ทุกวันนี้ บรรดาคนรักแมวย่อมรู้ดีอยู่แก่ใจว่าสถานะของเราๆ นั้น ได้ขยับจากการเป็น ‘เจ้าของแมว’ สู่การเป็น ‘ทาสแมว’ ที่ต้องดูแลเอาอกเอาใจ ‘นายท่าน’ ไม่ว่าท่านเหล่านั้นจะเป็นแมวขนฟู ขนเรียบ พันธุ์ทาง หรือพันธ์ุแท้สายแชมป์ จนอาจเรียกได้ว่า สิ่งมีชีวิตที่แสนน่ารักนี้ช่างมีอิทธิพลต่อจิตใจของมนุษย์อย่างเราเสียเหลือเกิน อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางอำนาจของแมวที่หมุนวนอยู่ในชีวิตของเหล่าทาส ยังมีแมวบางตัวที่ดูจะเป็น ‘แมวเหนือแมว’ ไปอีก เพราะมันไม่ได้มีอิทธิพลแค่กับเจ้าของเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทในแวดวงต่างๆ จนกระทั่งสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเปลี่ยนแปลงชีวิตของมนุษย์ได้เลยทีเดียว แมวแบบไหนกันที่มีอำนาจเบอร์นั้น EQ รวบรวมมาให้คุณได้ทำความรู้จัก ในลิสต์ 5 แมวผู้ทรงอิทธิพลระดับโลก ดังนี้
‘แลร์รี่’ หัวหน้าแผนกจับหนูแห่งบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง
‘แลร์รี่’ แมวลายสลิดสลับสีขาว เพศผู้ วัย 15 ปี ที่แม้จะมีลุคบ้านๆ ด้วยชาติกำเนิดเป็นแมวจรจากสถานสงเคราะห์สัตว์ Battersea Dogs & Cats Home แต่ก็เป็นแมวที่มีความสำคัญตัวหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองของอังกฤษ เพราะแลร์รี่เป็น ‘หัวหน้าแผนกจับหนู’ ประจำบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง หรือสำนักนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรนั่นเอง
แลร์รี่ได้รับคัดเลือกให้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่เป็นเพื่อนเล่นของลูกๆ ของเดวิด แคเมอรอน นายกรัฐมนตรีคนที่ 53 ของสหราชอาณาจักร เมื่อปี 2011 ก่อนจะได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกจับหนู อย่างไรก็ตาม ในเว็บไซต์สำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า หน้าที่อย่างเป็นทางการของแลร์รี่ คือการต้อนรับแขก ตรวจสอบความปลอดภัย และทดสอบเฟอร์นิเจอร์โบราณว่า มีคุณภาพมากพอสำหรับการงีบหรือไม่ รวมทั้งพิจารณาหาทางออกเกี่ยวกับปัญหาหนูรุกล้ำบ้าน พร้อมรายงานให้เจ้าหน้าที่ทราบว่า แนวทางแก้ปัญหานั้นยังอยู่ใน ‘ขั้นตอนการวางแผนเชิงยุทธวิธี’
อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกของการปฏิบัติหน้าที่ในบ้านเลขที่ 10 แลร์รี่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงภาวะอารมณ์ และประสิทธิภาพในการทำงาน รายงานข่าวไม่เปิดเผยที่มาระบุว่า แลร์รี่นั้น ‘ขาดสัญชาตญาณนักล่าอย่างเห็นได้ชัด’ และหลังจากนั้น ในปีเดียวกัน มีรายงานว่า แลร์รี่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนอนมากกว่าจับหนู จนสื่อแทบลอยด์ตั้งฉายาให้ว่า ‘Lazy Larry’ หรือแลร์รี่จอมขี้เกียจ จนเกือบจะถูกปลดออกจากตำแหน่งเมื่อปี 2012 ทว่าในเดือนสิงหาคมปีนั้น แลร์รี่ได้จับหนูออกสื่อเป็นครั้งแรก และทิ้งซากหนูไว้ในสวนหน้าบ้านเลขที่ 10 นั่นเอง
