Daily Pickup

‘เฟรยา’ เทพีแห่งความรักที่เกิดขึ้นและแตกดับด้วยน้ำมือมนุษย์

Photo credit: Anadolu Agency


ในตำนานนอร์ส ‘เฟรยา’ (Freya) เป็นเทพีแห่งความรัก ความงาม และความอุดมสมบูรณ์  แต่ในปัจจุบัน เฟรยาคือชื่อของตัววอลรัสวัย 5 ปี น้ำหนัก 600 กิโลกรัม ที่ถูกทางการนอร์เวย์ทำการการุณยฆาตเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 2022 ที่ผ่านมา จากจุดเริ่มต้นที่เกิดจากความรักที่มนุษย์มอบให้

วอลรัสเพศเมียตัวนี้ปรากฏตัวเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2019 ทั้งในประเทศอังกฤษ เดนมาร์ก เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ และเป็นเซเลบข่าวดังในทุกพื้นที่ กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความสุขของผู้คนจนถูกตั้งชื่อว่า ‘เฟรยา’ เมื่อเฟรยามีชื่อเสียงโด่งดังก็มีผู้คนมากมายอยากเข้าไปดูและใกล้ชิด แม้กระทั่งเฟรยาเองก็ชอบขึ้นมานอนอาบแดดอยู่บนเรืออยู่ใกล้ชิดกับคน แต่จุดเริ่มต้นด้วยความรักกลับจบลงด้วยความตาย เมื่อผู้คนเริ่มไม่เชื่อฟังคำเตือนของทางการที่ให้เว้นระยะห่าง แต่คนจำนวนมากนั้นเห่อเฟรยา อยากถ่ายรูปถ่ายคลิปลงสื่อโซเชียล ถึงแม้จะมีการขู่ปรับเงินคนที่เข้าใกล้เฟรยามากเกินไปก็ตาม ซึ่งการโดนคนรุมล้อม อาจทำให้วอลรัสเกิดความเครียดหรือคิดได้ว่ากำลังถูกโจมตี จึงสร้างความกังวลว่าเฟรยาอาจจะทำร้ายมนุษย์จนบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นเสียชีวิต  แล้วก็ยังมีคนที่กลัวจนไม่กล้าว่ายน้ำ นอกจากเฟรยาจะเคยขึ้นไปบนเรือละแวกนั้นจนทำให้จมหรือเสียหาย ก็ยังมีข่าวว่าวอลรัสจมเรือสำรวจวิทยาศาสตร์ของกองทัพรัสเซีย รวมทั้งข่าววอลรัสทำให้ผู้ดูแลสัตว์และนักท่องเที่ยวเสียชีวิต หลังจากโดนลากลงไปใต้น้ำในประเทศจีน

Photo credit: Globals News


วอลรัสไม่ใช่สัตว์ดุร้าย แต่ด้วยน้ำหนัก 600 กิโลกรัม จึงทำให้อาจเป็นอันตรายหรือเกิดเหตุการณ์สุดวิสัยได้ ทางการนอร์เวย์กังวลถึงจุดนี้เป็นอย่างยิ่ง โดย ‘แฟรงก์ แบกก์-เจนเซน’ (Frank Bakke-Jensen) อธิบดีกรมประมงได้ยินยันว่านี่คือการตัดสินใจที่ดีที่สุด เขากล่าวว่า “แน่นอนว่าสวัสดิภาพของสัตว์เป็นเรื่องสำคัญ แต่ความปลอดภัยของคนนั้นสำคัญยิ่งกว่า” ซึ่งแบกก์-เจนเซนได้ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยทางทะเลของนอร์เวย์ในการเคลื่อนย้ายเฟรยา แต่ก็เล็งเห็นว่าความซับซ้อนในการปฏิบัติการเป็นหนทางที่ยากจะเป็นไปได้ โดยเขาได้ย้ำว่ามีการคำนึงถึงสวัสดิภาพของสัตว์ในหลายปัจจัย เมื่อเห็นว่าไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการุณยฆาต เพราะการเคลื่อนย้ายจะทำให้เฟรยาบอบช้ำจนเกินไป เนื่องจากมีบทเรียนจากการเคลื่อนย้ายสัตว์ที่มีน้ำหนักมากอย่างปลาวาฬเบลูกาที่ฝรั่งเศส ซึ่งต่อมาก็ต้องใช้วิธีการุณฆาต เนื่องจากปลาวาฬมีความเครียดและร่างกายอ่อนแอมากเกินไป

