Daily Pickup

‘Disneyland’ กับเวทมนตร์สะกดจิตแขกให้หลุดออกจากโลกความจริงสักหนึ่งวัน

‘Disneyland’ ถือได้ว่าเป็นจุดหมายปลายทางที่ใครหลายๆ คนต่างอยากลองไปสัมผัสด้วยตาตัวเองสักครั้งในชีวิต ทั้งอาหารแสนอร่อย เครื่องเล่นแสนสนุก หรือบริการที่ใส่ใจจากพนักงาน (หรือที่เรียกกันว่า Cast Members) ตามโซเชียลมีเดียก็มีคลิปวิดีโอเกี่ยวกับตัวละครดิสนีย์ที่สร้างเสียงหัวเราะ และความประทับใจให้กับแขกผู้มาเยือนมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ‘Evil Queen’ จาก ‘Snow White and the Seven Dwarfs’ ที่มีวิธีตอบโต้กับแขกอย่างชาญฉลาด และร้ายกาจ หรือเหล่าเจ้าหญิงดิสนีย์แสนสวยที่พร้อมมอบพลังบวกให้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทุกคนรู้ไหมว่า ทำไมที่นี่ถึงกล้าเรียกตัวเองว่าเป็น ’สถานที่ที่มีความสุขที่สุดในโลก’ เหตุผลหนึ่งก็มาจากเวทมนตร์ที่เป็นการหลอกประสาทสัมผัสและความรู้สึกของเรา เพื่อที่จะให้ประสบการณ์การเข้าใช้บริการสวนสนุกนั้นยอดเยี่ยมยิ่งขึ้น มากกว่าแค่สิ่งที่ตาเรามองเห็น ตามคอนเซ็ปต์ที่ว่า พวกเขาต้องการให้แขกที่เข้าไปลืมทุกอย่างในโลกความจริง และหลุดเข้าสู่อีกโลกหนึ่ง บทความนี้เราจะมาไขความลับเวทมนตร์ของดิสนีย์ให้ทุกคนได้รู้กัน

Main Street, U.S.A.

‘Main Street, U.S.A.’ กับก้าวแรกแห่งการสะกดจิต

เกือบทุก Disneyland Park รอบโลก โซนแรกที่ทุกคนจะผ่านเมื่อก้าวเท้าเข้าสู่สวนสนุก นั่นคือโซน ‘Main Street, U.S.A.’ ซึ่งเป็นโซนที่จำลองวิถีชีวิตของชาวอเมริกัน สองข้างทางจะเต็มไปด้วยร้านต่างๆ รวมทั้งศาลาว่าการเมือง (ซึ่งเป็นจุดบริการลูกค้า), สถานีดับเพลิง, ร้านตัดผม (ที่แขกสามารถเข้าไปตัดผมได้จริงๆ แถมยังสามารถนำเด็กทารกไปตัดผมเป็นครั้งแรกได้ ซึ่งจะมีใบประกาศนียบัตรรับรองการตัดผมครั้งแรกให้ด้วย), ร้านขนมปัง, โรงละคร และบ้านเรือนสีสันสดใสอีกมากมาย จะสังเกตได้ว่า ถนนทางเดินในโซนนี้จะเป็นสีเข้ม ซึ่งก็เป็นความตั้งใจของดิสนีย์เองที่ดีไซน์ให้มันตัดกับสีของสองข้างทาง เพื่อบังคับให้คนเดินไปข้างหน้าโดยไม่หยุดเดิน หรือไม่ก็เดินแวะเข้าไปในร้านรวงต่างๆ เป็นทริกที่ดีในการควบคุมฝูงคน หากใครเคยไปดิสนีย์แลนด์ที่ไหนก็ตาม แม้จะเป็นวันที่คนเยอะ ก็จะรู้สึกว่าเดินไปได้เรื่อยๆ ไม่เบียดเสียด

