เทศกาลหนังเมืองคานส์เริ่มขึ้นแล้วในปีนี้ พร้อมกับข่าวมากมาย ทั้งชุดของฟ่านปิงปิง และการกลับมาหลังจากหายไปเพราะข่าวการหลบเลี่ยงภาษีในประเทศจีน หนังใหม่ของ จอห์นนี่ เด็ปป์ และการได้รับการยืนปรบมือนานถึง 7 นาที แต่ในขณะเดียวกันประเด็นเรื่อง แอมเบอร์ เฮิร์ด ก็ยังถูกพูดถึงอยู่ หรือแม้แต่การประท้วงทั้งเรื่องของยูเครน สหภาพแรงงานในฝรั่งเศสที่กำลังประท้วงเรื่องบำนาญ หรือแม้แต่กลุ่มผู้สนับสนุนแอมเบอร์ เฮิร์ด ที่มาประท้วงการปรากฏตัวของจอห์นนี่ เด็ปป์
กลับกลายเป็นว่าพรมแดงนี้ แสดงให้เห็นทั้งความหรูหราของเสื้อผ้าเครื่องประดับที่เหล่าดาราสวมใส่ ซึ่งเหล่าสปอนเซอร์ทั้งหลายก็ส่งคนมาเดินพรมแดงเพื่อขายของได้ นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงหนังอาร์ตระดับโลกมากมายที่เดินอยู่บนพรมแดงเดียวกันกับหนังฮอลลีวู้ด หรือแม้กระทั่งการกลายเป็นเวทีแห่งการเรียกร้องทางการเมืองในประเด็นต่างๆ ตั้งแต่ #MeToo มาจนถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน
Photo Credit: Thairath / The Guardian
พรมแดงแห่งความหลากหลายของหนัง
ในแง่ความหลากหลายของหนัง จะเห็นได้ว่า คานส์โอบรับหนังสายประกวดหลากหลายระดับ ทั้งหนังอาร์ตที่ใครบอกว่าสุดจะอินดี้อย่าง ‘ลุงบุญมี ระลึกชาติ’ ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ก็เคยได้รับรางวัลใหญ่สุด ‘Palme d’Or’ หรือ ‘สุดเสน่หา’ ก็เคยได้รับรางวัล ‘Un Certain Regard’ หนังที่ไม่ใช่หนังฟอร์มยักษ์แต่ไปได้ดีในสายประกวดมักจะใช้เวทีเทศกาลหนังเมืองคานส์เป็นแพลตฟอร์มในการขยายฐานคนดูให้กว้างขึ้น อย่าง ‘Parasite’ ของ ‘บองจุนโฮ’ ก็ได้รับรางวัล Palme d’Or จากเวทีคานส์ ก่อนจะตามไล่เก็บรางวัลเกือบทุกเวทีไปจนถึงรางวัลออสการ์
ในขณะเดียวกันคานส์ก็ต้อนรับหนังฮอลลีวู้ดระดับบล็อกบัสเตอร์ แม้ว่าอาจจะไม่ได้เข้ามาอยู่ในสายประกวดทั้งหมดก็ตาม หนังทำเงินอย่าง ‘Da Vinci Code’ ในปี 2006 ก็เปิดตัวที่คานส์ ‘Star Wars: Episode III : Revenge Of The Sith’ ‘E.T. the Extra-Terrestrial’ ‘Indiana Jones and the Kingdom of the Crystal Skull’ และ ‘X-Men: The Last Stand’ หนังที่ดูห่างไกลความเป็นหนังสายกระกวดเหล่านี้ก็เปิดตัวที่เทศกาลหนังเมืองคานส์เช่นเดียวกัน หรือปีที่ผ่านมาก็มี ‘Top Gun: Maverick’ ที่ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี คานส์จึงกลายเป็นเหมือนทั้งโอกาสให้กับหนังเล็กๆ และในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ยี้หนังฟอร์มยักษ์ ทุกคนล้วนเดินพรมแดง พรมน้ำเงินของเทศกาลนี้ได้เหมือนๆ กัน
Photo Credit: Harper's Bazaar / Fashionista
