ถ้าให้พูดถึงช่วงเวลา ‘วัยเด็ก’ ของแต่ละคน จะนึกถึงอะไรกันบ้าง? ของเล่นในความทรงจำ ความสุขที่ได้เล่นสนุกแบบไม่ต้องคิดอะไร หรือแม้แต่วีรกรรมในรั้วโรงเรียนที่จำไม่ลืม พูดถึงสิ่งต่างๆ เหล่านี้ขึ้นมาก็ดูเหมือนว่า มันจะเป็นได้แค่ ‘ความทรงจำ’ ที่ทิ้งไว้เพียงรอยยิ้มทุกครั้งที่ได้นึกถึง แต่ไม่ใช่สำหรับ ‘ซี’ – ทิพย์วาณี ติ๊ตาวงศ์ เจ้าของแบรนด์กระเป๋าสุดน่ารักอย่าง ‘Bagward’ ที่หยิบเอาของเล่นในความทรงจำของใครหลายๆ คนอย่าง ‘กระดาษทายใจ’ และ ‘รถแข่งกระดาษ’ มาดีไซน์เป็นกระเป๋า ที่พาให้เรานึกย้อนถึงอดีตวัยหวานกันอีกครั้ง
วันนี้ EQ เลยอยากพาทุกคนไปทำความรู้จักกับแบรนด์ Bagward ว่าอะไรคือแรงบันดาลใจที่อยู่เบื้องหลังงานดีไซน์เหล่านี้ เสน่ห์ของการหวนนึกถึงความหลังเป็นอย่างไร และทำไมเธอถึงอยากทำโปรเจกต์ที่จะทวงคืนบรรยากาศในวัยเด็กกลับมาอีกครั้ง
จาก Work From Home สู่แบรนด์กระเป๋าที่พาเรายิ้มไปกับอดีตวัยหวาน
แบรนด์กระเป๋าสุดครีเอทีฟแบรนด์นี้เริ่มต้นขึ้นในปี 2021 ซึ่งอาจจะไม่ได้มีจุดเริ่มต้นที่หวือหวาอะไรมากนัก เพราะก็เหมือนกับหลายๆ แบรนด์ที่เปิดตัวมาในช่วงใกล้ๆ กัน (ในช่วงการระบาดของโควิด-19) ที่เจ้าของแบรนด์เริ่มต้นมองหารายได้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง
“ปกติทำงานประจำอยู่แล้วค่ะ และช่วงนั้นเป็นช่วงโควิด เลยรู้สึกว่า อยากทำอะไรเพิ่มสักอย่างหนึ่ง เพราะว่าตอนนั้นเรา Work From Home ด้วย เราไม่ได้ไปไหน เลยรู้สึกว่าอยากทำอะไรที่มันเป็นงานของเราเองอีกสักอย่าง เลยเริ่มต้นทำ Bagward” ซีกล่าว
“คอนเซ็ปต์ของ Bagward เริ่มต้นจากกลับไปดูว่า มีอะไรบ้างที่มันเป็นตัวเรา เพราะเราอยู่ในช่วงเวลาที่เห็นการเปลี่ยนแปลงมากมายเลย จากอนาล็อกสู่ดิจิตอล และมันมีหลายๆ ครั้งที่เราไปเจอเพื่อนแล้วเราพูดว่า เฮ้ย เมื่อก่อนถ้าเราไม่มีมือถือ เราทำอะไรกัน เราเล่นอะไรกัน ก็เลยรู้สึกว่า พอเราพูดถึงอะไรที่เคยผ่านมาในวัยเด็ก แล้วทำให้มีความสุข มันก็เลยคิดว่า นี่แหละคือ สิ่งที่บ่งบอกความเป็นตัวเรา”
บวกกับว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา เราทุกคนต้องเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 กันมาอย่างหนักหน่วง ซีบอกเราว่า เธอได้เห็นการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างในช่วงนั้น ผู้คนใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์มากขึ้น กิจกรรมต่างๆ ก็อยู่บนอินเทอร์เน็ตไปเสียหมด จนทำให้เจ้าตัวกลับมานั่งย้อนคิดถึงเวลาในวัยเด็ก ที่ไม่ว่าโลกใบนี้จะหมุนไปเร็วแค่ไหน ความทรงจำเหล่านั้นก็ยังเป็นสิ่งที่ทำให้ยิ้มได้ทุกครั้งที่นึกถึง
