เรียกได้ว่าปี 2023 เป็นปีของ ‘ชายแท้’ กันเลยทีเดียว ตั้งแต่ต้นปีมานี้เราต้องพบเจอกับข่าวของเหล่าชายแท้ที่ผลัดกันล้มให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์อย่างไม่ขาดสายกันเลยทีเดียว จนเกิดเป็นคำนิยามสุดแสบกับบริบทใหม่ของคำว่า ‘ชายแท้’ ที่ถูกหยิบมาเป็นคำด่า เสียดสี ที่ทำเอาเหล่าชายชาตรีทั้งหลายต้องออกมาเรียกร้องให้หยุดใช้ ‘ชายแท้’ เป็นคำด่าเสียที
วันนี้เราจะพาทุกคนร่วมเดินทางย้อนอดีตไปศึกษาพัฒนาการของ ‘ชายแท้’ ผ่านแนวคิดเพศสภาพ ไปสู่ความเป็นชายในแต่ละยุคที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่ง
ก่อนอื่นก่อนใดสมัยก่อนนั้นความเป็นเพศจะถูกยึดโยงกับแนวคิดด้านชีววิทยาเป็นส่วนใหญ่เพราะคำว่าเพศต้องถูกนิยามด้วยสิ่งที่มองเห็น จับต้องได้ หรือพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ เพศจึงมีแค่ชาย และหญิงที่แบ่งแยกความแตกต่างได้ด้วยกายภาพ อวัยวะเพศ และโครโมโซม ก่อนที่แนวคิดเรื่องเพศจะค่อยๆ เข้ามาสู่มิติของสังคมศาสตร์ (Sociology) นำมาสู่จุดเริ่มต้นของการแบ่งแยกคำว่า ‘เพศ’ ให้มีความหลากหลายในการระบุตัวตนมากยิ่งขึ้น ผ่านคำว่า ‘เพศสภาพ’
‘เพศสภาพ’ (Gender)
เป็นแนวคิดทางสังคมศาสตร์ที่เข้ามาทำหน้าที่ให้คำนิยามแก่คำว่า เพศ ในมุมมองของสังคมศาสตร์ ในที่นี้หมายถึงลักษณะที่จะระบุได้ว่า มนุษย์คนนั้นเป็นเพศสภาพใด แรกเริ่มเดิมทีเพศสภาพจะใช้ระบุความเป็นชาย และความเป็นหญิง เช่น ความเป็นชาย จะต้องแข็งแกร่ง ชอบสีฟ้า ตั้งใจเรียนหนังสือ ส่วนความเป็นหญิง จะต้องอ่อนโยน ชอบสีชมพู ดูแลงานบ้าน เป็นต้น ลักษณะเหล่านี้เป็นกรอบในการตัดสินเพศสภาพของมนุษย์คนหนึ่ง ในจุดนี้แสดงให้เห็นถึงการเป็นพลวัต (Dynamic) ที่ไม่อยู่นิ่ง ปรับเปลี่ยนไปได้เสมอ โดยมีปัจจัยแห่งการเปลี่ยนแปลงอยู่ที่ประวัติศาสตร์ สภาพสังคม และวัฒนธรรม ที่ทำให้แต่ละสังคมมีมุมมองของอุดมคติของเพศสภาพที่แตกต่างกัน มีการพัฒนาต่อยอดอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เหมาะสม ทันสมัย และสามารถใช้ในยุคปัจจุบันได้ นั่นทำให้เข้ามาสู่เนื้อหาหลักของเราในเรื่องของ ‘ความเป็นชาย’
แนวคิดความเป็นชายคืออะไร (Masculinity)?