สี Go Away Green หน้าประตู Club 33

ทฤษฎีสี และการบังคับอารมณ์

หากใครที่เคยทำงานเกี่ยวกับสี ก็คงพอจะรู้ว่า สีมีผลกับอารมณ์ และสิ่งต่างๆ รอบตัวเรา จริงๆ อีกทั้งยังมีงานวิจัยที่เคยวิเคราะห์เอาไว้ว่า คนส่วนมากจะมีการตอบสนองไปในทางเดียวกันต่อสีบางสี แน่นอนว่าดิสนีย์เองก็รู้เรื่องนี้เป็นอย่างดี และนำมันมาใช้ในสวนสนุกให้เกิดประโยชน์สูงสุด โซนที่ดิสนีย์ไม่อยากให้แขกเข้าไป หรือต้องการให้แขกอยู่ห่าง พวกเขาก็ไม่ได้ทำมาแค่ป้ายห้ามเข้า แต่มีการสร้างสีที่เรียกว่า ‘Go Away Green’ ซึ่งเป็นสีเขียวแก่ๆ ที่ถูกออกแบบมาด้วยแนวความคิดที่ว่า ดวงตาของคนปกติทั่วไปจะมองข้ามผ่านมันไปเลย หากคนไม่ตั้งใจมองมันจริงๆ ก็จะมองข้ามมันไปโดยปริยาย และมันก็ปรากฏอยู่ในของหลายอย่างในสวนสนุก ทั้งประตู ตึกปลอม หรือแม้แต่กำแพงกั้นโซนก่อสร้าง รวมไปถึง ‘Club 33’ ซึ่งเป็นคลับวีไอพีพิเศษที่ซ่อนอยู่ในสวนสนุกด้วย

ในขณะที่สีแดง มีพลังวิเศษในการทำให้คนรู้สึกหิวได้เมื่อเห็นมัน นั่นคือ ร่างกายของเราจะตอบสนองทางกายภาพกับสีแดง ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น และทำให้เลือดไหลเวียนเร็วขึ้น นั่นแหละที่ทำให้รู้สึกหิวได้ ซึ่งตามร้านอาหารของดิสนีย์มักจะมีส่วนของสีแดงปรากฏอยู่เสมอ

สีเหลือง, ชมพู และส้ม เป็นสามสีที่ทำให้มนุษย์รู้สึกมีความสุข และกระปรี้กระเปร่า จึงไม่แปลกที่เราจะพบเห็นสามสีนี้อยู่ตามเครื่องเล่น หรืออาหารหลายๆ อย่างในปาร์ก รวมไปถึงชุดที่ตัวละครใส่ ส่วนสีเขียวและฟ้า ให้อารมณ์ของความสงบ เราจะสามารถเห็นสีเหล่านี้ได้ในจุดที่ดิสนีย์อยากให้เรารู้สึกชิลล์ เช่น บริเวณป้ายรอคิว ศูนย์เลี้ยงเด็ก หรือห้องพยาบาล

ภาพของ Smellitizer ที่ซ่อนอยู่ตามตึก

กลิ่นหอมฟุ้งที่สะกดคนเอาไว้ในโลกของดิสนีย์

แค่ก้าวเท้าเข้าไป ก็สัมผัสได้ถึงกลิ่นหอมๆ ลอยฟุ้งอยู่โดยรอบ และถ้าผ่านไปโซนอื่น หรือกำลังเล่นเครื่องเล่นอยู่ ก็ได้กลิ่นอย่างอื่นลอยมาเตะจมูกเสมอ เพราะดิสนีย์ใช้นวัตกรรมที่เรียกว่า Smellitizer หรือเครื่องปล่อยกลิ่น ติดอยู่ตามจุดต่างๆ ในปาร์ก หากมองผ่านๆ อาจจะคิดว่ามันคือลำโพง แต่จริงๆ แล้วเจ้าสิ่งนี้แหละ คือตัวปล่อยกลิ่นที่ทำหน้าที่ส่งกลิ่นหอมๆ (หรืออาจจะไม่หอมนัก) เพื่อหลอกประสาทรับรู้กลิ่นของแขกผู้มาเยือน เช่น บริเวณตามร้านขนมก็จะได้กลิ่นหอมอ่อนๆ ของวานิลลา ที่นอกจากจะช่วยให้รู้สึกดีแล้ว ยังช่วยให้หิวอีกด้วย หรือจะเป็นตรงทางเข้าปาร์ก ที่อาจได้กลิ่นป็อปคอร์น, เครื่องเล่น Pirates Of the Caribbean ที่มีกลิ่นไม้เก่าเปียกๆ และกลิ่นเค็มของทะเลปล่อยออกมา, เครื่องเล่น Haunted Mansion จะมีกลิ่นฝุ่นเก่าๆ อยู่เสมอ การที่ดิสนีย์ถึงให้ความสำคัญกับเรื่องของกลิ่นมากขนาดนั้น นั่นก็เพราะกลิ่นจะทำให้มนุษย์เรานึกถึงความทรงจำ เมื่อเราได้กลิ่นอะไรก็ตาม จากที่ไหนสักแห่ง สมองของเราก็จะจดจำสิ่งนั้นโยง เข้ากับสิ่งที่เห็น แน่นอนว่า การได้รับกลิ่นมากๆ ในดิสนีย์แลนด์ สมองก็จะทำการโยงกลิ่นนั้นเข้ากับสถานที่ การกระทำ ความรู้สึก หรือสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ตรงนั้นนั่นเอง

