Daily Pickup

อีเวนต์ Top Spender ควรไปต่อหรือพอแค่นี้

Photo credit: Post Today

กระแสความนิยมของศิลปิน นอกจากจะดูได้จากยอด follower และ engagement ต่างๆ  “Top Spender” ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ใช้วัดความดังได้ด้วยเช่นกัน มันก็คืออีเวนต์ที่กลุ่มแฟนคลับแข่งกันซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่จับมือร่วมกับศิลปินคนโปรด เพื่อดันตัวเองให้เป็นผู้จ่ายยอดเงินสูงสุด จึงจะได้รับสิทธิพิเศษจากศิลปิน ซึ่งในบางงาน ยอดอาจสิ้นสุดแค่หลักหมื่น แต่สำหรับบางงานนั้นพุ่งไปถึงหลักแสนก็มี แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมศิลปินและแฟนคลับมีเงินสะพัดอย่างมหาศาล ไม่เว้นแม้ในช่วงเศรษฐกิจอ่อนแอจากแรงกระแทกของโรคระบาด

Photo credit: Voice TV

เมื่ออีเวนต์แรกๆ มีกระแสตอบรับเป็นที่น่าพอใจ อีเวนต์ต่อมาของศิลปินคนเดิมก็มักจะตามมาด้วยท็อปสเปนเดอร์อีกเช่นกัน เพราะเป็นผลดีกับตัวแบรนด์ ทั้งในแง่ของการสร้างยอดขายมหาศาลในเวลาอันสั้น และเป็นการสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์หรือสินค้าใหม่ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากแฟนคลับจำนวนไม่น้อยพร้อมที่จะเปย์เพื่อสนับสนุนศิลปิน แลกกับสิทธิพิเศษบางอย่างที่เหนือกว่าแฟนคลับคนอื่นๆ เช่น ได้ถ่ายรูปคู่ ไปดินเนอร์ร่วมโต๊ะ หรือรับลายเซ็นสดจากศิลปิน เป็นต้น

ความเห็นต่างท่ามกลางสมรภูมิ Top Spender

ตลอดเวลาที่ผ่านมา เมื่อไหร่ก็ตามที่มีงานท็อปสเปนเดอร์ ก็มักจะมีเสียงของแฟนคลับที่ไม่เห็นด้วยกับงานลักษณะนี้ โดยเฉพาะอีเวนต์ที่เกิดขึ้นติดๆ กัน กับศิลปินคนเดิม “บ้างก็มองว่ามันเป็นกิจกรรมที่ผลักแฟนคลับตัวเล็ก ๆ ที่ไม่ได้มีงบประมาณให้ออกไปนอกวงโคจร เพราะค่ายทำให้ศิลปินมีแต่อีเวนต์ที่ต้องจ่ายเงินเท่านั้นถึงจะได้เจอ” / “มองว่าท็อปสเปนเดอร์เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นกับยอดขายขนาดนั้น แบรนด์ยังสามารถทำการตลาดแบบอื่นที่ win-win กับทุกฝ่ายได้” / “อยากให้ต้นสังกัดผลักดันศิลปินไปงาน CSR ที่แฟนคลับไม่ต้องเสียเงินมากๆ ดูบ้าง เพื่อภาพลักษณ์ที่ดีของศิลปิน ไม่ใช่ดูห่างไกลจนจับต้องไม่ได้” / “มองว่าแบรนด์ฉลาดแกมโกงที่จัดอีเวนต์แบบนี้ เพื่อให้ได้รายได้สูง แต่ลดต้นทุนด้วยการไม่ต้องจ้างศิลปินคนนั้นเป็นพรีเซนเตอร์”