ความเป็นชาย คือชุดแนวคิดที่กำหนดอัตลักษณ์ของเพศชายในสังคม ว่าจะมีลักษณะแบบใด ตั้งแต่ลักษณะภายนอกไปจนถึงการแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึก แตกต่างกันตามภูมิหลังของสังคม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ถึงแม้ว่าสิ่งที่เราบอกไปจะสร้างความแตกต่างให้กับความเป็นชายในแต่ละสังคม แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ความเป็นชายมักจะมีรูปแบบที่แน่นอนเหมือนกันในทุกสังคมมนุษย์ มันจะถูกยึดโยงกับความแข็งแกร่ง ความกล้าหาญ ความเป็นผู้นำ เป็นต้น ลักษณะนิสัยเหล่านี้ทำให้เพศชายดูมีความเป็นอิสระมากกว่าเพศหญิง ในช่วงปี 1900 การศึกษาเกี่ยวกับความเป็นชายได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น ทำให้มีการตีความอัตลักษณ์ออกมาอย่างหลากหลาย รวมถึงมีการศึกษาลงลึกไปในอดีตเพื่อหาสิ่งที่เชื่อมโยงไว้กับความเป็นชาย ซึ่งคำตอบนั้นคือ “ความเป็นชายในอดีตถูกเชื่อมโยงกับทั้งวรรณกรรมโบราณ โอดิสซีย์ และ ศาสนาในช่วงยุคกลาง” เป็นเหตุที่ทำให้ความเป็นชายถูกยึดโยงกับความแข็งแกร่ง การผจญภัย การเป็นผู้นำที่ส่งผลมาสู่รุ่นต่อๆ ไปด้วยอุดมคติแบบเดียวกันนี้
แนวคิดความเป็นชายเมื่อผนวกรวมเข้ากับแนวคิดอำนาจนำ (Hegemonic Masculinity)
หลังจากที่นักวิชาการทั้งหลายได้ศึกษาแนวคิดเพศสภาพ และความเป็นชายกันอย่างต่อเนื่อง ในช่วงปี 1940 – 1960 แนวคิดความเป็นชายได้แม่เหล็กขั้วใหม่ที่จะเข้าไปยึดติดด้วย ซึ่งมันมีชื่อว่า ‘แนวคิดอำนาจนำ’ (Hegemonic) ที่ทำให้อุดมคติความเป็นชายมีรูปแบบของมายาคติอันใหม่ที่ดึงดูดเข้าหากันจากสภาพสังคมช่วงนั้นที่เป็นช่วงสงคราม สถาบันที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการกำหนดอุดมคติของความเป็นชายจึงเป็น ‘สถาบันทหาร’ ด้วยอุดมคติที่ว่า ผู้ชายเป็นผู้ปกป้อง มีความแข็งแกร่ง เป็นผู้กล้าหาญในการออกไปรบ อุดมคติที่ถูกสร้างขึ้นมานี้ไม่เพียงแต่เพื่อปลูกฝังลักษณะที่ดีให้กับผู้ชาย แต่เป็นการผลักเพศหญิงให้กลายเป็นอื่นในสังคม โดยผู้ชายจะใช้อุดมคติเหล่านั้นสร้างอำนาจให้แก่ตนเอง โดยไม่สนว่าผู้หญิงจะมีบทบาทมากเพียงใดในภาวะสงคราม เพียงแค่สถานะการอยู่ในกองทัพของทั้งสองเพศก็สามารถบอกการมีอำนาจเหนือกันได้อย่างชัดเจน ผู้ชายเมื่อได้รับชัยชนะในศึกสงครามจะได้รับชื่อเสียงเป็นอย่างมาก นำพาไปสู่ความก้าวหน้าในอาชีพ กลับกันผู้หญิงแทบจะไม่มีตัวตนอยู่ในกองทัพทั้งๆ ที่ถ้าหากขาดพวกเธอไปผู้ชายก็เดือดร้อนเหมือนกัน แล้วมันก็ทวีคูณความสนใจให้แก่ผู้ชาย ด้วยการสื่อสารทางทหารพร้อมวาทกรรมที่ว่า ผู้ชายต้องพิสูจน์ตัวเองว่า เป็นชายตามอุดมคติเหล่านี้หรือไม่ ผ่านการเข้ารับราชการทหาร สิ่งที่ส่งเสริมวาทกรรมนี้ให้มีผลกระทบต่อสังคมวงกว้างมากยิ่งขึ้นไปอีกคือ การตกต่ำของเศรษฐกิจในช่วงยุคสงคราม และหลังสงคราม เป็นสิ่งที่ช่วยตัดสินใจให้แก่ผู้ชายที่อุดมคติตีกรอบไว้ว่าต้องแข็งแกร่ง กล้าหาญ พึ่งพาตนเองได้ การเข้ารับราชการทหารจึงเป็นทางเลือกที่ไม่แย่นัก เพื่อพิสูจน์ความเป็นชาย ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้จึงทำให้แนวคิดความเป็นชายรุ่งเรืองอย่างมากในบริบทของการมีอำนาจนำเหนือผู้หญิง เรียกได้ว่า นำไปสู่การสร้างสังคมปิตาธิปไตยอย่างแท้จริง ผู้หญิงค่อยๆ เริ่มกลายเป็นอื่นในสังคม และความเป็นชายก็เปรียบเสมือนขั้วแม่เหล็กที่ยึดติดกับอำนาจนำ ไปอีกนานหลายปี
