Culture

นิยามความเป็นชายของจีน – ความงามที่สังคมต้องการ กับแบบที่รัฐบาลอยากให้เป็น

Photo credit: BROWSE CAT

ถ้าพูดถึงสื่อที่มาจากจีน ในช่วงนี้ภาพจำที่เราติดตากันคงจะหนีไม่พ้นลุคของผู้ชายร่างบางๆ หน้าหวานๆ ดูขี้อาย แบบ ‘หวังอี้ป๋อ’ หรือ ’เซียวจ้าน’ แม้แต่ใน Tiktok ก็จะมีลุคแนวสตรีทของหนุ่มๆ ในลักษณะคล้ายกันนี้ให้เห็นอยู่เป็นเนืองๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นค่านิยมความงามในอดีตที่กำลังย้อนกลับมาสู่สังคมอีกครั้ง แม้ว่าจะสร้างความนิยม และ soft power ให้กับวัฒนธรรมจีนเป็นอย่างมาก สิ่งเหล่านี้กลับถูกควบคุมโดยรัฐบาลจีนอย่างเข้มงวด จนเราสงสัยกันว่า เพราะเหตุใด จีนถึงกระตือรือร้นในเรื่องนี้เป็นพิเศษ 

จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง

Photo credit: THE DIACRITIC

คงต้องเกริ่นก่อนว่า ตั้งแต่ก่อนจีนจะเข้าสู่ยุคจักรวรรดิ นิยามความเป็นชายของจีนก็ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ‘เหวิน’ (文) ความสง่างามในแบบของบัณฑิตกับขุนนาง และ ‘อู๋’ (武) ความแข็งแกร่งในแบบของแม่ทัพกับทหาร ที่ผ่านมา เทรนด์ของชายที่ดูอ้อนแอ้นอรชรและมีใบหน้าค่อนไปทางสวย (เหวิน) จะได้รับความนิยมในหมู่ผู้หญิงมากกว่า ในปลายสมัยราชวงศ์ชิง ผู้ชายสามารถแสดงตัวว่าชื่นชอบเพศเดียวกันได้อย่างเปิดเผย ตั้งแต่จักรพรรดิกับขันทีจนถึงเศรษฐีกับบ่าวรับใช้ โดยฝ่ายที่มีอายุน้อยกว่าและมีฐานะทางสังคมต่ำกว่ามักจะคงความงามแบบเหวินไว้

Photo credit: Amazon

แต่จุดผลิกผันของความงามในรูปแบบนี้ต้องมาสะดุดลงเมื่อปลายสมัยราชวงศ์ชิงเป็นช่วงเวลาที่จีนบอบช้ำจากความพ่ายแพ้ในสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 1 (The First Sino-Japanese War) นอกจากความสิ้นหวังแล้ว สิ่งที่พ่วงมาด้วยกลับเป็นความรู้สึกอับอายและถูกหยามเกียรติจากฝั่งศัตรูและอำนาจตะวันตกที่เข้ามา โดยเหตุผลที่จักรวรรดิต่างชาติมองว่าจีนล้าหลังไม่ใช่เพียงเพราะเทคโนโลยีห่างชั้นกันเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของวัฒนธรรมกดขี่ผู้หญิงหลายอย่างและการที่ผู้ชายมีร่างกายผอมเพรียวแบบเหวิน ทั้งหมดนี้ทำให้จีนถึงกับได้ฉายาว่า ‘ชายป่วยแห่งเอเชีย’ (Sick Man of Asia) เลยทีเดียว 

Photo credit: Quora

เมื่อเป็นเช่นนี้ เหล่าเชื้อพระวงศ์และขุนนางจึงมองหาหนทางกอบกู้ศักดิ์ศรีแผ่นดินคืนมา และได้คำตอบคือการผูกความเป็นทหารกับความเป็นชายเข้าไว้ด้วยกัน ผู้ชายแบบ ‘อู๋’ เลยกลับมาเป็นกระแสหลัก เป็นผู้ชายแบบที่รัฐต้องการ การตัดสินใจนี้ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดลัทธิดาร์วินทางสังคม (Social Darwinism) ของฝั่งยุโรป ซึ่งส่งเสริมความเชื่อที่ว่าความอยู่รอดของประเทศชาติขึ้นอยู่กับความเป็นชาย ที่เน้นความแข็งแรงทางกายภาพ การวางตัวในสังคม และการเป็นช้างเท้าหน้าของชายจีน

