Art

‘Blueprint Livehouse’ พื้นที่พิมพ์เขียวแห่งการฟังเพลง ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นผับบาร์

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘การฟังดนตรีในผับบาร์’ กลายเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมการกินดื่มยามค่ำคืนของสังคมไทย หากอยากฟังเพลง นอกเหนือจากการไปคอนเสิร์ต ผับบาร์ก็แทบจะเป็นสถานที่เดียวที่ผู้คนสามารถเข้าถึงการฟังดนตรีได้ ทว่า ไม่ใช่ทุกคนจะชื่นชอบการดื่ม หรือการไปผับบาร์ เช่นเดียวกัน ไม่ใช่ทุกแนวดนตรีที่จะสามารถเข้าไปทำการแสดงในสถานที่ยามราตรีได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้แม็คคี, นิต, นิว, เต๊ะ, แดเนียล, นน และเรือบิน พี่น้องผองเพื่อนทั้ง 7 คน ที่ล้วนเป็นส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรมดนตรีของบ้านเรา ตัดสินใจรังสรรค์สถานที่ที่ผู้คนจะสามารถไปรวมตัวกันฟังดนตรีสด ในนาม ‘Blueprint Livehouse’ เพื่อสร้างพื้นที่แห่งการเล่นดนตรีให้กับศิลปินที่มีความหลากหลาย และเป็นพื้นที่ของการฟังเพลงสำหรับทุกคน 

Blueprint Livehouse จึงทำหน้าที่ช่วยเหลือให้การแสดงดนตรีของศิลปินเป็นไปได้อย่างราบรื่น ไม่ว่าจะเป็นการขายบัตร ช่วยโปรโมต ไปจนถึงการเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งเครื่องดนตรี ไฟ และเวที ที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ถือเป็นการบริการที่จะช่วยให้ศิลปิน ได้มีพื้นที่แลกเปลี่ยน เจอะเจอกับเหล่าคนฟังเพลง ให้ได้ดื่มด่ำไปกับเสียงดนตรีอย่างแท้จริง 

เจ๋งขนาดนี้ EQ ก็ไม่รอช้าที่จะพาทุกคนไปทำความรู้จัก Livehouse น้องใหม่แห่งนี้

พื้นที่ของศิลปิน และคนฟังเพลงโดยเฉพาะ

นิว: Blueprint Livehouse คืออะไร ถ้าจะให้คำจำกัดความแบบง่ายๆ เลยก็คือ เราเป็น Live music venue (สถานที่จัดแสดงดนตรีสด) ที่ทำพื้นที่ตรงนี้ให้ศิลปิน โดยเฉพาะศิลปินที่มีเพลงของตัวเอง ซึ่งมันอาจจะไม่เหมือนกับสถานที่ที่ปกติทุกวันนี้ศิลปินจะไปเล่นกัน อย่างถ้าเป็นฮอลล์คอนเสิร์ต เขาก็ต้องไปเช่าฮอลล์เปล่า ลงเครื่องเสียง ลงไฟ ลงเวที เพื่อให้มันกลายเป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการเล่นดนตรี แต่ของเราจะแตกต่างกันตรงที่เราเป็นที่แสดงดนตรีเลย เรามีเครื่องเสียง เวที ไฟ และระบบทุกอย่าง เพื่อให้พร้อมสำหรับศิลปินได้มาแสดงได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องอื่น และการเป็นสถานที่จัดแสดงดนตรีสดเพื่อศิลปินโดยเฉพาะ ก็จะแตกต่างจากร้านเหล้า ซึ่งคนที่มาอาจจะมาเพื่อดื่มสังสรรค์ แล้วดนตรีเป็นเรื่องรอง คนที่ไปผับบาร์อาจจะอยากฟังเพลงที่เขาเคยได้ยิน หรือรู้จักอยู่แล้ว แต่สถานที่ของเราไม่ได้เน้นเรื่องการขายเครื่องดื่ม แต่เน้นที่ตัวศิลปินเอง เพื่อให้คนมาเสพตัวตนของศิลปิน มาดูดนตรี มาดูศิลปินเล่นเพลงของเขาจริงๆ ดังนั้น คนที่จะมาที่นี่ก็คือ คนที่ตั้งใจจะซื้อบัตร เพื่อมาดูศิลปินที่เขาอยากเห็น ตามไลน์อัพที่เราประกาศไป