เฟรยา / พาล์มเมอร์สตัน
Photo Credit: Evening Standard / Politico
เดือนกันยายน 2012 เก้าอี้หัวหน้าแผนกจับหนูของแลร์รี่เริ่มสั่นคลอน หลังจากที่ ‘เฟรยา’ แมวอีกตัวเข้ารับตำแหน่งเดียวกัน ด้วยคุณสมบัติการเป็นผู้นำ และประสิทธิภาพในการจับหนูที่สูงกว่า แต่หลังจากทำหน้าที่ได้เพียง 2 ปี เฟรยาก็อำลาตำแหน่ง และทิ้งให้แลร์รี่รับผิดชอบงานจับหนูแต่เพียงผู้เดียว
อย่างไรก็ตาม เส้นทางลูกผู้ชายอย่างแลร์รี่นั้นก็ต้องมีเจ็บตัวเป็นธรรมดา เพราะมีเพื่อนบ้าน และศัตรูคู่อาฆาตอย่าง ‘พาล์มเมอร์สตัน’ แมวประจำกระทรวงการต่างประเทศ ที่แวะเวียนมาก่อเหตุทะเลาะวิวาทกับแลร์รี่อยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งเดือนสิงหาคม ปี 2016 สตีฟ เบ็ค ช่างภาพข่าวการเมือง ระบุว่า แลร์รี่ทะเลาะกับพาล์มเมอร์สตันอย่างรุนแรงที่บริเวณบันไดหน้าบ้านเลขที่ 10 ส่งผลให้ปลอกคอของแลร์รี่ขาด ส่วนพาล์มเมอร์สตันนั้นมีบาดแผลลึกจากการข่วน และหูฉีก หลังจากนั้น พาล์มเมอร์สตันเขียนจดหมายประกาศลาออก และย้ายไปอยู่ในชนบทเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2020 โดยสำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า ‘การทะเลาะวิวาทอันไร้ชั้นเชิง [กับแลร์รี่] นั้นไม่ได้เป็นตัวเร่งการลาออกของพาล์มเมอร์สตัน’
สำหรับความสัมพันธ์กับมนุษย์ เดวิด แคเมอรอน เคยกล่าวไว้ว่า ปกติแลร์รี่ค่อนข้างวิตกกังวลเมื่อต้องอยู่ท่ามกลางผู้คน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะ ประสบการณ์อันเลวร้ายสมัยที่ยังเป็นแมวจรจัด ทว่ามนุษย์หนึ่งในไม่กี่คนที่แลร์รี่ยินดีให้สัมผัสตัว คืออดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา
ในปี 2016 ขณะที่แคเมอรอนกำลังจะลงจากตำแหน่ง เขากล่าวว่า เขารู้สึกเศร้าใจที่ไม่สามารถพาแลร์รี่ไปอยู่ด้วยได้ และในการตอบคำถามของนายกรัฐมนตรีครั้งสุดท้ายของแคเมอรอน เขากล่าวว่า แลร์รี่เป็น ‘ข้าราชการ’ ตัวหนึ่ง ไม่ใช่สมบัติส่วนบุคคลของนายกรัฐมนตรี และจะไม่ออกจากบ้านถนนดาวนิงหลังจากมีการเปลี่ยนรัฐบาล ด้วยเหตุนี้ แลร์รี่จึงดำรงตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่จับหนูในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีถึง 5 คน ได้แก่ เดวิด แคเมอรอน, เธเรซา เมย์, บอริส จอห์นสัน, ลิซ ทรัสส์ และริชี ซูนัค
