Art

ส่องชีวิตอภิชาต - นักวาด 'การ์ตูนเล่มละบาท' ที่ถูกขนานนามว่า 'หนังสือตลาดล่าง' สู่นิยายภาพฉบับโกอินเตอร์!

วันนี้ EQ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ อภิชาต รอดวัฒนกุล นักวาดการ์ตูนรุ่นเก๋า อายุราว 70 ปี ศิลปินผู้โด่งดังแห่งยุค 80s และ 90s ด้วยผลงาน 'การ์ตูนเล่มละบาท' ซึ่งเป็นหนังสือการ์ตูน หรือ หนังสือนิยายภาพ ที่ผู้คนช่วงยุค 90s รู้จักเป็นอย่างดี จากการวางขายเกลื่อนแผงร้านค้าตามท้องตลาด เรียกได้ว่าเป็นยุคทองของความบันเทิง ตามแบบฉบับของสิ่งพิมพ์ รวมถึงวัยรุ่น Y2K ก็อาจจะพอคุ้นเคยสัมผัส คลุกคลี เห็นผ่านตามาบ้าง จากช่วงที่เริ่มขาลง อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์นี้เริ่มบางตาลง เหลือเพียงบางเจ้าที่ปรับตัวเข้ามาขายในแผงร้านสะดวกซื้อ จนตอนนี้หาอ่านยากและกลายเป็นของสะสม แรร์ไอเทมแห่งยุคสมัย และเครื่องใช้วัดอายุ จากประสบการณ์ความแก่ของคนที่ทันอ่านไปเสียแล้ว

'หนังสือการ์ตูนเล่มละบาท' คือ สื่อความบันเทิงสุดล้ำจินตนาการแห่งยุคสมัย ที่หลายคนคลุกคลีเติบโต มาพร้อมกับการอ่านเรื่องราวสิ่งเหล่านั้น และคนสามารถเข้าถึงได้เป็นวงกว้าง ด้วยราคาที่จับต้องได้ แต่น้อยคนที่จะรู้จักชีวิตเรื่องราวนักวาด ผู้ทำงานเขียนถ่ายทอดความคิด 'ภาพจากอากาศ' ผ่านการตวัดดินสอและพู่กันลงบนกระดาษ แลกมากับค่าตอบแทนอันน้อยนิด จนถูกขนานนามว่า 'ตลาดล่างแห่งวงการวาด'

เรื่องชีวิตของ อภิชาต จะถูกฉายบนฉากหลังเมื่อกว่า 50 ปีก่อน ย้อนกลับไปมองยุคที่เส้นทางความฝันและงานอดิเรก ยังไม่เปิดกว้างหลากหลายมากนัก ศิลปะการวาดรูป ที่สามารถคลุกอยู่กับกระดาษ ดินสอ พู่กัน หมึก ทั้งวัน จึงเหมือนเพื่อนยามเหงากล่อมเกลามาเป็น 'แพชชั่น' สู่เส้นทางของศิลปินนักวาดผู้สร้างสรรค์ผลงานด้วยใจรัก โดยปัจจุบันผลงานความปังที่ผ่านมา ถูกชาวต่างชาติซื้อนำไปจัดแสดงในงานนิทรรศการศิลปะที่ประเทศเบลเยียม อวดสายตาชาวโลกเป็นที่แล้วเรียบร้อยแล้ว

'อภิชาต' ซึมซับการวาดก่อนรู้จักคำว่า 'แพชชั่น'

“เราเป็นลูกคนเดียว อ่านหนังสือมาก วันๆ อยู่แต่กับหนังสือ สมัยผมเด็กมันแตกต่างจากสมัยนี้มากนะ 60 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเรายังไม่มีโทรทัศน์ด้วยซ้ำ ถึงมีมันก็ไม่ได้ชัดเท่าเดี๋ยวนี้ ห้างใหญ่ๆ ก็ไม่มี เรามีอะไรทำได้น้อยมาก เลยคลุกตัวอยู่กับหนังสือการ์ตูน และ ดินสอ”

อย่างที่ว่า เมื่อชอบอ่าน ตอนเด็กๆ ก็ผ่านการอ่านหนังสือประกอบภาพ อย่างที่เรียกว่าการ์ตูน ผมรักเลย  ตรงเป้าดี ได้ทั้งนำเสนอเรื่อง ผูกพล็อต ได้ออกแบบภาพอีกด้วย อุปกรณ์ก็ไม่แพง จนกลายเป็นการ ‘วาดภาพด้วยใจรัก’ วาดไว้ดูเอง ถ้าเป็นสมัยนี้มันคงตรงกับคำว่า แพชชั่น น่ะ มีกระดาษ ดินสอ พู่กัน หมึก ผมขลุกอยู่ได้นานๆ