โอกาสของศิลปินหน้าใหม่ในสังคมไทย

เต๊ะ: สำหรับวงดนตรีใหม่ๆ การหาพื้นที่เล่นมันยากสำหรับพวกเขา สังคมก็เป็นส่วนหนึ่ง เพราะการเป็นวงใหม่ก็ทำให้อะไรมันยากขึ้น การจะได้ไปเล่นคอนเสิร์ต หรือได้เล่นในสถานที่ดีๆ มันก็ต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูง ซึ่งจะให้พวกเขาจะควักเองก็ลำบาก ดังนั้น Blueprint Livehouse จึงเป็นสถานที่ในไซส์กลางๆ ที่ให้วงดนตรีหน้าใหม่ หรือวงอินดี้ทั่วไป สามารถเข้ามาเล่นได้ คือเราพยายามทำให้พื้นที่ของเรา เป็นพื้นที่ที่ศิลปินได้มาปล่อยของจริงๆ โดยที่ทุกคนมีโอกาสเท่ากันหมด

ความสุขของการทำ Livehouse

นิต: พอบอกว่าทำ Livehouse บางคนยังเข้าใจว่าเป็นร้านเหล้า แล้วด้วยความที่สิ่งเหล่านี้ยังมีน้อย คนก็อาจจะยังไม่รู้ว่า เราคืออะไรกันแน่ แล้วพื้นที่การโปรโมตก็น้อย มันเลยกลายเป็นว่า ณ จุดที่เราตั้งต้นไว้แต่แรก ว่าเราน่าจะได้แบบนี้ มาถึงวันนี้สิ่งที่ได้กลับมาคือ เราแค่พออยู่ได้ ซึ่งไม่ใช่ว่ารอด คือถ้าเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ วันหนึ่งเราก็จะอยู่ไม่ได้เหมือนกัน แต่สิ่งที่เรารู้สึกดีหลายอย่างคือ พอมีวงมาเล่น บางวงที่เราเห็นว่าเขาไม่มีสถานที่เล่น นักดนตรีบางคนอยากไปเล่น แต่ไม่มีคนจ้าง พอเราได้คุยกับเขา เขาก็มีความสุข บางคนถึงขั้นที่ว่า ไม่ต้องได้เงินก็ได้ แต่เขาแค่อยากมีพื้นที่ได้ปล่อยของ ได้เล่นเพลงของตัวเอง ด้วยอาชีพนักดนตรีทำเพลงเองในไทย พอเพลงยังไม่ถึงจุดที่ค่ายใหญ่สนใจ งานจ้างก็น้อย เขาก็ต้องดำรงชีพด้วยการไปเล่นตามร้านเหล้า ซึ่งการเล่นตามสถานที่เหล่านั้น เขาก็อาจจะไม่ได้เล่นผลงานของตัวเอง บางคนมีเพลงของตัวเองเยอะมาก แต่ไม่มีที่ให้เผยแพร่ได้ พอเราเห็นว่าเขาได้มาเล่นในที่ของเรา ได้ปล่อยของ ได้โชว์ของที่เขาทำขึ้น อย่างน้อยเราก็รู้สึกว่า ถึงตัวเงินเราจะยังไม่ได้ แต่มันก็มีความสุขที่ได้ทำ

แรงซัพพอร์ตจากภาครัฐ

นิว: ในฐานะ Livehouse เราอยากได้การซัพพอร์ตจากภาครัฐอยู่แล้ว แต่ถ้าพูดเรื่องความคาดหวัง เราคาดหวังไม่ได้เลยว่าเขาจะเหลียวแลธุรกิจเล็กๆ แบบนี้ เขาอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า สิ่งนี้มันคืออะไร เราทำไปเพื่ออะไร แต่ที่เราทำ เพราะเราอยากสร้างพื้นที่นี้ให้กับการแสดงดนตรี และศิลปินโดยเฉพาะ เป็นพื้นที่ให้กับศิลปินหน้าใหม่ที่อยู่ในเมืองไทย เช่นเดียวกับเป็นพื้นที่ให้กับศิลปินต่างชาติที่อยากมาทัวร์ประเทศไทย โดยที่เขาไม่ต้องไปผ่านโปรโมเตอร์ หรือให้คนอื่นมาจัดงานให้ เขาสามารถติดต่อเราได้โดยตรง บอกว่า อยากลงเล่น ถ้าเขารับโมเดลของเราได้ ก็มีพื้นที่ให้เขาได้มีโอกาสเล่นดนตรีในประเทศไทย อยากให้ Livehouse ของเราเป็นประตูหน้าต่างให้กับศิลปินต่างประเทศได้เข้ามารู้จักกับซีนดนตรีในไทย