ชื่อเสียงของแลร์รี่ที่เติบโตจากแมวจรสู่การเป็นแมวชื่อดังในวงการการเมือง ส่งผลให้ในปี 2012 Battersea Dogs & Cats Home เปิดเผยว่า ความนิยมของแลร์รี่ส่งผลให้ยอดการขอรับเลี้ยงแมวของศูนย์เพิ่มขึ้นถึง 15% และทำให้ชื่อของแลร์รี่ปรากฏบนป้ายสีน้ำเงิน Battersea Dogs and Cats Home เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณ และทุกวันนี้ แลร์รี่ก็ยังคงปรากฏตัวในพื้นที่สื่ออยู่บ่อยครั้ง รวมทั้งมีแอคเคานต์ทวิตเตอร์ของตัวเอง ชื่อว่า @Number10cat ที่มีผู้ติดตามกว่า 8 แสนคน
‘ทาร์ดาร์ ซอส’ มีมแมวหน้างอ Grumpy Cat
ชาวเน็ตทั้งที่เป็นทาสแมว และไม่ได้เป็นน่าจะคุ้นเคยกับภาพมีมแมวปากคว่ำ หน้าตาบึ้งตึง หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘Grumpy Cat’ ซึ่งหลายคนมักจะเข้าใจว่าเป็นภาพตัดต่อ แต่ที่จริงแล้ว Grumpy Cat หรือชื่อจริงว่า ‘ทาร์ดาร์ ซอส’ มีหน้าบึ้งแบบนี้ตลอดเวลา หาใช่ภาพตัดต่อไม่
ทาร์ดาร์ ซอส เป็นแมวเพศเมีย เกิดเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2012 ที่มอร์ริสทาวน์ แอริโซนา สหรัฐอเมริกา พร้อมกับภาวะแคระ ที่ส่งผลให้มันและ ‘ป็อกกี้’ น้องชาย มีใบหน้าแบน ตาโปน และหางสั้น ขณะที่ทาบาธา บุนเดอเซน เจ้าของทาร์ดาร์ ซอส ยืนยันว่า แมวของเธอมีพฤติกรรมเหมือนแมวปกติ
เจ้าทาดาร์ ซอส กลายเป็นแมวเซเลบแห่งโลกออนไลน์ เมื่อปี 2012 เมื่อไบรอัน บุนเดอเซน พี่ชายของทาบาธา โพสต์ภาพใบหน้าบึ้งตึงของทาร์ดาร์ ซอส ในเว็บไซต์ Reddit และหลังจากนั้น ภาพนี้ก็ถูกเรียกขานว่า ‘Grumpy Cat’ และกลายเป็นมีมยอดฮิตตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
และนอกเหนือจากการเป็นมีม ทาร์ดาร์ ซอส และเจ้าของ ต่างก็ได้ปรากฏตัวในสื่อต่างๆ และเจ้าแมวหน้างอตัวนี้ยังได้เป็นพรีเซนเตอร์แบรนด์ดังมากมาย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ Friskies ที่มอบตำแหน่งโฆษกแมว (Official Spokescat of Friskies) ให้กับทาร์ดาร์ ซอส ในปี 2013 โดยมีรายงานว่า ในการเดินทางไปโปรโมตสินค้าที่ออสติน เท็กซัส ฟริสกีส์จ่ายเงินค่าเดินทางในชั้น First Class, ห้องพักส่วนตัวพร้อมเตียงคิงไซส์, ผู้ช่วยส่วนตัว, คนขับรถ, อาหารแมวฟริสกีส์ และน้ำดื่มไม่อั้น
ความโด่งดังของทาดาร์ ซอส ทำให้พี่น้องบุนเดอเซนลาออกจากงานประจำ และหันมาดูแลแมวของพวกเขา ทาบาธา บุนเดอเซน รับหน้าที่เป็นผู้จัดการส่วนตัว ขณะที่พี่ชายของเธอรับหน้าที่ดูแลเว็บไซต์ และโซเชียลมีเดียต่างๆ ของแมว โดยมีเบน แลชเชส ซึ่งเคยเป็นตัวแทนให้กับ Keyboard Cat และ Nyan Cat ก็มาทำหน้าที่เป็น ‘Meme manager’ และเป็นตัวแทนของ Grumpy Cat ด้วย
