Daily Pickup

เปิดวังหลวงในซีรีส์เกาหลี เรื่องฉาวในวังก็เอามาทำเป็นละครได้เหรอ?

ถ้าพูดถึงเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ที่ขึ้นชื่อในการส่งออกวัฒนธรรมของเกาหลีแล้ว ซีรีส์เกาหลีคงต้องถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญ เพราะความนิยมที่แพร่กระจายจากเอเชียไปสู่ทวีปต่างๆ ทั่วโลกมีบทบาทสำคัญอย่างมากตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และหนึ่งในแนวซีรีส์ที่จัดเต็มด้านวัฒนธรรมของเกาหลีได้อย่างชัดเจน และลึกซึ้งคงหนีไม่พ้นแนว ‘ซากึก’ หรือเรียกกันแบบไทยๆ ก็คือ ซีรีส์แนวประวัติศาสตร์ย้อนยุค ที่เล่าเรื่องราวย้อนกลับไปในยุคสมัยต่างๆ ของการก่อร่างสร้างชาติจนกลายมาเป็นเกาหลีอย่างที่เรารู้จักในปัจจุบัน

แต่ท่ามกลางเรื่องราวอันเข้มข้นของการหักเหลี่ยมเฉือนคม แย่งชิงราชบัลลังก์ และการไขว่คว้าอำนาจในรั้วในวัง ก็มีความสงสัยหนึ่งเกิดขึ้นนั่นก็คือ ประเด็นของการเอาบุคคลที่มีอยู่ในประวัติศาสตร์จริงอย่าง กษัตริย์, ราชินี, พระพันปี, รัชทายาท, พระชายา, สนม มาเล่าผ่านมุมมองด้านลบ เป็นตัวร้ายของเรื่องที่เหี้ยมโหด เจ้าเล่ห์ ไปจนถึงการแสดงออกถึงความอิจฉาริษยาแบบเผ็ดร้อน ซึ่งถ้าเป็นในไทยแล้วละคร หรือภาพยนตร์ก็มักจะเล่าเรื่องราวในรั้วในวังไปไม่ถึงความฉาวในระดับเดียวกับที่ซีรีส์เกาหลีถ่ายทอดออกมา ซึ่งแน่นอนว่า มันมีเหตุผลที่มันสามารถนำเสนอออกมาได้

Photo Credit: Korea Cultural Heritage Administration

บันทึกพงศาวดารราชวงศ์โชซอน

หนึ่งในเหตุผลสำคัญนั้นก็คือ การที่เกาหลีมีบันทึกในยุคสมัยราชวงศ์โชซอน ราชวงศ์สุดท้ายของเกาหลีที่มีช่วงเวลายาวนานกว่า 500 ปี เป็นลายลักษณ์อักษรสามารถค้นคว้า และอ้างอิงได้อย่างชัดเจน ซึ่งบันทึกนี้มีมากถึง 1,893 เล่ม บันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในราชวงศ์โชซอนตั้งแต่ปี 1392 จนถึงปี 1865 จนได้รับการยอมรับว่าเป็น ‘บันทึกของราชวงศ์ที่ยาวนานที่สุดในโลก’ ซึ่ง UNESCO ได้ขึ้นทะเบียนให้เป็นหนึ่งในบันทึกของ ‘ความทรงจำแห่งโลก’ (Memory of the World) และในอีกไม่นานนี้บันทึกทั้งหมดจะถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเผยแพร่ให้ทั่วโลกสามารถเข้าถึงเนื้อหาในประวัติศาสตร์ของเกาหลีได้

