Daily Pickup

Eco-Quirks: สารพันแคมเปญสิ่งแวดล้อมที่แปลก แหวก และน่าสนใจ

หนึ่งประเด็นที่ถูกจับตามองจากสังคมโลกมาตลอดระยะเวลาหลายปีมานี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องของ ‘สิ่งแวดล้อม’ และเมื่อพูดถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมทุกวันนี้ก็คงหนีไม่พ้นแคมเปญรณรงค์ และเหล่านักเคลื่อนไหวที่พยายามออกมาส่งเสียงเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในสังคม แต่ความท้าทายที่ใหญ่มากสำหรับการ ‘รักษ์โลก’ ก็ไม่ใช่อะไรอื่นไกล นั่นก็คือ การที่เสียงของพวกเขาไม่มีคนฟัง ไม่มีคนสนใจ วันนี้ EQ เลยรวบรวมแคมเปญสิ่งแวดล้อมสุดครีเอทีฟที่ก้าวข้ามเส้นของแคมเปญสิ่งแวดล้อมทั่วไป รับรองได้เลยว่า ถ้าแคมเปญเหล่านี้เกิดขึ้นจริงในบ้านเราได้ เรื่องสิ่งแวดล้อมจะไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป

Photo Credit: LADbible Group

‘Trash Isles’ ประเทศเสมือน ที่เปรียบเป็นอนุสรณ์ย้ำเตือนปัญหาขยะทะเล

เริ่มต้นกันที่แคมเปญสุดครีเอทีฟอย่าง ‘Trash Isles’ แคมเปญที่เป็นเหมือนเครื่องหมายย้ำเตือนว่า ขยะทะเลเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่ควรถูกมองข้าม ด้วยการประกาศก่อตั้งประเทศจากขยะพลาสติกในทะเล! ย้อนกลับไปในปี 2017 ขยะในมหาสมุทรแปซิฟิก มีจำนวนมากจนหากนำมารวมกันจะสามารถมีขนาดเท่ากับประเทศฝรั่งเศสได้เลย Plastic Ocean Foundation จึงร่วมกับ LADbibleur สร้างแคมเปญนี้ขึ้นมา โดยประกาศก่อตั้ง ‘ประเทศขยะ’ แห่งแรกของโลกขึ้นมา พร้อมธงชาติ สกุลเงิน พาสปอร์ต และดีเทลเสมือนจริงอีกมากมาย เพื่อสร้างแรงกระเพื่อม และความสนใจจากคนทั่วไป รวมถึงองค์การสหประชาชาติด้วย โดยแคมเปญนี้ถูกดำเนินการผ่าน Change.org จนมีผู้คนเข้าร่วมลงนามเป็นสมาชิกประเทศเสมือนนี้ พร้อมยื่นคำร้องให้ประกาศ ‘Trash Isles’ เป็นประเทศอย่างเป็นทางการ จำนวนกว่า 140,000 คน จากทั่วทุกมุมโลก นับว่าเป็นหนึ่งในแคมเปญครีเอทีฟที่เรียกความสนใจของคนในสังคมได้เป็นอย่างดี

เมื่อเราดูปริมาณขยะในปี 2022 ของประเทศไทย จากกรมควบคุมมลพิษจะพบว่า มีปริมาณขยะกว่า 25.70 ล้านตัน และขยะกว่า 7.1 ล้านตัน ถูกกำจัดอย่าง ‘ไม่ถูกวิธี’ หากเรามีแคมเปญครีเอทีฟแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยบ้าง การสร้างความตระหนักรู้เรื่องขยะอาจจะกลายเป็นเรื่องสนุก และน่าสนใจมากขึ้น

