู้สึกเหงาและคิดถึงบ้าน สู่การเป็นศิลปิน Rookies Class of 2022 จาก 88rising Radio แล้วการเดินทางบนเส้นทางสายดนตรีจากออสเตรเลียสู่ประเทศไทยของ Alec Orachi จะเป็นอย่างไร EQ พาทุกคนไปทำความรู้จักทุกแง่มุมในชีวิตของศิลปินหนุ่มคนนี้กัน!

ชื่อ Alec Orachi  มาจากไหน

เป็นชื่อที่เพื่อนตั้งให้ตอนที่เริ่มจะจริงจังกับการทำดนตรี ตอนแรกใช้ชื่อว่า Charo มาจากนามสกุลเจริญศิลป์ทวีกุล แล้วมันมีคนใช้ไปแล้ว เลยตั้งกลุ่มกับเพื่อนให้ช่วยตั้งชื่อให้หน่อย แต่ขอมี ‘CH’ อยู่ในชื่อนะ แล้วเพื่อนคนหนึ่งก็ตั้งว่า Orachi ซึ่งเรารู้สึกว่ามันใช่ แต่ตอนนี้ก็ยังรู้สึกว่าต้องมีคำนำหน้า ก็เลยลองไล่กันมา จนมาจบที่ชื่อ Alec Orachi ตอนที่พูดชื่อนี้ออกมา

วัยเด็กของ Alec Orachi เป็นอย่างไรบ้าง

ถ้าวัยเด็กตั้งแต่ช่วงประถม เราเป็นคนที่อยากทำอะไรก็ทำ เป็น 'ลูฟี่' ที่วิ่งเล่น ป่วนอยู่ในโรงเรียน สนุกสนาน แต่พอเข้ามัธยมที่เราก็ไปเข้าโรงเรียนชายล้วน แล้วก็ไปออกเตรเลีย สังคมของเราก็เปลี่ยนแปลง เหมือนเรากลายเป็นอีกคนหนึ่ง ที่อยู่กับตัวเองมากขึ้น รู้สึก insecure ไม่ออกไปไหน เก็บตัวมากขึ้น

ช่วงอยู่ออสเตรเลียคือช่วงเวลาแห่งความเหงาเหรอ

ผมเราคิดว่าภายนอกเราไม่ได้ดูเหงา เราก็สนุกกับชีวิต เป็นเด็กเอเชียคนหนึ่งที่ไปเตะบอล เล่นดนตรีในโรงเรียน มันไม่ได้ดูเหมือนคนที่มีความเหงา แต่ในตัวเอง ในหัวของเรา มันเหงามากๆ เรารู้สึกว่าเราไม่ได้เป็นที่ยอมรับ ซึ่งพอลองมองย้อนกลับไป เรารู้สึกว่าทุกอย่างมันอยู่ในหัวของเราหมดเลย มันเป็นช่วงเวลาที่มืดมนมากๆ

ความรู้สึกตอนนั้นหล่อหลอมให้เป็น Alec Orachi ในวันนี้อย่างไรบ้าง

ตอนเริ่มทำเพลงจริงจังก็มาจากช่วงเวลาที่อยู่ออสเตรเลีย เป็นช่วงที่เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ปลดปล่อยตัวเอง เราจะปลดปล่อยเป็นภาษาอังกฤษกับเพื่อนเราก็ทำไม่ได้ เราจะปลดปล่อยเป็นภาษาไทย เราก็ไม่กล้าคุยกับเพื่อนเก่าหรือครอบครัว ดนตรีก็เลยเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เรารู้สึกเป็นตัวเองได้ จะพูดอะไร จะทำเสียงอะไร ก็ทำได้เลย ซึ่งก็กลายมาเป็นพื้นฐานของเราเหมือนกัน คือพูดได้ว่า Alec Orachi มาจากช่วงเวลาที่เรารู้สึก Homesick เป็นช่วงเวลาที่เรารู้สึกเหงามากๆ ก็ได้

ดนตรีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตตั้งแต่ตอนไหน

มันเริ่มตั้งแต่เราเด็กๆ แล้วแหละ คุณพ่อชอบเปิดเพลงสากลให้ฟัง แล้วที่บ้านก็ส่งไปเรียนเปียโน แต่เราไม่ได้อินกับการเล่นเปียโนนะ จนมาถึงช่วงที่เรียน ป.6 - ม.1 ที่ลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่งแนะนำวงดนตรีวงหนึ่งให้เรารู้จัก นั่นคือวง Arctic Monkeys นั่นเป็นครั้งแรกที่เรารู้สึกอยากมีวงดนตรีของตัวเอง เราเลยตัดสินใจไปเรียนเบส พี่ชายก็ไปเรียนกีตาร์ จากนั้นเราก็ชอบเพลงของ Ed Sheeran ที่เขาแต่งเพลงจากกีตาร์ตัวเดียว เราก็เริ่มรู้สึกว่าเราอาจจะไม่ใช่มือเบส แต่ชอบร้องเพลงด้วย ก็มาค้นพบตัวเองนั่นแหละ แล้วก็มาจริงจังกับการทำงานดนตรีอีกครั้งก็ตอนอยู่ออสเตรเลีย

โมเมนต์ไหนที่เป็นจุดเปลี่ยนให้ตัดสินใจทำดนตรี

เราไปเจอบทสัมภาษณ์ของ Steve Lacy ก็เลยรู้สึกว่าเราสามารถทำดนตรีได้เองผ่านอุปกรณ์ง่ายๆ อย่างมือถือ เพราะก่อนหน้านี้เราไม่เริ่มทำเสียที ใช้ข้ออ้างว่าไม่มีโปรแกรมในคอมพิวเตอร์นู่นนั่นนี่ โมเมนต์นั้นก็เลยทำให้เราเริ่มมาจริงจังกับการทำดนตรี

เห็นบทสัมภาษณ์ก่อนๆ บอกว่าเลือกเรียนสถาปัตยกรรมที่ออสเตรเลีย แต่สุดท้ายก็เลิกเรียนไป อะไรที่ทำให้ตัดสินใจเลิกเรียน

มันมีหลายเหตุผลนะ แต่ช่วงนั้นตอนที่ตัดสินใจลาออกมาเป็นเพราะตอนปีแรกที่เราเข้าไปเรียน เราเรียนได้ดีมากๆ เลย ปีแรกมันคือการได้เป็นตัวเอง ได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ออกมา เราก็เป็นที่หนึ่งของชั้นเรียนตลอด แต่พอขึ้นปี 2 มันเริ่มเข้ามาอยู่ในชีวิตจริงมากขึ้น เขาให้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับงานสถาปัตย์จริงๆ ซึ่งต้องคุยกับลูกค้า มีข้อจำกัดและกฎระเบียบเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งตอนนั้นเราไม่โอเคเลย ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเป็นแบบนี้ สถาปัตยกรรมต้องมีเหตุผลในการทำทุกอย่าง แต่เราเองที่ไม่เข้าใจในจุดนั้น แล้วเราก็ไปเจออาจารย์คนหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกไม่เคารพในรูปแบบการสอนของเขาสักเท่าไร เราก็เลยสอบตก ทั้งๆ ที่ไม่ได้สอบตกเลย ตอนนั้นเลยรู้สึกเสียใจและล้มเหลว