ผู้ชายในโทรทัศน์ ความเป็นชายในยุคสมัยการมาของอุตสาหกรรมบันเทิง
หลังจากสงครามจบลงโลกเข้าสู่การฟื้นฟูอย่างหนัก หลายสิ่งถูกทำลายไม่สามารถกู้คืนกลับมาได้ เกิดการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรม บทบาทของอุตสาหกรรมบันเทิงจึงมีมากยิ่งขึ้นกว่าในอดีต อาชีพนักแสดงเป็นความฝันของใครหลายๆ คน เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงอุดมคติในความเป็นชายที่มีกรอบดั้งเดิมมาจากความเป็นชายแบบอำนาจนำ ความเป็นชายในช่วงสงคราม อุดมคติความเป็นชายเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน ความเป็นชายเริ่มเข้าใกล้กับความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ในช่วงสมัย 1980 เป็นต้นมา
เพราะอะไรที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุดมคติของความเป็นชาย?
อาจพูดได้ว่าเป็นเพราะการเข้ามาของสื่อใหม่อย่าง ‘ละครโทรทัศน์’ ที่เป็นการแสดงในอุตสาหกรรมบันเทิง ซึ่งเป็นพลวัตไม่อยู่นิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เป็นจุดเปลี่ยนหลักของอุดมคติความเป็นชายที่สังคมปิตาธิปไตย และอำนาจนำค่อยๆ หมดไปจากสังคม ผู้ชายให้ความสำคัญกับผู้หญิงมากยิ่งขึ้นผู้หญิงกลับมาเป็นคนในสังคม มีสิทธิเท่าเทียมผู้ชาย
ความเป็นชายได้ถูกตีกรอบใหม่บนความหลากหลายของสังคมที่เผยแพร่ผ่านมายาคติ สื่อโทรทัศน์ ผู้ชายในอุดมคติไม่มีอีกต่อไป มีแต่ความเป็นชายที่ไม่ยึดโยงกับความแข็งแกร่ง ความเป็นผู้นำ ความกล้าหาญ อุตสาหกรรมบันเทิงไม่ต้องการผู้ชายแบบนั้นให้อยู่ในสื่อของเขา พวกเขาต้องการความเป็นชายที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ผู้ชายมีสิทธิที่จะร้องไห้ ไม่จำเป็นต้องสูงใหญ่ ไม่ต้องกล้าหาญ ผู้ชายสามารถอ่อนแอได้ นี่จึงเป็นกรอบความคิดของยุคสมัยอุตสาหกรรมบันเทิงหลังจากยุคสงคราม
นอกเหนือจากเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงทางอุดมคติความเป็นชายแล้ว ในยุคสมัยนี้ยังทำให้เห็นความเป็นชายที่ ‘หลากหลาย’ ขึ้น เพราะมันไม่ได้ถูกจับอยู่เพียงแค่อุดมคติที่เป็นนอร์มของสังคม ความน่าสนใจในช่วงสมัยนี้คือ ความเป็นชาย กลับไม่ได้มีไว้เพื่ออธิบายพฤติกรรมความเป็นชายอย่างในอดีตเท่านั้น อย่างที่เราบอกไปว่า เพศสภาพนั้น ในตอนแรกจะเป็นการพูดถึงความเป็นชาย และความเป็นหญิงเป็นหลัก เพราะเมื่อแนวคิดนี้ริเริ่มขึ้น สังคมยังมีการนิยามเพศเพียงแค่สองเพศ โดยอ้างอิงจากหลักการชีววิทยาก่อนที่ภายหลังเพศทางเลือกอื่นๆ จะเกิดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงในสังคม ความน่าสนใจคือ ‘ผู้ชายที่ชอบผู้ชาย’ หรือที่ในสมัยปัจจุบันเรียกว่า ‘เกย์’ จะถือว่าคือความเป็นชายรูปแบบหนึ่งในความหลากหลาย ทำให้เห็นว่า ในช่วงยุคสมัยนี้เกย์ยังถูกเรียกว่าเป็นหนึ่งในพฤติกรรมของชาย ซึ่งในภายหลังเราจะมีการเรียกกลุ่มเพศทางเลือกในความเป็นอื่นๆ ที่มากมายในสังคมนั่นเอง เรียกได้ว่าเป็นยุคสมัยที่เปิดกว้างทางอัตลักษณ์อย่างมาก และเป็นข้อพิสูจน์ที่ว่า แนวคิดเพศสภาพ และแนวคิดความเป็นชาย มีความลื่นไหล เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
สถานการณ์ความเป็นชายในยุคสมัยปัจจุบัน
หากตามมาถึงตรงนี้เราจะได้เห็นพัฒนาการของแนวคิดความเป็นชายที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามบริบทในสังคม และวิถีชีวิตการปฏิบัติตัวตามแต่ละยุคสมัย เรียกได้ว่า อุตสาหกรรมบันเทิงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อัตลักษณ์ความเป็นชายพัฒนาไปสู่ความหลากหลาย และการมีบทบาทในสังคมของเพศอื่นๆ มากยิ่งขึ้น สถานการณ์ปัจจุบันของแนวคิดความเป็นชายจะไม่ค่อยแตกต่างจากก่อนหน้านี้นัก ความเป็นชายในสังคมบ้านเราก็ยังมีอุดมคติที่ว่าด้วย ความแข็งแกร่ง ความเป็นผู้นำ การมีรูปร่างที่สูงใหญ่อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ผลักผู้คนที่มีลักษณะรูปร่าง และนิสัยนอกเหนือจากนี้ออกไปจากความเป็นชายเหมือนในอดีตแล้ว ความเป็นชายในรูปแบบอื่นๆ ก็ถูกแยกออกไปในแบบของตัวมันเอง แต่ปัญหาจริงๆ ของความเป็นชายในยุคสมัยปัจจุบันคือ ‘ผู้ชาย’
ผู้ชายในบริบทนี้หมายถึง ผู้ชายที่เคยอยู่ระบอบอุดมคติแบบในสมัยก่อนช่วงอำนาจนำ และปิตาธิปไตย มีบางคนที่ยังมีชีวิตอยู่อายุก็ราวๆ ประมาณ 70 ปี ที่ออกมาให้ความเห็นในแง่ร้ายกับมุมมองความเป็นชายในปัจจุบันที่พวกเขาไม่ชอบใจ ว่าทำไมความเป็นชายในปัจจุบันถึงไม่มีเกียรติ ไม่มีอำนาจที่อยู่เหนือผู้อื่นแบบแต่ก่อนแล้ว ทำไมถึงตกต่ำลงขนาดนี้ ผู้นำทำไมมีเพศอื่นด้วย พวกเขามองว่า มันเป็นวิกฤตของความเป็นชายที่ปล่อยให้อำนาจที่อยู่ในมือมันหายไป แต่นี่เป็นเพียงแค่ความคิดเห็นของกลุ่มคนที่เขาเคยผ่านช่วงเวลามหาอำนาจของผู้ชายมา ไม่แปลกที่ความคิดของพวกเขาจะแสดงออกมาในแนวต่อต้านอุดมคติของความเป็นชาย และอัตลักษณ์ของความเป็นชายที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ความคิดเห็นเหล่านี้ทำให้นึกถึงคำว่า ‘ความเป็นชายเป็นพิษ’ ขึ้นมาเลย
ความเป็นชายเป็นพิษ แนวคิดที่นำไปสู่ชายแท้ ในสังคม
ความเป็นชายเป็นพิษ สามารถอธิบายนิยามของมันได้อย่างตรงไปตรงมาตามชื่อเรียกของมันเลยก็คือ อุดมคติความเป็นชายทั้งหลายที่เราได้นำเสนอไป สร้างกรอบความเป็นชายขึ้นมา แล้วกรอบนั้นนำมาซึ่งพิษในสังคม พิษในที่นี้คือ การสร้างความเจ็บปวดให้แก่ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิง เพศทางเลือก หรือเพศชายด้วยกันเอง แล้วแนวคิดความเป็นชายเป็นพิษ นำไปสู่คำว่า ‘ชายแท้’ ในสังคมไทยได้อย่างไร?