พ่อผมแกสะสมหนังสือทั้งไทย ฝรั่ง อาชีพพ่อเป็นระดับสูงหน่อย คือ แพทย์ ชอบไปซื้อหนังสือมือสอง แกเจอตำราวาดรูปฝรั่งก็ซื้อติดๆ มือมา ผมก็ได้ซึมซับเมื่อเข้าวงการการ์ตูนเล่มละบาท งานของผมจึงดูดีพอใช้แล้ว      

การ์ตูนเล่มละบาท 'ตลาดล่าง' แห่งวงการวาด

เรื่องการเริ่มต้นเขียนการ์ตูนเล่มละบาท ที่จริงสมัยห้าสิบปีก่อน จะเขียนการ์ตูนมันมีทางให้เลือกไม่กี่ทางนะ เข้าทางการ์ตูนสีขาว การ์ตูนกระทรวงศึกษา เขียนเรื่องธรรมะ สอนใจเด็ก ผมทำไม่ได้ เพราะไม่เคยคิดเปิดอ่านเรื่องแนวนั้นเลย ถ้าจะเขียนเอามัน เรื่องผี เรื่องหลากหลาย ก็ต้องหันหาเล่มละบาทตลาดล่าง

สิ่งที่ยากมากสำหรับวัยรุ่นตอนนั้น คือ เข้าไปเสนองานโรงพิมพ์ พอดีผมเรียนภาคสมทบที่ มศว ประสานมิตร ได้รู้จักกับ คุณสมศักดิ์ เธียรวรคุณ นามปากกา น้อยฉายา ก้องราชไกร แกคุ้นเคยกับวงการและเคยขายการ์ตูนได้ออกตลาดบ่อยอยู่ ผมก็ขอร้องให้แกนำงานผมไปเสนอ ซึ่งผมค่อนข้างแน่ใจว่า เขาน่าจะรับ ซึ่งโรงพิมพ์แรกที่ไปเสนอ คือ 'เทียนเทียน' ก็รับ ได้ค่าตอบแทนน้อยรูปละสิบบาทกว่า (แผ่นละ 60 บาท แผ่นหนึ่งมี 4-5 รูป)

ถูกมองว่าเป็นตลาดต่ำนี่ ผมว่ามันเป็นปมเด่น ไม่ใช่ปมด้อย อย่างว่า ตลาดสูงก็คือวาดเรื่องที่มันสูงๆ น่ะ มีไม่กี่ประเภทหรอก พวกประวัติศาสตร์ไทย สอนจริยธรรม พุทธประวัติ โอย! ได้ค่าตอบแทนน้อย เพราะตลาดมันต่ำ ก็ดีกว่า ขึ้นไปหาวาดงานที่ได้ค่าตอบแทนสูง แต่ต้องวาดเรื่องที่แม้ตัวเองยังไม่ซื้ออ่าน งานอย่างอื่นยังพอมี ดีกว่าฝืนใจเขียนภาพที่ผมว่าไม่สนุก เดินเข็นรถขายเกลือผมว่ายังสนุกกว่า

อีกอย่าง ครอบครัวผม โดยเฉพาะแม่มีที่ดินให้เช่าทำนาหรืออื่นๆ ไม่น้อย พอที่ผมจะอยู่ได้ไม่ต้องรีบร้อนวาด เรื่องนี้มันเกี่ยวกับงานเหมือนกัน ตลอดชีวิตตั้งแต่ยี่สิบถึงห้าสิบที่ผมวาดมา ได้งานการ์ตูนเล่มละบาทสามร้อยเรื่องเอง ซึ่งต่างจากมืออาชีพคนอื่น ตลอดชีวิตนี่เขาสร้างได้สามสี่พันเรื่อง

