โลกของ Art Toy กับวัฒนธรรมของสะสมในไทย
เมื่อไม่นานมานี้ตลาด ‘Art Toy’ เกิดความปั่นป่วนครั้งใหญ่ เมื่อ ‘ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล’ หรือ ‘LISA BLACKPINK’ โพสต์ไอจีสตอรี่ที่มีตุ๊กตา ‘ลาบูบู้’ (Labubu) ขนสีขาว ตาสีฟ้า สวมชุดเอี๊ยมสุดน่ารักอยู่ในอ้อมกอด ทำเอาเจ้าลาบูบู้ราคาพุ่งกระฉูด จากที่แพงอยู่แล้วก็ยิ่งแพงขึ้น แถมหายากขึ้นไปอีก กลายเป็นปรากฎการณ์ลาบูบู้ฟีเวอร์เพียงชั่วข้ามคืน แต่สำหรับใครที่ยังงง ๆ มึน ๆ ว่าเจ้าลาบูบู้มันคืออะไร แล้วทำไม Art Toy ถึงได้มีอะไรแพงเวอร์ซะขนาดนั้น วันนี้เราจะพาทุกคนไปหาคำตอบกัน
จุดเริ่มต้น Art Toy : ของเล่นที่เป็นมากกว่าของเล่น
จุดเริ่มต้นของ ‘Art Toy Culture’ ต้องย้อนกลับไปในปี พ.ศ.2538 เมื่อ ‘เรย์มอนด์ ชอย’ (Raymond Choy) ศิลปินชาวฮ่องกงชื่อดังได้ทำการออกแบบชุดตุ๊กตาของเล่นชื่อ ‘Qee’ ขึ้นมา ซึ่งความพิเศษของของเล่นชุดนี้คือมันมีรูปร่างคล้ายมนุษย์ แต่มีศีรษะเป็นสัตว์ต่าง ๆ ได้แก่ กระต่าย ลิง หมี และแมว ถือเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างล้ำในยุคที่ของเล่นของสะสมส่วนใหญ่มักจะอิงจากตัวการ์ตูนหรือซูเปอร์ฮีโร่เป็นหลัก และนี่คือจุดเริ่มต้นของสิ่งที่เรียกว่า ‘Art Toy’ อย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน ไม่นาน Art Toy ก็เป็นที่รู้จักในวงกว้างและได้รับความนิยมในระดับสากลมากขึ้น มีบริษัทผู้ผลิตของเล่นหลายเจ้าที่หันมาผลิต Art Toy เช่น บริษัท Medicom Toys ของญี่ปุ่นได้ผลิต ‘Bearbrick’ ที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดีออกมาในปี พ.ศ.2544 หรือบริษัท Kidrobot ของฝั่งสหรัฐอเมริกา ที่เปิดตัว ‘Dunny Series’ ออกมาในปี พ.ศ.2547 เป็นต้น ขณะที่ทางฝั่งของศิลปินนักออกแบบทั้งที่มีชื่อเสียงและโนเนมต่างก็หันมาสร้าง Art Toy ของตัวเองซึ่งผสมผสานความเป็นของเล่นของสะสมเข้ากับงานศิลปะแบบ ‘Pop Art’ เป็นการสร้างสรรค์ตัวละครแบบไม่ต้องมีเนื้อเรื่อง แต่มีรูปลักษณ์โดดเด่นแหวกแนว ที่สำคัญคือผลิตออกมาในจำนวนที่จำกัด ทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น Art Toy บางชิ้นต่อให้มีเงินก็ไม่แน่ว่าจะหาซื้อได้ เกิดเป็นกระแส Art Toy Culture ไปทั่วโลกอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
กระแส Art Toy ในไทย
สำหรับในไทยแลนด์แดนคนดีย์ของเรานั้น เป็นที่รู้กกันดีว่าไวต่อกระแส ‘Pop Culture’ อย่างมาก เรียกว่าไม่เคยที่จะตกเทรนด์เลย ชาวโลกฮิตอะไรก็ฮิตตามได้ไม่ยาก ไล่ตั้งแต่กระแส ‘ตุ๊กตาบลายธ์’, ‘ตุ๊กตาเฟอร์บี้’, ‘ตุ๊กตาม้าโพนี่’ หรือแม้แต่ ‘ตุ๊กตาลูกเทพ’ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่กระแส Art Toy จะเป็นที่นิยมในบ้านเราด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหลาย ๆ คนน่าจะยังไม่รู้ว่านอกจากบ้านเราจะฮิตสะสม Art Toy แล้ว เรายังมีศิลปินที่สร้างสรรค์ Art Toy จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในระดับอินเตอร์อยู่หลายคน ตัวอย่างเช่น ‘นิสา ศรีคำดี’ เจ้าของผลงาน ‘CryBaby’ หรือ ‘เด็กหญิงหน้าเปื้อนน้ำตา’ ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังไปถึงต่างประเทศ หรือ ‘พัชรพล แตงรื่น’ (Alex Face) เจ้าของผลงาน ‘เจ้ามาร์ดี’ กระจ่าย 3 ตาสุดเฟิร์ส ขวัญใจนักสะสมทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึง ‘วิศุทธิ์ พรนิมิตร’ ผู้สร้างสรรค์ Art Toy ชุด ‘น้องมะม่วง’ (Mamuang) ที่เป็นเด็กหญิงทรงผมคล้ายมะม่วงสุดน่ารัก เป็นต้น
