Daily Pickup

5 หนังกับซีรีส์เด็กนรกที่ร้ายลึก และเต็มไปด้วยการแก้แค้น

เมื่อพูดถึงหนัง ‘เด็กนรก’ หลายคนอาจจะนึกถึงเรื่อง Orphan หรือ The Omen ที่ระดับความร้ายกาจสูงจนกลายเป็นตำนานและถูกพูดถึงอยู่เรื่อยๆ แต่วันเด็กในปีนี้ EQ ขอเสนอลิสต์หนังและซีรีส์ที่คล้ายกัน ในแบบฉบับแหวกแนวไม่ซ้ำใคร เพราะจะมีเรื่องราวเสียดสีสังคมทั้งในและนอกบ้าน คติสอนใจ กับการเอาคืนที่เจ็บแสบถึงทรวง ควรค่าแก่การเพิ่มไว้ในคิวภาพยนตร์ที่ต้องรับชมให้ได้สักครั้ง

We Need to Talk About Kevin (2011)

Photo credit: IMDb / And So It Begins / First Post

TW: การใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว / เหตุการณ์กราดยิง / การฆาตกรรม

เสียดสีกันตั้งแต่ชื่อเรื่อง กับ ‘We Need to Talk About Kevin’ เพราะกว่าที่จะได้พูดเกี่ยวกับเด็กคนนี้ ทุกอย่างมันก็สายเกินเยียวยาเสียแล้ว เริ่มจาก ‘อีวา’ (Eva – รับบทโดย ‘ทิลดา สวินตัน’ (Tilda Swinton)) นักเขียนและบรรณาธิการที่ชีวิตพลิกผันเพราะตั้งครรภ์กับแฟนหนุ่ม ทั้งที่ไม่อยากมีลูกเลยแม้แต่น้อย มันทำให้เธอกลายเป็นแม่ที่ไม่มีความสุข โดยเฉพาะเมื่อการเลี้ยงลูกชายอย่าง ‘เควิน’ (Kevin – ‘เอซร่า มิลเลอร์’ (Ezra Miller)) แลดูเป็นเรื่องยากเสียเหลือเกิน ทั้งการแสดงท่าทีว่าเกลียดแม่ ไม่ยอมขับถ่ายลงโถ และทำดีแค่กับพ่อเพียงคนเดียว ทุกอย่างย่ำแย่ลงเรื่อยๆ หลังจากที่อีวาทุ่มเควินลงกับพื้นและมีลูกคนที่สองซึ่งได้รับการดูแลเอาใจใส่มากกว่า จิตใจที่บิดเบี้ยวเป็นทุนเดิมของเด็กชายก็ได้กลายเป็นชนวนของเหตุการณ์ฆาตกรรมหมู่ในโรงเรียน รวมถึงอีกมากมายที่ทำให้รู้ซึ้งเลยว่าผู้ป่วยไซโคพาธ (psychopath) จะเป็นอย่างไร หากไม่ได้รับการเลี้ยงดูที่เหมาะสม และจะเป็นอย่างไร หากแม่มีอาการซึมเศร้าหลังคลอดลูกแต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือ ทั้งหมดนี้สะท้อนสังคมที่ขาดความเข้าใจเรื่องโรคทางจิตเวชกับผลสรุปของการท้องไม่พร้อมได้เป็นอย่างดี

Better Watch Out (2016)