Photo Credit: Newsweek

บอกลาโลกใบนี้ พร้อมสิ่งดีๆ ที่ทิ้งเอาไว้

เมื่อต้นปีที่ผ่านมาผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ประกาศให้ ‘Human Composting’ หรือการจัดการร่างผู้ตายด้วยการย่อยสลายให้เป็นดิน หรือปุ๋ย เป็นหนึ่งในวิธีการจัดการศพอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้นิวยอร์กกลายเป็นรัฐที่ 6 ของอเมริกาที่วิธีจัดการร่างผู้เสียชีวิตแบบนี้เป็นสิ่งถูกกฎหมาย นับตั้งแต่ปี 2019 ซึ่งแนวคิดเรื่องการจัดการศพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นนั้นมีหลากหลายวิธี ทั้งการใช้เห็ดเพื่อย่อยสลายศพ ฟรีซดรายศพก่อนนำไปป่นเป็นผง แถมยังไม่ใช่สิ่งใหม่ในวงการสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ย้อนกลับไปในช่วงปี 2016 แอนนา ชิเทลลี่ (Anna Citelli) และ ราอูล เบรทเซล (Raoul Bretzel) ดีไซเนอร์ชาวอิตาลี ได้เริ่มโปรเจกต์ ‘Capsula Mundi’ หรือโลงศพรักษ์โลกจากวัสดุชีวภาพที่ย่อยสลายได้ 100% ภายใต้แนวคิดที่ว่า ‘การตายไม่ใช่จุดสิ้นสุด แต่เป็นการเริ่มต้นของการกลับคืนสู่ธรรมชาติ’ และในปี 2019 ดีไซเนอร์คู่นี้ยังได้ผลิต Capsula Mudi ขนาดย่อ เพื่อทำหน้าที่เป็นโกศเก็บอัฐิอีกด้วย

จากแคมเปญนี้เราคงเห็นใแล้วว่า หากการตายของเราสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสิ่งแวดล้อมได้ ก็คงเป็นไอเดียที่น่าสนใจ หากเราตายไปแล้วได้ต้นไม้เพิ่มขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่ตายไปแล้วใช้ต้นไม้ทำโลงศพ อย่างน้อยๆ การตายของเราก็อาจจะได้เป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งใหม่ที่ดีขึ้น

Photo Credit: CBC

แสงสว่างจากเพื่อนรักสี่ขา พลังงานไฟฟ้าจากอึ

กลั้นหายใจกันสักนิด เพราะเรากำลังจะพาทุกคนไปสัมผัสกับแคมเปญรักษ์โลก ที่เปลี่ยน ‘มูลสุนัข’ เป็นพลังงานไฟฟ้า แคมเปญนี้เกิดขึ้นในย่านมัลเวิร์นฮิลส์ (Malvern Hills) มณฑลวูสเตอร์เชอร์ (Worcestershire) ประเทศอังกฤษ ในปี 2018 เมื่อ ไบรอัน ฮาร์เปอร์ (Brian Harper) นักวิทยาศาสตร์ และวิศวกร เกิดไอเดียในการเปลี่ยนมูลสุนัขในละแวกเพื่อนบ้านเป็นพลังงานไฟฟ้า และใช้มันสร้างแสงสว่างผ่านเสาไฟถนน โดยเหล่าเจ้าของสุนัขเพียงแค่เก็บอุจจาระของน้องหมาใส่ในถุงกระดาษที่ไบรอันเตรียมเอาไว้ให้ แล้วนำไปทิ้งในถุงบริเวณฐานของเสาไฟ เพื่อเข้าสู่กระบวนการย่อยสลายให้เกิดแก๊สในการผลิตพลังงานไฟฟ้านั่นเอง ซึ่งอึของน้องหมาจำนวน 10 ถุง สามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ถึง 2 ชั่วโมงเลยทีเดียว ซึ่งการเปลี่ยนมูลสัตว์เป็นพลังงานไฟฟ้านั้นเริ่มมีการใช้งานอย่างเป็นปกติในหลายๆ เมืองทั่วโลกแล้วอีกด้วย

