Daily Pickup

หนีตามกาลิเลโอ: ยังไม่สายไปที่จะเป็นหนัง Coming of Age ของ Gen นี้

“We travel not to escape life, but for life not to escape us”

หลังจากดูหนีตามกาลิเลโอจบไปไม่รู้กี่รอบ ประโยคนี้ก็ยังคงเป็นประโยคที่ทิ้งไว้ในใจทุกครั้งที่ดูจบ หนึ่งในหนังไอคอนิกตลอดกาลของค่าย GTH กำกับการแสดงโดย นิธิวัฒน์ ธราธร โดยเน้นไปที่สองตัวละครอย่างนุ่น (รับบทโดย ต่าย – ชุติมา ทีปะนาถ) และเชอรี่ (รับบทโดย เต้ย – จรินทร์พร จุนเกียรติ) สองเพื่อนรักที่ตัดสินใจทิ้งทุกอย่าง และหนีปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยออกเดินบนเส้นทางใหม่ในต่างแดน ทั้งสองตกลงกันว่าจะไปเที่ยวต่างประเทศกันตามลำพังโดยไป อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี และปิดท้ายที่หอเอน เมืองปิซา แถวบ้านเกิดของกาลิเลโอ แผนของพวกเธอง่ายมาก เพียงแค่ขอวีซ่านักเรียนเพื่อเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษ แต่แรงจูงใจที่แท้จริงของพวกเธอคือ การประหยัดเงิน ท่องเที่ยว และสัมผัสโลกกว้าง ก่อนที่จะเดินทางสองเพื่อนรักได้สร้างกฎไว้ว่า ‘หนึ่ง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ไม่ทิ้งกัน’ และ ‘สอง ห้ามแหกกฎข้อที่หนึ่ง’ เท่ากับว่าภายในหนังสองชั่วโมงกว่าๆ นี้ทั้งเชอรี่ และนุ่น จะต้องเป็นตัวละครหลักที่คอยประคองผู้ชมให้อยู่หมัด และแน่นอนว่า ทั้งเต้ย และต่ายทำได้ยอดเยี่ยมอย่างไม่ต้องสงสัย

หัวใจสำคัญของเรื่อง ‘หนีตามกาลิเลโอ’ คือ ‘มิตรภาพ’ แต่ก็เป็นภาพสะท้อนถึงชีวิตคนไทยในต่างแดนว่าเป็นอย่างไร มันไม่ได้เป็นเพียงภาพของการคิดถึงบ้าน แต่เป็นการพลัดถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝั่งประเทศ Big Three ของยุโรปแล้วละก็ ความคิดถึงบ้านคงทวีคูณเป็นเท่าตัว ทำให้คนไทยบางส่วนที่เคยมีประสบการณ์คล้ายๆ กัน สามารถเชื่อมโยงกับประสบการณ์แปลกใหม่ของตัวละครที่ได้รับจากวัฒนธรรมต่างๆ ที่พวกเธอพบได้อย่างง่ายดาย อีกทั้งฉากที่น่าจดจำที่สุดคือ ฉากที่ตัวละครทั้งสองยืนอยู่กลางทางเท้าที่พลุกพล่านในกรุงปารีส ชูป้ายภาษาไทยว่า ‘ใครคิดถึงบ้านตบมือหน่อย’ พวกเขารับคำทักทายจากคนแปลกหน้าชาวไทยที่บังเอิญผ่านมา เป็นฉากที่อิมแพก และทำให้รู้สึกเหมือนอยู่ใกล้บ้าน และทำให้นุ่นกับเชอร์รี่รู้สึกว่า ตัวเองไม่ได้โดดเดี่ยวขนาดนั้น

ภาพยนตร์เรื่องนี้เตือนใจคุณว่า การเดินทางท่องเที่ยวที่มักถูก 'โฆษณา' ว่าเป็นกิจกรรมที่น่าพึงพอใจ และสนุกสนานนั้น แท้จริงแล้วค่อนข้างไม่สะดวกสบาย แถมยังอันตรายอีกด้วย มันตรงข้ามกับที่เราเห็นภาพในละคร ที่ทุกอย่างดูสวยงามไปหมด ในขณะที่เนื้อเรื่องกล่าวถึงหลายประเด็น เช่น การเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้น การเผชิญหน้ากับอดีต และการเรียนรู้ที่จะยอมรับผลที่ตามมาของชีวิต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ การทะเลาะกันของเพื่อนรักสองคน และด้านที่ไม่น่ารักของการใช้ชีวิตอย่างผิดกฎหมายในต่างแดน ความกลัวการถูกส่งกลับประเทศไทย คนในท้องถิ่นที่ไม่เป็นมิตร ทำให้เราเห็นพัฒนาการของตัวละครทั้งเชอรี่ และนุ่นไปในทีละสเต็ปของการเดินทาง

“ไม่เรียนแล้วทำไรอะไร?”

