Daily Pickup

‘Pink Venom’ พิษร้ายแสนหวานเคลือบวัฒนธรรมเกาหลีใต้อันทรงพลัง

Photo credit: K-GEN


‘BLACKPINK’ กลับมาอีกครั้งกับซิงเกิลพรีรีลีสต้อนรับอัลบั้มใหม่ ‘Born Pink’ เขี้ยวสีชมพูที่พร้อมจะขย้ำทุกชาร์ตทั่วโลก ซึ่งตอนนี้ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่เป็นวง K-Pop วงแรกที่ขึ้นชาร์ตอันดับ 1 Global Top Songs ของ Spotify ไปเรียบร้อยแล้ว

‘Pink Venom’ พิษร้ายที่มากับบีทฮิปฮอปอันดุดัน ผสมจังหวะแดนซ์ฮอลชวนโยกและท่อนฮุคสุดจะ drop it like it’s hot กับกลิ่นอายส่วนผสมที่วัยรุ่น 90’s จะต้องเต้นคลับแตก อย่าง Destiny’s Child, Rihanna และ The Pussycat Dolls แต่สิ่งที่เติมเสน่ห์ดึงดูดอันแสนลึกลับให้กับ Pink Venom ที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือเสียงของเครื่องดนตรีโบราณที่มีชื่อว่า ‘คอมุนโก’ (거문고) จีซูเล่นมันในมิวสิควิดิโอรับกับเสียงสวดดั่งต้องมนต์ว่า “BLACKPINK…BLACKPINK” สะกดจิตเรียกทุกคนให้หลงใหลอยู่ในภวังค์ ไม่ว่าคุณจะได้ยินเพลงนี้ที่ข้างบ้านยันร้านสะดวกซื้อ อันเป็นสัญญาณให้รู้ว่าพวกเธอกลับมาแล้ว

Photo credit: BLACKPINK


คอมุนโก หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ‘พิณสีดำ’ นักวิชาการเชื่อว่าที่มาของชื่อหมายถึง ‘พิณแห่งโกคูรยอ’ โดยสันนิษฐานจากการปรากฏของพิณนี้ในศตวรรษที่ 4 จนถึงศตวรรษ 7 ในสมัยอาณาจักรโกคูรยอ ซึ่งจาก ‘ซัมกุกซากี’ (삼국사기) หรือตำนานแห่ง 3 อาณาจักรที่ถูกเขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1145 พิณแห่งโกคูรยอนี้ได้ถูกสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 6 โดยอิงจากลักษณะของ ‘กู่ฉิน’ (古琴) เครื่องดนตรีจีนโบราณ คอมุนโกมีลักษณะส่วนโค้งด้านบนของเครื่องแทนความหมายของท้องฟ้าและความแบนของฐานแทนผืนดิน เสียงแปร่งอันทรงเสน่ห์เกิดจากสาย 6 สายที่ทำจากเส้นไหม ถูกดีดด้วยไม้ไผ่ขนาดเท่าดินสอ ในขณะที่อีกมือกดไล่เรียงเสียงสูงต่ำตามทำนองดนตรี เมื่อเสียงทรงเสน่ห์จากอดีตผสมผสานกับเบสสไตล์ฮิปฮอปจากโลกปัจจุบัน จึงบังเกิดเป็นน้ำอมฤตชุบชีวิตของเหล่า Blink ที่รอคอยอัลบั้มใหม่ของพวกเธออย่างจดจ่อมาเป็นเวลาเกือบ 2 ปี

Photo credit: BLACKPINK


นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ BLACKPINK สอดแทรกวัฒนธรรมเกาหลีใต้ หากทุกคนยังจำกันได้ พวกเธอได้สวมชุดฮันบกสุดเปรี้ยวในเพลง ‘How You Like That’ จนคนทั่วโลกต้องหามาใส่ตาม ซึ่งทั้งฮันบกและคอมุนโกนั้นล้วนเป็นศิลปะวัฒนธรรมดั้งเดิมของเกาหลีใต้ จึงพาลให้อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ในยามที่โลกนั้นเปลี่ยนไป โดยเฉพาะในโลกสมัยใหม่ที่วัฒนธรรมชั้นสูงอันเคยถูกสงวน วัฒนธรรมพื้นบ้านแบบปล่อยจอย และวัฒนธรรมป๊อปในระดับสากลได้มีการปะทะสังสรรค์กันอย่างสนุกสนาน ตั้งแต่เพลงป๊อปยัน Netflix เเล้วการบ่งบอกตัวตนผ่านภาพวัฒนธรรมไทยควรจะถูกตีความหรือเล่าอย่างไร ให้ยังอยู่อย่างโดดเด่น จนไปถึงการส่องสปอตไลท์เพื่อเรียกแขกอันส่งผลถึงการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ

Photo credit: The Korea Times


ทั้งนี้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เมื่อวงการเพลงไทยได้กลับมามีสีสันอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นของกระแสไอดอลเกิร์ลกรุ๊ป บอยแบนด์ หรือศิลปินฮิปฮอป ที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ซึ่งศิลปินไทยก็สู้ตายไม่แพ้กันกับการพยายามตีความ เล่าเรื่องมุมมองความเป็นไทยให้แมส อาทิ ‘มิลลิ’ (Milli) ที่ขยันสร้างกิมมิค ไม่ว่าจะเป็นการกินข้าวเหนียวมะม่วง เต้นแอโรบิค และสร้างตำนานบทใหม่กับการเข้าทรงในงาน Head In The Clouds Festival ที่ผ่านมา ในลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย หรือมิวสิควิดิโอที่ฉากหลังเป็นซุ้มยาดองและร้านขายยำ กับเนื้อเพลงภาษากลาง เหนือ ใต้ในเพลง ‘ปล่อยจอย’ ของวง ‘Bamm’ ที่มี ‘พิมมา’ (Pimma) จาก ‘PiXXie’ มาร่วมแจม จนไปถึง ‘4MIX’ วงที่มีความหลากหลายทางเพศและมีจุดขายตรงความเป็นตัวของตัวเอง จริตไหนจะกลายมาเป็นสูตรที่ประสบความสำเร็จ ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องทดลองและค้นหากันต่อไป แต่ดูท่าว่าการไม่ยอมปรับตัวหรือการนำเสนอแค่คุณค่าแบบเดียวและแบบเดิม อาจจะไม่ใช่คำตอบในการตอกย้ำและอยู่รอดของอัตลักษณ์ไทยในยุคปัจจุบัน

ในยามที่โลกไม่ได้ต้องการทิ้งใครไว้ข้างหลัง ความ inclusive จึงไม่ใช่แค่ประเด็นเรื่องเพศ แต่รวมทั้งการโอบรับความ ‘เป็น อยู่ คือ’ ของคนในสังคมไม่ว่าจะมีไลฟ์สไตล์แบบไหน เพราะในวันข้างหน้า รสนิยมที่ถูกกดทับ โดนค่อนแคะว่าเสร่อ ไม่เก๋ หรือไร้สาระ อาจจะเป็นหนทางที่พาประเทศไทยไปมีพื้นที่แบบจอยๆ บนเวทีโลกก็เป็นได้ ใครจะรู้… 


อ้างอิง
Wikipedia

장서윤의 KTM101

BLACKPINK - ‘How You Like That’

Thairath Online

LIT Entertainment

Workpoint Today