Daily Pickup

ตั้งคำถามและเกลาสมองกับ 5 หนังแนว Cerebral ที่ชวนให้ย้อนกลับไปคิด

ตอนที่ได้อ่านชื่อหัวข้อของบทความนี้ครั้งแรก หลายๆ คนอาจจะสงสัยว่า มันคือหนังแนวอะไรกันแน่? ‘Cerebral’ หมายถึงส่วนหนึ่งของสมอง (เซรีบรัม) ซึ่งเป็นส่วนที่ใหญ่ที่สุดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และยังเป็นศูนย์กลางที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการจำ การคิด ตรรกะ และสติปัญญา เพราะฉะนั้น เมื่อคำนี้ถูกนำมาใช้กับหนัง มันจึงหมายถึงหนังที่ต้องใช้สมองอย่างหนักในการทำความเข้าใจ และกระตุ้นให้เราได้ใช้ความคิดอย่างเต็มที่ ถ้าใครสนใจอยากจะระเบิดสมองไปด้วยกัน เลื่อนลงไปเลือกภาพยนตร์ที่น่าสนใจด้านล่างนี้ได้เลย

The Lobster (2015)

Photo credit: Rotten Tomatoes / Atlas of Places / Looper

TW: เลือด / เซ็กซ์ / การฆาตกรรม / การลดทอนความเป็นมนุษย์

แม้ว่าในโลกแห่งความเป็นจริงจะมีผู้คนที่โอบกอดความโสดเอาไว้มากมาย แต่ไม่ใช่สำหรับโลกดิสโทเปียของภาพยนตร์เรื่อง ‘The Lobster’ ฝีมือผู้กำกับ ‘ยอร์กอส ลานธิมอส’ (Yorgos Lantimos) ที่ทุกคนจำเป็นต้องมีคู่รักเพื่อความอยู่รอด ไม่อย่างนั้นจะต้องกลายเป็นสัตว์ที่ตนได้เลือกเอาไว้ หากไม่สามารถหาคู่ได้ภายใน 45 วัน เรื่องราวทั้งหมดถูกถ่ายทอดผ่านตัวละครหลัก ‘เดวิด’ (รับบทโดย ‘คอลิน ฟาร์เรล’ (Colin Farrell)) ผู้เลือกว่าจะกลายเป็นกุ้งล็อบสเตอร์หากหมดเวลาลง เขาพยายามทุกทางเพื่อที่จะคงไว้ซึ่งกายเนื้อของมนุษย์ ไม่ว่าจะล่าคนโสดมาเป็นแต้มต่อจำนวนวัน ออกเดตกับสาวๆ หรือกระทั่งฝืนใจจับคู่กับผู้หญิงคนหนึ่ง จนโชคชะตาพลิกผันให้เขาต้องไปรวมกลุ่มกับเหล่าคนโสดที่หลบหนีอยู่ในป่า แต่ตลกร้ายที่ดันไปพบเนื้อคู่ในกลุ่มที่ตั้งกฎเอาไว้อย่างเข้มงวดว่า “ห้ามตกหลุมรัก” หนังเรื่องนี้จะทำให้ทุกคนที่ดูได้นึกย้อนกลับมามองว่า หลายๆ ครั้ง สังคมในโลกปัจจุบันเองก็มีความสุดโต่งไม่แพ้กัน คนโสดบางส่วนพยายามทำทุกทางเพื่อให้ตนได้มีคู่ คนมีคู่เองก็ดูแคลนความโสด ในขณะที่คนโสดอีกฝั่งหนึ่งมองว่าความรักเป็นสิ่งจอมปลอม ทั้งที่ความจริงแล้ว การจะครองโสดหรือครองคู่ก็ไม่ใช่ธุระกงการของใครเลย

Die Tomorrow (2017)

