Trigger Warning
เนื้อหาต่อไปนี้ประกอบไปด้วยรูปภาพเสมือนของเลือด, เครื่องในมนุษย์, รอยแผล, และการฆ่าตัวตาย (Blood, Gore, Wounds, Suicide)
Haningwaslost เป็นนามปากกาที่คนในแวดวง NFT บ้านเราพูดถึงกันอยู่บ่อยๆ เวลาที่มีใครสักคนมาโพสต์ตามหางานโหดๆ แล้วเมื่อเราตามไปดูก็ยอมรับว่าครั้งแรกที่เห็นก็มีแอบเสียวไส้บ้างแหละ ให้อารมณ์เหมือนเห็นปกการ์ตูนผีสมัยก่อน แต่พอติดตามไปสักพัก กลายเป็นว่ากลับเพลินจนหยุดเสพงานไม่ได้ เลยสงสัยขึ้นมาเลยว่าอะไรที่อยู่เบื้องหลังแรงบันดาลใจในที่ทำให้เจ้าของผลงานสร้างผลงานแนวนี้ออกมาต่อเนื่องได้เป็นสิบชิ้น
“เคยมีนักสะสมหลายคนถามเหมือนกันว่า ทำไมเราถึงต้องเครียดขนาดนั้น” หนิง - ศนิกุล บุญบัญชาโชค เจ้าของนามปากกา Haningwaslost บน OpenSea Foundation และ KnownOrigin เธอเปิดบทสนทนากับเราพร้อมด้วยเสียงหัวเราะ เพราะทุกคอลเลคชั่นและทุกภาพที่เธอลงขาย มักจะโปรยตั้งแต่ Bio จนถึง Description ว่ามันมาจากความเครียดในชีวิตทั้งสิ้น
เล่าจุดเริ่มของ NFT ที่สรรค์สร้างจากความเครียด
“จิต – หนัก – หน่วง” คือ 3 คำที่หนิงนิยามผลงานตัวเอง เพราะยอมรับว่าช่วงแรกสร้างงานจากความเครียดหนัก
“เมื่อปีก่อนหนิงมีความเครียดหลายอย่าง ทั้งเรื่องงานและเรื่องชีวิตส่วนตัว โดยเฉพาะช่วงโควิด แล้วเราเป็นคนที่ชอบวาดรูปเป็นงานอดิเรกอยู่แล้ว เลยเริ่มวาดงานบนไอแพด และโพสต์งานลง Instagram ก่อน สักพักถึงค่อยลงขายใน OpenSea ดังนั้นงาน NFT ชิ้นแรกๆ จะเห็นได้ชัดว่าเส้นหนัก และไม่ได้วางคอมโพสจริงจัง เพราะวาดจากความรู้สึกล้วนๆ ทุกสิ่งเกิดขึ้นจากความเครียด ความโกรธ หรือความเศร้า”
กังวลไหมว่าถ้าไม่เครียดแล้วจะวาดงานไม่ออก
เคยคิดเหมือนกันว่าถ้าวันหนึ่งไม่เครียดมากก็อาจจะวาดงานไม่ได้ แต่ปรากฏว่าเราก็ยังวาดได้อยู่ เพราะมนุษย์ถึงไม่เครียดก็ต้องมีปัญหาเข้ามาทุกวันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเล็กน้อยแบบไหนก็ต้องมี เราก็แค่ดึงเรื่องนั้นออกมาให้ได้ ถ้าเครียดมากก็จะทำลงใน OpenSea แต่ถ้าเจอแค่ปัญหาเล็กๆ เราก็จะลงงานใน KnownOrigin แทน
แสดงว่างานทุกแพลตฟอร์มต่างกัน
ใช่ค่ะ พองานบน OpenSea เริ่มขายได้ และเราเห็นลู่ทางขยับขยายไปบนแพลตฟอร์มใหม่ ก็จะบิดคอนเซ็ปต์ให้ต่างกันไป แต่ยังคงเอกลักษณ์ลายเส้นของหนิงอยู่ จากที่เริ่มวาดรูปจากความเครียดอย่างเดียว ก็พยายามมองหาว่าวันนั้นๆ เราเจอปัญหาอะไร แล้วดึงจุดนั้นออกมาเป็นจุดสตาร์ทของการวาดรูป
คอลเลคชั่นที่ลงขายบน OpenSea มันจะเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของเรา เป็นอวัยวะของเราซึ่งผิดปกติไปเพราะความเครียด เราจะวาดให้แปลก เพื่อให้สื่ออารมณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น และใช้สีแดงเป็นหลัก เพราะรู้สึกว่ามันเป็นสีที่แสดงความรู้สึกรุนแรงได้ดี สร้างแรงดึงดูดให้คนที่เห็นได้ง่าย
ส่วนบน Foundation เราคิดว่าภาพมันจะต้องสร้างอิมแพคจริงๆ จะต้อง emotional เป็นงานที่ละเอียดกว่าและจริงจังมากขึ้น เราเลยคิดว่าจะใส่แค่ความรู้สึก ณ วันนั้นเข้าไปเฉยๆ ไม่ได้แล้ว เลยปรับคอนเซปต์ให้เป็น “จินตภาพ” คือลองจินตนาการถึงภาพตัวเองดูว่าจะมีรูปร่างผิดเพี้ยนไปได้สักแค่ไหนกันเชียว