ปฏิวัติวัฒนธรรม ปฏิวัติความเป็นเกย์

Photo credit: INSIDER

หลังจบราชวงศ์ชิง จีนก็ก้าวสู่ยุคใหม่พร้อมกับระบอบการปกครองใหม่ อำนาจที่เปลี่ยนมือมากว่า 30 ปีตกอยู่ภายใต้การปกครองของ ‘เหมาเจ๋อตง’ (毛泽东) ในปี ค.ศ. 1949 ด้วยหลักการคอมมิวนิสต์ ผู้ชายจึงมักถูกวาดให้มีภาพลักษณ์ของผู้ใช้แรงงานหรือทหารกล้ามโต (ความงามแบบอู๋) ที่เสียสละตนเพื่อประเทศมากกว่าความสำเร็จส่วนตัว และมีความภักดีต่อพรรคของผู้นำ ความรวมเข้ากับลัทธิขงจื๊อที่ว่า “เกิดเป็นผู้ชายต้องเป็นสามีที่ดีของภรรยา พ่อที่ดีของลูก และลูกที่ดีของพ่อแม่” ก็ยังไม่หายไปไหน และถูกทำให้ความเชื่อนี้แข็งแรง มีน้ำหนัก และกลายเป็นรากเหง้าของชาวจีนจนมาถึงทุกวันนี้

Photo credit: SILPA-MAG

แต่หลังจากนโยบายพัฒนาก้าวกระโดดไกล (Great Leap Forward) ที่จบลงด้วยความล้มเหลว เหมาจึงใช้บั้นปลายชีวิตไปกับการปฏิวัติวัฒนธรรม (Great Cultural Revolution: ค.ศ. 1966-1979) เพื่อล้มล้างสิ่งเก่าๆ ที่เขาเชื่อว่าคอยขัดขวางไม่ให้แผ่นดินจีนมีความเท่าเทียมอย่างแท้จริง โดยบงการปลุกระดมใช้นักเรียนนักศึกษาเป็นมือเป็นเท้าในการโจมตีและสังหารคนที่เห็นต่าง หรือขัดแย้งกับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ เมื่อนักศึกษาเหล่านี้หมดประโยชน์แล้ว เหมาก็ปิดท้ายด้วยการประณามและจัมกุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ส่งตัวพวกเขาไป ‘ปรับทัศนคติ’ โดยการใช้แรงงาน แถมยังใช้โอกาสนี้แอบรวบกลุ่มชายรักร่วมเพศที่ไม่ตรงกับกรอบความเป็นชายของพรรคคอมมิวนิสต์ ด้วยข้อหารบกวนความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองไปพร้อมกัน เรียกได้ว่ารวบทุกอย่างที่ไม่ใช่ความเป็นจีนในสายตาเหมาออกไปได้ในคราวเดียว 

วงการบันเทิงจีนสู่ตลาดโลก

Photo credit: creatrip

พอเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 นิยามความงามของผู้ชายก็คล้ายจะย้อนกลับไปปลายสมัยราชวงศ์ชิงอีกครั้ง อุตสาหกรรมไอดอลเกาหลีที่กระจายไปทั่วโลกสร้างกระแสนิยมให้กับ ‘หนุ่มดอกไม้’ (꽃미남) ผู้นุ่มนวลและน่าทะนุถนอมคล้ายผู้หญิง เมื่อฐานแฟนคลับไอดอลเกาหลีและจีนขยายตัวออกไปเรื่อยๆ แม่จีนก็บัญญัติศัพท์เรียกคนดังต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักร้อง นักแสดง หรือนายแบบที่อ่อนวัย หน้าหวาน และเจ้าสำอางว่า ‘เสี่ยวเซียนโร่ว’ (小鲜肉) ซึ่งแปลตรงตัวได้ว่า ‘เนื้อสดชิ้นเล็ก’ เป็นคำเปรียบเปรยราวกับจะติดป้ายบอกว่าคนคนนี้คือหนุ่มน้อยน่าเคี้ยวสำหรับตัวเอง

