อีกหนึ่งภาพยนตร์ที่อิงจากเรื่องจริงอย่าง ‘Jackie’ กำกับโดย พาโบล ลาร์เรน (Pablo Larrain) ถ่ายทอดความรู้สึกของ ‘แจ็กกี้ เคนเนดี้’ (แสดงโดย นาตาลี พอร์ตแมน) หลังจากที่สามีของเธอถูกลอบสังหาร หลังจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมนี้เกิดขึ้น โลกของแจ็กกี้ เคนเนดี้ ก็พังทลายลงอย่างสิ้นเชิง ด้วยความเจ็บปวด และโศกเศร้า ตลอดสัปดาห์ที่เธอต้องเผชิญกับสิ่งที่ไม่อาจจินตนาการได้ แจ็กกี้ตระหนักได้อย่างรวดเร็วว่า อีก 7 วันข้างหน้าจะเป็นตัวกำหนดว่าประวัติศาสตร์จะจดจำเธอ และสามีในรูปแบบใด วงจรแห่งความโศกเศร้าของเธอเกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านที่แสนตึงเครียด กับการขึ้นดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่ ‘ลินดอน จอห์นสัน’ (แสดงโดย จอห์น แคร์รอล ลินช์) และการเปลี่ยนแปลงอีกมากมายที่จะประดังเข้าหาเธอชนิดที่ไม่เหลือเวลาให้ได้เสียใจกันเลยทีเดียว ผู้หญิงที่เพิ่งจะสูญเสียคนรักกลับต้องสวมหน้ากากทำการแสดงต่อหน้าสื่อ ทั้งในฐานะแม่ และภรรยา ภายใต้สถานการณ์ที่กำลังสั่นคลอนครอบครัวของเธอ
ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดเรื่องที่บ้านของตระกูลเคนเนดี้ (Kennedy Compound) ในรัฐแมสซาชูเซตส์ นักข่าวคนหนึ่ง (รับบทโดย บิลลี่ ครูดัพ) ไปเยี่ยมแจ็กกี้เพื่อสัมภาษณ์เธอครั้งแรกในฐานะอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง นับตั้งแต่การสังหารสามีของเธอ สิ่งที่ภาพยนตร์นำเสนอให้เราเห็นต่อไปนี้คือ การสรุปชีวิตของเธอในฐานะสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งแบบเซอร์เรียลสุดๆ เริ่มจากการเปิดตัวทางโทรทัศน์ของเธอ พร้อมกับทัวร์ทำเนียบขาว ไปจนถึงวาระสุดท้ายของสามีเธอในขณะที่พวกเขาขับรถผ่านเมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 1963 และการเตรียมงานศพอันแสนเศร้า เธอให้สัมภาษณ์กับสื่อหมดทุกอย่าง ราวกับต้องการระบายทุกสิ่งที่เธอประสบมา เพราะประชาชนในตอนนั้นก็ไม่ได้สนใจความรู้สึกของคนในครอบครัวเท่าไรนัก พวกเขาไม่เข้าใจว่าการไว้ทุกข์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนในครอบครัว และควรมาก่อนความอยากรู้ของสื่อ
ในภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่มีฉากใดที่แสดงให้เห็นความเปราะบางของแจ็กกี้ได้ดีไปกว่าช่วงเวลาที่ ลินดอน บี จอห์นสัน สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ไม่นานหลังจากสามีของเธอเสียชีวิต ผู้กำกับมุ่งเน้นไปที่สีหน้าตกตะลึงของแจ็กกี้ต่อเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น และการตระหนักรู้อย่างเต็มที่ว่า ในฐานะประเทศ แม้ประธานาธิบดีจะเสียชีวิตแล้ว ประเทศก็ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ‘แจ็กกี้’ รวบรวมเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นจริงในอดีตเข้ากับช่วงเวลาส่วนตัวที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนได้อย่างลงตัว