Photo credit: Netflix / IMDb / beartai

TW: ความตาย / โรคร้ายที่ยากจะรักษาให้หายได้

‘Die Tomorrow’ ถือว่าเป็น “หนังเต๋อ” เรื่องหนึ่งที่คอภาพยนตร์อินดี้ไม่ควรพลาดทุกประการ ด้วยฝีมือกำกับของ ‘เต๋อ – นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์’ ที่จะบีบคั้นอารมณ์อันไม่สามารถบรรยายได้ และชวนให้คิดว่า “ชีวิตมันก็แค่นี้” ตลอดระยะเวลาราวหนึ่งชั่วโมงครึ่ง เราจะได้เห็นเรื่องสั้นของแต่ละตัวละคร รวมถึงบทสัมภาษณ์ที่ถามผู้คนแต่ละช่วงวัยถึงความตายในมุมมองของพวกเขา ในขณะเดียวกันก็จะมีการบอกระยะเวลาเดินเรื่อง และจำนวนของผู้คนที่ได้จากโลกนี้ไปขณะที่หนังกำลังฉาย โดยอิงจากสถิติว่า บนโลกนี้มีคนตายอย่างน้อย 2 คนในทุกๆ 1 วินาที กว่าหนังจะจบก็มีคนตายไปมากกว่า 8,000 คนแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจไม่ได้ให้ข้อคิดอะไรเป็นพิเศษ แต่หนึ่งสิ่งที่เชื่อว่าคนดูจะสัมผัสถึงมันได้ ก็คือการปลงตกต่อความไม่เที่ยง เพราะเราทุกคนต่างรู้ว่าสักวันใดวันหนึ่งก็ต้องตาย อย่างที่ตัวละครหนึ่งได้กล่าวเอาไว้ตั้งแต่ต้นเรื่อง เพียงแต่จะมองข้ามมันไปและนึกถึงวันข้างหน้าเพื่อใช้ชีวิตอย่างปกติสุขเท่านั้นเอง

Mother (2020)

Photo credit: IMDb / Asian Movie Pulse / Movielosophy

TW: เซ็กซ์ / การปล่อยปะละเลยและความรุนแรงในครอบครัว / การฆาตกรรม

เรียกได้ว่าบิดเบี้ยว แต่ก็แสดงด้านที่เปราะบางและมิติอันซับซ้อนของจิตใจมนุษย์ได้เป็นอย่างดี สำหรับภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่อง ‘Mother’ โดย ‘โอโมริ ทัตสึชิ’ (大森立嗣) ที่มีนักแสดงชื่อดังอย่าง ‘นากาซาวะ มาซามิ’ (長澤まさみ) รับบทเป็นตัวละครหลัก ‘อากิโกะ’ แม่ของ ‘ชูเฮ’ (รับบทโดย ‘โอคุไดระ ไดเคน’ (奥平大兼)) ถึงแม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นแม่ อากิโกะกลับไม่มีคุณสมบัตินั้นเลยสักนิด เธอไม่อนุญาตให้ชูเฮไปโรงเรียน ไม่ยอมทำงาน แถมยังใช้ชีวิตอยู่ด้วยเงินสวัสดิการและขอยืมมันจากคนรู้จักไปวันๆ จนมาถึงจุดแตกหักที่ครอบครัวตัดหางปล่อยวัด และตัวเธอเองก็ตั้งท้องกับผู้ชายที่ใช้ชีวิตไม่ต่างกัน ตลอดการดำเนินเรื่อง เราจะเห็นได้ถึงการเติบโตและห้วงอารมณ์ของชูเฮที่ถูกแม่ของเขา ‘บีบ’ เอาไว้ หล่อหลอมให้เด็กคนหนึ่งกลายเป็นผู้ร้ายที่ไร้เดียงสา นอกจากนี้ ภาพยนตร์ยังสะท้อนให้เห็นถึงความหละหลวมของการคุ้มครองเยาวชนในประเทศญี่ปุ่น คำนิยามของ ‘ความพร้อม’ ที่ผู้ปกครองควรมีสำหรับการเลี้ยงดูบุตร ที่สำคัญคือ Mother ยังทำให้ฉุกคิดถึงสายสัมพันธ์และความรักไร้เงื่อนไขระหว่างแม่ลูกว่ามีอยู่จริง หรือเป็นเพียงมายาคติที่สังคมกล่อมให้เราเชื่อ

After Yang (2021)