Photo credit: trueID

ทั้งนี้ การอนุญาตให้ลงทุนสร้างเซเลบริตี้ชายในแบบดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่าความสัมพันธ์รักร่วมเพศจะถูกยอมรับตามไปด้วยในสายตารัฐบาลจีน เพราะถึงแม้ว่า ‘ความเป็นชาย’ แบบเหวินที่ต่างจากเหมาเจ๋อตงจะสามารถขึ้นฉายในสื่อกระแสหลักได้ ซีรีส์และภาพยนตร์ที่นำเสนอเนื้อหาชายรักชาย (และหญิงรักหญิง) ก็ยังถูกแบนอย่างไม่มีข้อยกเว้น จนโปรดิวเซอร์หลายคนต้องปรับสคริปต์ให้อยู่ในขอบเขต ‘มิตรภาพลูกผู้ชาย’ แทน

สู่การเปลี่ยนแปลงหรือย้อนรอยเดิม 

Photo credit: Tibetan Review

ในช่วงปลายปีที่แล้ว รัฐบาลจีนได้ประกาศนโยบายกับระเบียบควบคุมเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่องเสียจนสำนักข่าวหลายแห่งตั้งข้อสังเกตว่า นี่อาจเป็นการปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งที่ 2 ก็เป็นได้ ซึ่งหนึ่งในการควบคุมที่ว่าคือ การแบนสื่อโทรทัศน์ทุกรูปแบบที่ถ่ายทอดชายที่มีลักษณะตุ้งติ้ง (娘炮) หรือ แต่งกายหรือประพฤติตนไม่ตรงตามเพศกำหนด

การออกระเบียบเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่า ‘สีจิ้นผิง’ (习近平) ผู้นำสูงสุดคนปัจจุบันของจีน ต้องการเดินตามรอยเหมาเจ๋อตงด้วยการลบล้างค่านิยมความงาม ที่ได้รับอิทธิพลจากวงการ K-pop และ J-pop และทำให้เยาวชนชายจีนไม่สนใจความเป็นชายในแบบที่พรรคคอมมิวนิสต์คาดหวัง ทั้งยังเป็นแบบอย่างที่นำไปสู่ ‘ความเสื่อมถอยทางศีลธรรม’ บ่งบอกความจริงอีกข้อว่า คนฝั่งอนุรักษ์นิยมอย่างสี มองความรักร่วมเพศ รวมถึงคอมมูนิตี้ LGBTQ+ ว่าเป็นวัฒนธรรมต่างชาติที่จำเป็นต้องกำจัดให้สิ้น

Photo credit: USA Today

แต่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานขนาดไหน ถ้าเราสังเกตดีๆ คอนเซ็ปต์ความงามของเหวินก็ยังถูกนำมาปรับใช้กับสภาพสังคมในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นอายุที่น้อยกว่า ความรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ เป็นทรัพย์สินของผู้อุปถัมภ์ ก็ยังคงมีอยู่ แต่เปลี่ยนจากอำนาจที่เป็นการปกครอง มาเป็นอำนาจทางเศรษฐกิจที่เหล่าแม่ๆ ได้อุ้มชูลูกๆ ของตนเองเอาไว้ และยังต้องดูกันต่อไปว่าทางการจีนจะจัดการและจัดระเบียบวัฒนธรรมเหล่านี้ให้เป็นไปในทางใด 

อ้างอิง

Hird, Derek. Masculinities in China 

Worth, Jun, McMillan et al. (2018). ‘There was no mercy at all’: Hooliganism, homosexuality and the opening-up of China. 

Zhang, Qian and Keith Negus (2020). East Asian pop music idol production and the emergence of data fandom in China. 

The Standard Podcast

China.org.cn 

USA Today