มันเป็นช่วงที่ตรงกับตอนเราเราปล่องเพลง EP แรกพอดี แล้วเริ่มเป็นที่รู้จักในประเทศไทย กระทั่งได้กลับมาไทยช่วงซัมเมอร์ พี่ชายก็พาไปเปิดหูเปิดตากับซีนดนตรีใต้ดินของไทย เราก็รู้สึกว่ามันน่าสนใจและน่าตื่นเต้นมากๆ เรารู้สึกว่าเพลงที่เราทำ อย่างน้อยมันมีคนให้ความสนใจ หลังจากนั้นเราก็กลับไปออสเตรเลีย แล้วก็เกิดโควิด-19 พอดี เราต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน ก็ยิ่งแย่เลยทีนี้ เพราะเราไม่อินกับสถาปัตย์หนักกว่าเดิม ก็เลยตัดสินใจว่าจะกลับบ้าน อยากกลับไปอยู่ในที่ๆ เราเรียกว่า ‘บ้าน’ ได้

อธิบายคำว่า ‘บ้าน’ ที่บอกให้ฟังได้ไหม

เราอยากกลับไปอยู่ในที่ๆ เราสามารถ ‘พิง’ เราเรียกมันว่า ‘บ้าน’ ได้ ตอนเราอยู่ที่นู้น เราไม่ได้รู้สึกว่าเรามีบ้านของเรา เราอยู่ที่หอก็ไม่ได้รู้สึกว่าเราสามารถนอนอย่างปล่อยกายสบายใจ หรือพักพิงมันได้จริงๆ ก็เลยตัดสินใจกลับไทย

สำหรับคุณแล้ว การค้นหาสิ่งที่ตัวเองรักหรือสิ่งที่ตัวเองชอบให้เจอมันสำคัญมากแค่ไหน

มันสำคัญนะ เพราะก่อนหน้านี้ที่เราไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร เราก็ลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ แต่เรารู้อยู่แล้วว่าเรายังไม่เจอตัวตนของเรา แม้จะเริ่มทำดนตรีแล้ว เราก็ยังไม่รู้ไม่เจอตัวตน แต่เราก็ค้นหาไปเรื่อยๆ ลองนู่นลองนี่ จนเราได้มาเจอกับสิ่งที่เป็นตัวเรามากที่สุด คือเรารู้สึกว่าพอได้เจอตัวตนของเราแล้ว มันเหมือนการมีฐานที่แข็งแรงแล้ว เราออกไปใช้ชีวิตในสังคม เรารู้ว่าเราเป็นใคร ตัวตนเป็นแบบไหน แม้จะมีคำพูดของคนอื่นลอยมาให้ได้ยิน แต่เราก็ยังหนักแน่นกับตัวตนของเราอยู่ มันจะไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ยังไม่รู้ว่าตัวตนของเราคืออะไร มันก็จะฟังคำพูดของคนนั้นคนนี้ แล้วก็เขวไปมา จนเราสงสัยตัวเองอยู่ตลอดเวลาเลย แต่เมื่อเจอตัวตนของตัวเองแล้ว คำพูดหรือคอมเมนต์ต่างๆ จะไม่มีผลกับเราอีกแล้ว มันกลายเป็นแค่ว่า ‘ขอบคุณนะ’ แล้วเราก็ไปต่อ

แล้วตัวตนของ Alec Orachi คืออะไร

เราไม่มีคำนิยามที่ชัดเจนหรอกนะ แค่อะไรที่รู้สึกว่าใช่ อิสระล่ะมั้ง เราเป็นคนอิสระ ไม่ติดอยู่กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ เราสามารถเชื่อมโยงหรือเข้าไปอยู่ได้กับทุกๆ กลุ่ม ไม่มีดนตรีประเภทใดประเภทหนึ่งที่เราชอบที่สุด เราหาจุดที่เราชอบได้ในทุกๆ อย่าง ไม่ใช่ดนตรีอย่างเดียว แต่ในทุกอย่างเลย

