Art

‘Human Spectrum’ ทีมวิชวลดีไซน์ ที่ผสมผสานระหว่าง ‘วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ จิตวิทยา เสียงดนตรี และความเป็นมนุษย์’ ผ่านงาน Visual Design ได้อย่างลงตัว!

“หากไร้ซึ่งความสุนทรีย์ ความงดงามจะมีความหมายและมีคุณค่าได้อย่างไร?”

‘Visual Design’ หรือ ‘สุนทรียภาพทางสายตา’ เป็นองค์ประกอบสำคัญในการสรรสร้างผลงานที่ก่อให้เกิดความงดงาม ซึ่งส่งผลต่อผู้ชมทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้เกิดอารมณ์ ความรู้สึก และความสนใจที่แตกต่างกันออกไป เหมือนกับที่ ‘Human Spectrum’ ทีมดีไซน์เนอร์ด้านแสง สี วิชวล ให้ความสำคัญเรื่องนี้เป็นอันดับต้นๆ จนเกิดเป็นผลงาน Visual Design ที่หลากหลาย โดยมี ‘บอล – อาณัติ กรเกษม’ ผู้ก่อตั้ง และทีมงานมากความสามารถอย่าง ‘แว่น – หฤษธ ศรีเวียง’ ‘วอ – วรวุฒิ บวรวรการ’ ‘สไปร์ท – ธนพล พีระเหล่าตระกูล’ และ ‘ฟลุ๊ค – กุญช์ชาญ เอี่ยมเบญจทรัพย์’ EQ อยากจะชวนผู้อ่านไปทำความรู้จักกับพวกเขา และผลงาน Visual Design ของ Human Spectrum กันค่ะ

งาน Visual Designer คืออะไร

บอล: ผู้ออกแบบสร้างสรรค์ศิลปะหรือสุนทรียภาพที่ตามนุษย์สามารถมองเห็น นิยามนี้กินพื้นที่กว้างมากๆ ครับ เรามีผู้ที่ทำงานในอาชีพนี้อยู่แทบทุกอุตสาหกรรม เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์, การออกแบบ Application - UX/UI , การออกแบบสื่อหรือมีเดียต่างๆ การออกแบบแสง ภาพในอุตสาหกรรมดนตรีและการแสดง ซึ่ง Human Spectrum อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ครับ

“ผมตอบคำถามนั้นด้วยใจของตัวเองว่า เราอยากทำอะไร เรามีภาพตัวเราเองไว้แบบไหน เรามีภาพของสมาชิกทุกคนไว้แบบไหน เราอยากให้กลุ่มคนเหล่านี้เป็นแบบไหนในอนาคต เราเลยกลับมาสู้ต่อ”

อะไรคือแรงผลักดันและแรงบันดาลใจสำคัญ ของ Human Spectrum

บอล: เพราะโควิด-19 ครับ ฟังดูไม่ใช่แรงบันดาลใจในอุดมคติเลย (หัวเราะ) แต่มันคือเรื่องจริงครับ ต้องเท้าความก่อนว่าพวกเราทุกคนคือฟรีแลนซ์ตัวเล็กๆ เกาะกลุ่มกัน ศึกษา หาความรู้ แบ่งงานกัน สร้างรายได้ ช่วยเหลือกันมาตั้งแต่เรียนจบมหาวิทยาลัย พวกเรามีเส้นทางที่ค่อนข้างชัดเจน เราเคยเติบโต มีทีมที่ก้าวหน้า มีน้องๆ สมาชิกใหม่เข้ามา แต่วันหนึ่งโลกเราก็มีเชื้อไวรัสนี้ขึ้นมา เส้นทางนี้ก็เลยไปต่อลำบากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน รู้ตัวอีกทีเราก็พบว่า เราต่างมีอาชีพใหม่ของตัวเอง คนหนึ่งขายลูกชิ้นปลา คนหนึ่งขายเสื้อผ้ามือสอง คนหนึ่งไปสายคริปโต อีกคนไปช่วยงานที่บ้าน ผมเองหลุดมาทางกระแสเซิร์ฟสเก็ต เปิด Never Wave กับเพื่อนๆ และทำ Cleaning Service รับทำความสะอาดแผ่นเซิร์ฟสเก็ต เพราะเป็นคนชอบทำความสะอาด