นอกจากนี้ บริษัท Grumpy Cat ยังจับมือกับ Grenade Beverage LLC เปิดตัวเครื่องดื่มกาแฟเย็นชื่อ ‘Grumppuccino’ ทว่าในปี 2015 บริษัท Grumpy Cat ได้ยื่นฟ้อง Grenade Beverage LLC ข้อหาละเมิดเครื่องหมายการค้า หลังจากที่บริษัทเครื่องดื่มได้ขยายผลิตภัณฑ์ผงกาแฟ Grumpy Cat ซึ่งเกินกว่าที่ข้อตกลงระบุไว้ และในเดือนมกราคม ปี 2018 ศาลตัดสินให้บริษัท Grumpy Cat ชนะคดี และสั่งให้ Grenade Beverage จ่ายเงินค่าเสียหายจำนวน 710,000 เหรียญสหรัฐ จากการละเมิดลิขสิทธิ์ และเครื่องหมายการค้า
มีม Grumpy Cat และทาดาร์ ซอส ได้รับรางวัลมากมาย ทั้งรางวัลแมวผู้ทรงอิทธิพลที่สุดประจำปี 2012 จาก MSNBC, รางวัล Meme of the Year ประจำปี 2013 จาก BuzzFeed และยังเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่ได้รับเลือกให้เป็นภาพวาดใน The Wall Street Journal
อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤษภาคม 2014 ทาร์ดาร์ ซอส เสียชีวิตจากโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เมื่ออายุได้ 7 ปี ร่างของทาร์ดาร์ ซอส ถูกฝังในสุสานสัตว์เลี้ยง Sunland Pet Rest Cemetery ที่ซันซิตี้ แอริโซนา
แม้ว่าทาร์ดาร์ ซอส จะเดินทางไปยังดาวแมวแล้ว แต่ปัจจุบันนี้ มีม Grumpy Cat ยังคงปรากฏอยู่บนโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง และเฟสบุ๊กแฟนเพจ The Grumpy Cat Official มีผู้ติดตาม 7,743,252 คน ส่วนอินสตาแกรม realgrumpycat มีผู้ติดตาม 2.6 ล้านคน และทวิตเตอร์ @RealGrumpyCat มีผู้ติดตาม 1.5 ล้านคน
‘สมัดจ์’ แมวมีมโต๊ะดินเนอร์
ถัดจากมีมแมวหน้าบึ้ง Grumpy Cat อีกหนึ่งมีมแมวที่ฮิตกันทั่วโลก คือมีมแมวขาวที่นั่งโต๊ะดินเนอร์ พร้อมจานสลัด และกำลังเถียงกับหญิงสาวคนหนึ่ง หรือที่รู้จักกันในชื่อมีม ‘Confused Cat at Dinner’
แมวตัวนี้มีชื่อว่า ‘สมัดจ์’ และมันได้กลายเป็นแมวเซเลบอีกตัวในโลกออนไลน์ เมื่อปี 2018 จากการที่ผู้ใช้เว็บไซต์ Tumblr ในชื่อ deadbefordeath ได้โพสต์ภาพแมวสีขาวนั่งทำหน้างงบนเก้าอี้ พร้อมจานสลัดผัก และตั้งชื่อภาพว่า ‘เขาไม่ชอบกินผัก’ โพสต์ดังกล่าวมีคนกดไลก์ถึง 50,300 คน และถูกแชร์อย่างกว้างขวางจนถึงปีถัดมา เจ้าของสมัดจ์ จึงตัดสินใจสร้างแอ็กเคานต์ @smudge_lord ในอินสตาแกรม พร้อมคำอธิบายที่บ่งบอกถึงตัวตนของเจ้าสมัดจ์ว่า ‘เป็นมีมแมวคูลสุดในรุ่น เกลียดผักตั้งแต่เกิด ทรงอย่างแบดและไม่เคยแอ๊บ’
มิแรนดา สติลลาโบว์เออร์ เจ้าของสมัดจ์ ให้สัมภาษณ์กับ CTV News Channel ว่า สมัดจ์จะนั่งที่โต๊ะอาหารพร้อมเจ้าของเป็นประจำ และจะอาละวาดหนักมากถ้าไม่ได้นั่งที่เก้าอี้ของตัวเอง จนกระทั่งวันหนึ่ง ในปี 2018 สมัดจ์ที่ไม่มีที่นั่ง จึงแย่งที่นั่งของแขกคนหนึ่งที่กำลังกินสลัดอยู่ และดูจะไม่ปลื้มอาหารที่อยู่ในจาน จนทำหูเกร็ง และอ้าปาก ซึ่งดูเหมือนกำลังงง รังเกียจ และปฏิเสธผักที่อยู่ตรงหน้า
