เมืองสร้างสรรค์คืออะไร ?
‘เมืองสร้างสรรค์’ หรือ ‘Creative City’ คือ เมืองที่ผ่านการรับรองจากองค์กร ‘ยูเนสโก’ (UNESCO) ว่ามีความสร้างสรรค์ในด้านต่างๆ ประกอบไปด้วย วรรณกรรม, ภาพยนตร์, ดนตรี, หัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน, ศิลปะสื่อประชาสัมพันธ์, วิทยาการอาหาร และการออกแบบ
โดยประเทศไทยของเรามี ‘กรุงเทพมหานคร’ ที่ได้รับเลือกให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ในด้านการออกแบบ สามารถส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และสอดคล้องกับวัฒนธรรมวิถีชีวิตภายในพื้นที่ รวมไปถึงพัฒนาองค์ประกอบของเมืองต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น ในปี 2023 ทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA (Creative Economy Agency) ร่วมกับ กทม. ได้จัดงานชื่อว่า ‘Bangkok Design Week 2023’ โดยเน้นไปที่ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 9 แห่ง ในช่วงวันที่ 4–12 ก.พ. 2023 โดยมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจใน 9 ย่านนั้นให้ดีขึ้น
กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์
การท่องเที่ยวในย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นการส่งเสริมความสามารถในด้านเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ด้วยการใช้การท่องเที่ยวมาเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวอย่างพวกเรา แต่ความน่าสนใจของการท่องเที่ยวในครั้งนี้ คือ ความเป็นเมืองออกแบบของกรุงเทพฯ ที่เป็นความร่วมมือของพื้นที่ย่านเศรษฐกิจและความสร้างสรรค์ในการออกแบบพื้นที่ให้ออกมาสวยงามโดยใช้งานสิ่งแวดล้อมรอบๆ พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ สร้างสรรค์เรื่องราวความเป็นมาของสิ่งเหล่านั้น เพื่อสร้างเป็น ‘แลนด์มาร์ค’ (Landmark) ที่น่าสนใจให้แก่นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเยี่ยมชมพื้นที่ และนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์
ความสร้างสรรค์ที่ไม่สร้างสรรค์ในอดีต นำพามาสู่ ความเข้าใจของผู้คน
การจัดงาน Bangkok Design Week เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2018 และได้รับการตอบรับที่ไม่ค่อยดีนัก ในอดีตการจัดงาน Bangkok Design Week นั้นมีปัญหาเกี่ยวกับความสร้างสรรค์ที่ไม่สร้างสรรค์ เพื่อนๆ อาจจะสงสัยว่ามันหมายถึงอะไร ความสร้างสรรค์ที่ไม่สร้างสรรค์?
ในอดีตการจัดงานในรูปแบบนี้มักจะแสดงให้เห็นถึงปัญหาของกรุงเทพมหานคร ที่ขัดกับการเป็นเมืองสร้างสรรค์ประเภทการออกแบบได้อย่างชัดเจน เช่น การมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ ที่ไม่เข้าใจว่างานที่จัดอยู่มันหมายถึงอะไร? การออกแบบมาเกี่ยวข้องอะไรกับพื้นที่ของเขา? หรือจะเป็นการตอบรับจากนักท่องเที่ยวอย่างเราๆ ที่ไม่เข้าใจในคอนเซ็ปต์งาน เพราะมันค่อนข้างเป็นแนวคิดที่ใหม่ และเป็นทฤษฎีหนักๆ
แต่ในปี 2023 เราจะได้เห็นการแก้ไขที่เป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เพราะ การจัดงานออกแบบในปีนี้ผู้จัดงานใช้ความเป็นย่านเศรษฐกิจเข้ามาชูโรง และเป็นเป้าหมายหลักของการจัดงาน