“พวกเราทุกคนสนุกกับสกิลใหม่ครับ แต่ไม่รู้เลยจริงๆ ว่ามันจะเป็นยังไงต่อมันจะรอดไหม ไม่มี term ใดๆ เราแค่เอาตัวรอดตามสัญชาตญาณมนุษย์ เพราะฉะนั้น นี่คืองานชั่วคราวชัดๆ มันไม่ปรากฏภาพใดๆ ในหัวว่าเราจะทำตรงนี้ไปอีก 10-20 ปีได้จริงๆ”

มีทีมงานทั้งหมดกี่คน ทำตำแหน่งอะไรกันบ้าง เปิดมานานแล้วหรือยัง?

บอล: หลักๆ มี 5 คนครับ แว่น ฟลุค วอ สไปร์ท และผมเอง เราจะแบ่งการทำงานเป็น 2 ส่วน คือ งานแสงกับงานภาพ งานแสงจะมีฟลุคกับแว่นเป็น Head of Lighting Designer ส่วนงานภาพจะมีวอกับสไปร์ทเป็น Head of 3D/Visual/Motion Designer ส่วนผมจะทำหน้าที่ Design Director ของงานทั้ง 2 ส่วน มาถึงตอนนี้ พวกเราครบ 1 ปีพอดีครับ

จุดเด่นของ Human Spectrum ที่แตกต่างจาก ทีม Visual Designer อื่นๆ

บอล: คิดว่าน่าจะเป็นวิธีคิดทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และจิตวิทยา บวกกับความรู้ในทฤษฎีดนตรี การค้นหาเพลงและประสบการณ์ใหม่ๆ ซึ่งดูเหมือนไม่เกี่ยวกับงานเลย แต่ผมเน้นเรื่องนี้มากๆ เราใช้ความรู้เหล่านี้ใส่เข้าไปในงาน ใช้วิเคราะห์งาน ใช้คาดการณ์ผลลัพธ์ของงาน ใช้สรุปผลลัพธ์ ใช้คำนวณและวิเคราะห์โครงสร้างดนตรี ใช้หาความสัมพันธ์ระหว่างคลื่นเสียงกับคลื่นแสง เพื่อสื่อสารตัวงานได้อย่างสมบูรณ์

แว่น: ผมก็ไม่แน่ใจว่าทีมอื่นเป็นยังไงกัน แต่สำหรับพวกเรา อยู่กันครบทีมในคลับหรือเฟสติวัลบ่อยกว่ากินข้าว หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะบอกว่า เพลงเป็นส่วนผสมหลักในทีม พอเราพูดถึงเพลงใดเพลงหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเพลงอะไร แนวใดก็ตาม ทุกคนมักจะจินตนาการถึงวิชวลของเพลงนั้นแบบต่างกันโดยสิ้นเชิง เปรียบแต่ละคนเป็นวัตถุดิบที่มาปรุงรวมกันเป็นจาน

ฟลุค: คงเป็นเรื่องของไวบ์ ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับผม ทุกคนชอบไวบ์ดีๆ เป็นเรื่องปกติ ไปเที่ยวแล้วสนุกไปกับบรรยากาศตรงหน้าหรือประสบการณ์ใหม่ๆ สำหรับผม สิ่งที่น่าจะทำให้พวกเราเป็นส่วนหนึ่งของไวบ์เสมอที่ทำงาน คงหนีไม่พ้นการเต้นแล้วทำงานไปด้วย เรื่องเต้นนี่ไม่ได้เลยครับ (หัวเราะ) ต้องขยับไปกับเพลงตลอด โยกไปกับ DJ แล้วคนในแดนซ์ฟลอร์ ลองนึกภาพ คนเดินเข้าแดนซ์ฟลอร์ สิ่งแรกที่เขาเห็นก่อนเข้าคือเราที่ทำงานแล้วเต้นไปด้วย นั่นอาจจะเป็นการแนะนำตัวว่างานที่พวกเราทำอยู่คือประสบการณ์ที่ผมมีส่วนร่วมไปด้วยกับทุกคนแล้วพวกเราก็มอบประสบการณ์เหล่านี้ให้ด้วยความเข้าใจ

