‘No Filter’ คือนิทรรศการจัดโดยศิลปิน ‘ANMOM - สิทธิพันธ์ ต่ายทรัพย์’ ที่เป็นการเติบโตครั้งใหญ่จากสองนิทรรศการที่ผ่านมาอย่าง ‘Boys’ และ ‘Radical Fairies’ ที่กลับมาพร้อมภาพพอร์ตเทรตมุมมอง Queer gaze ที่ซื่อสัตย์และไม่ประนีประนอม กับ 13 ภาพที่เต็มไปด้วยพลังแห่งความกล้าหาญ ทางทีม EQ ได้เดินทางไปเปิดประสบการณ์ความสนุกสนานนี้ในงานเปิดวันที่ 17 กันยายน และได้เก็บสัมภาษณ์กับศิลปิน จึงจะนำภาพบรรยากาศและประเด็นสุดพิเศษมาฝากกันไว้ในบทความนี้
เมื่อเดินเข้ามาในงานนิทรรศการ ANMOM ก็ได้แนะนำว่ามันเป็นการเติบโตครั้งใหญ่ของเขา และเล่าถึงความต้องการที่จะแสดงถึงความทรงพลังของการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข โดยไม่ต้องเกรงใจ ไม่ต้องประดิษฐ์ให้เป็นไปตามกรอบทางเพศหรือสังคม การใช้ชีวิตแบบนี้มีอีกชื่อที่เรียกว่า No Filter
"งานนี้เป็นการก้าวออกจาก Comfort Zone ตรงที่เราจะกล้าแสดงออก ไม่ต้องเกรงใจที่จะโป๊ มันเป็นนิทรรศการที่เราเติบโตและมีความกล้ามากขึ้นในโลกปัจจุบันที่ทุกคนไม่ต้องมานั่งพับเพียบเรียบร้อยกันแล้ว มันเป็นจุดที่ต่างจากแต่ก่อน เราเป็นสายนักวาดภาพประกอบที่จะแคร์ตลาดมาก แต่พอได้มาทำงานศิลปะนี้ เราก็ได้ลองออกนอกกรอบของตัวเองแบบไม่ต้องกั๊ก จึงออกมาเป็นนิทรรศการที่ชื่อว่า No Filter"
ANMOM เล่าถึงแรงบันดาลใจอื่นๆ ภายในนิทรรศการศิลปะนี้ที่ได้มาจากทั้งอีโมจิรูปผลไม้ที่ถูกแบนในไอจี กวีจาก Tiktok การบูลลี่ โควตคำพูดล้อเลียน สนับสนุน เหยียดความหลากหลายทางเพศ ข้อความการต่อสู้เพื่อสิทธิของ LGBTQ+ ที่เฉลิมฉลองเดือนไพรด์อย่าง “ถ้าเราไม่ยืนหยัดเพื่อตัวเอง ใครจะมาสู้เพื่อเรา” มาตีความและนำเสนอมันใน Queer Gaze อย่างตรงไปตรงมา ศิลปินได้ยกตัวอย่างภาพ ‘Adeline & Evan' ผลงานภาพพอร์ตเทรตเปลือย และเล่าเรื่องราวเบื้องหลังของผลงานชิ้นนี้
"ผลงานนี้มีที่มาจากการเคลื่อนไหวของ LGBTQ+ Pride ที่มีข้อความว่า “Bible said Adam & Eve so I did both” ซึ่งเป็นสเตทเมนต์ของไบเซ็กชวล สำหรับเรามันมีความหมายลึกซึ้งกว่านั้น เราคิดว่ามันไม่ควรมีการกำหนดให้มีแค่อดัมหรืออีฟ ก็เลยเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็น 'Adeline & Evan' ที่เป็นทรานส์เจนเดอร์อย่างสองภาพนี้แทน”
เนื่องจากผลงานนิทรรศการที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันได้คาบเกี่ยวกับช่วงสถานการณ์โควิด เราจึงถามเพิ่มเติมไปว่า ช่วงโควิดที่ผ่านมานี้ได้ส่งผลให้มุมมองการทำงานศิลปะเปลี่ยนไปหรือไม่ เพราะนิทรรศการนี้ค่อนข้างฉีกแนวจากทั้งสองนิทรรศการแรกเป็นอย่างมาก
“ช่วงโควิดที่ผ่านมาก็มีผลให้มุมมองของเราเปลี่ยนไปเยอะ ช่วงนั้นเราอยู่กับตัวเองซะส่วนใหญ่ และไม่ได้ปาร์ตี้เยอะเหมือนแต่ก่อน ทำให้ได้คิดทบทวนกับตัวเองว่าเราต้องการอะไร อยากสื่อสารอะไร และทำไมถึงทำงานศิลปะเหล่านี้”
มีประสบการณ์การท้าทายกรอบทางเพศที่เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างนิทรรศการนี้ไหม?