หากมองในบริบทของเมืองไทยที่มีสุนัขจรจัดอยู่เป็นจำนวนมาก น้องหมาที่เป็นสัตว์เลี้ยงเองก็มีไม่น้อย ถ้าเราสามารถเปลี่ยนอึสุนัขให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ นอกจากสภาพแวดล้อมที่สะอาดแล้ว ทางเดินก็จะมีแสงสว่างสร้างความปลอดภัยให้กับคนในเมือง แถมยังเป็นการใช้พลังงานสะอาดอีกด้วย เพราะสุดท้ายแล้วไม่ว่าจะหมาจร หมาเลี้ยง หรือหมาจรที่เคยเป็นหมาเลี้ยง หากอึเรี่ยราดก็คงจะเป็นปัญหาได้ไม่ต่างกัน หากมีการจัดการที่ครีเอทีฟแบบนี้เข้ามา อาจจะไม่ได้ช่วยให้หมาเลิกอึเรี่ยราด แต่ก็น่าจะช่วยให้คนเลี้ยงส่วนหนึ่งมีความรับผิดชอบมากขึ้นได้

Photo Credit: Natural Products News

‘คาเฟ่ขยะ’ เมื่อขยะมีค่า และพาให้เราอิ่มท้อง

‘คาเฟ่’ เทรนด์หนึ่งที่ไม่เคยหลุด หรือหายไปจากกระแสสังคมในบ้านเรามาหลายปี เราเลยขอยกแคมเปญสิ่งแวดล้อมที่จะทำให้ภาพคาเฟ่ในหัวของใครหลายๆ คนเปลี่ยนไปมาฝากกัน นั่นก็คือ ‘คาเฟ่ขยะ’ แม้ว่าได้ยินชื่อแล้วบางคนอาจจะรู้สึกยี้ หรือไม่อยากสัมผัสประสบการณ์นี้ แต่ไอเดียนี้เกิดขึ้นในปี 2018 ที่ Covent Garden ในประเทศอังกฤษ โดย Ecover บริษัทผลิตน้ำยาทำความสะอาดภายในครัวเรือนจากประเทศเบลเยี่ยม ได้เปิดป็อปอัพคาเฟ่ชื่อว่า ‘The Rubbish Café’ ที่ให้คนนำขยะพลาสติกมาแลกเป็นอาหาร และเครื่องดื่มในคาเฟ่ แถมยังสามารถรับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดแบบรีฟิลใส่บรรจุภัณฑ์รีไซเคิลของแบรนด์กลับไปใช้ที่บ้านได้อีกด้วย และไม่ใช่แค่ที่อังกฤษเท่านั้น เพราะในประเทศอินเดียเองก็มี ‘Garbage Cafe’ ในเมือง Ambikapur รัฐ Chhattisgarh ที่เปิดให้คนนำขยะพลาสติกมาแลกอาหารได้ และนำขยะที่ได้ไปทำเป็นถนนในเมืองอีกด้วย

หากคาเฟ่เป็นเทรนด์ในเมืองไทยมาตลอด การมีป็อปอัพคาเฟ่ขยะ เพื่อสร้างการตระหนักรู้เรื่องการจัดการขยะก็นับว่าเป็นแคมเปญที่น่าสนใจ และน่าจะสามารถดึงดูดความสนใจให้กับคนในสังคมได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว ในเมื่อเราเลิกใช้พลาสติกไม่ได้ อย่างน้อยๆ ก็ใช้มันให้เกิดประโยชน์ และกำจัดมันอย่างถูกวิธีก็คงไม่เลว