วอ: พวกเรามีสกิล DJ ทุกคนด้วยมั้งครับ ก็เลยมีความเข้าใจว่าเพลงแต่ละเพลงต้องการสื่อสารอะไร

สไปร์ท: ผมคิดว่าน่าจะเป็นการตีความจากเพลงที่พวกเราได้รับฟังครับ เพราะพวกเราไม่ปิดกั้นและพร้อมที่จะรับฟังเพลงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเพลงฮิตหรือไม่ฮิตก็ตาม เพลงเก่าหรือเพลงใหม่ ซึ่งมันสามารถทำให้พวกเราเล่าเรื่องผ่านวิชวลกับแสงโดยไม่มีข้อแม้ และสนุกไปกับมันครับ

“Collecting by our human optical system, passing it to others by our human potential. – เราใช้คอนเซ็ปต์นี้กับโลโก้ด้วยครับ เรารับสิ่งต่างๆ เข้ามาตีความ ถ่ายทอด และส่งต่อให้ผู้อื่น”

ทำไมต้อง Human Spectrum?

แว่น: ‘Human’ มาจากตัวผมเองครับ

บอล: แว่นเขาชอบแนวคิดการขยายขอบเขตของมนุษย์ ที่ผมจะชอบแซวเขาเวลาเห็น เขามีความสุขเต็มหลอดตามปาร์ตี้ ตามงานต่างๆ เห็นแล้วก็อดสงสัยไม่ได้ว่า มนุษย์คนหนึ่งจะขยาย Perception ของตัวเองได้ถึงจุดไหน

ส่วน ‘Spectrum’ แวบเข้ามาในหัวตอนที่เรานั่งดูงาน Installation ชิ้นหนึ่งที่ตลาดต้นตาล จ.ขอนแก่น ที่ทำร่วมกับพี่ตั๊บ ธ.ไก่ชน ตอนนั้นงานเสร็จแล้วครับ เราก็นั่งดูกันชิลๆ พระอาทิตย์คล้อยตกในช่วงบ่ายแก่ถึงเย็น เราค้นพบสีแปลกตาที่เกิดจากการสะท้อนและหักเหปนเปกันที่ตัวงาน เนื่องจากการเปลี่ยนมุมของแสงแดด ก็อดสงสัยอีกไม่ได้อีกว่า Human visible spectrum หรือช่วงคลื่นแสงที่มนุษย์มองเห็นจะมีสีนอกเหนือจากนี้ได้ไหม

ผมเอาทั้งสองเหตุการณ์มารวมกัน ถึงชื่อมันจะดูซิ่งๆ ไปบ้าง แต่แก่นสารถูกต้อง ก็เลยเอาชื่อนี้แหละครับ

โลโก้ได้แรงบันดาลใจมากจากไหน และทำไมจึงออกมาเป็นแบบนี้?

บอล: แว่นเป็นคนออกแบบครับ

แว่น: จริงๆ แล้วทำไว้หลายเวอร์ชั่นมาก บางอันก็วิทยาศาตร์เกินไป จนมาลงตัวที่อันนี้ จำลองว่าตัวเราเป็นปริซึมให้คลื่นแสงผ่าน รับเข้าไป ขยาย คิดวิเคราะห์ แล้วก็ถ่ายทอดสื่อสารออกมาครับ

กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ของเราเป็นใคร?

บอล: เราเลือกทำงานกับ Dance Culture, Underground Music/Club Scene เป็นหลักครับ ลูกค้าเราจะมีไม่เยอะ เป็นกลุ่มค่อนข้างเล็ก น่ารัก และเต็มไปด้วยแพชชั่นที่มีร่วมกัน

งาน Visual Design ต้องมาควบคู่กับดนตรีเสมอไปไหม?