Photo credit: IMDB / Bloody Disgusting / azcentral / metacritic

TW: การใช้ความรุนแรงและทรมานทางกาย / การฆาตกรรม

หากใครชื่นชอบภาพยนตร์เรื่อง ‘Home Alone’ แต่อยากได้เวอร์ชั่นที่ดาร์กกว่า เด็กเปรตกว่า ทางเราก็ขอแนะนำ ‘Better Watch Out’ หนังประจำเทศกาลคริสต์มาสสุดพีคที่ไม่มีเสียงหัวเราะจากความสุข มีแต่เสียงหัวเราะแบบปั่นประสาทเท่านั้น เพราะ ‘ลูค’ (Luke – รับบทโดย ‘ลีวาย มิลเลอร์’ (Levi Miller)) ตกหลุมรักพี่เลี้ยงสาว ‘แอชลีย์’ (Ashley – รับบทโดย ‘โอลิเวีย เดอจองจ์’ (Olivia DeJonge)) ที่กำลังจะย้ายไปอยู่เมืองอื่น ลูคจึงชวนเพื่อนอีกคนมาวางแผนเพื่อให้ได้อยู่กับแอชลีย์เพียงสองต่อสองในวันคริสต์มาส แต่แล้วจู่ๆ แฟนเก่าของคุณพี่เลี้ยงก็บุกเข้ามาในบ้านและพยายามทำร้ายทุกคน ที่พีคยิ่งกว่านั้นคือ คนที่ร้ายสุดๆ ไม่ใช่โจร แต่คือลูคเสียเอง ถึงแม้จะอายุแค่ 12 ปีก็วางแผนซ้อนแผนจนหัวปั่นกันให้วุ่น และยังชวนสยองจนต้องบอกเลยว่า “เล่นผิดคนแล้ว” แถมตอนจบยังชวนลุ้นระทึกได้อีก ทำเอาโล่งใจเลยทีเดียวที่นี่เป็นเรื่องแต่ง เชื่อว่าใครๆ ก็หวังว่าเด็กอย่างลูคจะไม่มีอยู่จริง

How To Eliminate My Teacher (2020)

Photo credit: TV Asahi / テレ朝POST / Real Sound Japan

TW: การใช้ความรุนแรงในโรงเรียน / การลวนลามทางเพศ

ความแค้น ความชั่วร้ายที่มาพร้อมกับความกลัว และบทเรียนสอนใจ ถูกอัดเอาไว้ใน ‘How To Eliminate My Teacher’ (先生を消す方程式) ซีรีส์ญี่ปุ่นความยาวจำนวน 8 ตอน เล่าเรื่องราวของ ‘โยชิซาวะ สึเนโอะ’ (義澤経男 – รับบทโดย ‘ทานากะ เคย์’ (田中圭)) ครูคณิตศาสตร์คนใหม่ของโรงเรียนเอกชนเทย์เซ็นที่มีความหลังฝังใจเกี่ยวกับแฟนสาวของเขาที่ถูกนักเรียนผลักตกบันไดจนอยู่ในภาวะเจ้าหญิงนิทรา ถึงแม้ว่าเบื้องหน้าจะยิ้มแย้มสดใสอยู่ตลอดเวลา สึเนโอะก็วางแผนเอาคืนผู้กระทำที่อยู่ในโรงเรียนแห่งนี้ ซึ่งในห้องเรียนของเขาเองก็มีเด็กเจ้าปัญหาอยู่ถึง 4 คนที่ถูกบงการโดยคนร้ายตัวจริง เพื่อเขี่ยสึเนโอะให้หายไปโลกนี้ ในทุกๆ ตอนของซีรีส์จะมีสมการกำจัดครูที่ถูกคิดโดยนักเรียน และสมการชีวิตที่ถูกคิดโดยสึเนโอะ โต้ตอบกันไปมาจนจบเรื่อง ถึงแม้ว่าจะมีการหักมุมที่แหวกพล็อตและทิ้งท้ายแบบค้างคาไปเสียหน่อย แต่สมการต่างๆ ของสึเนโอะจะต้องฝังอยู่ในใจใครหลายๆ คนอย่างแน่นอน โดยเฉพาะ “คนฉลาด (ที่คิดว่าตัวเองฉลาด) x อำนาจ = โง่” และอีกมากมายที่ทำให้ต้องเก็บไปฉุกคิดกันต่ออีกยาว

Juvenile Justice (2022)