สติลลาโบว์เออร์เล่าว่า สมัดจ์กินแต่เนื้อสัตว์ เธอจึงคิดว่าแมวของเธอน่าจะเกลียดผักเอามากๆ แต่เมื่อทดสอบปฏิกิริยาของสมัดจ์กับอาหารอื่นๆ ก็พบว่ามันก็ทำหน้าแบบเดียวกันเมื่อเห็นนาโช
หลังจากกลายเป็นภาพดังในปี 2018 ก็มีผู้ใช้ทวิตเตอร์คนหนึ่งนำภาพของสมัดจ์มารวมกับภาพจากตอนหนึ่งของซีรีส์ The Real Housewives of Beverly Hills จนกลายเป็นภาพ ‘ผู้หญิงตะโกนด่าแมว’ และกลายเป็นมีมที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในโลกออนไลน์ ส่งผลให้แอคเคานต์ @smudge_lord มีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นถึง 1.2 ล้านคน ภายในระยะเวลาไม่ถึง 6 เดือน (ตัวเลขผู้ติดตามปัจจุบันอยู่ที่ 1.6 ล้านคน) และทำให้เจ้าของเปิดตัวเว็บไซต์ขายสินค้า ทั้งแก้วกาแฟ เสื้อยืด สเวตเตอร์ หมวกไหมพรม และหมวกเบสบอล ที่มีภาพเจ้าสมัดจ์นั่งโต๊ะดินเนอร์กับจานสลัด โดยรายได้จากการขายสินค้า มอบให้กับองค์กรช่วยเหลือแมว Furry Tails
นอกจากนี้ มีม ‘ผู้หญิงตะโกนด่าแมว’ ยังได้รับรางวัลมีมยอดเยี่ยมประจำปี 2019 และประจำทศวรรษ 2010s ส่วนสมัดจ์นั้น ก็ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในแมวยอดนิยมตลอดกาลของนิตยสาร Time ในปี 2020 ขณะเดียวกันก็มีเซเลบ (มนุษย์) หลายคนโพสต์ภาพมีม และภาพตัวเองสวมเสื้อยืดลายสมัดจ์ เช่น บรูซ เดวิส ไลน์แบคเกอร์ของ NFL, จอห์น ซีนา นักมวยปล้ำชื่อดังของ WWE รวมทั้งแร็ปเปอร์ระดับตำนานอย่าง Snoop Dogg
‘ทามะ’ แมวนายสถานีรถไฟของญี่ปุ่น
พูดถึงแมวที่มีอิทธิพลทั้งที จะไม่พูดถึงญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศ ‘แมวนิยม’ ก็คงไม่ได้ โดยเฉพาะเจ้าแมว ‘ทามะ’ แมวสามสีเจ้าของตำแหน่งนายสถานีรถไฟ ที่ชุบชีวิตชุมชนท้องถิ่นให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลก
ทามะเป็นแมวจรสามสี เพศเมีย เกิดเมื่อวันที่ 29 เมษายน 1999 ใกล้กับสถานีรถไฟคิชิ เมืองคิโนกาวะ จังหวัดวากายามะ โดยมีผู้โดยสารรถไฟ และโทชิโกะ โคยามะ เจ้าของร้านชำ และผู้จัดการสถานีคอยให้อาหาร จนกระทั่งในปี 2006 บริษัท Wakayama Electric Railway ผู้รับผิดชอบเส้นทางรถไฟสายคิชิงาวะ ได้ปลดพนักงานในเส้นทางรถไฟสายนี้ทั้งหมด เพื่อลดค่าใช้จ่าย และขับไล่แมวจรออกจากพื้นที่ เพื่อสร้างถนนใหม่เข้าสถานี ทว่าโคยามะได้ขอร้องให้มิตสึโนบุ โคจิมะ ประธานของ Wakayama Electric Railway อนุญาตให้แมวอาศัยอยู่ในสถานีคิชิต่อไป ซึ่งโคจิมะก็อนุญาต โดยมองว่า เจ้าทามะเป็นแมวกวักนำโชคประจำสถานี