บอล: ไม่จำเป็นครับ แล้วแต่ลักษณะงาน แต่สำหรับ Human Spectrum ดนตรี คือ หัวใจสำคัญ เราแปลเสียงเป็นแสง ถ่ายทอด และสื่อสารงานด้วยการใช้เสียงเพลงเป็นสารตั้งต้น ถ้าดีเจเปิดดี พวกเราก็แฮปปี้ ทำงานอย่างมีความสุข ถ้าเป็นงาน Installation Art ก็อาจจะเป็น Sound Design บางอย่างเบาๆ บางๆ เพื่อให้งานสมบูรณ์ เราเชื่อในความสัมพันธ์ระหว่างคลื่นเสียงกับคลื่นแสง

งานโปรเจกต์หนึ่งใช้ระยะเวลาในการทำมากน้อยแค่ไหน อย่างไร? ขั้นตอนการทำงานเป็นอย่างไรบ้าง

บอล: แล้วแต่ scope งานครับ เนื้องานกว้างแค่ไหน ลูกค้ามีอะไรมาแล้วบ้าง ถ้ามาตัวเปล่าแต่มีฝัน เราก็ consult ให้ได้ เริ่มกันตั้งแต่หนึ่ง แต่ถ้าเอาแบบขั้นตอนปกติเลย เวลาลูกค้าติดต่อมา เขาจะมี วัน เวลา สถานที่ และรายชื่อศิลปินมาให้เรา เราก็เริ่มงาน Creative/Design Direction ก่อน คิดงานและแนวทางที่เหมาะสม พร้อมราคาประเมิน ถ้าลูกค้าไปต่อ เราก็เริ่มงาน ออกแบบ ทำวิชวลให้ลูกค้าเห็นภาพ เขียนแบบสร้าง แบบติดตั้ง เขียน Technical Diagram ดูแลติดตั้งงาน ลุยวันงานกันเต็มที่ พอจบงาน เราก็รอรับฟีดแบคครับ

ส่วนตัวคิดว่า งานแสง สี วิชวล มีความสำคัญกับงานเทศกาลต่างๆ มากน้อยแค่ไหน?

บอล: ถ้าเป็นเทศกาลดนตรี คงเป็นเรื่องสำคัญรองลงมาจากดนตรี ตัวศิลปินเองก็ให้ความสำคัญกับโชว์ของตัวเองมาก เขามีทีม Visual Designer/Director ของตัวเองมาด้วย อาจจะยังไม่ค่อยชัดเจนมากนักกับศิลปินไทย แต่ที่ต่างประเทศ เราจะเห็นบทบาทการทำงานในส่วนนี้ได้ชัดเจน

งานที่ประทับใจ หรือ งานที่ชื่นชอบของทีม

บอล: จริงๆ แล้วชอบทุกงาน แต่คงเป็น ‘Red Cube’ ที่ Savage Hanoi เวียดนามครับ ผมชอบคอนเซ็ปต์ของมัน ที่มีลักษณะเป็นบ้านสามชั้น เป็นบ้านยุคเก่า ลงโครงสร้างหลักเป็นเสาเหล็กกลมขนาด 25 cm. แล้วดีเจเล่นอยู่ตรงนั้น เราก็ เออ นี่มันใช่เลย เราเจอแก่นสารและเอาไฟ Pixel ไปล้อมเสา แล้วเราก็เรียกมันว่า ‘Cores of Red Cube’ เราคิดเรื่องพลวัตร พลังงานจากจุดกำเนิด และการมีอยู่ของสถานที่ เราใส่ระบบ Audio Reactive เข้าไปให้เกิดวัฏจักรพลังงาน ไฟนี้รับเสียงเข้าไปเพื่อแปลออกมาเป็นแสงด้วยตัวของมันเอง เสียงนี้รวมไปถึงเสียงผู้คนและทุกๆ เสียงที่เกิดขึ้นในสถานที่นั้น เวลานั้น แสงสีแดงจะตอบสนองกับย่านเสียงต่ำ (Low Frequency) ถึงจุดๆ หนึ่งถ้าย่านเสียงสูง (High Frequency) ดังมากพอ ไฟจะทำงานเป็นสีขาว สร้าง Noise ขึ้นมาได้เอง เราปล่อยให้ไฟนี้ทำงานของมันไป แล้วแต่เสียงเพลงที่จะเกิดขึ้นจากศิลปินที่มาเล่นที่ Red Cube ถ้าทุกคนในนั้นตะโกนพร้อมกันด้วยความ appreciate กับอะไรบางอย่างที่เกิดขึ้น ไฟก็จะทำงานอย่างบ้าคลั่ง มันทำให้เกิดพลวัตรที่เราไม่ได้เป็นผู้กำหนดไว้ แต่ศิลปินและทุกคนที่อยู่ที่นั่น มีส่วนร่วมในการสร้างพลังงานนี้

(Red Cube)

งานเฟสติวัลที่เวียดนามคือความปลาบปลื้มใจ ที่ทำให้หายเหนื่อย และพร้อมลุยงานต่อ!