แรงบันดาลใจในการทำงานเพลงคืออะไร

ตอนนี้คือการใช้ชีวิตประจำวันของเราคือแรงบันดาลใจในการทำงานเพลง ซึ่งชีวิตของเราตอนนี้อยู่ในประเทศไทย เราก็สังเกตทุกอย่างที่อยู่รอบๆ ตัวเรา เราขับรถไปตามท้องถนน เราก็เห็นอะไรเยอะแยะ เราเห็นข่าวบนโซเชียลมีเดีย หรือเราได้ยินเรื่องราวมากมายจากคนรอบตัว ถ้าวันไหนเรารู้สึกอารมณ์ดี วันนั้นเราจะสนใจเรื่อง ‘สี’ เป็นพิเศษ แต่ถ้าวันไหนอารมณ์ไม่ดี เราจะมองแต่พื้น แล้วเราก็จะได้แรงบันดาลใจจากฟุตบาธหรือคอนกรีตถนน ซึ่งแต่ละอย่างมันมีมุมมองของมันนะ ขึ้นอยู่ที่ว่าเราจะมองมันจากที่ไกลๆ หรือเข้าไปมองมันใกล้ๆ

เอกลักษณ์หนึ่งของ Alec Orachi คือ ‘หมวกสีเหลือง’ เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมว่าที่มาที่ไปของมันคืออะไร

เราหมกมุ่นกับการสร้างฐานตัวตนของตัวเองมานานแล้ว ตอนที่เราจะย้ายค่ายเมื่อต้นปีนี้ เราได้ยินคำว่า ‘Rebuild’ ผ่านการใช้ชีวิตอยู่ในหัวของเราตลอด ว่าเราต้องสร้างใหม่ แล้วอย่างที่บอกว่าเราชอบสังเกต เราชอบมองสี พอเรามองไปตามถนน สีที่เรามองเห็นแรกๆ เลยคือสีเขียวกับสีเหลือง สีเขียวก็คือต้นไม้และป้ายจราจร ส่วนสีเหลืองก็คือลูกศรบนถนน ซึ่งช่วงนั้นก็ตรงกับช่วงปล่อยอัลบั้ม Free 2 Go ทำให้สีในอัลบั้มนั้นก็จะเป็นโทนเขียวเหลืองเลย ซึ่งมันเป็นสีโทนที่เราสนใจ พอหลังปล่อยอัลบั้มนั้น เราก็ได้กลับมาใช้ชีวิตต่อ สีเหลืองถัดไปที่เรามองเห็นคือสีเหลืองของหมวกป้องกันศีรษะ ซึ่งมันเป็นอะไรที่เราไม่เคยสังเกตมาก่อน พอเราเริ่มเห็นสีเหลืองของหมวก มันทำให้เรามองเห็นอะไรที่เยอะไปกว่านั้นคือคนทำงานก่อสร้าง แล้วช่วงนั้นก็มีเรื่องราวในประเทศเกิดขึ้นด้วย และเราก็อยากเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง แต่เราไม่มีเงินที่จะไปช่วยเปลี่ยนแปลงได้ เราเลยคิดว่าการใส่หมวกป้องกันศีรษะนี้อาจจะทำให้เรากลายเป็นตัวกลางของอะไรบางอย่างได้นะ เราจะทำให้คนมองเห็นสิ่งนี้ในบริบทที่แตกต่าง จากเดิมที่เห็นแค่ตามท้องถนน แต่ตอนนี้หมวกแบบนี้จะขึ้นไปอยู่บนเวที

เสียงตอบรับจากแฟนๆ เป็นอย่างไรบ้าง

เรารู้สึกตื้นตันใจมาก ทุกอย่างมันเปลี่ยนตั้งแต่เรามาเจอหมวกเหลืองนี่แหละ แล้วเราก็เริ่มใส่ พอได้เอาออกมาขายหรือให้คนได้ใส่ เราก็ไม่คิดว่าแฟนๆ จะตอบรับขนาดนี้ บางคนซื้อไปใส่ มันทำให้เราเห็นว่ามีคนที่เข้าใจเราเยอะหรือมองเห็นเรา