ส่วนคนที่เคยเป็นผู้ทำยอดสูงสุด บ้างก็ให้ความเห็นว่า “ยังพร้อมจ่ายเงินเพื่อสนับสนุนศิลปินอยู่ เพราะเข้าใจว่ารายได้และชื่อเสียงต้องพึ่งพางานพวกนี้ แต่ถ้าแบรนด์ที่เคยเปย์แล้วไม่ประทับใจกลับมาจัดงานอีก ก็อาจจะพัก แล้วไปสนับสนุนงานอื่นแทน” / “การแข่งขันของแบรนด์ค่อนข้างรุนแรง ถึงจะพร้อมเปย์ แต่ตัดสินใจว่าจะเลือกเปย์เป็นงานๆ ไป ตามสิทธิพิเศษที่น่าสนใจ หรือประวัติการจัดงานที่ผ่านมาของแบรนด์” เป็นต้น 

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดจากข้อความเหล่านี้ คือทุกความเห็นล้วนไม่ได้โจมตีศิลปิน แต่กล่าวตำหนิต้นสังกัดศิลปิน และแบรนด์ผู้จัดกิจกรรมเสียมากกว่า เพราะเข้าใจดีว่าศิลปินอาจไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจในการเลือกรับงานด้วยตัวเอง

มิว ศุภศิษฏ์ กับการประกาศไม่รับงาน Top Spender

Photo credit: Sanook

ท่ามกลางกระแสดุเดือดระหว่างการจัดงานท็อปสเปนเดอร์ของหลายแบรนด์ กับการเห็นต่างของแฟนคลับและภาวะเศรษฐกิจที่ทรุดตัวลง ในปลายปี 2020 ศิลปินและนักแสดงชื่อดังอย่าง มิว - ศุภศิษฏ์ จงชีวีวัฒน์ ที่แฟนคลับทุ่มให้กับงานอีเวนต์และโหวตในรายการต่างๆ ของเขามากถึงหลักล้าน ได้ออกมาประกาศทางไลฟ์สดว่า “จะไม่รับงานท็อปสเปนเดอร์อีก เพราะไม่อยากทำให้ทุกคนลำบาก และอยากให้สนับสนุนที่ผลงานเขามากกว่า เพราะในทุกการออกอัลบั้มของเขา จะมีสิทธิพิเศษให้ผู้ได้เข้าร่วมอยู่แล้ว ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ได้เจอกัน” กลายเป็นกระแสที่ทั้งคนในและนอกแฟนด้อมพูดถึงกันในแง่บวกมาจนถึงตอนนี้ 

“SLR กล้อง ติด ตาย” ตัวอย่างของพลังเห็นต่างจากแฟนคลับ

แม้ความเห็นต่างจากกลุ่มแฟนคลับจะมีมานานหลายปี แต่อีเวนต์ท็อปสเปนเดอร์ก็ยังคงมีมาได้เรื่อยๆ แถมในปีนี้ยังขยายไปยังวงการภาพยนตร์ด้วย อย่างกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นกับภาพยนตร์ "SLR กล้อง ติด ตาย" ซึ่งเดิมทีตั้งใจสร้างความแปลกใหม่ให้วงการภาพยนตร์ไทยด้วยกิจกรรมท็อปสเปนเดอร์เพื่อแลกกับสิทธิพิเศษ แต่กลับถูกกลุ่มแฟนคลับออกมาตำหนิว่า “ด้อยค่าวงการภาพยนตร์ด้วยกิจกรรมที่ไม่เหมาะสม” / “ท็อปสเปนเดอร์จะไปทุกวงการไม่ได้” จนเกิดแฮชแท็ก #majorหยุดเถอะ และตามมาด้วยคำแถลงการณ์จากค่าย พร้อมยกเลิกกิจกรรมในที่สุด

หรือนี่คือจุดเปลี่ยนที่คนทำธุรกิจต้องมองใหม่?

ซึ่งจากทั้งความคิดเห็นที่แตกต่าง มาจนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับภาพยนตร์ SLR ผู้เขียนมองว่าความเห็นต่างของแฟนคลับที่เคยเป็นกำลังเล็กๆ ในอดีต ได้กลายเป็นพลังที่กำลังก่อตัวให้เกิดจุดเปลี่ยนในอุตสาหกรรมบันเทิง แต่อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่าอีเวนต์ท็อปสเปนเดอร์ ในการขายสินค้าอื่นๆ ก็ยังคงมีอยู่ ผู้เขียนจึงถือโอกาสหยิบเอาเรื่องราวเหล่านี้ ไปพูดคุยกับหนึ่งในเจ้าแม่ออร์แกไนเซอร์ที่คร่ำหวอดในวงการอีเวนต์บ้านเรา