ต่อมาในวันที่ 5 มกราคม 2007 ทามะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายสถานีรถไฟคิชิอย่างเป็นทางการ มีหน้าที่หลักคือต้อนรับผู้โดยสารของสถานี ได้รับค่าจ้างเป็นอาหารแมวรายปี และมีป้ายชื่อทองคำติดปลอกคอ พร้อมหมวกนายสถานีที่ออกแบบให้พอดีกับหัวของทามะ ซึ่งใช้เวลาในการผลิตถึง 6 เดือน รวมทั้งมีหมวกสำหรับฤดูร้อนที่อากาศร้อนจัดด้วย
หลังจากที่เรื่องราวของนายสถานีแมวถูกเผยแพร่ออกไป จำนวนผู้โดยสารของรถไฟสายคิชิก็เพิ่มขึ้นถึง 17% เมื่อเทียบกับในเดือนมกราคม ปี 2006 และสถิติการโดยสารในเดือนมีนาคม ปี 2007 เปิดเผยว่า มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 10% จากปีงบประมาณที่ผ่านมา และยังมีงานวิจัยประมาณการณ์ว่า การเผยแพร่เรื่องราวของทามะสามารถสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่นได้ถึง 1.1 พันล้านเยน
จากผลงานดังกล่าว ทำให้ทามะได้รับโบนัสปลายปีเป็นของเล่นแมว และเนื้อปูสไลซ์ รวมทั้งได้เลื่อนตำแหน่งเป็น ‘นายสถานีอาวุโส’ เมื่อปี 2008 ซึ่งในพิธีเลื่อนตำแหน่ง มีประธานบริษัท นายกเทศมนตรี และผู้เข้าร่วมงานกว่า 300 คน ตำแหน่งนี้ทำให้ทามะได้เป็น ‘ผู้หญิงที่ได้รับตำแหน่งระดับผู้จัดการเพียงคนเดียว’ ของบริษัท และมีออฟฟิศที่ทำจากตู้ขายตั๋วเก่า ส่วนป้ายชื่อก็เปลี่ยนแบบใหม่ เป็นทองคำ มีสีพื้นหลังเป็นสีน้ำเงิน และตัวอักษร S ที่มาจากคำว่า ‘Super’ รวมทั้งมีผู้ช่วยอีก 2 ตัว ได้แก่ จิบิ น้องสาวของทามะ และแมวส้มชื่อมิอิโกะ ซึ่งเป็นแม่ของทามะ
Photo Credit: My Secret Wakayama / tiewyeepoon
ปี 2009 บริษัท Wakayama Electric Railway ได้เปิดตัวรถไฟใหม่ ชื่อว่า ‘Tama train’ หรือรถไฟทามะ โดยตกแต่งตู้รถไฟเป็นลายการ์ตูนแมวทามะ ตามด้วยการมอบตำแหน่ง ‘เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ’ ให้กับทามะ จากการที่ทามะปฏิบัติหน้าที่จนขยายฐานลูกค้าได้ ทำให้ทามะต้องทำงานนายสถานีและรับตำแหน่งใหม่ด้วย และยังเป็นแมวตัวแรกที่เป็นผู้บริหารบริษัททางรถไฟ ซึ่งในปี 2011 ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่บริหาร เป็นตำแหน่งรองจากประธานบริษัท และกรรมการผู้จัดการ
ทามะเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลว เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2015 ขณะอายุได้ 16 ปี มีการจัดพิธีศพแบบชินโต และยกย่องให้ทามะเป็นเทพในศาลเจ้า ชื่อว่า ‘ทามะไดเมียวจิน’ รวมทั้งมีการสร้างอนุสรณ์สถานของทามะจากก้อนหินในแม่น้ำคิชิ สถานที่เกิดของทามะ โดยประธานโคจิมะได้เขียนชื่อของทามะด้วยลายมือของตัวเอง และให้ช่างสลักลงบนแผ่นหิน ส่วนอนุสาวรีย์ของทามะก็ตั้งอยู่ในบริเวณศาลเจ้าชินโต ใกล้กับสถานีรถไฟ และในปี 2016 ทามะได้เป็นแมวตัวแรกที่มีชื่ออยู่ในหอเกียรติยศของวากายามะ