แม็คคี: เราว่าส่วนหนึ่งเพราะรัฐไม่มีวิสัยทัศน์ด้วย เหมือนเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรกัน ไม่มีกำหนดเป้าหมาย แล้วอุตสาหกรรมดนตรีในอีก 5-10 ปี จะเกิดอะไรขึ้น เราจะไปอยู่จุดไหนในตลาดโลก มันเลยกลายเป็นว่า คนพวกนี้ก็ใช้งบประมาณไปกับอะไรก็ไม่รู้ ที่ไม่ได้เข้าถึงคนจริงๆ เราทำ Livehouse เราทำธุรกิจ เราก็ไม่หวังจะได้เงินจากภาครัฐด้วยซ้ำ แต่รัฐควรจะอำนวยความสะดวกให้ศิลปิน หรือคนในวงการดนตรีทำมาหากินได้สะดวกขึ้นจากการแก้กฎหมายบางตัว หรือสร้างพื้นที่สาธารณะเพิ่มให้ศิลปินในประเทศทุกคนสามารถใช้ได้ โดยเฉพาะตามหัวเมืองต่างจังหวัด ตั้งแต่ความจุหลักร้อยถึงหลักพัน และร่วมมือกับภาคเอกชนสร้างฮอลล์หลักหมื่นคน เพื่อสร้างการท่องเที่ยวเชิงดนตรี พาศิลปินต่างชาติเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจด้วย

น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า

นิว: ปัญหาหลักของศิลปินทั้งหน้าใหม่ หรือหน้าเก่าคือ เรื่องค่าจ้าง เวลาไปเล่นตามงานที่จัด มักจะมีปัญหาเรื่องไม่มีค่าจ้าง หรืออาจจะเป็นการชวนมาเล่น มาจัดปาร์ตี้ มาแสดงดนตรีกันเองที่ร้าน แล้วค่าบัตรก็แบ่งเปอร์เซ็นต์กัน ซึ่งมันอาจจะทำให้ศิลปินได้เงินไม่มากเท่าไร แต่ Blueprint Livehouse พยายามทำโมเดลที่สามารถทำให้ศิลปินอยู่ได้ โดยวัดจากยอดบัตรที่ขายได้ในวันนั้นๆ ยิ่งขายได้มาก ศิลปินก็จะได้ส่วนแบ่งค่าตัวเยอะขึ้นตามเปอร์เซ็นต์ที่ตกลงไว้ คือค่าตัวศิลปินก็เป็นปัญหาหนึ่ง ซึ่งเราพยายามแก้ไขตรงนี้กันอยู่ ณ ตอนนี้โมเดลเราอาจจะยังไม่ได้ดีที่สุดตามที่คาดหวัง แต่เราก็พยายามช่วยทำให้มันมีพื้นที่มากขึ้น ในการที่เขาจะมีโอกาสได้มีเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพของการเป็นศิลปิน ดังนั้น เรื่องรายได้ของศิลปิน และรายได้ของ Livehouse ก็เป็นความท้าทายหนึ่ง เพราะเราเองก็มีต้นทุน มีค่าเช่า ค่าไฟ และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เราลงทุนไป ในขณะเดียวกัน ศิลปินก็มีต้นทุนของเขาเหมือนกัน นั่นคือต้นทุนในการซ้อมดนตรี ทำเพลง ต้นทุนค่าครองชีพ ซึ่งความท้าทายอย่างหนึ่งคือ การบาลานซ์ทั้งสองฝั่ง Livehouse กับศิลปินต้องอยู่รอดได้ร่วมกัน อันนี้เป็นสิ่งที่เราตั้งเป้ากันไว้ เพราะถ้า Livehouse รอด แต่ศิลปินไม่รอด เราก็ไม่มีใครมาเล่นในที่ของเรา ก็ไม่มีคนมาดูอยู่ดี แต่ถ้า Livehouse อยู่รอดไม่ได้ ศิลปินก็จะมีพื้นที่เล่นน้อยลง 

ซีนดนตรีที่ยังไม่เปิดกว้าง

นิต: ผมฟังเพลงไทยมานานหลายปี ตั้งแต่สมัยเด็ก มันจะมีวงดนตรีใต้ดิน ที่เขาทำเพลงด้วยตัวเอง แต่เขาไม่สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ ดนตรีในไทยถูกกำหนดด้วยค่ายใหญ่ ด้วยนายทุนแค่ไม่กี่คนในประเทศ ทำให้ความหลากหลาย หรือทางเลือกในการเสพผลงานมีน้อยลง แล้วมันก็ทำให้พื้นที่ที่คนเหล่านี้จะถูกมองเห็นน้อยลงไปด้วย พอซีนดนตรีในไทยไม่แข็งแรง มันก็กลายเป็นว่า บางแนวเพลง ศิลปินต่างชาติบางคน ที่อาจจะมีคนอยากดู หรืออยากให้เขามาเล่นที่ไทย เขามาไม่ได้ เพราะแนวเพลงแบบนี้ไม่ค่อยมีคนฟังในไทย มันทำให้หลายคนไม่มีโอกาสดูวงดนตรีดีๆ หรือเพลงดีๆ ในประเทศ บางครั้งกลายเป็นว่าวงดนตรีดีๆ หลายวงที่เราอยากดู เขากลายเป็นตำนานที่เราไม่สามารถเสพได้ในขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่ หรือบางวงในไทย ตอนที่เขาทำเพลง ไม่มีใครรู้จัก แต่ผ่านไปสิบปีที่เพลงเขากลับมาดัง กลับเป็นวันที่เขาเลิกเล่นดนตรีไปแล้ว เพราะเขารู้สึกว่ามันไม่สามารถเลี้ยงชีพเขาได้ 