การ์ตูนราคาถูกเล่มละบาท เขาไม่ราคาสูงเท่าไหร่หรอก เขาเอาปริมาณ เขาต้องพิมพ์มาก เขียนมาอย่างไรก็รับๆ เพราะมันหนังสือการ์ตูนขายเล่มละบาท ค่าจ้างนักวาดก็จะราคาถูก 16 แผ่น 800 บาท มันก็ตกแผ่นละ 60 บาท ตอนหลังรวมกันเป็น 5 เรื่อง ก็ขายเป็นเล่ม ขายเป็นเล่มละ 5 บาท มันก็เหมือนอ่านหนังสือเล่มละบาท 5 เล่มน่ะแหละ

ถึงจะได้รายได้ต่อเดือน จะได้ประมาณช่าง หรือ คนงานระดับฝีมือปานกลาง ประมาณ 6,000-7,000 บาท เพราะผมวาดแบบ ถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง วาดเพราะใจรัก วาดเพราะอยากแสดงออก อยากแต่งเรื่องที่คิดเอาเองว่าดี ซึ่งเป็นการวาดภาพจากอากาศ นิยายภาพไม่เหมือนศิลปะหลายแขนงนะ รูปบุคคลเขาก็มีแบบ รูปดอกไม้ก็มีแบบ นิยายภาพนี่ต้องสร้างจากอากาศ ผมก็ภูมิใจตรงนี้แหละ

สร้างภาพจากอากาศ วาดจากจินตนาการ

นิยายภาพสั้น ทั้งเรื่องมี 60-70 ภาพ โดนเป็นการวาดภาพไม่มีแบบ! ผมว่าการถ่ายทอดจากความคิดออกมาเป็นรูปนี่ไม่ง่าย เช่น เรื่องราวของเวทีประกวดผีงาม กว่าจะออกแบบได้ ต้องยกพื้นครึ่งวงกลมมีหัวกะโหลกใส่มงกุฎอยู่ข้างหลัง และวาดให้มันเข้ามุมมอง จากมุมบน ทั้งโลกเขาอาจเห็นว่าง่ายๆ ผมว่ายากอยู่...นี่แหละที่ผมว่า ผมสนุกและรัก ‘การสร้างภาพจากอากาศ’

ถ้าจะให้บอกคำจำกัดความงานของผม ก็คงได้สั้นๆ ว่า พยายามเขียนให้มีความลึกแหละ นิยายภาพเป็นเหมือนภาพจริงที่เรามองผ่านกรอบเข้าไป มีตัวการ์ตูน มีฉาก ซึ่งอันนี้ต้องอาศัยคณิตศาสตร์แขนงเรขาคณิตที่เขาเรียก Perspective เรื่องของผมพยายามให้จบลงด้วยดี อ่านแล้วมีความรู้สึกที่ดี ยกย่องผู้หญิง

การ์ตูนเล่มละบาท มันดีตรงที่เราแต่งอะไรก็ได้ ก็เอาตามที่เราอ่านหนังสือ ดูนิยายวิทยาศาสตร์ แต่เรื่องผีอะไร ผมก็ไม่เคยเห็นเหมือนกัน แต่มันแต่งง่ายไม่ต้องมีเหตุผลมากมาย หรือ บางทีเรื่องก็มาจากความสนใจและประสบการณ์ส่วนตัว เช่น ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยใช้เงินมากนัก สำนักพิมพ์ก็จะให้นักเขียนไปสัมภาษณ์ ว่าหนึ่งวันคนเขาใช้เงินอย่างไร ให้ไม่เกินวันละ 100 บาท มันก็แสดงให้เห็น ว่าเราใช้จ่ายน้อยก็สามารถอยู่ได้ พล็อตมันจะไม่ยากมาก นักเขียนจะมีพลอตอยู่ตลอด เสียดสีสังคมบ้างอะไรบ้าง มันมีอะไรที่เราอยากจะพูด จะถ่ายทอด

50 ปีที่แล้ว เราส่งตีพิมพ์ไปแล้ว ไม่มีโอกาสได้รู้เลยเป็นอย่างไร มันไม่มีฟีดแบ็กหรอก เราไม่รู้เลยว่าใครอ่านบ้าง และขายดีหรือไม่ดี เขาก็คงขายดีมั้งคละๆ กันไป ผมไม่ได้พยายามมาก เพราะมีฐานะอยู่แล้ว เลยเขียนประณีตหน่อย ไม่ได้เขียนเอาเป็นเอาตาย

“คนที่เขียนหนังสือการ์ตูนเล่มละบาท เดือนหนึ่งเขาต้องทำได้อย่างน้อย 6 เล่ม ก็ได้แค่ 4,000 กว่าบาทเอง”