จากคอนเซ็ปต์นี้เองก็ทำให้ซีได้รับแรงบันดาลใจในการตั้งชื่อแบรนด์กระเป๋าที่สะท้อนตัวตน และไอเดียของเธอจริงๆ พร้อมทั้งเล่นกับความทรงจำในวัยเด็ก ด้วยคำว่า ‘Backward’ ที่แปลว่า ย้อนกลับ ซึ่งซีหยิบมาใช้เพื่อบอกเล่าการย้อนนึกถึงวันวาน ก่อนจะเอามาบิดโดยการใส่คำว่า ‘Bag’ ที่แปลว่า กระเป๋า เข้าไปแทนที่ จนเกิดเป็น ‘Bagward’ อย่างที่เราเห็นนั่นเอง
“Bagward หมายถึง กระเป๋าที่เราใช้แล้วทำให้นึกถึงช่วงเวลาที่มีความสุขในอดีต และมันสามารถพาเราย้อนเวลากลับไปตรงนั้นได้”
‘กระดาษทายใจ’ และ ‘รถแข่งกระดาษ’ การปลุกชีพของเล่นในความทรงจำ สู่กระเป๋าดีไซน์เก๋
เมื่อพูดถึงคอนเซ็ปต์ของการหวนนึกถึงความหลัง ซีจึงมองหาของเล่นที่เห็นบ่อยๆ ในวัยเด็ก จนมาจบที่ ‘การพับกระดาษ’ โดยเจ้าตัวเล่าว่า การพับกระดาษนั้นเป็นต้นกำเนิดของสิ่งประดิษฐ์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการพับผ้าเช็ดปาก, เต๊นท์, ถุงลมนิรภัย หรือแม้แต่แผงโซลาร์เซลล์บนยานอวกาศ
“รู้สึกว่า เฮ้ย มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ว้าวมากว่า สิ่งเล็กๆ มันสามารถต่อเติมความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นงานชิ้นใหญ่ๆ ได้”
ด้วยเหตุนี้งานพับกระดาษจึงกลายมาเป็นแรงบันดาลใจของการออกแบบ 2 คอลเลกชั่นแรกจาก Bagward อย่าง ‘กระดาษพับทายใจ’ และ ‘รถแข่งกระดาษ’ ซีเล่าให้เราฟังต่อว่า กระดาษพับมีรูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์ และรูปทรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการพับกระดาษก็เป็นรูปทรงที่ชัดเจน เข้าใจได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นคนเจนไหนก็ตาม อย่างกลุ่มคน Gen Y ก็จะสามารถเข้าใจ และนึกถึงอดีตได้ ในขณะที่คนรุ่นใหม่ แม้ว่าพวกเขาอาจจะไม่เคยเล่นก็จริง แต่ก็เข้าใจ หรือต้องเคยผ่านตามาบ้าง ในฐานะ ‘Origami’ ทำให้เรื่องราวของการพับกระดาษถูกถ่ายทอดถึงผู้คนได้ง่าย และยังสามารถเชื่อมโยงงานดีไซน์เข้ากับเรื่องราวของพวกเขาได้อีกด้วย
‘กระดาษพับทายใจ’ การละเล่นในวัยเด็กที่เราเชื่อว่าหลายๆ คนต้องเคยพับเจ้าสิ่งนี้ไปเล่นกับเพื่อนๆ ที่โรงเรียนแน่นอน ซึ่งซีก็ได้หยิบเจ้าของเล่นจากวันวานชิ้นนี้ ขึ้นมาทำเป็นกระเป๋าถือคอลเลกชั่นแรกของแบรนด์ ด้วยรูปทรงเลขาคณิตที่ชัดเจนของสามเหลี่ยม ซึ่งซ้อนอยู่ในรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสอีกที ทำให้งานออกแบบกระเป๋ารุ่นนี้ ถูกสะท้อนออกมาได้อย่างทันสมัย และน่าสนใจ