แม็คคี: เรารู้สึกว่าตลาดเพลงไทยค่อนข้างแคบ เพราะมันถูกสื่อ ถูกนายทุน ทำให้เป็นแบบนี้ คือเขากำหนดแนวดนตรีในประเทศนี้ให้เล็กมาก ให้มันแคบมาก แต่มันยังมีดนตรีอีกหลายแบบที่น่าสนใจ มีศิลปินอีกมากมายที่เขาก็มีวิธีการทำเพลงของเขา แต่ความเป็น Gatekeeper ของสื่อยุคนี้ ทำให้เพลงพวกนี้ไม่ถูกเอามานำเสนอในสื่อหลัก เราเข้าใจว่าสื่อก็มีอิทธิพลในการชี้นำคนฟัง แต่เราอยากให้สื่อในประเทศนี้มันหลากหลายมากกว่านี้ 

เรือบิน: ผมไม่ค่อยอยากให้มีคนพูดประมาณว่า ‘ฟังเพลงไรเนี่ย ไม่เห็นจะรู้เรื่องเลย’ อยากให้ลองเปิดใจฟังก่อน ชอบไม่ชอบค่อยว่ากันอีกที เพราะคนเรามันชอบอะไรไม่เหมือนกันอยู่แล้ว

การช่วยเหลือกันของคนในแวดวงดนตรี

แดเนียล: อยากเห็นระบบการแลกเปลี่ยนวงดนตรีอินดี้ ที่ไม่ใช่แค่วงแมสอย่างเดียว คือมันต้องมีบทสนทนาที่เกิดขึ้นอีกเยอะ ซึ่งเราเริ่มเห็นมันบ้างแล้ว แต่อยากเห็นอะไรที่ใหญ่กว่านี้อีกเยอะมาก เหมือนกับว่าเราไม่ต้องรอเป็นปีๆ ที่เราจะได้ดูการแสดงของวงดนตรีที่เราชื่นชอบ แล้ววงดนตรีไทยก็สามารถไปเล่นเมืองนอกได้ โดยไม่ต้องคิดว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ ต้องมีระบบที่พร้อม แล้วก็ไม่เข้าเนื้อตัวเองมาก 

นิว: ผมอยากเห็นวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยน ที่ไม่ใช่แค่ระหว่างคนดูกับศิลปิน แต่กับศิลปินกันเองด้วย บ้านเรามีศิลปินเยอะมาก ทำเพลงออกมาแต่ละปีก็เยอะมาก การแลกเปลี่ยนระหว่างศิลปิน ในการทำงาน ทำเพลง หรือทำโชว์ร่วมกัน จะทำให้เกิดความเป็นกลุ่มก้อน แล้วมันก็จะแข็งแรงขึ้น เราอยากให้ศิลปินสามารถข้ามสายมาเจอกันได้ คือมองเพื่อนศิลปินในฐานะที่เป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์เพลงเหมือนกัน เป็นเพื่อนร่วมอาชีพที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ไม่มองว่ามันคือการแข่งขัน และพอทุกคนรู้ว่าเราไม่ได้แข่งขันกัน แต่อยู่ร่วมกันเพื่อสร้างชุมชนคนดนตรีให้แข็งแรงยิ่งขึ้น เราก็จะมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น ไม่ว่ากับรัฐ นายทุน หรือระบบต่างๆ ที่เราอยากให้เกิดการแก้ไข

สร้างวัฒนธรรมการดูดนตรีให้เกิดขึ้น

เรือบิน: ก่อนผมจะเข้ามาอยู่ในซีนดนตรี ผมก็เป็นคนที่ชอบฟังเพลง ชอบไปดูคอนเสิร์ตตามงานนู้นงานนี้ เวลาไปในบางที่ มันก็แอบไปยากนิดหนึ่ง แถมไม่ค่อยมีพื้นที่สำหรับการเล่นดนตรีจริงๆ มากเท่าที่ควร ดังนั้น ผมอยากให้การเดินทางไปดูศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบ หรืออยากลองฟังวงใหม่ๆ ก็สามารถทำได้ง่ายขึ้น รถสาธารณะไปได้สะดวก แล้วก็เป็นสถานที่สำหรับการเล่นดนตรีโดยเฉพาะ 

เต๊ะ: วัฒนธรรม Livehouse แบบญี่ปุ่นคือสิ