ย้อนเวลา 50 ปี กลับไปส่องชีวิตนักวาด ‘การ์ตูนเล่มละบาท’

หากจะให้เล่าถึงสังคมการ์ตูนเล่มละบาทตอนนั้น เมื่อปีพ.ศ. 2525-2550 ผมคงเล่าได้น้อย อาศัยข้อมูลจากเด็กโรงพิมพ์ ดูเหมือนว่า นักวาดเล่มละบาทส่วนใหญ่ ฝึกหัดจากหัวหน้าทีม ซึ่งอาจเป็นเพื่อน รุ่นพี่ หรือนักวาดมือเก่าที่เขาชื่นชอบ มารวมกลุ่มกัน ลายเส้นวิธีวาดจะคล้ายๆ กัน และหัวหน้าทีมนี้จะรวบรวมงานลูกทีมมาส่งโรงพิมพ์

โดยหัวหน้าทีมรับงานเขียนปก สมัยผมเปลี่ยนโรงพิมพ์สองครั้ง เมื่อสำนักพิมพ์เทียนเทียนเขาเลิกทำหนังสือ เปลี่ยนมาทำที่ประชาช่าง ที่นี่ออกหนังสือเล่มละบาท เดือนหนึ่งสามสิบเรื่อง หัวหน้าทีมมีหน้าที่หาเรื่องมาส่งให้ครบ และวาดปก โดยแค่ปกหนึ่งปก ราคาเกือบเท่าการ์ตูนข้างใน ทั้งเล่ม 16 หน้า...

“หากจะถามเรื่องบรรยากาศตอนเล่มละบาทเฟื่องฟูนี่ ผมคงตอบไม่ได้ เพราะตอนนั้นผมเขียนดุ่มๆ ไปคนเดียวที่บ้าน และเพลิดเพลินกับมัน มีคนซื้อไปพิมพ์ได้ค่าตอบแทนไม่มากก็บุญแล้ว ไม่มีคนซื้อผมก็คงยังเขียนอยู่ดี”

สแกนสะสมภาพใส่ ‘แผ่นดิสก์’ จนเข้าสู่ยุคออนไลน์กลายเป็น ‘กลุ่มรวมนิยายภาพ’

การเปลี่ยนแปลงยุคสมัยมาเป็นออนไลน์ เมื่อ 20 ปีก่อน คอมพิวเตอร์เริ่มพัฒนา จนพ้นจากการเก็บข้อมูลในฟลอบปี้ดิสก์ (แผ่นดิสก์) มาเป็นเขียนลงแผ่นซีดี ผมก็ซื้อและหัดใช้คอมพิวเตอร์ คิดว่าจะเอาไว้เก็บรูป หนังสือเก่าที่บ้าน ซีดีแผ่นหนึ่งใส่หนังสือได้หลายสิบเล่มอยู่ ผมก็สนุกและหมกมุ่นกับคอมพิวเตอร์เป็นของรักอีกอย่าง

ผมไม่เคยคิดจะมีหน้าเฟซบุ๊ก แต่ก็หาวิธีเข้าเน็ตจากซิมโทรศัพท์ได้ ใช้แอร์การ์ด เพราะลินุกซ์ เวลาสร้างแผ่นเซ็ตอัพลงระบบ มันต้องโหลดไฟล์ISOจากอินเทอร์เน็ต วันนั้นเกิดมีเพื่อนผมคนหนึ่ง เขาก็เล่นคอมฯ เหมือนกัน แต่ชำนาญกว่าผม เขาเอานิยายภาพที่ผมเขียนไปลงในหน้าเฟซบุ๊กของเขา และดูเหมือนมีคนถามถึงมากๆ เขาจึงชวนผมสมัครเฟซบุ๊ก ผมก็ตอบปัดๆ ไป เขาอุตส่าห์ ทำไอ้ขั้นตอนสมัครให้ เอาตั้งแต่สร้างอีเมลให้ผม แค่อันนี้ผมก็ไม่อยากทำแล้ว มันขั้นตอนเยอะ พอเขาสมัครเฟซบุ๊กให้ เอาก็เอาวะ

พอได้เริ่มเล่น ผมก็พบว่ามีการทำอีบุ๊กการ์ตูนขายออนไลน์เหมือนกัน แต่ผมไม่เชื่อในระบบนี้เท่าไร ว่ามันจะสร้างรายได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เท่าแรงงานช่างฝีมือปานกลางคงจะได้