“มันเป็นการเล่นที่ต้องมีเพื่อนเล่นด้วยกันนะ เรามีความทรงจำตอนเด็กๆ เหมือนกันว่า เราเคยไปเล่นสิ่งนี้กับเพื่อนที่หลังโรงเรียน เราก็จะนับกันว่าถ้าได้ช่องไหนต้องทำอะไร มันเป็นรูปทรงที่น่ารัก แล้วต้องใช้มือในการขยับ ก็เลยคิดว่า มันน่าสนใจที่จะหยิบมาทำ” ซีพูดถึงความทรงจำของกระดาษทายใจ
คอลเลกชั่นถัดมา คือ ‘กระดาษพับรถแข่ง’ อีกหนึ่งของเล่นกระดาษที่หลายคนต้องเคยเห็นเพื่อนๆ จับกลุ่มกันเล่นเจ้ารถแข่งคันเล็กนี้แน่นอน บ้างก็เอาสีมาระบายตกแต่ง บ้างก็แข่งขันเพื่อให้ได้รถของอีกฝ่ายมาครอง ซึ่งซีบอกว่า แค่นึกย้อนกลับไปถึงตอนนั้นก็รู้สึกสนุกแล้ว เจ้ารถกระดาษจึงถูกนำมาดีไซน์เป็นทั้งกระเป๋าเป้, กระเป๋า cross body และพวงกุญแจ ที่แค่ได้เห็นก็สัมผัสได้ถึงความเท่ และความสนุกแล้ว
“มันมีความเฉพาะตัวมากๆ พอหยิบขึ้นมาแล้วเรารู้เลยว่า อันนี้มาจากอดีตนะ แล้วด้วยรูปทรงที่มันให้ความรู้สึกสนุก ก็ตอบโจทย์ที่เราต้องการเพิ่มความสนุกในงานดีไซน์ด้วย การพับรถมันมีมิติหลายๆ ชั้น ที่พอเราลองพับขึ้นมามันก็ได้เป็นทรง เป็นมิติที่แตกต่าง ให้ความรู้สึกที่ทันสมัย” ซีเล่าถึงไอเดียรถกระดาษ
แต่ก็ใช่ว่ามีไอเดียแล้วสินค้าจริงจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ซีเล่าให้เราฟังว่า ในขั้นตอนการผลิต ต้องใช้เวลานานมาก กว่าที่จะหาวิธีตัดเย็บที่ลงตัวกับงานดีไซน์ได้ ซึ่งกระเป๋ารถแข่งแต่ละใบจะต้องใช้เทคนิคในการพับเหมือนงานพับกระดาษจริงๆ แล้วจึงเย็บเพื่อขึ้นรูป โดยเจ้าของแบรนด์เล่าให้เราฟังว่า ในขั้นตอนนี้ต้องใช้ช่างที่มีฝีมือ และเข้าใจคอนเซ็ปต์ของงานจริงๆ เพราะว่าแต่ละมุม แต่ละชั้นของการพับนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับช่างตัดเย็บ
คุยกับซีมาจนถึงตอนนี้ เราเริ่มอยากรู้แล้วว่า เมื่อความเป็นอดีต เดินทางมาพบกับงานดีไซน์สมัยใหม่แบบนี้ มันจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง
เมื่อกลิ่นของอดีตที่คิดถึง มาเจอกับงานดีไซน์ร่วมสมัย
ซีเล่าให้เราฟังว่า ทุกครั้งที่เธอได้เจอเพื่อนๆ เธอมักจะชวนกันคุยถึงช่วงเวลาในวัยเด็ก นึกถึงเพื่อนเก่าๆ เรื่องเก่าๆ สถานที่เก่าๆ และทุกครั้งที่พูดถึง ก็มักจะมีแต่ประสบการณ์ที่เต็มไปด้วยความสุข ไม่ว่าตอนที่ผ่านเหตุการณ์นั้นมาจะดี หรือร้ายก็ตาม จึงเป็นสาเหตุให้ซีหยิบเอา ‘Nostalgia’ มาผสานเข้ากับงานดีไซน์ร่วมสมัย เพื่อที่จะแชร์ประสบการณ์ร่วมกันระหว่าง Bagward และคนที่ได้เห็นชิ้นงาน เพราะการที่ได้ย้อนกลับไปคิดถึงอดีตของตัวเอง คือประสบการณ์ที่มีความสุขที่สุด
