ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ‘แผ่นเสียงไวนิล’ ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในหมู่คนรุ่นใหม่ เกิดเป็นคอมมูนิตี้ของผู้คนที่หลงใหลในการฟังเพลงผ่านแผ่นเสียงอนาล็อก เช่นเดียวกับ ‘City Boy’ กลุ่มดีเจผู้ชื่นชอบในความคลาสสิกของแผ่นเสียง และหลงรักแนวเพลงแบบ City Pop ซึ่งมีกลิ่นอายของดนตรียุค 80-90’s ที่กลับมาเป็นกระแสอีกครั้งในหมู่คนฟังเพลง เรียกได้ว่าทุกครั้งที่ City Boy เปิดแผ่นเล่นเพลง พวกเขาสามารถนำพาคนฟังไปสู่ความงดงามแห่งห้วงโมงยามของอดีตได้ไม่ยากเลย
จากความรักในการเก็บสะสมของเก่าเข้ากรุตัวเอง สู่การเป็นดีเจเปิดแผ่นเสียงที่จะสร้างประสบการณ์การฟังเพลงที่คนฟังจะไม่มีวันลืม ทำให้ชื่อของ City Boy เริ่มเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น และ EQ ก็ไม่รอช้าที่จะชวน ‘สะมะ – สมบูรณ์ ชุติวิโรจน์สกุล’ และ ‘นัท – รัชกร โพธิโต’ 2 ดีเจตัวแทนกลุ่มมานั่งคุยกันถึงที่มาที่ไป ความหลงใหล และความใฝ่ฝันของพวกเขาบนเส้นทางสายนี้
จากนักสะสมแผ่นเสียง สู่กลุ่มคนรัก City Pop
“มันเริ่มจากสะสมแผ่นเสียง เหมือนกับว่ากระแสแผ่นเสียงมันกลับมา ผมก็เริ่มซื้อตอนปี ค.ศ. 2013 แต่การเก็บแผ่นเสียงจะเป็นอะไรที่ประหลาดนิดนึง คือมันตามเทรนด์ที่เราชอบ พูดว่าสะสมแผ่นเสียงเหมือนกัน แต่ก็อาจจะไม่เหมือนกัน ผมซื้อเพลงไทยเยอะในช่วงนั้น จนมาเจอแนว City Pop แล้วก็เริ่มเก็บ และมาเจอว่ามีคนที่ชอบแนวนี้เหมือนกัน เราก็เลยได้รู้จักกัน” สมบูรณ์เล่า
จากคนเก็บสะสมแผ่นเสียงเป็นงานอดิเรก ค่อยๆ ก่อร่างสร้างคอมมูนิตี้คนรักเพลงแนว City Pop บนโลกออนไลน์ โดยมีรัชกรเป็นคนเริ่มต้นทำกลุ่มในเฟซบุ๊กชื่อ ‘City Pop’
“ผมรู้จักเพื่อนใหม่ๆ หลายคนจากเฟซบุ๊กนี่แหละ มันมีกลุ่มในเฟซบุ๊กกลุ่มหนึ่งที่เน้นเพลงญี่ปุ่น ผมก็เลยตามเข้าไปในกลุ่มชื่อ City Pop ในนั้นมีคนหลายชาติเลยนะ มีแอดมินหลายคน แต่มันเกิดการแตกแยกกันภายใน เขาอยากเปลี่ยนแนวเพลง เขาก็เลยบอกว่าจะเปลี่ยนชื่อกลุ่มนะ ใครอยากเอาชื่อ City Pop ไปทำต่อก็เอา ก็เป็นผมนี่แหละที่ชวนพี่มะ (สมบูรณ์) และพี่ปุ๋ย (เจ้าของ ร้านบองโก) ว่าเรามาทำกลุ่มชื่อ City Pop กันไหม” รัชกรบอก
“พี่ปุ๋ยเป็นจุดสำคัญเหมือนกันนะ ตอนนั้นที่เราเก็บแผ่นเสียงแนวนี้ มันยังไม่มีร้านไหนขาย ก็มีร้านพี่ปุ๋ยนี่แหละ แต่ทุกคนที่ไปร้านพี่ปุ๋ยก็เหมือนไปต่างเวลากัน ไม่รู้จักกัน ก็ได้พี่ปุ๋ยที่บอกว่ามีคนนั้นคนนี้มาซื้อ พวกเราก็เลยได้เจอกันที่ร้านพี่ปุ๋ย พอเรารู้สึกว่าคนเริ่มเยอะ ก็มาคุยกันว่าจะลองจัดงานดูไหม ลองเปิดเพลงแนวนี้ว่าจะมีคนมาหรือเปล่า พอคิดได้ปุ๊บ เราก็โพสต์เลย ปรากฏว่าคนมาเยอะ แล้วร้านพี่ปุ๋ยก็เล็กจนคนเข้าร้านไม่ได้ เราก็ตกใจ รู้สึกว่ามาถูกทางแล้ว” สมบูรณ์เล่าเสริม
รวมตัวกันเป็น City Boy