วงการดนตรีไทยในสายตาของ Alec Orachi เป็นอย่างไร

วงการดนตรีไทยยังมีพื้นที่ให้พัฒนาได้อีกเยอะมาก แต่ศักยภาพหรือความสามารถของคนในวงการศิลปะไทยมีสูงมาก เราสังเกตจากที่เราเห็นนะ ส่วนตัวรู้สึกว่าคนไทยฝีมือโหดมาก โหดกว่าศิลปินต่างประเทศที่มาเล่นคอนเสิร์ตที่ไทยเยอะมาก แต่เราไม่มีโอกาสขนาดนั้น แม้ศักยภาพของคนในวงการจะมากแค่ไหนก็ตาม เราเลยคิดว่าอีก 5 ปีข้างหน้า มันจะน่าสนใจมากๆ

แล้ววงการดนตรีไทยตอนนี้ยังน่าตื่นตาตื่นใจสำหรับคุณอยู่ไหม

ส่่วนตัวมองว่าสิ่งที่น่าตื่นเต้นในวงการดนตรีไทยของเราคือ Alec Orachi เราเห็นศักยภาพของคนที่มีของจริงๆ แต่มันไม่น่าตื่นเต้น เพราะคนเริ่มฝ่อกันแล้วกับการสนับสนุนที่แทบจะไม่มีเลย แล้วคนไทยเป็นคนถ่อมตัวและไม่ชอบโชว์ออฟ เรากลัวที่จะแตกต่าง ทักษะของคนไทยคือโหดจัดเลยนะ แต่เราไม่กล้าโชว์ออฟ แต่ถ้าเป็นต่างประเทศ ทักษะมีนิดหน่อยแต่โชว์ออฟเก่งมาก เราเลยรู้สึกว่ามันไม่ได้น่าตื่นเต้นสำหรับเราอีกแล้ว แต่สิ่งที่น่าตื่นเต้นคือวงการศิลปะไทยจะเป็นยังไงต่อ

อีก 5 ปีข้างหน้า วงการศิลปะไทยจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

เราไม่อยากหวังและไม่อยากมานั่งรอหน่วยงานให้มาช่วย แต่มันมีสิ่งที่เราสามารถทำเองได้ เราต้องฮึดกันขึ้นมา แล้วก็สร้างพื้นที่ให้กับตัวเอง เพราะทักษะกับความสามารถของคนไทยมันมีเยอะมาก เรารู้ว่าถ้าผลงานเหล่านี้ออกไปต่างประเทศ​ จะกลายเป็นที่ยอมรับอย่างแน่นอน แต่มันอยู่ที่เราแล้วว่าต้องหนักแน่นและลงมือทำกันเสียที เราต้องวางพื้นที่หรือปูพื้นฐานให้กับตัวเอง ซึ่งใน 1-2 ปีนี้ เราก็จะทำแบบนั้นเหมือนกัน ตรงนี้คือถิ่นของเรา เราไม่รอแล้ว เพราะมันมีสิ่งที่เราสามารถทำได้อยู่ ถ้าเราร่วมด้วยช่วยกัน

ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำดนตรีจนมาถึงวันนี้ มองว่าตัวเองประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง

สำหรับเรานะ ตอนนี้มันเกินไปกว่าที่คาดเอาไว้แล้ว คือมันยังไม่ถึงเป้าหมายที่เราวางไว้ แต่เราก็ได้อะไรที่ไม่คาดคิดกลับมา เพราะเป้าหมายแรกที่ตั้งไว้คือการทำเพลงไปเรื่อยๆ มีเงินเข้ามาให้เราสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ ตอนนี้คือเรื่องเงินอาจจะยังไม่ถึงเป้าหมาย แล้วเป้าหมายของเราอาจจะเปลี่ยนด้วยแหละ เป้าหมายตอนนั้นคือการได้ทำเพลง แต่ตอนนี้พอเราใช้ชีวิตผ่านมาเรื่อยๆ ตอนนี้เป้าหมายของเราเปลี่ยน ทั้งคนที่เราได้เจอ เส้นทางที่เราผ่านมา มันน่าตื่นเต้นมากๆ โดยเฉพาะช่วง 2 ปีหลังของเรา ที่เราได้เรียนรู้อะไรเร็วและเยอะมากๆ อย่างที่เราเองก็ไม่คาดคิดมาก่อนเหมือนกัน เราไม่นึกว่าเราจะมาอยู่ในจุดนี้ด้วย