พรมแดงแห่งความหรูหราทั้ง ดารา และสปอนเซอร์
อีกหนึ่งสีสันที่กลายเป็นข่าวรายงานประจำวันของเทศกาลหนังเมืองคานส์ก็คือ ชุดสวยหรูของดาราที่แต่งมาเดินพรมแดง ซึ่งหลายครั้งก็กลายเป็นการแจ้งเกิดทั้งตัวดารา และแบรนด์แฟชั่น ถ้าใครยังจำกันได้กับชุด ‘Schiaparelli’ ของ Bella Hadid ที่ท่อนบนมีเพียงสร้อยคอรูปปอดขนาดใหญ่ ที่ทำให้ชื่อของแบรนด์เก่าแก่แบรนด์นี้กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง หรือจะเป็นเดรสสีแดงที่แหวกสูงของ ‘Alexandre Vauthier’
Photo Credit: CNN Style
ไม่เพียงแค่ดาราระดับแม่เหล็กเท่านั้นที่กลายเป็นที่จดจำด้วยความสวยหรูบนพรมแดงเทศกาลหนังเมืองคานส์ แต่พรมแดงเมืองคานส์ก็ไม่ได้จำกัดแค่ดาราฮอลลีวูดเท่านั้น แต่ยังเปิดให้สปอนเซอร์ทั้งหลายเรียกความนิยม และการถูกพูดถึงในสื่อได้ผ่านตัวแทนของแบรนด์ต่างๆ ที่สามารถเข้ามาร่วมเดินพรมแดงได้เช่นเดียวกัน ประเทศไทยเองก็มี ชมพู่ อารยา ที่ได้รับฉายาเจ้าแม่เมืองคานส์ไปแล้ว กับการปรากฏตัวบนพรมแดงในฐานะตัวแทนจากสปอนเซอร์แบรนด์ ‘ลอรีอัล’ พร้อมชุดสุดหรูหราฟู่ฟ่าในเกือบทุกปี
Photo Credit: The Mary Sue / USA Today
พรมแดงแห่งการส่งเมสเสจทางการเมือง และสังคม
อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบนพรมแดงเทศกาลหนังเมืองคานส์ที่ไม่ได้มีเฉพาะการใส่เสื้อผ้าสวยหรูไปอวดโฉมให้ช่างภาพถ่ายรูปเพียงเท่านั้น ก็คือ การใช้พรมแดงแห่งนี้เป็นแพลตฟอร์มในการสื่อสารประเด็นทางการเมือง และสังคม อย่างในปี 2018 เคท แบลนเชตต์, คริสเตน สจวต และเจน ฟอนดา รวมถึงผู้หญิงในวงการภาพยนตร์อีกกว่า 82 คน ก็ร่วมเดินควงแขนไปตามพรมแดง พร้อมอ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืนร่วมในการต่อต้านความไม่เท่าเทียมกันทางเพศในวงการภาพยนตร์
ขณะที่ในปีนี้ มีการวางระบบรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เนื่องด้วยสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศฝรั่งเศสที่มีการประท้วงรัฐบาลเรื่องเงินบำนาญ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีข่าวว่า สหภาพพลังงานประกาศจะมาประท้วงที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ ในขณะที่ก็มีข่าวว่า จะมีกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านความรุนแรงในครอบครัวมารวมตัวกันเพื่อประท้วงจอห์นนี่ เด็ปป์ เช่นเดียวกัน แตก็ยังไม่เห็นมีเหตุการณ์ใหญ่โตอะไร คงจะต้องรอดูกันไปจนกว่าจะจบเทศกาลว่า จะมีชุดบนพรมแดงชุดไหนกลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ ใครจะได้แจ้งเกิดบนพรมแดง หรือจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบนพรมแดงเทศกาลหนงเมืองคานส์อีกบ้าง