“พอเราจัดงานที่ร้านพี่ปุ๋ย ก็เริ่มรู้สึกอยากจัดปาร์ตี้ที่ใหญ่กว่านั้น ปีต่อมาเราก็เลยคุยกัน พี่มะกับผมอยากหาร้านเล่นเพลงแบบจริงจังขึ้น เราก็เดินเข้าไปขอเขาเล่นเลย ก็ไปที่ร้าน ‘Method to My Madness’ ตรงห้าแยกลาดพร้าว เราบอกเขาว่ามีสมาชิกในกลุ่มอยู่ประมาณ 900 กว่าคน แล้ววันงานก็จะมีสมาชิกจากตรงนี้มาแน่” รัชกรเล่าย้อนไป
แม้จะเป็นดีเจหน้าใหม่ และต้องยกเครื่องเล่นแผ่นเสียงของตัวเองไปโชว์ในค่ำคืนนั้น แต่กระแสตอบรับกลับดีเกินคาด มีคนตบเท้าเข้ามาดูพวกเขาเปิดแผ่นกว่าร้อยคน และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการจับเข่าคุยกันอย่างจริงจัง ว่าพวกเขาควรตั้ง ‘กลุ่ม’ ของตัวเอง กระทั่งกลายเป็นกลุ่มดีเจ 4 คน ประกอบด้วย สะมะ – สมบูรณ์ ชุติวิโรจน์สกุล, นัท – รัชกร โพธิโต, รอม – ศิรเรศ เชิดชูศิลป์ และ ไอซ์ – สุธวัช อำภา ภายใต้ชื่อ ‘City Boy’
“ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีกลุ่มดีเจอนาล็อกเกิดขึ้นเยอะ เราก็เลยตัดสินใจสร้างกลุ่ม แต่ยังไม่มีชื่อนะครับ คือเราบอกว่าอยากทำกลุ่มดีเจ แล้วค่อยมาโหวตกันว่าจะตั้งชื่อว่าอะไร ก็เป็นผมนี่แหละที่เป็นคนเลือก City Boy เพราะมันมีวงดนตรีอเมริกันชื่อนี้มาก่อน พอดีวันหนึ่งผมหยิบเจอ แล้วมันก็สื่อว่าเป็น City Pop ได้เหมือนกัน” รัชกรบอก
City Pop เสียงเพลงยุคเก่าบนแผ่นเสียงคลาสสิก
แนวเพลง City Pop อาจไม่ใช่แนวเพลงที่หลายคนคุ้นเคย แต่ก็กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง เพราะเป็นเพลงที่ฟังสบายๆ ผสมผสานดนตรีหลายแนว ทั้งแจ๊ส ฟังก์ อาร์แอนด์บีเข้าด้วยกัน และจุดเด่นของเพลงแนวนี้คือ ‘ความรู้สึกเป็นอิสระ’ จึงไม่แปลกใจที่นักฟังเพลงหลายคนจะตกหลุมรักความล้ำของแนวเพลงในยุคอดีตแนวนี้ โดยรัชกรได้ให้คำนิยามว่า “เสน่ห์ของ City Pop มันล้ำมาก ผมใช้คำว่า Restro Futurist เลย คือมันเป็นอะไรที่อยู่ในยุคอดีต แต่ล้ำสมัยเหมือนมาจากอนาคต”
“ยุคนั้นคือยุคหูเทพ บางเพลงที่เอามาเปิดยังนึกว่าเป็นเพลงออกใหม่” สมบูรณ์เสริม “ทุกคนก็จะมีแนวที่ชอบแตกต่างกันไป สำหรับผมคือเสพคอนเทนต์ญี่ปุ่นมาตั้งแต่เด็ก ดูการ์ตูนญี่ปุ่น ฟังเพลงญี่ปุ่น แม้กระทั่งพวกเพลงประกอบอนิเมะ มันก็ร้องด้วยนักร้อง City Pop เหมือนกัน แต่เราไม่เคยรู้ มันให้ความรู้สึกถวิลหาอดีต แล้วเราก็รู้สึกว่ามันมีความละเมียดละไมในการทำ”
เมื่อดนตรีจากอดีตที่มีเอกลักษณ์และงดงาม ถูกเล่นผ่านแผ่นเสียงไวนิลสุดคลาสสิก จึงไม่แปลกใจว่าทำไมดนตรีแนวนี้จับใจคนฟังได้อยู่หมัด แม้ในปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีการฟังเพลงที่ง่ายดายเพียงปลายนิ้วสัมผัสแล้วก็ตาม และเมื่อถาม City Boy ถึงเสน่ห์ของแผ่นเสียงที่พวกเขาหลงใหล สมบูรณ์ชี้ว่ามันเป็นเรื่องของคุณค่าในแผ่นเสียง ที่สอดแทรกประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นเอาไว้ ซึ่งเขารู้สึกว่าสิ่งนี้มันเจ๋งดี
“แผ่นเสียงมันเก็บได้นาน แล้วคุณภาพเสียงก็โอเค ในยุคนี้ที่ทุกอย่างลอยอยู่ในอากาศ เป็นบิต เป็นดาต้าของคอมพิวเตอร์ แต่แผ่นเสียงมันจับต้องได้ ทุกอย่างมีข้อมูลของมัน และมันมีเสน่ห์ที่น่าหลงใหลมาก” รัชกรเสริม