Photo credit: Alpes Holidays

ทั้งนี้ การจบชีวิตของเฟรยาก็ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนเห็นด้วย และมองว่าเป็นการด่วนตัดสินใจของทางการนอร์เวย์ นักวิจัยจากประเทศนิวซีแลนด์ผู้มีประสบการณ์ในการเผชิญหน้าระหว่างมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในทะเล อาทิ สิงโตทะเลที่เคลื่อนย้ายจากแอนตาร์กติกมาประเทศแถบแปซิฟิก เขาเชื่อว่านี่คือเรื่องที่ผิดศีลธรรมและไม่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง และทางที่ดีที่สุดคือต้องให้ความรู้แก่สาธารณชนในการปฎิบัติตัวอย่างไรให้ปลอดภัย ทั้งนี้ แบกก์-เจนเซนได้กล่าวว่าพวกเขาได้สังเกตการณ์ร่วมอาทิตย์ และเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าผู้คนต่างเมินเฉยกับคำแนะนำในการรักษาระยะห่าง ซึ่งนอกจากความเสี่ยงที่มนุษย์จะโดนทำร้าย สำหรับสัตว์เอง นี่ก็ไม่ใช่สภาวะความเป็นอยู่ที่ดีต่อชีวิต ทั้งนี้ นักวิจัยจาก University of South-Eastern Norway ได้กล่าวว่าวันหยุดฤดูร้อนกำลังจะจบลง และไม่นานคนก็จะแยกย้าย การตัดสินใจเช่นนี้จึงเป็นการตัดสินใจที่หุนหันพลันแล่นเกินไป ส่วนศาสตราจารย์จาก The Arctic University of Norway ได้แย้งว่าอันตรายที่เกิดจากเฟรยาคือความเป็นไปได้มากกว่าสิ่งที่ถูกพิสูจน์แล้ว และไม่ได้มีความเสี่ยงไปกว่าอันตรายที่มีโอกาสพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน

Photo credit: Republic World

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า โลกร้อนคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้วอลรัสพักจากการหาอาหารมาอยู่บนผืนดินมากขึ้น และย้ายถิ่นฐานไกลจากแหล่งอาหารเดิมมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแน่นอนว่าเหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับวอลรัส แต่ยังมีสัตว์อื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง โดย ‘คริสต้า แวน เดอ ลินด์’ (Krista van der Linde) จาก WWF ได้เน้นย้ำว่า นี่คือความรับผิดชอบที่จะต้องเรียนรู้ เพื่อจะอยู่กับสัตว์ผลัดถิ่นและจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ในธรรมชาติ 

Photo credit: Polar Journal


เฟรยาคือหนึ่งในสัตว์จำนวนมากที่ไม่สามารถเลือกความเป็นอยู่ได้ นอกจากการปรับตัวย้ายถิ่นฐานเพื่อความอยู่รอด โดยมีมนุษย์เป็นผู้กำหนดว่าจะให้หรือไม่ให้ความสนใจ ไปจนถึงความสนใจที่มากเกินไป จากสัตว์ที่อยู่อย่างผิดธรรมชาติอยู่แล้ว ก็ยิ่งผิดธรรมชาติไปมากกว่าเดิม แล้วมนุษย์ก็ยังเป็นผู้กำหนดว่าสิ่งไหนจะไม่เบียดเบียนความเป็นอยู่ของตนเอง ทั้งที่การใช้ชีวิตของมนุษย์ต่างหากที่ไปเบียดเบียนและทำลายความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตอื่น อันนำไปสู่หนทางที่ยากจะเลือก จนถึงจุดจบของหนึ่งชีวิต และอีกหลายๆ ชีวิตเพื่อการมีอยู่ของมนุษย์ เมื่อมนุษย์คือผู้มีสิทธิ์เลือก มนุษย์จึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบ


อ้างอิง
The Washington Post

The New York Times

BBC - Walrus Freya who became attraction in Norway's Oslo Fjord put down

BBC - Freya the walrus: Did she have to be euthanised?