Photo credit: Drama Beans

TW: การก่ออาชญากรรมในเด็ก / ความล้มเหลวของระบบยุติธรรม

“เราต้องทำให้เห็นว่ากฎหมายน่ากลัวแค่ไหน ต้องสั่งสอนพวกเขาว่าถ้าทำร้ายคนอื่น ผลที่ตามมาจะเป็นยังไง” คือหนึ่งในบทพูดที่ทำให้ซีรีส์เรื่อง ‘Juvenile Justice’ (소년심판) เป็นกระแสขึ้นมาช่วงหนึ่งบนโลกออนไลน์ มันถ่ายทอดให้เห็นกระบวนการยุติธรรมในศาลเยาวชนผ่านสายตาของผู้พิพากษา ‘ชิมอึนซอก’ (심은석 – รับบทโดย ‘คิมฮเยซู’ (김혜수)) ที่เคยเสียลูกไปเพราะอาชญากรเด็ก เธอจึงเกลียดผู้กระทำผิดที่เป็นเด็กเอามากๆ โดยเฉพาะพวกที่ไม่แสดงออกว่าสำนึก แต่ละตอนจะแสดงให้เห็นถึงคดีต่างๆ ที่ก่อโดยเยาวชน ทั้งในส่วนของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ เพื่อให้ผู้ชมอย่างเราเห็นว่า แม้แต่เด็กอายุไม่กี่ขวบก็สามารถทำเรื่องร้ายแรงถึงขั้นจบชีวิตคนโดยไม่คิดว่าตัวเองผิดได้ และที่สำคัญก็คือ หากทำผิดไปแล้วครั้งหนึ่งก็มีโอกาสสูงมากๆ ที่จะกระทำซ้ำได้ ต่อให้ก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่แล้วก็ตาม นับเป็นอีกซีรีส์แนวกฎหมายที่สะท้อนสังคมได้เป็นอย่างดี

The Glory (2022)

Song Hye-kyo as Moon Dong-eun in a still from “The Glory.”

Photo credit: Kapook / Datebook

TW: การใช้ความรุนแรงในโรงเรียน / การล่วงละเมิดทางเพศ / ความล้มเหลวของระบบยุติธรรม
ถือว่ากำลังมาแรงและได้ขึ้นแท่นซีรีส์ที่มีผู้ชมเยอะเป็นอันดับ 1 บน Netflix ในตอนนี้ สำหรับเรื่อง ‘The Glory’ ที่เหล่าเด็กจอมบุลลี่กำลังจะถูกแก้แค้นอย่างสาสมในวัยผู้ใหญ่ โดยฝีมือของ ‘มุนดงอึน’ (문동은 – รับบทโดย ‘ซงฮเยคโย’ (송혜교)) ผู้เคยถูกกลั่นแกล้งสารพัดวิธี ไม่ว่าจะเป็นการเอาเครื่องม้วนผมกับเตารีดร้อนๆ นาบผิว ลวนลาม ถูกปฏิบัติเหมือนเป็นทาสรับใช้ ฯลฯ แต่ด้วยความที่เพื่อนร่วมรุ่นทั้ง 5 คนที่แกล้งเธอเป็นลูกหลานของผู้มีอิทธิพล พวกเขาจึงไม่ถูกทำโทษอะไร หนำซ้ำดงอึนยังถูกครูประจำชั้นตบเพราะใส่ชื่อ 5 นั้นคนในสาเหตุการลาออก และแม่ของเธอก็ถูกติดสินบนไม่ให้ไปแจ้งความ บาดแผลที่ไม่มีวันหายก็ได้กลายเป็นความแค้น ดงอึนวางแผนอย่างแยบยลเป็นเวลา 10 กว่าปีเพื่อให้ได้โต้กลับในวันที่ทุกคนสมบูรณ์พร้อม โดยค่อยๆ ไล่เก็บไปเรื่อยๆ แต่ร้ายกาจและสาแก่ใจคนดู ถึงแม้ว่าจะยังมีพาร์ท 2 ที่รอเฉลยบทสรุปทั้งหมด ก็มั่นใจได้ว่าทุกคนจะต้องชดใช้ให้สิ่งที่ตัวเองเคยก่อเมื่อสมัยเด็ก รับชมกันต่อได้ในเดือนมีนาคม 2023 ที่จะถึงนี้