“ใช้ชีวิต”

“ใช้ชีวิตทำอะไร?”

เราจะไม่พูดถึงบทของ ‘ตั้ม’ ที่แสดงโดย เรย์ แมคโดนัลด์ ก็คงไม่ได้ ถึงแม้จะออกมาน้อยมากแต่ทุกบทพูดฮุกตรงเข้ากลางใจคนดูได้แทบทุกประโยค และคุณเรย์ในบทของตั้มก็ยังเปลี่ยนมุมมองของตัวละครหลักทั้งสองตัวอย่างนุ่น และเชอรี่ไปโดยสิ้นเชิง เขาเป็นตัวละครที่มองโลกกลางๆ ตรงไปตรงมา ตามความเป็นจริง และด้วยบุคลิกแบบนี้ของตั้มทำให้เชอร์รี่ที่มีบุคลิกสุดโต่ง หัวรั้น ปรับเปลี่ยนทัศนคติบางอย่างของตัวเองลงจนกลายเป็นคนที่นิ่งขึ้น และได้มีโอกาสแสดงฝีมือทางสถาปัตย์ในงานแสดงผลงานศิลป์ที่จัดโดยตั้ม และเพื่อน ทำให้เชอรี่ได้รู้จักกับชาวอิตาลีที่สนใจงานของเธอ และเสนอให้เธอไปร่วมงานด้วย และย้ายไปอยู่อิตาลีในที่สุด

แม้หนังจะไม่ได้โชว์จุดขัดแย้งของตัวละครที่ทำให้คนดูว้าวมากนัก เพราะมันก็เป็นเพียงเรื่องของผู้หญิงวัยรุ่นธรรมดาๆ คู่หนึ่งที่ไปลองผิดลองถูกในต่างแดน ด้วยเนื้อเรื่องน้อยๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนัง ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้น และจบลงอย่างง่ายๆ ไม่ได้ยืดเยื้อมากมาย อย่างเช่น ความสัมพันธ์ระหว่างเชอรี่ และนุ่น ที่สัญญาว่าจะไม่ทิ้งกันไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ความแตกต่างทางนิสัย และความคิดจึงอาจก่อให้เกิดรอยแยกขึ้น ถึงอย่างนั้นในท้ายที่สุดแล้ว การที่เราโตขึ้นก็ทำให้อะไรๆ มันง่ายขึ้นตามไปด้วย พวกเธอได้เรียนรู้ และกลับมาเป็นเพื่อนรักกันเหมือนเดิม

หลายครั้งที่เราปฏิบัติต่อการเดินทางท่องเที่ยวเป็นการหลบหนี เพื่อที่จะลืมความเหนื่อยล้า หรือสิ่งกักเก็บไว้ในใจ ในความเป็นจริง การท่องเที่ยวคือ การกลับมาเพื่อทำความเข้าใจ และรู้จักตัวเองดีขึ้นหลังจากปะทะกับโลกภายนอกมา โอบกอดชีวิต และสร้างเป้าหมายใหม่ นี่คือความหมายของการเดินทาง ภาพยนตร์หนีตามกาลิเลโออาจจะเข้าถึงคนที่มีประสบการณ์ในต่างแดนได้มากกว่าแต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ในบริบทอื่นๆ จะทำให้คนดูไม่สามารถเข้าใจตัวละครได้เลย ตัวบทเองเป็นบทที่ดูง่าย และไม่ยืดเยื้อ แม้ว่าการพัฒนาของตัวละครที่เดินทางไปยังประเทศต่างๆ นั้นไม่ได้โชว์ให้เราเห็นมากมายขนาดนั้น สำหรับตัวนักเขียนเอง คิดว่าฉากง่ายๆ อย่างฉากอธิบายเรื่องที่อยู่ ฉากตกปลา พูดคุยกับตั้ม และฉากเข็นจักรยานคุยกับนุ่น ทำให้คนดูอย่างเราๆ ได้เก็บอะไรจากหนังกลับไปมากกว่าเนื้อหาของหนังที่เหลือทั้งหมดเสียอีก