ส่วนเรื่องสร้างกลุ่มเฟซบุ๊ก เพื่อโพสต์นิยายภาพเก่าที่ผมวาด ผมไปได้ความคิดว่าจะเอาหนังสือเก่ามาโพสต์ให้อ่านฟรีจากฝรั่งอย่างที่เล่าว่า พ่อผมแกสะสมหนังสือเก่าทั้งภาษาไทยภาษาอังกฤษ และผมไม่ชอบออกสังคม มีหนังสือเป็นเพื่อน นิยายพื้นๆ ไม่ใช่ระดับสูงจนต้องปีนบันไดอ่าน ด้านภาษาอังกฤษนี่พออ่านออก ผมหาหนังสืออ่านในอินเทอร์เน็ตไปเจอเว็บ Gutenberg ซึ่งเป็นเว็บถูกกฎหมายเขาไปเอาเรื่องเก่าๆ ที่หมดลิขสิทธิ์แล้ว มาลงให้อ่านฟรี เป็นหมื่นๆ เรื่อง

ผมทึ่งในระบบฝรั่งเขา ไม่ต้องสมัครสมาชิก ไม่ต้องลงทะเบียน คลิกเดียวมา ก็เลยอยากเอางานเก่าๆ ตัวเองมา แก้ไขใหม่ ขอย้ำแก้ไขนะ อะไรที่ผมวาดไว้ตอนอายุ 20 หรือ ตอน ผมตอน 17 เห็นข้อพลาดไม่น้อย ผมพยายามแก้ โดยการเอาเล่มเก่ามาเทียบเล่มดิจิทัลใหม่ มันก็จะแตกต่างไปจากเดิม

ทีนี้เอาหนังสือโพสต์ลงเน็ตแบบหน้าต่อกัน นี่ไม่ง่ายหากลงในอัลบั้ม บางทีหน้าท้ายมันมาก่อน การสร้างกลุ่มเป็นทางเดียวที่จะโพสต์เอกสาร pdf มันไปทั้งเล่ม เรียงหน้าด้วย

กลุ่มผมไม่ต้องเป็นสมาชิกก็โหลดได้ ยังนึกว่า นักวาดนิยายภาพแก่ๆ ที่เขาเรียกอาจงอาจารย์น่านะ เลือกงานตัวเองดีๆ มาโพสต์ให้อ่านฟรีๆ บ้าง ทีนี้เรื่องคนนิยม กดไลก์กดแชร์นี่ผมทำใจ เฟซบุ๊กทำให้ผมปลงตกหลายอย่าง เรื่องไลก์ เรื่องแชร์ ยิ่ง TikTok สาวๆ นุ่งผ้าถุงมาเต้นๆ มีคนดูเป็นล้าน แต่สำหรับผมมีคนรุ่นใหม่สิบกว่าคนคุ้นๆ หน้า เขียนมาชมคนสองคนผมก็พอใจแล้ว

Photo Credit: GRAFIXX

ผลงานภาพชุด 'โกอินเตอร์' สู่สายตาชาวโลก

รู้จักกับชาวเบลเยียม เขาคงเป็นนักผจญภัย เขามาสอนศิลปะอยู่ที่จุฬาฯ เขามาคลุกอยู่กับวงการศิลปะ รู้จักกับนักวาดการ์ตูนหลายคน แกก็มาเห็นงานผมเข้า แล้วเพื่อนเขาคุณเอวาเขามาเมืองไทย เห็นงานการ์ตูนเล่มละบาทของผม เขาเลยให้ผมเขียนและนำไปขาย

ผลงานภาพชุด 'APHICHAT ORN RODWATHNAKUL : NO MAGIC PLEASE' ของ อภิชาต รอดวัฒนกุล จะถูกจัดแสดงภายในงาน ‘Grafixx Festival' ณ De Studio ประเทศเบลเยียม พร้อมกับการจัดแสดงนิทรรศการออนไลน์ บน Grafixx House Call radioshow ในวันที่ 26-27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันเล่มสมุดรวมภาพ ผลงานที่มีลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์ ถูกจำหน่ายบนเว็บไซต์ grafixx.be จัดส่งจากประเทศเบลเยียมไปทั่วโลก

สามารถติดตามผลงานของอภิชาต รอดวัฒนกุลได้ที่

Facebook: รวมนิยายภาพ อภิชาต รอดวัฒนกุล