“มันเกิดการแชร์ประสบการณ์ที่เป็น Nostalgia จริงๆ เป็นประสบการณ์ดีๆ ที่มีความสุข ซึ่งมันก็มีงานวิจัยเลยนะว่า ถ้าเราพูดถึงเรื่องที่เป็นอดีต และมีความสุข จะช่วยในเรื่อง Well-being ได้ ทำให้เรามีความสุข ลดความเครียด เวลาเราได้คุยกับลูกค้าแล้วเขายิ้ม เขามีความสุขกับสิ่งที่เขาเห็น เรารู้สึกว่า มันเป็นอะไรที่ดีมากเลย”
แน่นอนว่าสิ่งที่ Bagward ทำอยู่นี้คือ การนำอดีตที่เราโหยหา มาผสานเข้ากับงานดีไซน์ที่ร่วมสมัย ซึ่งซีก็เล่าให้เราฟังว่า สำหรับเธอแล้ว เมื่อความดั้งเดิมมารวมกับความสมัยใหม่ ไม่ได้ทำให้เกิดแค่ความสุขที่ได้คิดถึงอดีตเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดโอกาสให้กับสิ่งใหม่ๆ เพราะกระเป๋าของ Bagward นั้น เป็นเหมือนสิ่งที่รวบรวมเอาความทรงจำ ความรู้สึก และประสบการณ์จากในอดีต มาถ่ายทอดเป็นของสิ่งใหม่ แทนที่เราจะต้องหวนนึกถึงโมเมนต์แห่งความสุขเหล่านั้น ผ่านการนั่งดูภาพถ่าย หรือของเก่า
“แต่ละคนเขาก็มีเรื่องราว มีประสบการณ์ของตัวเอง ที่เชื่อมต่อพวกเขาเข้ากับสิ่งนั้นๆ การถือกระเป๋าใบนี้ก็เช่นกัน มันเป็นการให้ประสบการณ์ครั้งใหม่กับเขาอีกครั้ง ซึ่งมันอาจจะสะท้อนความเป็นตัวตนของเขาในปัจจุบัน หรือสะท้อนให้เขาคิดถึงบางสิ่งบางอย่างที่อาจจะหายไปจากชีวิต เช่น สถานที่ที่เคยไป, เพื่อนเก่า, ของเล่น หรือสิ่งของในความทรงจำบางอย่าง” ซีเล่าถึงการหยิบอดีตมาเล่าใหม่
เพราะวัยเด็ก คือสิ่งที่หล่อหลอมตัวตนของเรา
แน่นอนว่า เมื่อพูดถึง Nostalgia ทั้งที จะไม่ชวนซีคุยย้อนไปถึงวัยเด็กก็อย่างไรอยู่ ซีเล่าให้เราฟังว่า ในวัยเด็ก เธอเป็นเด็กนักเรียนธรรมดาๆ คนหนึ่ง ที่ไม่ได้มีเพื่อนเยอะมาก เธอมักจะใช้เวลาไปกับการดูทีวี และอ่านหนังสือเสียเป็นส่วนใหญ่ ก่อนที่การเข้าเรียนมหาวิทยาลัยจะเปิดโอกาสให้เธอได้เริ่มทำกิจกรรมมากขึ้น กล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น เนื่องจากสังคม และช่วงวัยที่เปลี่ยนไป ซึ่งจริงๆ นี่ก็อาจจะเป็นความเรียบง่ายของพัฒนาการในชีวิตของคนเรา ที่ค่อยๆ เติบโตขึ้นก็ได้
“วัยเด็กมันคือ ตัวตนของเรา มันเป็นสิ่งหล่อหลอมที่ทำให้เป็นเราในทุกวันนี้”
ก็คงจะจริงอย่างที่ซีว่า เพราะความเรียบง่ายของช่วงชีวิตที่เธอพูดถึง ก็ดูเหมือนว่าจะถูกนำมาถ่ายทอดผ่าน Bagward จริงๆ ตั้งแต่ไอเดียของการพับกระดาษ ที่เป็นของเล่นแสนเรียบง่ายในวัยเด็ก สะท้อนออกมาเป็นงานดีไซน์กระเป๋าที่เรียบง่าย ไม่ว่าใครก็เข้าใจได้ แม้ว่าเขาจะรู้จักของเล่นชิ้นนี้หรือไม่ก็ตาม เราจึงอดสงสัยไม่ได้ว่า นอกจากเจ้ากระดาษทายใจ และรถแข่งแล้ว ยังมีของเล่นชิ้นไหนอีกที่อยู่ในความทรงจำของซี?