Q: ตอนนี้แฟนคลับหลายคนเริ่มรู้สึกเฉยๆ ไปจนถึงไม่ค่อยชอบอีเวนต์แบบนี้แล้ว จากนี้และในอนาคตท็อปสเปนเดอร์จะยังได้ผล และสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำไหม? แล้วแบรนด์ใหม่ที่คิดจะจัดอีเวนต์ลักษณะนี้ จะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน? 

A: ท็อปสเปนเดอร์จะยังได้ผลอยู่ เพราะนักแสดงและศิลปินหน้าใหม่เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ แฟนคลับก็อยากจ่ายเงินเพื่อให้ได้ใกล้ชิดอยู่แล้ว แต่สิ่งที่แบรนด์ควรทำ คือดูแลแผนการตลาดอื่นๆ ให้ดีอย่างต่อเนื่อง เช่น คุณภาพของสินค้า การขายหน้าร้าน การดูแลหลังการขาย และอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่แบรนด์เป็นที่รู้จักแล้ว เพื่อให้ธุรกิจไปต่อได้ ไม่ใช่จัดอีเวนต์ครั้งเดียวจบ แต่ไม่สร้างความประทับใจให้ลูกค้าต่อ หรือจัดติดๆ กัน แล้วไม่พัฒนาอย่างอื่นให้ดีตามไปด้วย

บทสรุป

ทั้งหมดนี้คือความเห็นจากหลายมุมมองของคนในแฟนด้อมศิลปินไทยต่ออีเวนต์ท็อปสเปนเดอร์ สรุปได้ว่า แฟนคลับล้วนมีความเข้าใจในการทำงานของศิลปิน แต่ก็มีความหวังว่าต้นสังกัดจะเข้าใจถึงความยากลำบากของแฟนคลับ ในขณะเดียวกันก็คาดหวังว่าแบรนด์ต่างๆ จะทำการตลาดแบบเป็นมิตรกับลูกค้า โดยไม่ขูดเลือดขูดเนื้อกันมากจนเกินไปในยุคที่เศรษฐกิจฝืดเคือง ส่วนทางออร์แกไนเซอร์นั้นมองว่าท็อปสเปนเดอร์ยังคงไปต่อได้อีก แต่แบรนด์ต้องไม่ลืมที่จะควบคุมดูแลส่วนประกอบอื่นให้ดีต่อลูกค้าด้วย เพราะอีเวนต์นี้ช่วยสร้างกระแสและรายได้เป็นเพียงครั้งคราว แต่สิ่งที่จะทำให้แบรนด์คงอยู่ต่อไปได้คือ “ลูกค้า” ซึ่งอาจมาจากกลุ่มแฟนคลับของศิลปินนั่นเอง

Photo credit: Anthony DELANOIX

ในส่วนของผู้เขียน ที่เป็นมนุษย์แฟนคลับและทำงานในสายงานการตลาด อยากเสริมอีกมุมมองว่า ตราบใดที่ศิลปินยังเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ ก็คงแยกขาดจากอีเวนต์ที่ลูกค้าต้องทุ่มเทเงินไม่ได้ เพราะสิทธิพิเศษของท็อปสเปนเดอร์ช่วยกระตุ้นสัญชาติญาณของมนุษย์ ที่อยากได้รับความพิเศษเหนือผู้อื่นได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าแบรนด์ใดอยากเติบโตทางด้านยอดขาย ควบคู่กับภาพลักษณ์ที่ดี อาจลองเปลี่ยนจากท็อปสเปนเดอร์ไปเป็นลุ้นรับสิทธิ Lucky Draw หรือสร้างมูลค่าสินค้าด้วย Limited Edition ที่กระตุ้นให้คนอยากจ่ายมากขึ้นจะดีกว่า

ติดตามและอัปเดตเรื่องเกี่ยวกับ Fandom จากพวกเราได้ที่ Exotic Quixotic