Daily Pickup

อย่าปล่อยให้คำเหล่านี้หลอกเรา! สารพัด Buzzword ล่อใจนักช็อปรักษ์โลก

นักช็อปสายกรีนทั้งหลาย ที่อยากจะช็อปด้วย แต่ก็อยากจะให้การช็อปนั้นทำร้ายโลกให้น้อยที่สุด มักจะมองสิ่งที่บ่งบอกว่าผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นรักษ์โลกอย่างไรบ้าง แต่เดี๋ยวก่อน...แม้จะมีคำหรูดูดีว่ารักษ์โลกอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ต้องดูดีๆ ว่าคำๆ นั้นกำลังหลอกเราอยู่รึเปล่า

Photo: NSTDA

คาร์บอนเครดิต (Carbon Neutral)

‘คาร์บอนเครดิต’ คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจก หรือจำนวนคาร์บอนไดออกไซด์ ที่กฎหมายกำหนดว่าบริษัทแต่ละประเภทสามารถปล่อยได้เท่าไรต่อปี ซึ่งหากปล่อยน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ก็สามารถนำส่วนต่างไปจำหน่ายให้กับบริษัทอื่นๆ ได้ จึงมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเกิดขึ้น

และอีกแบบก็คือ ถ้าบริษัทไหนมีกิจกรรมที่คำนวณแล้วว่ามีการปลดปล่อยคาร์บอนเท่าไร ก็จะใช้วิธีไปซื้อเครดิตคาร์บอน หรือซื้อกระบวนการการทดแทนการปลดปล่อยคาร์บอน (เช่น จ่ายเงินเพื่อไปปลูกต้นไม้ทดแทน) ในจำนวนที่กิจกรรมของบริษัทนั้นปล่อยออกมาเพื่อให้กิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นกิจกรรมที่ ‘เป็นกลางทางคาร์บอน’ หรือ Carbon Neutral

คำถามที่สำคัญก็คือหลักการที่ควรจะเป็นคือการลดการปลดปล่อยคาร์บอนให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่การใช้เงินซื้อเพื่อชดเชยการปลดปล่อยคาร์บอนที่เกินไป หรือใช้เงินซื้อเพื่อเอามาอ้างว่ากิจกรรมที่ทำ มีการชดเชยการปลดปล่อยคาร์บอนจนเป็นศูนย์ หรือมีความเป็นกลางทางคาร์บอนไปแล้ว

เพราะฉะนั้นแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ใด ที่ชอบอ้างว่ามีการชดเชยคาร์บอนด้วยการซื้อเครดิตคาร์บอน หรือกระทำการชดเชยอื่นๆ เพื่อให้ตัวเองมีการปลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ หรือ Carbon Neutral  นั่นไม่ได้หมายความว่าแบรนด์นั้นกรีน หรือรักษ์โลกเลย แต่เป็นความมักง่ายที่ใช้เงินแก้ปัญหามากกว่าจะพยายามลดการปลดปล่อยคาร์บอนจริงๆ

Photo Credit: Yanko Design

พลาสติกชีวภาพ หรือพลาสติกที่ย่อยสลายได้ (Biodegradable Plastic)

ในช่วงแรกๆ ของกระแสรักษ์โลกที่มาแรง เราจะเห็นว่า ‘พลาสติก’ ถูกทำให้เป็นผู้ร้าย กระแสการแบน ‘ถุงพลาสติก’ ‘แก้วพลาสติก’ นั้นมาแรงมาก แต่ในขณะเดียวกันในบางสังคมก็ยากที่จะยกเลิกการใช้โดยเด็ดขาด จากนั้นไม่นานเราก็มีพลาสติกแบบใหม่ที่ถูกนำมาใช้ โดยชื่อของมันทำให้เรา ‘สบายใจ’ ที่จะใช้มากกว่าพลาสติกในแบบเดิม นั่นก็คือ 'พลาสติกชีวภาพ' หรือ 'พลาสติกที่ย่อยสลายได้’ (Biodegradable Plastic)

ด้วยชื่อ ที่มีคำว่าชีวภาพ หรือย่อยสลายได้ มันทำให้เรามีความรู้สึกว่ามันน่าจะดีกว่าพลาสติกในแบบเดิม โดยพลาสติกชีวภาพนี้ มักจะถูกให้ความหมายว่า

‘ย่อยสลายเองได้ตามธรรมชาติ ในสภาวะที่เหมาะสม’ ปัญหาคือสภาวะที่เหมาะสมที่แหละ ที่มันยากที่จะเกิดขึ้นได้ในธรรมชาติ เพราะฉะนั้นไบโอพลาสติกมันจึงไม่ได้ย่อยสลายง่ายในแบบที่คำอธิบายมันเขียนเอาไว้

ปัญหานี้เกิดขึ้นแล้วที่ประเทศจีน ในยุคของความนิยมพลาสติกชีวภาพ ทำให้มีการผลิตออกมาขายทดแทนพลาสติกแบบเดิมจำนวนมาก แต่การที่มันต้องใช้การย่อยสลายหรือรีไซเคิลพิเศษที่ต้องเป็นสภาวะที่เหมาะสม ทำให้โรงงานรีไซเคิลเฉพาะพลาสติกชีวภาพนั้นมีไม่พอกับปริมาณขยะที่เป็นพลาสติกชีวภาพ จนทำให้ขยะพลาสติกชีวภาพมีล้นประเทศและรีไซเคิลไม่ทัน