สิ่งที่ได้เรียนรู้หรือบทเรียนสำคัญที่ได้รับตลอด 5 ปีที่ทำเพลงและอยู่ในวงการดนตรีคืออะไร

บทเรียนยิ่งใหญ่ของเราคือตอนแรกเราอยากทำทุกอย่างด้วยตัวเอง เราต้องการที่จะควบคุมทุกอย่าง เพราะมันเป็นงานของเรา เราทำได้หมด คนเดียวเอาอยู่ ไม่ต้องการคุณ ไม่ต้องการมึง ทำไมต้องมายุ่ง อยากทำคนเดียว อยากให้มันเป็นแบบนี้ อยากอัดเบสแบบนี้ อยากตีกลองแบบนี้ แต่ตอนนี้เรากลับรู้สึกว่าการได้ทำงานร่วมกับคนอื่น มันเป็นอะไรที่สุดยอดมากๆ ผลลัพธ์ที่ได้มาคือไม่ได้เป็นของเราคนเดียวแล้ว แต่คือการแชร์กับคนอื่น และมันเป็นการทำงานที่จริงใจ ทุกคนพูดในสิ่งที่ตัวเองรู้สึก แล้วเราเอามาแชร์ให้กันฟัง แม้จะเป็นผลงานของเรา แต่เราต้องรับฟังและคุยกัน บางทีขัดแย้งกันบ้าง จากตอนแรกที่ทำคนเดียว พองานออกมามันเหมือนเราได้ยืนบนภูเขาคนเดียว แต่ตอนนี้เราช่วยกันทำงาน 10 คน พองานเสร็จมันเหมือนพวกเราไปยืนอยู่บนโลกแล้ว การได้แบ่งปันความสำเร็จกับคนอื่นมันดีกว่าจริงๆ ในตอนสุดท้าย

มันเติบโตขึ้นตามอายุที่เปลี่ยนไปด้วยหรือเปล่า

การทำงานกับคนอื่น มันไม่ใช่ว่าใครเก่งที่สุดแล้วเราก็เอาเข้ามาทำงาน คือทุกคนในทีมที่เราเจอหรือได้ทำงานร่วมด้วย เราผ่านอะไรมาเยอะมาก บางคนเราก็ไม่ได้ร่วมงานกันแล้ว จนเดินทางมาเจอคนที่ใช่ ประสบการณ์ของเราบอกเองว่าคนนี้แหละที่ต้องทำงานด้วยกัน และแต่ละคนก็มีความแตกต่่างกัน แต่ละคนมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน การเจอคนที่ไม่ใช่ก็ทำให้เรามาเจอคนที่ใช่ ซึ่งคนที่ใช่ตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นคนใช่ในอนาคตหรือเปล่า ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ แต่ทุกวันมันเป็นการเริ่มต้นใหม่ ซึ่งเราจะต้องรับมือให้ได้กับทุกๆ เช้าที่เราตื่นมา

อนาคตของ Alec Orachi หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร

change the world, balance the world เราอยากผลักดันประเทศให้ไปข้างหน้า เราอยากเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้ประเทศ ให้คนหรือเยาวชนที่อยู่ในประเทศได้รู้สึกภูมิใจที่เป็นคนไทย เราอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ผลักวงการศิลปะไปสู่ระดับโลก และผลักดันให้โลกไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น

ติดตาม Alec Orachi ได้ที่

Instagram: alecorachi

Facebook: Alec Orachi