นิทามะ / ยอนทามะ
Photo Credit: Japan Times / Benesse
หลังจากการไว้ทุกข์ 50 วัน ตามประเพณี ทางสถานีได้แต่งตั้งนายสถานีใหม่ ชื่อว่านิทามะ (ทามะที่สอง) ซึ่งเป็นแมวจรขนยาวสามสี อาศัยอยู่ใต้ตู้รถไฟ และได้รับการอุปการะจาก Okayama Electric Tramway ตามด้วย ‘ซัน-ทามะ-ทามะ’ (ทามะที่สาม) ซึ่งฝึกงานเป็นนายสถานีที่โอคายามา ทว่าตัวแทนจากหน่วยงานประชาสัมพันธ์ของโอคายามา ซึ่งเป็นผู้ดูแลซัน-ทามะ-ทามะ เกิดเปลี่ยนใจ จึงเขียนจดหมายแจ้งว่า ‘ผมไม่สามารถให้ลูกคนนี้ไปได้ เธอจะอยู่ที่โอคายามา’ ทามะที่สามจึงทำหน้าที่นายสถานีอยู่ที่โอคายามาแทน ต่อมา ในวาระครบรอบ 10 ปี การแต่งตั้งทามะเป็นนายสถานี ได้มีการแต่งตั้งให้ ‘ยอนทามะ’ (ทามะที่สี่) แมวสามสีวัย 8 เดือน เป็นลูกน้องของนิทามะ และเป็นนายสถานีตัวใหม่ของสถานีอิดาคิโสะ
ทุกวันที่ 23 มิถุนายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันครบรอบการเสียชีวิตของทามะ นิทามะ และยอนทามะจะเดินทางไปเคารพศาลเจ้าของทามะ และทางบริษัทจะถวายของไหว้ให้กับทามะที่ศาลเจ้า เรื่องราวของทามะ และสถานีรถไฟคิชิ นับเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘Nekonomics’ หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยแมว หมายถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจเชิงบวกจากการใช้แมวเป็นมาสคอต
‘ชูเพ็ตต์’ แมวเศรษฐีนี ทายาทดีไซน์เนอร์ระดับโลก
แม้ว่าชื่อของ ‘ชูเพ็ตต์’ จะไม่ได้คุ้นหูชาวเน็ตมากนัก แต่สำหรับผู้ที่ติดตามข่าวสารวงการแฟชั่น ก็น่าจะรู้จักเจ้าแมวขนสวยตัวนี้ เพราะเธอเป็นแมวคู่ใจของดีไซน์เนอร์ชื่อดังผู้ล่วงลับ ‘คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์’
ชูเพ็ตต์เกิดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ปี 2011 เป็นแมวพันธ์ุเบอร์แมนสีครีม มีแต้มลายกระดองเต่าสีเทาที่ใบหน้า และตาสีฟ้าคู่สวย ซึ่งลาเกอร์เฟลด์ได้รับมาในฐานะของขวัญวันคริสต์มาสจากนายแบบชาวฝรั่งเศส
และด้วยความที่เป็นแมวของดีไซน์เนอร์ดังระดับโลก ไลฟ์สไตล์ของชูเพ็ตต์จึงไม่ธรรมดา เพราะจากรายงานของ New York Times ชูเพ็ตต์ใช้ชีวิตอย่างหรูหราตั้งแต่เมื่อครั้งลาเกอร์เฟลด์ยังมีชีวิตอยู่ โดยมีพี่เลี้ยง 2 คน ได้แก่ ฟรองซวส และมาร์จอรี ผู้ดูแลเรื่องความงามของชูเพ็ตต์ และเก็บไดอารี่กิจกรรม และอารมณ์ของชูเพ็ตต์เพื่อรายงานลาเกอร์เฟลด์ และสัตวแพทย์ รวมทั้งบอดี้การ์ด 1 คน, เชฟ และแพทย์ประจำตัว ชูเพ็ตต์เดินทางโดยอยู่ในกระเป๋าแมวที่ผลิตขึ้นโดยเฉพาะของ Louis Vuitton ส่วนจานอาหารที่ทำจากเงิน และแปรงขนถูกเก็บอย่างดีในกระเป๋าของ Goyard