"มีคนเคยเข้ามาในงานเราแล้วเห็นภาพอวัยอวะเพศ เขาตกใจแล้วก็รีบวิ่งออกไปเลย เรายังไม่ทันได้อธิบายคอนเซปต์งานด้วยซ้ำ เขาก็ตัดสินไปแล้วว่ามันเป็นงานโป๊เปลือย ทั้งๆ ที่ในงานแต่ละชิ้นก็มีการตีความ มีหลากหลายเมสเสจที่ซ่อนอยู่ อยากชวนให้ลองใช้เวลากับมันดูก่อน ภาพเหล่านี้ไม่ใช่แค่รูปภาพอวัยวะเพศ เพราะสุดท้ายแล้วทั้งหมดก็คือศิลปะ”
ศิลปะแสดงภาพเปลือยเปล่าหรือภาพโป๊ก็ยังเป็นขีดกรอบทางเพศอันสำคัญที่ Queer Gaze ได้ชวนผู้ชมงานศิลปะตั้งคำถามว่า ทำไมสังคมจึงยังอยู่ในกรอบเพศที่มองว่างานศิลปะเหล่านี้เป็นเรื่องต้องห้าม เป็นเรื่องผิดปกติ ทั้งที่สุดท้ายแล้วมันก็คือศิลปะ แม้จะเป็นรีแอคชั่นที่ชวนให้ประหลาดใจ No Filter ก็ได้สื่อสารการใช้ชีวิตแบบไม่ต้องแคร์ใครออกมาได้อย่างงดงาม และยังเป็นพื้นที่จัดแสดงเสียงของความหลากหลายทางเพศ
สุดท้ายนี้ เราชวน ANMOM มาคุยประเด็นปิดท้ายกันว่า No Filter มีคอมเมนต์อะไรเกี่ยวกับสถานการณ์เรื่องความหลากหลายเพศในเมืองไทยยุคปัจจุบันนี้บ้าง
"เราว่าเมืองไทยมีความเข้าใจเรื่องเพศสูง แต่การยอมรับมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทุกคนบอกว่าเมืองไทยเปิดรับเรื่องเพศ เรามีเพื่อนเกย์จากอินโดนีเซียกับสิงคโปร์ที่มาอยู่ไทยเยอะมาก แต่ในด้านกฎหมาย มันยังไม่ได้ต้อนรับขนาดนั้น เรื่องนี้ยังต้องได้รับการผลักดันอีก ขัดกับที่คนคิดว่าเมืองไทยเปิดแล้ว มี LGBTQ+ หลายคนที่มีหน้ามีตาในสังคม มีชีวิตที่ดี แต่เอาจริงๆ LGBTQ+ ไทยมีชีวิตที่ดีจริงเหรอ? รัฐมีสวัสดิการอะไรให้พวกเขาบ้าง ถ้าป่วยแล้วเข้าห้องฉุกเฉินใครจะเซ็น ที่ LGBTQ+ มาเรียกร้องอยากแต่งงาน ไม่ใช่แค่เพื่อที่จะแต่งงานนะ มันเป็นเรื่องสวัสดิการจากรัฐ"
ถ้าหากต้องการพลังแห่งความกล้าในการใช้ชีวิตเป็นตัวของตัวเองแบบไม่แคร์ใคร และสนุกสนานไปกับภาพศิลปะสุดท้าทายกรอบขนบทางเพศ ก็ไม่ควรพลาดนิทรรศการ No Filter ที่เต็มไปด้วยศิลปะ Queer Gaze นี้ไปอย่างยิ่ง รับรองว่าจะท้าทายความคิดต่อเรื่องเพศและเติมพลังใจให้ออกไปลุยกับชีวิตได้มากขึ้นอย่างแน่นอน พบกับ No Filter ได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ที่ VS Gallery
ติดตาม ‘ANMOM’ และนิทรรศการ ‘No Filter’ ได้ที่
Facebook: ANMOM’s Warehouse
Instagram: anmom / anmomillustration