ข้อกำจัดของเพลงแบบ City Pop และแผ่นเสียง
แม้ความนิยมฟังเพลง City Pop และการเล่นแผ่นเสียงกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าดนตรีรูปแบบนี้ยังมีข้อจำกัดหลายอย่างในยุคดิจิทัล ทั้งในเรื่องของ ‘ทุน’ ที่การฟังเพลงจากแผ่นเสียงจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะ รวมไปถึงพื้นที่ และการสนับสนุนจากภาคสังคมที่อาจจะยังไม่ได้กว้างขนาดนั้น
“พอมีพื้นที่อยู่บ้างครับ แต่มันเป็นเรื่องทุนมากกว่า สมมติร้านนี้มีทุกอย่างพร้อม เขามีเซ็ตอัพให้ แต่ต้องลงทุนเยอะมากกับพวกเครื่องเสียงและเครื่องเล่นแผ่นเสียง ในขณะที่ร้านอื่นๆ เอานักร้องมาเล่นโฟล์คคนเดียว ค่าจ้างไม่เท่าไหร่ก็จบเลย ดังนั้น เวลาเราเล่นก็จะไม่ค่อยคิดถึงเรื่องเงินสักเท่าไหร่ เอาง่ายๆ ก็คือเข้าเนื้อครับ ถ้าเราอยากเล่นก็ไปขอเขาเล่น คือสถานที่ที่พร้อมจะให้เราเล่นมีเยอะ แต่มันไม่คุ้มเงินที่จะได้ อย่างล่าสุดพวกผมก็ได้ไปเล่นงานดนตรีในสวน เป็นดีเจทีมเดียวด้วย แต่นั่นก็เป็นงานฟรี ได้ค่าตอบแทนน้อยมาก แต่เราก็อยากเปิดพื้นที่ให้คนมาฟังเหมือนกัน ไม่งั้นก็จะเจอกันแค่ในร้านเหล้าที่แพงๆ ซึ่งอย่างที่บอกว่าเราก็อยากเปิดพื้นที่ ของฟรีก็จะพยายามไป แต่ก็เอาให้ตัวเองไม่เจ็บมากด้วย” รัชกรอธิบาย
สร้างคอมมูนิตี้ที่เฟรนด์ลี่เพื่อความยั่งยืน
เมื่อยังมีข้อจำกัดเยอะ ความเป็นคอมมูนิตี้จึงสำคัญ ด้วยเหตุนี้ City Boy จึงตั้งใจที่จะสร้างคอมมูนิตี้ของคนชอบแผ่นเสียงและรักเพลง City Pop ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อจะสร้างพื้นที่ให้คนได้เข้ามาแลกเปลี่ยนพูดคุย และมีกิจกรรมร่วมกัน
“ผมเข้าใจความรู้สึกเลยนะ ว่าบางทีเรามีของ เราก็อยากโชว์ เรามีแผ่นนี้ เราก็อยากจะเปิด นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการแจม มีบางงานที่เราจัด ก็โพสต์ว่าถ้ามีแผ่นก็เอามาด้วย เราให้เปิด เขาก็จะเอามาด้วย หลายๆ คนก็เลยรู้จักกันครั้งแรกจากตรงนี้เลย แล้วเราก็ให้เปิดกันคนละ 1-2 เพลง ไม่ได้เน้นว่าต้องเป็นมืออาชีพ แต่อยากเปิดอะไร เปิดเลย เรามาสนุกแล้วก็มาคุยเรื่องแผ่นเสียงกัน ผมรู้สึกว่าตรงนี้แหละที่จะช่วยให้ City Boy แตกต่างจากกลุ่มอื่น มันมีความเป็นคอมมูนิตี้จริงๆ” สมบูรณ์อธิบาย
แม้จะมีกลุ่มดีเจเกิดขึ้นหลายกลุ่ม แต่ City Boy ก็พยายามที่จะเป็นมิตรกับทุกคนและเข้าถึงง่าย ในขณะเดียวกันก็มีกิจกรรมมาให้คนที่หลงใหลในสิ่งเดียวกับพวกเขา ได้มารวมตัวกันอยู่เสมอ แม้จะยอมรับว่างานแบบนี้มัน ‘เข้าเนื้อ’ แต่พวกเขาก็ยังคงพยายามที่จะทำให้มันเกิดขึ้นจนได้
“ความฝันสูงสุดเลยก็คือเราจะสามารถเชิญศิลปิน City Pop ญี่ปุ่นมาเล่น เรามีแผ่นเสียงเขา คนที่มาก็อยากเจอศิลปินตัวจริงด้วย ซึ่งผมคิดว่าวันหนึ่ง City Boy จะก้าวไปถึงจุดนั้น และมันก็เริ่มใกล้เคียงแล้วด้วย” สมบูรณ์กล่าวทิ้งท้าย
ติดตาม City Boy ได้ที่
Facebook: City Boy / City Pop / シティ・ポップ