โดยส่วนหนึ่งของบันทึกนี้ได้ถูกเขียนขึ้นแบบรายวันในทุกเรื่องราวไม่ว่าจะเป็นด้านการเมืองการปกครอง, เศรษฐกิจ, ศาสนา, ดาราศาสตร์, ศิลปะ, ปรากฎการณ์ธรรมชาติ ไปจนถึงเรื่องราวชีวิตประจำวัน ซึ่งในส่วนที่เป็นบันทึกนี้จะถูกเก็บเป็นความลับที่แม้แต่กษัตริย์เองก็เปิดอ่านไม่ได้ เพื่อป้องกันการบิดเบือนแก้ไขเนื้อหาภายใน และรักษาไว้เป็นมรดกของชาติ ทำให้ในบันทึกนี้มีแม้กระทั่งการเล่าถึงเหตุการณ์ที่น่าอายของกษัตริย์ อย่างเรื่องราวของกษัตริย์แทจงที่ทรงขึ้นชื่อในเรื่องพระปรีชาสามารถในขณะที่ตกม้า และบอกออกมาว่า ห้ามใครบันทึกเรื่องนี้เด็ดขาด แต่เรื่องนี้ก็ยังปรากฎในบันทึกพร้อมกับคำพูดของกษัตริย์แทจงที่บอกว่า ‘ห้ามบันทึกเรื่องนี้’

ในปัจจุบัน บันทึกเหล่านี้ได้ถูกนำมาแปลเป็นตัวอักษรเกาหลีแบบปัจจุบัน และเผยแพร่เป็นไฟล์ดิจิตอลบนอินเทอร์เน็ตตั้งแต่ปี 2006 ทำให้เรื่องราวต่างๆ ที่ถูกบันทึกอย่างละเอียดสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ และเมื่อมันเป็นเรื่องราวจากบันทึกที่ได้รับการยอมรับ ทำให้ซีรีส์เกาหลีสามารถสร้างพลอตเรื่องราวที่เล่าถึงบุคคลในประวัติศาสตร์ในยุคสมัยโชซอนออกมาได้หลากหลายมุมอย่างที่เราได้เห็นกัน

Photo Credit: สถานีโทรทัศน์ SBS

ปัญหาที่เกิดกับซีรีส์ย้อนยุคของเกาหลี

อีกเหตุผลหนึ่งที่สามารถเล่าเรื่องราวต่างๆ ออกมาได้คือ การทีในยุคปัจจุบันเกาหลีไม่มีระบอบกษัตริย์ และราชวงศ์แล้ว ตั้งแต่การสิ้นสุดยุคสมัยโชซอน แต่ถึงอย่างนั้นการจะเล่าเรื่องฉาว เรื่องด้านลบในรั้วในวังออกมา ก็ยังมีประเด็นที่แตะต้องไม่ได้ นั่นก็คือ การบิดเบือนรายละเอียดในประวัติศาสตร์ หรือการสร้างบริบทใหม่ขึ้นมาที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนไปจากเนื้อหาที่อยู่ในบันทึก ซึ่งประเด็นนี้เคยเป็นเรื่องร้อนจนทำให้ซีรีส์บางเรื่องต้องยกเลิกการออกอากาศตั้งแต่สัปดาห์แรกหลังเกิดความไม่พอใจจากผู้ชมชาวเกาหลี ตัวอย่างเช่นเรื่อง Joseon Exorcist เมื่อปี 2021 ที่ออกอากาศได้เพียง 2 ตอนก็ต้องถูกยกเลิกไป ซึ่งปมปัญหาเกิดจากการใช้องค์ประกอบฉากบิดเบือนยุคสมัย อย่างเช่นการจัดเลี้ยงหมอผีฝรั่งด้วยอาหารจัดเลี้ยงแบบจีน ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ราชวงศ์เกาหลีทำในยุคสมัยนั้น จนเกิดความไม่พอใจจากผู้ชม และกลายเป็นกระแสลบจนสปอนเซอร์โฆษณาถอนตัว ตามมาด้วยการยกเลิกออกอากาศของเรื่อง