Photo Credit: Boston Public Library

เมื่อต้นไม้มีสิทธิในร่างกายตัวเอง แคมเปญที่มอบสิทธิ์ให้ต้นไม้ได้อยู่รอด

นี่อาจจะเป็นแคมเปญสิ่งแวดล้อมที่เก่าแก่ที่สุดที่เรายกขึ้นมาในวันนี้ ซึ่งมันก็คือ ‘Tree That Owns Itself’ ที่เจาะจงถึงต้นโอ๊กขาวในเมืองเอเธนส์ รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีที่มาที่ไปจากช่วงศตวรรษที่ 19 จากพันเอก วิลเลียม เอช. แจ็กสัน (Colonel William H. Jackson) ที่รักต้นโอ๊กต้นนี้มาก จนยกกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายให้กับต้นไม้ต้นนี้ พร้อมทั้งที่ดินที่มันตั้งอยู่ แม้มันจะเป็นการกระทำในเชิงสัญลักษณ์ ไม่มีข้อบังคับใช้จริงตามกฎหมาย เนื่องจากทรัพย์สินไม่สามารถเป็นเจ้าของตัวเองได้ แต่นี่คือหนึ่งในสัญลักษณ์ที่สร้างภาพจำ และการตระหนักรู้ให้กับชาวเมือง ในเรื่องของการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ แม้ว่าในปี 1942 พายุจะทำให้ต้นโอ๊กต้นนี้โค่นลงไปแล้วก็ตาม แต่ก็ได้มีการปลูกต้นใหม่ขึ้นทดแทน จากลูกโอ๊กของต้นเดิม โดยเรียกมันว่า ‘Son of the Tree That Owns Itself’ แม้จะเป็นไอเดียที่ไม่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย แต่มันก็เป็นการกระทำที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญอย่างต้นไม้ใหญ่

เช่นเดียวกันกับในประเทศไทย หากมีการใช้แคมเปญที่สร้างสรรค์ และน่าสนใจเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ในเขตเมือง คนก็น่าจะให้ความสนใจมากขึ้น ต้นไม้ใหญ่เหล่านั้นก็จะกลายเป็นหมุดหมายที่สำคัญสำหรับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่อๆ ไป เพราะต้นไม้ใหญ่คือ สิ่งที่ควรอนุรักษ์ไว้ มากกว่าการปลูกทดแทน และมันก็ดูจะน่าเศร้าไปสักหน่อยที่เราได้เห็นต้นไม้ใหญ่ขาดการดูแลรักษา โดนตัดจนกุด จนโกร๋น ไร้ซึ่งความสง่า และร่มเงาอย่างที่มันควรจะเป็น

Photo Credit: Freepik

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ของแคมเปญอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่อาจจะฟังดูแปลกๆ แต่ก็มีความน่าสนใจ ซึ่งความน่าสนใจนี้เองที่จะช่วยทำให้คนได้รับข้อมูล และตระหนักรู้ถึงประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การที่เราหยิบแคมเปญเหล่านี้ขึ้นมานำเสนอ ไม่ใช่เพียงแต่ต้องการให้ทุกคนได้รู้จักกับแนวความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นในแวดวงสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่อยากชวนให้ผู้อ่านได้ลองคิดตามว่า หากแคมเปญเหล่าถูกนำมาปรับใช้ในบริบทของเมืองไทยบ้างจะเป็นอย่างไร โดยส่วนตัวผู้เขียนมองว่าการมีแคมเปญที่เกิดขึ้นมาในระยะสั้นๆ แต่สามารถสร้างความสนใจให้คนอยากรู้ และตระหนักถึงปัญหาต่างๆ ก็อาจจะเป็นวิถีทางที่เข้าใจง่าย สนุก และเหมาะสมกับสังคมในยุคปัจจุบันก็ได้ อย่างน้อยที่สุด เราก็ได้รู้ว่าสิ่งแวดล้อมที่เราว่าสำคัญนั้น ไม่ได้สำคัญแค่เพราะมันเป็นเทรนด์ เป็นกระแส

อ้างอิง

Creative Citizen
TrashHero

The Guardian

becommon

PPTVHD36

Ecover

The Economic Times
Atlas Obscura