ช่วงเวลาที่ผ่านมาของปีนี้เราจะได้เห็นกระแสที่ไม่ดีเกี่ยวกับผู้ชายในวงการบันเทิงบ้านเราอย่างมากมีตั้งแต่เรื่องทำร้ายร่างกายจนไปถึงเรื่องทำร้ายจิตใจกันเลย สาเหตุหนึ่งของปัญหาคือ ความเป็นชายในวัยเด็กหรือวัยรุ่น กลุ่มอายุนี้จะเป็นกลุ่มที่เริ่มเข้าหาอุดมคติความเป็นชาย เรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตพวกเขาว่า จะเลือกเป็นผู้ชายตามอุดมคติแบบไหน และใช่เขาเลือกอุดมคติที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับผู้อื่น ต้องการการยอมรับในฐานะผู้ชาย ด้วยการกดผู้อื่นให้ต่ำลง เราจะเห็นได้จากข่าวที่ผ่านๆ มาในบ้านเรา ส่วนมากจะมาในแนวเดียวกันคือ การทำร้ายร่างกาย และการทำร้ายจิตใจ นอกเหนือจากนี้ยังมีกลุ่มผู้หญิงบางคนให้การสนับสนุนความรุนแรงเหล่านี้อยู่อีก เป็นเรื่องที่น่าตกใจไม่น้อย นำมาสู่การนิยามความหมายใหม่ให้กับคำว่า ‘ชายแท้’ ที่อยู่ในบริบทคำด่ามากกว่าคำนิยามลักษณะทางเพศสภาพ ในความเป็นจริงหากเรามองเห็นปัญหาของความชายเป็นพิษจริงๆ การโดนด่าว่าชายแท้จะไม่ได้ทำให้รู้สึกโกรธ แต่จะรู้สึกสมเพชมากกว่า ที่พฤติกรรมส่วนมากของผู้ชายในสังคมมันตรงกับคำด่าที่ได้รับแล้ว นอกเหนือที่จะไม่เปลี่ยนแปลงแนวคิดอันเป็นพิษนี้ยังจะพยายามปั่นหัว (Gaslight) ผู้อื่นให้เห็นว่า มันเป็นเรื่องผิดอีกที่นำคำว่าชายแท้มาใช้เป็นคำด่า
เหล่าผู้ชายที่ออกมาเรียกร้องให้เลิกใช้คำว่าชายแท้เป็นคำด่า ก็เปรียบเสมือนพวกผู้ชายที่ออกมาขัดผู้หญิงเวลาโดนด่า ด้วยประโยคที่ว่า “อย่าเหมารวมสิครับ” หรือ “Not All” มันคือการไม่เห็นถึงปัญหา แล้วมองเพียงแค่ว่า ตัวเองไม่ได้ทำนิสัยแบบนั้น อย่าเหมารวมได้ไหม ถ้าไม่ได้เป็นแบบนั้น เราก็ไม่เห็นว่ามันจะมีประโยชน์อะไรที่จะออกมาเรียกร้องโวยวายเลย