ปราสาทซินเดอเรลล่าตอนฉลองครบรอบ 50 ปีดิสนีย์แลนด์

‘Forced Perspective’ การบังคับมุมมอง เพื่อตัดขาดทุกทัศนวิสัยจากโลกภายนอก

หากจะแปลคำว่า ‘Forced Perspective’ ให้เข้าใจง่ายที่สุด มันก็คือ การหลอกการรับรู้ของดวงตามนุษย์ ให้คิดว่าสิ่งที่เห็นนั้นสูงกว่า หรือกว้างไกลกว่าความเป็นจริง ซึ่งดิสนีย์ถือได้ว่าเป็นเจ้าแห่งเทคนิคนี้เลยก็ว่าได้ แม้ว่าดิสนีย์แลนด์นั้นจะใหญ่มากก็จริง แต่ก็ยังมีพื้นที่จำกัดที่จะแบ่งแยกแต่ละโซนในสวนสนุกออกจากกัน รวมไปถึงการจัดสรรพื้นที่ภายในโซนต่างๆ ด้วย ยกตัวอย่างเช่น หน้าต่างบนตึกชั้นสอง และชั้นสามในสวนสนุกนั้น จริงๆ แล้วมีขนาดเล็กกว่าที่ตาเราเห็น แต่มันกลับส่งผลให้เรารู้สึกว่าตึกนั้นสูงมากกว่าความเป็นจริง หรือแม้แต่ปราสาทดิสนีย์ก็มีหน้าต่าง และอิฐบนผนังที่เล็กลงเรื่อยๆ จากด้านล่างสู่ด้านบน นั่นทำให้ปราสาทดูสูงมากๆ นอกจากนี้ ดิสนีย์ยังควบคุมการมองเห็นของแขกทุกคนในสวนสนุกด้วย โดยออกแบบทุกสิ่งมาเพื่อป้องกันไม่ให้แขกคนไหนมองทะลุออกไปเห็นโลกภายนอกได้ ราวกับว่าทุกคนอยู่ในโลกของดิสนีย์แบบสมบูรณ์ แม้แต่เครื่องเล่นสูงๆ อย่าง ‘Tower of Terror’ หรือลิฟต์ตก ที่ถึงจะขึ้นลิฟต์ไปสูงแค่ไหน เมื่อมองออกไปจากเครื่องเล่นก็จะเห็นได้แค่สุดเขตของดิสนีย์แลนด์เท่านั้น