Photo credit: IMDb

TW: ความตาย

พักจากเนื้อหาเข้มข้นชวนอึดอัดมาดูอะไรที่เบาบางลงบ้าง กับ ‘After Yang’ ภาพยนตร์แนวไซไฟ-ดราม่า กำกับโดย ‘โคโกนาดะ’ (Kogonada) และดัดแปลงมาจากเรื่องสั้นของ ‘อเล็กซานเดอร์ ไวน์สตีน’ (Alexander WeinStein) – ‘Saying Goodbye to Yang’ ตั้งแต่จุดเริ่มต้น เราจะเห็นครอบครัวหนึ่งในโลกอนาคตที่ประกอบไปด้วย พ่อ ‘เจค’ (รับบทโดย ‘คอลิน ฟาร์เรล’ (Colin Farrell)) ที่เป็นคนขาว แม่ ‘ไคร่า’ (รับบทโดย ‘โจดี้ เทอร์เนอร์-สมิธ’ (Jodie Turner-Smith)) ที่เป็นคนดำ ลูกสาวคนเล็ก ‘มิก้า’ (รับบทโดย ‘เจิง จิงหยิง’ (曾晶莹)) ที่เป็นชาวเอเชียน และลูกชายคนโต ‘หยาง’ (รับบทโดย ‘จัสติน เอช มิน’ (Justin H. Min)) แอนดรอยด์ปัญญาประดิษฐ์ที่ถูกซื้อมาเพื่อดูแลมิก้าให้ยังคงรำลึกถึงถิ่นกำเนิด จนวันหนึ่งที่หยางชัตดาวน์ เจคที่วิ่งวุ่นทำทุกทางให้หยางฟื้นคืนมาก็ได้ก้าวเข้าไปใน ‘ความทรงจำ’ ของลูกชายนอกสายเลือดคนนี้ นอกจากแอนดรอยด์แล้ว เราจะได้เห็นมนุษย์ที่เกิดขึ้นจากการโคลนนิ่งภายในเรื่องอีกด้วย After Yang จึงแฝงไปด้วยปรัชญาเกี่ยวกับสรรพสิ่ง ทั้งที่มีและไม่มีชีวิต ทั้งหมดนี้จะทำให้เราหวนกลับมานึกถึงนิยามอันแท้จริงของคำว่า ‘มนุษย์’ และเส้นกั้นบางๆ ที่มีชื่อเรียกว่า ‘ชาติพันธุ์’ ซึ่งถูกทำให้เจือจางลงอย่างเป็นธรรมชาติ ผ่านเลนส์ของโคโกนาดะ

The Wonder (2022)

Photo credit: IMDb / FilmAffinity

TW: การอดอาหารขั้นรุนแรง / เซ็กซ์ / การร่วมประเวณีระหว่างสายเลือดเดียวกัน / ความเชื่ออย่างสุดโต่งทางศาสนา

‘The Wonder’ ภาพยนตร์อีกเรื่องที่ตั้งใจเล่นกับ ‘ความเชื่อ’ อันสุดโต่งของมนุษย์ โดยนำเสนอผ่านมุมมองที่น่าสนใจ ตั้งแต่เริ่มแรกที่เปิดมาด้วยการ break the fourth wall ฉายให้เห็นรอบๆ สตูดิโอที่ถ่ายทำ และเกริ่นว่า “ตัวละครทั้งหลายเชื่อในเรื่องราวของตัวเอง เราจึงอยากชวนคุณมาเชื่อในเรื่องนี้” ก่อนจะฉายให้เห็นนางพยาบาลสาวชาวอังกฤษ ‘อลิซาเบธ’ (รับบทโดย ‘ฟลอเรนซ์ พิว’ (Florence Pugh)) ผู้ได้ถูกจ้างวานให้เฝ้าดู ‘แอนนา’ (รับบทโดย ‘คีล่า ลอร์ด แคสซิดี้’ (Kíla Lord Cassidy)) เด็กผู้หญิงคนหนึ่งในชนบทของประเทศไอร์แลนด์ที่ ‘อิ่มทิพย์’ ด้วยพระประสงค์ของพระเจ้า ซึ่งในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ความเชื่อทางศาสนายังคงเข้มข้นในกลุ่มคนหมู่มาก แอนนาจึงถูกปฏิบัติราวกับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีผู้คนมากหน้าหลายตามาหาเธอที่บ้านทุกวัน แต่อลิซาเบธกลับไม่เชื่อว่าเด็กคนหนึ่งจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ทานอะไรเลย และแล้ววันหนึ่งก็ได้รู้ความลับของแอนนาเข้าให้ ตรงตามที่ได้บอกเอาไว้ในคราวแรกว่าทุกตัวละครต่างมีความเชื่อเป็นของตัวเอง The Wonder ตีแผ่มันออกมาอย่างแยบยล ชวนให้ผู้ชมสงสัยถึงความเชื่อที่บ้างก็บิดเบี้ยว ผิดจริยธรรม แต่ถูกทำให้ดูปกติภายใต้นามของความเชื่อและศรัทธา

ทั้งนี้ นักเขียนขอแนะนำให้ดูและแวะพักไปหากิจกรรมเบาสมองทำด้วย เพราะหากดูทั้งหมดนี้รวดเดียว คุณคงจะต้องใช้ความคิดจนพาลให้จิตใจปั่นป่วน อาจถึงขั้นที่มี Existential Crisis กันเชียวล่ะ ขอให้ดูอย่างเพลิดเพลินและได้ข้อคิดดีๆ กลับไปนะ