นอกจากนี้ เรายังได้เห็น Art toy ในรูปแบบคาร์เรกเตอร์ล้อการเมืองที่ศิลปินชาวไทยหลายคนสร้างสรรค์ขึ้นโดยอิงสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงเวลานั้น ตัวอย่างเช่น ‘The Lovely Uncle’ ของ FatLane17. Popart ที่ล้อกระแสครบรอบ 8 ปี การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ ‘ลุงตู่’ โดยวางจำหน่ายเพียง 40 ตัว และขายหมดในไม่กี่นาที หรือ Art Toy ‘ชัชชาติ’ ที่มีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า ‘Art Toys Chat Chat’ ซึ่งเคยเป็นไวรัลในโซเชียลอยู่พักหนึ่ง เป็นต้น
คอมมูนิตี้ Art Toy ในไทย
อ้างอิงจาก HTF Market Intelligence บริษัทวิจัยตลาดชั้นนำของโลกระบุว่า มูลค่าการนำเข้าสินค้าประเภท Art Toy ในไทยเมื่อปี 2566 นั้นอยู่ที่ราว ๆ 114.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 4,234 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 11.79 เปอร์เซ็นต์ แต่ที่น่าตกใจคือไทยเรามีมูลค่าการส่งออก Art Toy ในปี 2566 มากถึง 251.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 9,237 ล้านบาทเลยทีเดียว ซึ่งนี่แสดงให้เห็นว่าตลาด Art Toy ทั้งในส่วนของนักสะสมและผู้ผลิตของไทยนั้นมีศักยภาพอย่างมาก และด้วยมูลค่าตลาด Art Toy ที่ค่อนข้างใหญ่นี้เอง ทำให้เมื่อไม่นานมานี้ทางบริษัท ‘Pop Mart’ แบรนด์ธุรกิจ Art Toy ยักษ์ใหญ่สัญชาติจีนได้เข้ามาเปิดแฟลกชิปสโตร์แห่งแรกในไทยที่ห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัลเวิลด์ และถือเป็นประเทศที่ 7 ของเอเชียต่อจาก ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และมาเลเซีย
โดยส่วนของนักสะสม Art Toy ในไทยทุก ๆ ปีจะมีงานที่เปรียบเหมือนเทศกาลประจำปีของ Art Toy นั่นคือ ‘Thailand Toy Expo’ ที่จัดต่อเนื่องมากกว่า 11 ปี ซึ่งในงานนี้จะมีทั้งแบรนด์ผู้ผลิต Art Toy ชั้นนำ รวมถึงศิลปินนักออกแบบ Art Toy ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินำผลงานใหม่ ๆ มา ‘ปล่อยของ’ และพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยงาน Thailand Toy Expo ประจำปี 2567 เพิ่งจัดไปเมื่อช่วงวันที่ 4-7 เมษายน ที่ผ่านมา ภายในงานมีของเล่นของสะสมรวมกว่า 200 แบรนด์ จาก 14 ประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ ช่วงเดือนกันยายน ปี 2566 ที่ผ่านมา ยังมีการจัดงาน ‘ART TOYS FES’ ที่เป็นการจัดแสดงและประมูล Art Toy ผลงานศิลปินไทยที่ทำขึ้นเพื่องานนี้โดยเฉพาะและมีเพียงตัวเดียวเท่านั้น เช่น ‘Fenni and friends: Give me your smile Collection’ ของ ‘ศิรินญา ปึงสุวรรณ’ ศิลปิน Art Toy แบรนด์ Poriin ที่มาในคาแรคเตอร์จิ้งจอกเฟนเน่และเพื่อน ๆ ในชุดตัวตลก หรือ Art Toy ชุด ‘Baby Elfie Sunshine Day’ ของ ‘ณัฐทพงศ์ รัตนโชคสิริกูล’ ศิลปินแบรนด์ Greenie & Elfie เป็นต้น
ในส่วนของศิลปินนักออกแบบ Art Toy หรือ ‘Designer Toys’ ในไทยนั้น มีการรวมกลุ่มเป็นคอมมูนิตี้นักออกแบบหลายกลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มก็มีสไตล์เป็นของตัวเอง ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มที่ช่วยผลักดันให้ของเล่น Art Toy ของไทยโด่งดังไปถึงต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น ‘MOTMO Studio’ ที่สร้างสรรค์ Art Toy โดยอิงจากความเชื่อทางศาสนาอย่างสัตว์ป่าหิมพานต์ และตำนานผีไทยสุดเฮี้ยน, ‘Kaiju Smuggler’ กลุ่มศิลปินที่ออกแบบ Art Toy ท้าวเวสสุวรรณ ราหู หรือ ยักษ์ท่าเตียน, ‘PYT Room’ เจ้าของผลงาน Art Toy คาแรคเตอร์สัตว์น่ารัก ไม่ว่าจะเป็น กระต่าย อัลปาก้า หมี และเสือ เป็นต้น
ปัญหา Art Toy ปลอมในไทย