Photo Credit: สถานีโทรทัศน์ tvN

นอกจากนี้ในซีรีส์ฮิตอย่าง Mr. Queen ที่ออกอากาศในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันก็เคยเกิดปัญหาในจุดนี้ ตั้งแต่การออกอากาศตอนแรก จากอินโทรของเรื่องที่มีข้อความระบุว่า เนื้อหาของเรื่องอ้างอิงจากบันทึกในยุคสมัยราชวงศ์โชซอน แต่เรื่องราวในเรื่องกลับเล่าถึงวิญญานของชายหนุ่มในยุคปัจจุบันที่เข้าไปอยู่ในร่างของพระมเหสีของกษัตริย์ชอลจง ซึ่งในจุดนี้ทำให้เกิดคำวิพากย์วิจารณ์ในเรื่องของความเหมาะสม จนสุดท้ายแล้วซีรีส์เรื่องนี้ก็ต้องนำข้อความที่ระบุการอ้างอิงบันทึกของราชวงศ์โชซอนออกไป พร้อมกับชี้แจงว่า ไม่มีความตั้งใจที่จะทำให้เกิดภาพลบที่บิดเบือนต่อบุคคลในประวัติศาสตร์แต่อย่างใด จากปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาซีรีส์ที่อ้างอิงบริบททางประวัติศาสตร์ได้ขึ้นคำชี้แจงต้นเรื่องว่าเป็นเรื่องราวที่แต่งขึ้น และไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลจริงในประวัติศาสตร์

Photo Credit: สถานีโทรทัศน์ tvN

ลองดูซีรีส์ย้อนยุคเกาหลี

สำหรับใครที่ยังไม่เคยลองดูซีรีส์แนวย้อนยุคของเกาหลี จะขอแนะนำเรื่องที่น่าจะทำให้ดูกันได้อย่างสนุกสัก 4 เรื่องเป็นการส่งท้าย เริ่มต้นจากแนวเรียกเสียงฮาแต่อัดแน่นไปด้วยความเข้มข้นของเกมอำนาจอย่าง Mr. Queen ที่พูดถึงไปก่อนหน้านี้แล้ว ซีรีส์เรื่องนี้ใส่ความเป็นแฟนตาซีที่เอามุมมองของคนในยุคปัจจุบันมาใส่ในบริบทประวัติศาสตร์ และยังมีสีสันของการทำอาหารที่ดัดแปลงเทคนิคของเชฟสมัยใหม่มาสู่ครัวของวังหลวงได้อย่างสร้างสรรค์สุดๆ

Photo Credit: สถานีโทรทัศน์ MBC

เรื่องต่อมาคือ The Red Sleeve ที่เล่าความโรแมนติกของความรักระหว่าง กษัตริย์จองโจ และนางสนมหลวง ซองอึยบิน ที่อุปสรรคความรักคือ การแย่งชิงอำนาจในในวังของตระกูลต่างๆ ในโชซอน เป็นอีกเรื่องที่ในทุกตอนได้ตามลุ้นทั้งด้านของความรัก และการเอาชนะกลอุบายต่างๆ ด้วยไหวพริบ ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้สามารถรับชมกันได้บนแพลตฟอร์มของ Viu

Photo Credit: สถานีโทรทัศน์ tvN

เรื่องที่ 3 ขอแนะนำเป็น Under the Queen’s Umbrella ที่ฮิตมากทั้งในเกาหลีแล้วก็ในไทยกับเรื่องราวการแย่งชิงตำแหน่งองค์รัชทายาทผู้สืบทอดบัลลังก์คนต่อไป ทำให้ราชินี และสนมหลวงต่างพยายามปั้นลูกชายของตัวเองให้เก่งกาจที่สุด เพื่อเข้าสอบแข่งขันชิงความเป็นหนึ่งกัน ซึ่งเรื่องราวได้เล่ามุมมองที่ทันสมัยของการเลี้ยงดูลูก และการเป็นแม่ออกมาได้อย่างน่าทึ่ง แตกต่างออกไปจากซีรีส์ย้อนยุคเรื่องอื่นๆ จนได้รับคำชมมาก

Photo Credit: สถานีโทรทัศน์ MBC

และเรื่องที่ 4 อยากให้ลองดูเรื่อง Rookie Historian Goo Hae-ryung ที่เล่าถึงหญิงสาวที่อยากเป็นนักจดบันทึกประวัติศาสตร์หลวง ที่จะทำให้ได้เห็นการทำงานของนักจดบันทึกที่กลายมาเป็น ‘พงศาวดารราชวงศ์โชซอน’ ที่เราคุยกันในบทความนี้ ซึ่งเรื่องราวถูกเล่าออกมาได้สนุกผสมผสานความโรแมนติก ตลก และความดราม่าได้อย่างลงตัว ทั้ง 2 เรื่องนี้สามารถรับชมกันได้บนแพลต์ฟอร์มของ Netflix