ชูเพ็ตต์รับหน้าที่เป็นนางแบบภาพนิ่งในโปรเจ็กต์ต่างๆ ของลาเกอร์เฟลด์ และลาเกอร์เฟลด์มักจะไม่ให้แมวของเขารับงานอื่นๆ นอกเหนือจากโปรเจกต์ของเขาเอง โดยให้เหตุผลว่า ‘ผมเป็นสินค้า แต่ชูเพ็ตต์ไม่ใช่’ นอกจากนี้ ในปี 2015 ลาเกอร์เฟลด์กล่าวในการสัมภาษณ์กับ The Cut ว่า ชูเพ็ตต์ทำเงินได้ถึง 3 ล้านยูโร (3.18 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในช่วงปี 2014 จากการร่วมงานในสองโปรเจ็กต์ ได้แก่ โปรเจ็กต์รถในเยอรมนี และผลิตภัณฑ์ความงาม Shupette โดย Shu Uemura
โซเชียลมีเดียแรกที่มีการเปิดเผยเรื่องราวของชูเพ็ตต์ คือ Twitter ในชื่อแอ็กเคานต์ @ChoupettesDiary ซึ่งเป็นแฟนเพจที่ดูแลโดยแอชลีย์ ชูดิน มีเนื้อหาเสียดสีสิ่งที่ผู้คนเชื่อเกี่ยวกับอุตสาหกรรมแฟชั่นผ่านสายตาของชูเพ็ตต์ ทว่าในระยะหลัง เธอไม่ได้ทำงานเกี่ยวข้องกับทีมงานของลาเกอร์เฟลด์แล้ว จึงไม่ได้สร้างคอนเทนต์จากเรื่องราวของชูเพ็ตต์มากนัก อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ปรากฏตัวในโซเชียลมีเดีย และการสัมภาษณ์กับสื่อต่างๆ ชูเพ็ตต์กลายเป็นแมวเซเลบ จนลาเกอร์เฟลด์ถึงกับเปรยว่า อีกหน่อยคนอื่นๆ จะพูดถึงชูเพ็ตต์มากกว่าพูดถึงเขาแล้ว
ชื่อของชูเพ็ตต์ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายอีกครั้ง เมื่อลาเกอร์เฟลด์เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับอ่อน เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2019 ขณะอายุ 85 ปี และมีกระแสข่าวว่า ชูเพ็ตต์จะได้รับมรดกบางส่วนจากดีไซน์เนอร์ดังผู้นี้ เนื่องจากครั้งหนึ่งลาเกอร์เฟลด์เคยให้สัมภาษณ์กับ Le Figaro ว่าชูเพ็ตต์ก็มีทรัพย์สินส่วนตัว และเป็นทายาทของเขา และยังมีการประเมินว่า มรดกที่แมวตัวนี้จะได้รับจากลาเกอร์เฟลด์น่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ระหว่าง 195 - 300 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ข่าวนี้ยังไม่ได้รับการยืนยัน
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ลาเกอร์เฟลด์เสียชีวิต มีการเปิดแอคเคานต์ส่วนตัวของชูเพ็ตต์ในอินสตาแกรม ชื่อ @ChoupetteOfficiel ซึ่งเผยแพร่ภาพชีวิตประจำวันของแมวทายาทดีไซน์เนอร์ตัวนี้ ซึ่งแฟนคลับก็น่าจะหายห่วง เพราะจากภาพงานฉลองวันเกิดปีที่ 11 ของชูเพ็ตต์ เจ้าเหมียวเศรษฐีนีผู้นี้ยังคงแฮปปี้กับแชมเปญและของขวัญกองใหญ่ รวมทั้งผู้ติดตามในอินสตาแกรม ChoupetteOfficiel กว่า 1 แสนคน
อ้างอิง