ใน KnownOrigin หนิงรู้สึกว่ามันมีความกราฟิกมากกว่า อารมณ์เหมือนหน้าปกนิตยสารที่เรียบๆ เลยทำเป็น portrait drawing ขาวดำ ซึ่งใช้ตัวเองเป็นแบบเหมือนเดิม แล้ววาดความผิดเพี้ยนของตัวเรา แต่เน้นย้ำไปที่จุดใดจุดหนึ่ง
ทำไมถึงกล้าลงขายงานแหวกตลาด
หนิงเริ่มลงขายงาน NFT เพราะมีคนที่เจอกันในคลับเฮาส์แนะนำว่าให้ลองทำดู เขาบอกว่าภาพแนวนี้น่าสนใจแต่มันยังไม่ค่อยมีคนทำ ตัวเราเองก็มีความคิดว่าถ้าเห็นวี่แววแล้วว่างานที่เป็นเอกลักษณ์ของเราจะแตกต่างจากคนอื่น ก็น่าลอง เพราะถ้าเราทำอะไรที่มันแมสเกินไป คู่แข่งจะเยอะ
เคยกังวลไหมว่ามันจะขายไม่ออก
ด้วยความที่งานค่อนข้างจะไม่ซ้ำใคร และช่วงที่เริ่มลงงานคือปลายปี 2021 ซึ่งเป็นช่วงที่กระแส NFT ในไทยดรอปลงเพราะมีศิลปินในตลาดเยอะมากขึ้น หลายคนขายงานไม่ได้ก็มี เราจึงถามออกไปว่าหนิงมีความกังวลบ้างไหม
“หนิงค่อนข้างโชคดีที่ลงขายงานปุ๊บก็ขายออกทันที เลยไม่ได้เจอจุดที่กังวล แต่หนิงมีความเชื่อว่าเราก็แค่ยึดมั่นในเอกลักษณ์ของตัวเอง แล้วพยายามวางแผนดีๆ ไม่ใช่แค่เน้นขายงานอย่างเดียว สำคัญที่สุดคือคอมมูนิตี้ เราต้องมีคอนเน็คชั่นกับคนอื่น ทั้งในไทยและต่างชาติ อย่างวันแรกที่หนิงขายงาน ก็เลือกโปรโมตในกลุ่มเฟซบุ๊กที่เป็นคอมมู ฯ ของคนไทยก่อน เพื่อทำให้ตัวเองเป็นที่รู้จัก แล้วมันก็ขายออกวันนั้นเลย”
การศึกษาตลาดก็สำคัญ ถ้าเราทำการตลาดแบบเดิมๆ แล้วยังขายงานไม่ได้ ก็คงต้องเปลี่ยนวิธีไปเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้ผู้สะสมเบื่อ จนกว่าจะเจอวิธีที่ใช่
Collectors ส่วนใหญ่ชอบอะไรในงาน
Collectors ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนที่เก็บงานแนวแปลกๆ อยู่แล้ว เขาเคยบอกว่าชอบงานเราเพราะ
- คุณภาพงานที่เป็นเอกลักษณ์
- เราเป็นคนมีคอมมูนิตี้ ไม่ได้ขายงานอย่างเดียว แต่พูดคุยกับคนอื่นและช่วยเหลือคนอื่นด้วย
- เขาคิดว่าจะทำกำไรกับงานเราได้
แชร์เรื่องแปลกที่เจอระหว่างขายงาน
มีทั้งคนที่ก็อปปี้งานหนิงไปขาย เอางานที่ยังไม่ได้ขายไปทำเป็นรูปโปรไฟล์ โพสต์ว่าจะเอางานเราไปสกรีนเสื้อขาย และอันหนึ่งที่ฮามากคือเอารูปส่วนตัวเราไปทำ NFT ซึ่งส่วนใหญ่เราก็จะไปโพสต์ในเฟซบุ๊กให้คนมาช่วยกด Report แต่จะไม่เอาไปโพสต์ในทวิตให้ไปไกลถึงต่างชาติ เพราะอาจจะยิ่งทำให้เขาเป็นที่สนใจ พอเรื่องไม่ดังเขาก็จะไม่ได้อะไร
เคยไหมที่คนไม่เข้าใจงานแล้วมองว่ามันน่ากลัว
เคยเจอช่วงที่ยังไม่ได้ทำ NFT แต่ค่อนข้างน้อย ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน คนที่ผ่านมาใน Instagram หรือคนในคลับเฮ้าส์ เขาบอกว่ามันแหยงซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะคนเรามีหลายแบบไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบงาน แต่พอมาทำ NFT แล้ว คนในวงการมีแต่สายอาร์ตที่เข้าใจศิลปะเขาเลยรับได้ เมื่อไม่นานมานี้ก็เจอคนหนึ่งที่เขารู้สึกว่าโพสต์งานเรามันต้องใส่ Trigger Warnings (TW) แต่ครั้งนั้นเราคิดว่าไม่ได้โพสต์งานแบบสาธารณะเกินไป โพสต์แค่ในคอมมู ถ้าเขาไม่โอเคก็แค่เลื่อนผ่านไป
แล้วคุณล่ะ ถูกใจผลงานของ Haningwaslost ชิ้นไหนบ้าง? ลองสำรวจเพิ่มเติมได้ด้วยตัวเองที่ linktr.ee