ด้วยความที่ Art Toy ไม่ได้เป็นแค่ของเล่นธรรมดา แต่เป็น ‘งานศิลปะ’ ที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินผู้ออกแบบ แถมบางรุ่นยังผลิตออกมาในจำนวนจำกัดและไม่มีการผลิตเพิ่มอีก ทำให้ Art Toy บางรุ่นมีราคาสูงตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักแสนเลยก็มี จุดนี้เองจึงเกิดกลุ่มมิจฉาชีพแฝงตัวเป็นร้านค้าปลอม หลอกขายสินค้าไม่ตรงปก สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ หรือที่หนักสุดคือ บางร้านไม่มีอยู่จริง หลอกให้ลูกค้าโอนเงินแล้วก็หนีหายเข้ากลีบเมฆ ซึ่งมูลค่าความเสียหายแต่ละครั้งมีตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักล้านเลยทีเดียว โดย ‘ศรีภูมิ ทินมณี’ ศิลปินชาวไทยจากแบรนด์ TOYLAXY กล่าวว่า เขารู้สึกปวดใจและแปลกใจมากเวลาเห็น Art Toy ปลอมวางขายกันเกลื่อนตลาดโดยไม่ถูกจับหรือถูกตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่รัฐเลย แต่ Art Toy ลิขสิทธิ์แท้ของตัวเองที่นำเข้าจากโรงงานผลิตในประเทศจีนกลับถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด ซึ่งปัญหาของปลอมนี้นอกจากจะทำให้นักสะสมและศิลปินไทยต้องเสียผลประโยชน์แล้ว ยังทำให้ตลาด Art Toy ไทยดูไม่น่าเชื่อถือในสายตาของต่างประเทศอีกด้วย
ปัจจุบันและอนาคตของวงการ Art Toy ไทย
แม้ว่าปัจจุบันวงการ Art Toy ไทยจะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ มีศิลปินหลายคนที่ผลงานเป็นที่ต้องการของตลาด Art Toy ทั้งในไทยและต่างประเทศ แต่ ‘เณตม์ ประชาศิลป์ชัย’ ศิลปิน Art Toy ชาวไทยจาก Little Turtle Studio มองว่า ผลงาน Art Toy ไทยส่วนใหญ่อิงคาแรคเตอร์จากการ์ตูนมังงะ หรือไม่ก็ตัวละครตระกูลซุปเปอร์ฮีโร่ของอเมริกา ทำให้ขาดเอกลักษณ์แบบไทย ๆ นานเข้าจึงกลายเป็น ‘เซฟโซน’ ทำให้ศิลปิน Art Toy รุ่นใหม่ ๆ ไม่กล้าพัฒนา Art Toy แนวอื่นเพื่อไปตีตลาดต่างประเทศเพราะกลัวว่าจะไม่ได้รับความนิยม ตัวอย่างเช่นในญี่ปุ่นมี Art Toy เทวรูปเทพเจ้าต่าง ๆ ในมหายาน ซึ่งก็ได้รับความนิยมอย่างมาก แต่ในไทยนั้น Art Toy ที่พยายามเอกลักษณ์ความเป็นไทยมาดัดแปลงเป็น Art Toy กลับไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเสียดายของวงการ Art Toy ไทย
อย่างไรก็ตาม อนาคตและทิศทางของวงการ Art Toy ไทยไม่ได้ขึ้นอยู่กับศิลปินและนักสะสมแต่เพียงเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับภาครัฐด้วยว่าจะมีนโยบายส่งเสริมวงการ Art Toy ไทยในฐานะ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ (Soft Power) อย่างจริงจังมากน้อยแค่ไหน อ้างอิงจากการให้สัมภาษณ์ของ ‘น.ส.แพทองธาร ชินวัตร’ รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลต้องการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ให้ออกไปสู่สายตาชาวโลกให้ได้ แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่เห็นโยบายส่งเสริม Art Toy ไทยที่ชัดเจนมากนัก เทียบกับนโยบายสนับสนุน Art Toy ของจีนที่ดูจะมีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากกว่า เช่น การให้ทุนศิลปินของตัวเองเดินทางไปร่วมงานนิทรรศกาล Art Toy ทั่วโลกเพื่อ ‘ปล่อยของ’ แม้แต่ในงาน Thailand Toy Expo ปี 2566 ก็มีศิลปินชาวจีนที่ได้รับทุนให้เดินทางมาร่วมงานถึง 20 คนเลยทีเดียว นี่ยังไม่พูดถึงนโยบายที่เกี่ยวกับการปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของนักสะสมและศิลปิน Art Toy ในไทย โดยเฉพาะเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ที่รัฐบาลแทบจะไม่เคยพูดถึง ทั้ง ๆ ที่มี Art Toy ปลอมวางขายเกลื่อน แม้แต่ในห้างสรรพสินค้าชั้นนำที่มีความน่าเชื่อถือก็สามารถพบเห็นของปลอมได้ไม่ยาก
ที่มา