“มีอย่างหนึ่งที่มันเป็นความทรงจำดีๆ ก็คือ ‘กระดาษพับรูปหัวใจ’ เราจำได้ว่า ตอนนั้นเราชอบพับกระดาษรูปหัวใจมาก แล้วคุณครูเขาจับได้ว่า เราแอบพับในคาบเรียน คุณครูเลยทำโทษให้เราคาบกระดาษพับรูปหัวใจจนจบคาบ มันก็ตลกดี เป็นอีกโมเมนต์หนึ่งที่เราจำได้” ซีเล่าถึงโมเมนต์น่ารักๆ กับของเล่นในความทรงจำของเธอ
ซึ่งเราก็แอบถามซีว่า เราจะมีโอกาสได้เห็นกระดาษพับรูปหัวใจนี้ในงานของ Bagward ไหม? เจ้าตัวก็ตอบเรากลับมาว่า เธอเองก็มีความคิดที่อยากจะพัฒนาไอเดียนี้อยู่เช่นกัน โดยเธออยากจะทำมันออกมาในรูปแบบของกระเป๋าใบเล็กๆ น่ารักๆ ที่ทำให้กระดาษพับรูปหัวใจในอดีตมีมิติมากขึ้น
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้มีแค่งานดีไซน์ที่ทำให้กระเป๋าจาก Bagward น่าสนใจ เพราะล่าสุดซียังได้หยิบเอาวัสดุ ‘Sustainable’ มาใช้ในงานดีไซน์ของเธออีกด้วย
วัสดุยั่งยืน กับการทวงคืนบรรยากาศในวัยเด็ก
“ทุกวันนี้สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปนอกจากของที่เราเคยเล่น เคยเห็นแล้ว มันก็ยังมีเรื่องสภาพแวดล้อมด้วย” ซีเล่าให้เราฟังว่า ทำไมเธอจึงเลือกวัสดุยั่งยืนอย่าง ‘ผ้ารีไซเคิลจากขวดพลาสติก’ มาใช้ในงานดีไซน์กระเป๋าของเธอ ก่อนที่จะอธิบายต่อว่า สิ่งหนึ่งที่เธอคิดถึงเสมอเมื่อพูดถึงวัยเด็กก็คือ สภาพแวดล้อมต่างๆ ที่ทำให้คนในยุคก่อนเติบโตมาอย่างแข็งแรง และมีความสุข จนทำให้เธอรู้สึกว่า เธอต้องเริ่มทำอะไรสักอย่างเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ผนวกกับตอนนี้เธอมีลูกวัย 3 ขวบ ที่เธอรัก และอยากให้เขาเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุด
“(การมีลูก)มันทำให้เรารู้สึกว่า มันมีอิมแพกตรงนี้เยอะมากขึ้น อย่างเมื่อก่อนถ้ามี PM 2.5 เราก็แค่ใส่แมสก์แค่นั้นเอง แต่พอตอนนี้ที่เรามีลูก เราอยากให้ลูกอยู่ในสถานที่ที่ดีต่อสุขภาพเขา เราเคยแม้กระทั่งไปหาเลยนะว่า จังหวัดไหนบ้างที่ไม่มีปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 (หัวเราะ) เราก็เลยสะท้อนว่า ถ้าเราไม่เริ่มทำอะไรสักอย่างที่ช่วยให้โลกดีขึ้น แล้วเมื่อไรจะได้ทำ”
ด้วยเหตุนี้ซีจึงเริ่มเรียนรู้ที่จะใช้วัสดุที่สามารถช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ได้ แม้สิ่งที่เธอทำจะเป็นเพียงจุดเล็กๆ แต่เธอก็มองว่า อย่างน้อยที่สุดก็ได้ทำอะไรบ้าง และถ้าจุดเล็กๆ อย่างเธอ สามารถมารวมกันหลายๆ จุด จนเป็นกลุ่มใหญ่ การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็จะยิ่งแข็งแรงมากขึ้นไปด้วย
ซึ่งเธอบอกว่า ถึงตอนนี้ Bagward จะยังอยู่ในจุดที่เพิ่ง