ภาพโชว์จำนวนเวลาที่จะต้องรอคิวในเครื่องเล่นที่ดิสนีย์แลนด์

คิวเครื่องเล่นที่แสนยาวนาน ไม่ใช่เรื่องทรมานอย่างที่คิด

การต่อคิวเครื่องเล่นเป็นอะไรที่หลายๆ คนแค่นึกถึงก็เหนื่อยแล้ว แต่ทำไมทุกครั้งที่ไป Disneyland ยังคงเห็นคนต่อคิวกันไม่รู้จักท้อ อย่างแรกเลยคือ บริเวณต่อคิวที่ถูกคิดมาแล้วเป็นอย่างดี สมมติว่า เราต่อคิวแล้วเห็นว่า ก่อนหน้ามีคนต่ออยู่เยอะมากๆ ก็คงมีความรู้สึกท้อใจกันบ้างว่า เมื่อไรจะถึงเสียที จุดต่อคิวในเครื่องเล่นของดิสนีย์แลนด์จึงถูกออกแบบมาให้ไม่สามารถเห็นแถวที่อยู่ด้านหน้าของตัวเองได้ จะสังเกตว่า บริเวณต่อคิวจะเป็นห้องไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ที่โล่งๆ และภายในห้องก็จะจัดแถวเป็นคิวสลับฟันปลา ส่วนไฟในแต่ละห้องก็จะมืด หรือไม่สว่างนัก เช่น เครื่องเล่น ‘Space Mountain’ รถไฟเหาะในร่มที่จะมีแต่กำแพงเต็มไปหมดในขดแถว แขกก็จะไม่รู้ว่ามีคิวอีกยาวแค่ไหน จนได้เข้าไปถึงในส่วนลึกของเครื่องเล่นแล้ว

อีกทฤษฎีหนึ่งที่ถูกนำมาปรับใช้คือ ‘Machiavellian Twist’ ที่ส่งผลกับความรู้สึกของคนต่อคิวโดยตรง เคยมีความรู้สึกไหมว่าพอไปต่อคิวจริงๆ แล้วไม่ได้นานเท่ากับเวลาที่ขึ้นบอกไว้ นั่นก็เพราะดิสนีย์จงใจขึ้นเวลาที่มากกว่าเวลารอจริงๆ เอาไว้ แขกที่มาจะได้รู้สึกว่า ตัวเองมีเวลาเที่ยวต่อมากกว่าที่คิด ไม่ได้เสียเวลาอะไรมากมาย เวลารอจริง 90 นาที อาจมีการขึ้นโชว์ว่าเป็น 120 นาที นอกจากนี้ยังเป็นการลดจำนวนคนที่จะมาต่อคิวเพิ่มด้วย เพราะหลายคนเมื่อเห็นว่าเครื่องเล่นนี้ต้องต่อคิวนาน ก็อาจจะไม่อยากต่อ และไปเล่นเครื่องเล่นอื่นที่เวลารอสั้นกว่า

The Happiest Place On Earth: สวนสนุกในฝัน ดินแดนแห่งความสุข

ด้วยความใส่ใจ และเวทมนตร์ในการหลอกประสาทสัมผัสของแขก ไม่แปลกเลยที่ทุกคนต่างก็มีประสบการณ์ที่น่าประทับใจ และอยากที่จะกลับไปเยี่ยมเยือนสถานที่ที่มีความสุขที่สุดในโลกซ้ำๆ ตามความตั้งใจของทีมสร้างสวนสนุกทุกคนที่ต้องการจะสร้าง ‘ประสบการณ์’ และ ‘ความทรงจำ’ อันล้ำค่าให้กับผู้มาเยือน ครั้งหน้าหากใครได้มีโอกาสไปเที่ยวดิสนีย์แลนด์ อาจเปิดบทความนี้ขึ้นมา และลองสังเกตรายละเอียดเล็กๆ รอบตัวในสวนสนุก ที่จริงแล้วเราอยากให้ทุกคนได้ลองถามคำถามอะไรก็ได้ (ที่เหมาะสม และไม่หยาบคาย) กับพนักงานในดิสนีย์แลนด์ดูสักครั้ง อาจเป็นคำถามไร้สาระ หรือคำถามที่ถามเล่นๆ ก็ได้ Cast Members ทุกคนจะมีวิธีให้คำตอบที่น่าสนใจ และน่ารักมากๆ อาจจะได้ความทรงจำดีๆ และประสบการณ์อันน่าประทับใจจากดิสนีย์แลนด์เหมือนที่เราได้รับมาเสมอทุกครั้งที่ไปเที่ยวก็ได้นะ

อ้างอิง

Disney Dose

Disney Food Blog

All Ears

Duchess of Disneyland

Pixie Dust and Passposts