แล้วพลาสติกในแบบเดิม (ซึ่งก็รีไซเคิลได้) กับพลาสติกชีวภาพ แบบไหนดีกว่ากัน การพิจารณาในประเด็นนี้ มันจึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับวัสดุที่ใช้ผลิตเท่านั้น แต่มันยังขึ้นอยู่กับวงจรของมันว่าในสังคมหรือประเทศไหนสามารถสร้างวงจรชีวิตของมันไปสู่การรีไซเคิลได้ดีกว่ากัน เพราะฉะนั้นพลาสติกชีวภาพไม่ได้ดีกว่าพลาสติกแบบเดิมเลย การที่ผลิตภัณฑ์ๆ หนึ่งบอกว่าใช้พลาสติกชีวภาพ ไม่ได้ทำให้มันกรีนมากขึ้น เพราะสุดท้ายแล้ว สิ่งที่เราต้องพิจารณาต่อก็คือวงจรชีวิตของมันจนไปถึงระบบรีไซเคิลจะเป็นอย่างไรมากกว่า

วัสดุจากธรรมชาติ (Made With Natural Ingredients)

ชื่อว่าเมื่อผลิตภัณฑ์ใดมีป้ายติดว่า ผลิตจากวัสดุจากธรรมชาติ หรือวัตถุดิบจากธรรมชาติ น่าจะทำให้ผู้บริโภคสบายใจมากขึ้นว่าอะไรก็ตามที่มาจากธรรมชาติน่าจะกรีนมากที่สุด รักษ์โลกมากที่สุด แต่มันไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไปน่ะสิ เราจะดูแค่ว่ามันเป็นวัสดุจากธรรมชาติไม่ได้

หากใครยังจำกันได้ว่า เคยมีดีเบตเรื่องถุงผ้ากับถุงพลาสติกแบบไหนรักษ์โลกมากกว่ากัน เราจะเห็นได้ว่าแม้ถุงผ้าจะผลิตมาจากผ้าฝ้าย เป็นวัสดุจากธรรมชาติ ก็น่าจะรักษ์โลกมากกว่าถุงพลาสติกแน่นอน แต่อย่าลืมว่าผ้าฝ้ายนั้น มีการคำนวณกันว่ากว่าจะปลูกฝ้ายได้ 1 กิโลกรัมจะต้องใช้น้ำ 7,000-23,000 ลิตร ใช้ปุ๋ยเคมี 457 กรัม ยาฆ่าแมลง 16 กรัม หรือถ้าเป็นผ้าแบบโพลีเอสเตอร์เราต้องใช้ก๊าซธรรมชาติถึง 1.5 กิโลกรัม ต่อ 1 กิโลกรัม และการที่เราจะใช้ถุงผ้าให้คุ้มกับทรัพยากรที่ใช้ไปทั้งหมด เราจะต้องใช้ถุงผ้าอย่างน้อย 7,000-20,000 ครั้งเลยทีเดียว

เห็นไหมว่าเราไม่สามารถจะดูจากคำที่ดูสวยๆ อ่านแล้วสบายใจอย่างเดียวได้ เราจะต้องดูให้ครบทั้งกระบวนการการผลิตของสิ่งๆ นั้นว่ารักษ์หรือทำลายโลกแค่ไหน  

เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Environmentally Friendly)

น่าจะเป็นคำที่เราเห็นบ่อยที่สุดแล้ว เพราะกลายเป็นคำฮิตในทางมาร์เก็ตติ้งสายเขียว ที่พยายามจะดึงดูดลูกค้าสายรักษ์โลกให้เข้าใจว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ ดีต่อโลกเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจริงๆ แต่สิ่งที่เราต้องตั้งคำถามก็คือ คำว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นมิตร ‘แค่ไหน’ ?

เพราะส่วนมากเรามักจะเจอการ ‘เคลม’ เฉพาะส่วน เช่น เคลมว่าใช้วัสดุจากธรรมชาติ หรือวัสดุจากการรีไซเคิล ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ผลิตภัณฑ์หนึ่งชิ้นนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะ ‘วัสดุ’ เท่านั้น แต่ยังมีกระบวนการผลิตก่อนและหลังจากนั้นอีกมากมาย

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องพิจารณาดูต่อก็คือ ในกระบวนการการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำนั้น มันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่ แล้วเป็นมิตรแค่ไหน เริ่มตั้งแต่กว่าจะได้มาซึ่งวัตถุดิบใช้ทรัพยากรไปมากน้อยแค่ไหน ในกระบวนการการผลิตใช้พลังงานไปมากแค่ไหน ใช้น้ำ ใช้สารเคมี ใช้อะไรที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมบ้าง แล้วหลังจากนั้นล่ะ การขนส่ง การส่งเสริมการขาย หรือแม้กระทั่งตัวบริษัทที่ทำการผลิต มีนโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อมอะไรบ้าง

เพราะการจะเป็นผู้บริโภคสายเขียวที่รักษ์โลกอย่างแท้จริง เราจะดูแค่คำโฆษณาไม่ได้ ที่สำคัญอย่าให้คำพวกนี้มันหลอกเราได้