ขึ้นชื่อว่าเป็นย่านเศรษฐกิจการหยิบยกองค์ประกอบของสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในพื้นที่มาใช้ เป็นการส่งเสริมที่ค่อนข้างน่าสนใจ และสร้างสรรค์ เพราะ มันสามารถเล่าเรื่องในพื้นที่ที่ทำให้ผู้คนท้องถิ่นพึงพอใจ และเข้าถึงได้ง่ายกว่าการมาบอกว่ามันคืองานของเมืองออกแบบที่เข้าใจกันเพียงแค่เฉพาะกลุ่ม อีกทั้งยังสามารถนำเรื่องราวเหล่านั้นไปเป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อีกด้วย ส่งเสริมความเป็นแลนด์มาร์ค และความเป็นย่านเศรษฐกิจอย่างลงตัวได้โดยไม่ต้องกังวลถึงความรู้สึกของคนในพื้นที่ว่าจะต่อต้าน หรือไม่เข้าใจในจุดประสงค์ของความสร้างสรรค์ในเมืองออกแบบ อีกทั้งยังทำให้ความเป็นเมืองสร้างสรรค์เข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวได้ง่ายในฐานะของ ‘เมืองเศรษฐกิจ’
ความสวยงามส่งเสริมความสร้างสรรค์ของเมือง
ความสวยงามของสถานที่ช่วยส่งเสริมทำให้กิจกรรมในครั้งนี้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น ผ่านการใช้แนวคิดของการออกแบบมาประกอบกับสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในเมืองอย่างเหมาะสม และเข้าถึงง่าย เนื่องจากธีมหลักของการจัดงานในครั้งนี้คือ การส่งเสริมย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของกรุงเทพฯ ความสวยงามของพื้นที่ก็เป็นสิ่งดึงดูดหนึ่งของนักท่องเที่ยว บอกได้เลยว่าทั้ง 9 ย่านเศรษฐกิจที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้มีความสวยที่แตกต่างกันออกไป ด้วยความหลากหลายไม่ว่าจะเป็นตึก อาคารเก่าแก่ พื้นที่กลางแจ้ง หรือสิ่งปลูกสร้างที่ให้ความสำคัญกับผู้คนในท้องที่ เมื่อสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ ถูกนำมารวมกับความสร้างสรรค์ เลยเกิดเป็นความสวยงามจากการออกแบบอย่างสร้างสรรค์ และสร้างประโยชน์สูงสุด เป็นแลนด์มาร์คประจำสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ ตัวอย่างของความสร้างสรรค์ในการออกแบบ และการใช้เรื่องราวมาสร้างเป็นแลนด์มาร์คที่สวยงาม คือ ‘ประปาแม้นศรี The Portrait of Water Tank’
‘แท็งก์น้ำเป็นสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจอีกประเภทหนึ่ง มันทำหน้าที่ทั้งมีประโยชน์ในการใช้สอย และอวดความสวยงามของโครงสร้างขนาดใหญ่ รวมถึงกลายเป็นแลนด์มาร์คของย่านนั้นโดยไม่รู้ตัว’
ด้วยการเติมแต่งทางเนื้อเรื่องทำให้ประปาแม้นศรีมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่แค่นั้นยังไม่พอต้องเพิ่มเติมความสร้างสรรค์ผ่านการออกแบบไปด้วยจึงจะทำให้เป็นแลนด์มาร์คแห่งการออกแบบอย่างสร้างสรรค์ที่กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวได้ นี่จึงเป็นความสวยงามที่สามารถพบได้ในงานออกแบบของกรุงเทพมหานคร ผ่านย่านเศรษฐกิจทั้ง 9
ความสวยงามที่แลกมากับความยากลำบากของ นักท่องเที่ยว และ ผู้ร่วมงาน
เพราะการจัดงานมีความหลากหลายอย่างที่บอกไป ประกอบกับพื้นที่ในย่านเศรษฐกิจมีทั้ง พื้นที่กลางแจ้ง ตึกเก่า อาคารต่างๆ ทำให้เกิดความลำบากในการเข้าร่วมงาม ไม่ว่าจะเป็นเวลาการจัดงานที่เริ่มต้นตั้งแต่เที่ยงวันในช่วงที่อุณหภูมิค่อนข้างร้อนแรง ทำให้การชื่นชมความสวยงามของแลนด์มาร์คในแต่ละย่านมีความไม่สบายตัว เป็นหนึ่งในความลำบากที่นักท่องเที่ยวอย่างพวกเราต้องพบเจอ ถึงแม้การออกแบบสถานที่จะสวยงามตอบโจทย์คนในท้องที่ และสนับสนุนการท่องเที่ยวมากน้อยขนาดไหน แต่สิ่งที่ควบคุมไม่ได้อย่างอุณหภูมิที่สูงมาก ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สุนทรียภาพในการเข้าร่วมงามนั้นหม่นหมองไปจริงๆ