บอล: ปี 2022 ที่ผ่านมา ‘ต๊อบ’ (DOTT) ติดต่อให้พวกเราได้ไปทำ ‘Equation Festival’ ที่เวียดนาม เป็นเฟสติวัลที่ท้าทายมาก เข้าไปในถ้ำเฉลี่ย 16 ชั่วโมงต่อวัน เป็นแดนซ์ฟลอร์ที่ค่อนข้างยาวนาน ร่างกายต้องพร้อม เราต้องสื่อสารและเล่าเรื่องให้ดี เราก็ทำเต็มที่ครับ ผลตอบรับดีเกินคาด เราได้ connect กับคนที่มีแพชชั่นเดียวกันในละแวกประเทศเพื่อนบ้าน ลูกค้าเราก็เพิ่มขึ้น ปีที่แล้วถือว่าเราโตขึ้นมากในแง่ประสบการณ์ เราได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างจากงานต่างประเทศ รับ input มาเต็มๆ ครับ ในขณะเดียวกัน output เราก็ออกไปได้สวย คุณภาพงานที่เรามุ่งมั่นและพัฒนามาตลอดได้สัมฤทธิ์ผลบางอย่างสู่สายตาผู้คนในต่างประเทศ เราไปทำงานที่เวียดนามครั้งแรก แต่งานเราไปทั่วเอเชียเลยครับ มีคนทักทายมาชื่นชม เขาบอกว่าสิ่งที่พวกเราทำมันหาดูยากมากๆ เขาประทับใจกับงานเรา เขาได้รับประสบการณ์ที่ดีมากๆ ที่ Equation Festival เราได้รับข้อความเหล่านี้จากหลายประเทศ เราก็ปลื้มใจมาก มีแรงทำงานต่อ หายเหนื่อยเลยครับ

(Equation Festival)

ความท้าทายหรือสิ่งที่ยากที่สุดในการทำงาน คืออะไร? งานไหนที่ยากที่สุดเท่าที่ทำมา?

บอล: การผลักดันแนวคิดและงบประมาณกับ underground scene ครับ เราทำงานหนักกับเรื่องนี้มาก เพราะลูกค้าเราไม่ใช่ลูกค้าที่ใช้เงินนำในการทำงาน หรือใช้เงินแก้ปัญหาได้ตลอดเวลา เขาใช้แพชชั่นและสกิลเป็นหลัก ซึ่งมันดีมากๆ ครับ มันหล่อหลอมให้เราฉลาดคิดฉลาดทำ ครีเอทีฟ รู้จักพลิกแพลง ค้นหา สกิลที่ทำให้มันเป็นไปได้ รวมไปถึงงานประดิษฐ์ไฟด้วยมือ ที่ไม่ทำลายตารางงบของลูกค้า โดยที่เรายังสามารถคงไว้ซึ่งการทำงานภายในทีม ที่ยังทำได้เต็มประสิทธิภาพไม่ลดทอนใดๆ เราจะไม่มีวันลดค่าแรงต่อวันของมนุษย์คนหนึ่งครับ เพราะนั่นคือการบอกว่าให้เขาแกล้งๆ ทำงานน้อยลง ให้เค้าแกล้งๆ ฉลาดน้อยลง ซึ่งมันสวนทางกับการพัฒนาคนๆ หนึ่งมากเลยครับ เราจึงต้องหาวิธีจัดการกับงบที่มีจำกัดด้วยหนทางอื่นๆ

“อาชีพ Visual Designer ไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่เลยครับ เรามีพี่ๆ ในวงการที่ผลักดันกันมาหลายสิบปี มาถึงจุดนี้ สายอาชีพนี้ในบ้านเราเติบโตมากครับ เป็นอุตสาหกรรมใหญ่เลย ทั้งฝั่ง Design และฝั่ง Production”

<