อย่างสิ่งง่ายๆ ที่เราจินตนาการไม่ถึง เช่น ฉากที่แจ็กกี้ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนเลือดสามี และบอกเด็กๆ ว่าพ่อของพวกเขาไม่กลับบ้าน เสียงสะท้อนที่เจ็บปวดภายใต้สถานการณ์ทางจิตวิทยา และประวัติศาสตร์เหล่านี้ทำให้ ‘Jackie’ เป็นภาพยนตร์ภาษาอังกฤษ และภาพยนตร์ที่มีตัวละครนำเป็นผู้หญิงเรื่องแรกของ Pablo Larrain และเขาสามารถทำออกมาได้ดี ถ่ายทอดมุมของผู้หญิงคนนี้ในแบบที่แตกต่างออกไปจากหน้าสื่อได้อย่างดีเยี่ยมทีเดียว
การแสดงของนาตาลี พอร์ตแมนนั้นไร้ที่ติ สายตา และการแสดงออกของเธอนั้นบ่งบอกได้ถึงอารมณ์มากมาย แสดงถึงความเจ็บปวด แต่ก็ความสงบนิ่ง สุขุม เหมาะสมกับการเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งของประเทศ ความแตกต่างของการแสดงในช่วงที่แจ็กกี้ต้องเปิดตัวต่อสาธารณะ ช่วงเวลาแห่งโศกนาฏกรรมและความสุข การแสดงต่อหน้าสื่อ ในฐานะแม่และภรรยาภายใต้สถานการณ์ครอบครัวหลังจากการพบเจอเรื่องร้าย และช่วงเวลาส่วนตัวแสนโดดเดี่ยวของเธอที่ต้องรับมือกับการสูญเสีย รายละเอียดปลีกย่อยของการเปลี่ยนแปลง บุคลิก และใบหน้าเหล่านั้นถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างช่างเชี่ยวชาญ เธอแสดงออกถึงความสง่างาม และความสุขุมที่ใครๆ ก็คาดหวังได้จากไอคอนของโลกคนนี้ จนหลายๆ คนคาดหวังว่าเธอน่าจะได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์แน่นอน และเราจะไม่กล่าวถึงสกอร์ของภาพยนตร์เรื่องนี้เลยก็คงไม่ได้ ดนตรีประกอบของ ไมกาห์ เลวี (Micah Levi) มีส่วนอย่างมากต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ ด้วยดนตรีประกอบที่เป็นออร์เคสตร้า เครื่องสาย และเครื่องเป่าลมไม้ที่คอยเล่นคลอไปกับอารมณ์ของแจ็กกี้ผ่านช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดในชีวิตของเธอ และแสดงให้เห็นว่า ดนตรีสามารถกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกจากภาพยนตร์ได้อย่างไร ทำให้คนดูสามารถเข้าถึง และเพิ่มอรรถรสในการรับชมได้มากยิ่งขึ้นไปอีกเป็นเท่าตัว
เมื่อพูดถึงแจ็กเกอลีน เคนเนดี้ คนทั่วไปก็จะนึกถึงความสุขุม และสไตล์ส่วนตัวของเธอ ความไอคอนิกนี้จะถูกจดจำไปอีกนาน แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังของฉากหน้าอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ก็คือตัวตนของเธอ และสิ่งที่เธอทิ้งไว้ให้กับสังคม ในฐานะแม่และเมีย เธอตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่ออนาคตของลูกๆ และภาพจำของสามี แจ็กกี้เป็นภาพยนตร์ที่แสดงให้เห็นด้านหนึ่งของผู้หญิงที่เข้มแข็ง ว่าเธอคนนั้นก็สามารถมีมุมที่ใจสลายได้ และนั่นเป็นช่วงเวลาที่โดดเดี่ยวที่สุดของผู้หญิงคนหนึ่ง ภาพยนตร์เรื่องนี้ควรได้รับการพิจารณาเรื่องรางวัลเท่านั้น แต่ควรเป็นภาพยนตร์ที่ได้นำกลับมาฉาย เพื่อเพิ่มมุมมองทางประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นต่อไปอีกด้วย