เมื่อพูดถึงเรื่องของอุณหภูมิ เราเข้าใจว่ามันเป็นสิ่งที่นอกเหนือการควบคุมของผู้จัดงาน แต่การจัดงานในสถานที่กลางแจ้งก็ควรที่จะมีการเตรียมการรับมือกับอากาศ และอุณหภูมิมากกว่านี้
ถึงแม้ว่าอุณหภูมิที่ร้อนจะทำให้เราหมดสนุกกับการร่วมงาน แต่มันแลกมากับความคุ้มค่าที่เราได้เสพสุนทรียภาพผ่านการออกแบบที่สวยงาม และเรื่องเล่าที่บ่งบอกความเป็นย่านเศรษฐกิจของพื้นที่เหล่านั้น นอกเหนือจากอุณหภูมิที่สร้างความลำบากให้กับพวกเราแล้ว ยังมีเรื่องของการจราจรที่ติดขัด เพราะการจัดงานกระจุกอยู่ในพื้นที่ หรือในย่านใกล้ๆ กัน ถือเป็นทั้งข้อดีและข้อเสียได้ในตัว ข้อดีคือ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถไปได้ทุกที่ในวันเดียว และเป็นพื้นที่ที่มีความสะดวกสบาย ทั้งการท่องเที่ยว อาหาร และการคมนาคม ซึ่งก็เหมาะสมกับการเป็นย่านเศรษฐกิจอย่างจริงแท้ แต่ข้อเสียของมันคือบางกิจกรรมจัดขึ้นในช่วงเวลาบ่ายถึงเย็นของวันเสาร์ – อาทิตย์ อันเป็นช่วงเวลาที่คนในเมืองกออกไปใช้ชีวิตบนท้องถนน จึงสร้างความแออัดอย่างมากทั้งกับคนที่มาร่วมงาน และผู้คนที่ใช้ถนนทั่วไป ประกอบกับการจัดงานที่ช่วงเวลาตรงกัน ทำให้เกิดการกระจุกรวมของผู้คนจำนวนมาก เกิดเป็นความลำบากในการเข้าร่วมงาน Bangkok Design Week ที่นักท่องเที่ยวต้องพบเจอ
แต่การพูดถึงประเด็นความลำบากเหล่านี้ เราไม่ได้มีเจตนาจะต่อว่าการจัดงานของ กทม. และ CEA แต่อย่างใด เราเพียงแต่วิพากษ์ในฐานะของผู้เข้าร่วมงานที่พบเจอปัญหามาดึงดูดความสนใจเรามากกว่างานออกแบบ ทำให้เราชั่งใจว่าระหว่างการใช้เวลาเสพสุนทรียภาพความสวยงามของงานออกแบบที่สร้างสรรค์ แต่ต้องแลกมาด้วยความลำบาก กับ การเสพมันผ่านสื่อออนไลน์อยู่บ้านโดยไม่ต้องเข้าร่วมงานด้วยตัวเอง หนทางไหนที่สะดวกและตอบโจทย์เรามากกว่า
ภาพรวมการจัดงาน Bangkok Design Week 2023
โดยรวมแล้วการจัดงานทำออกมาได้ดีมาก มันทำให้นักท่องเที่ยวสนใจในคอนเซ็ปต์งาน และเข้าใจได้ง่าย พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับคนในชุมชน มีความยั่งยืนในการนำสิ่งของในพื้นที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงานออกแบบ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สร้างสรรค์งานออกแบบสวยงามที่สามารถใช้ได้จริงอย่างเหมาะสม ไม่ทำให้เกิดขยะมากเกินไป เรื่องการจัดงานยังมีปัญหาให้เห็นอยู่บ้าง แต่เป็นปัญหาที่จัดการ และควบคุมได้ยาก ถ้าแก้ปัญหา หรือหาทางจัดการได้ดีขึ้นเชื่อว่าในปีถัดๆ ไปคงจะมีนักท่องเที่ยว หรือผู้ร่วมงานมากขึ้น และทำให้ผู้คนสนใจการออกแบบสร้างสรรค์ที่ให้คุณค่าในสุนทรียภาพความงาม การดำเนินเศรษฐกิจ สนับสนุนการท่องเที่ยว และพัฒนาความมีส่วนร่วมกับชุมชน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และผู้ร่วมงาน ให้ทุกคนเข้าใจตรงกันว่า Bangkok Design Week ต้องการจะสื่อถึงอะไร
Reference