Art

นิทรรศการ James Nachtwey: Memoria ช่างภาพสงครามระดับโลก ครั้งแรกในเอเชียแปซิฟิก พร้อมเผยภาพชีวิตในสงครามยูเครน

นับเป็นก้าวครั้งสำคัญของประเทศไทยที่สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย
ในพระบรมราชูปถัมภ์
ร่วมกับ มูลนิธิส่งเสริมการถ่ายภาพ และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ด้วยการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย จัดแสดงนิทรรศการ James Nachtwey: Memoria รวมผลงานภาพถ่ายสงครามและภัยพิบัติตลอดชีวิตการทำงานเป็นช่างภาพข่าวและสงครามกว่า 42 ปี จำนวน 126 ภาพ ของ เจมส์ นาคท์เวย์ ซึ่งแต่ละภาพบอกเล่าเรื่องราว สื่ออารมณ์ และแสดงภาพสะท้อนของชีวิตที่ยังคงได้รับผลกระทบจากร่องรอยของสงครามและภัยพิบัติ ว่ากันว่าภาพถ่ายของเจมส์สามารถเปลี่ยนหลายสิ่งหลายอย่างบนโลกใบนี้ได้ รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจแห่งสันติภาพให้มวลมนุษยชาติ พร้อมเผยภาพถ่ายชีวิตผู้คนในสงครามยูเครนสู่สายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรก
ของโลก และฉายวีดีโอสั้นที่กำกับโดย Thomas Nordanstad (โทมัส นอร์ดานสตัด) ระหว่างวันที่ 5 กันยายน 2566 - 26 พฤศจิกายน 2566 (ยกเว้นวันจันทร์) เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ ชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เข้าชมฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ในงานเปิดนิทรรศการ James Nachtwey: Memoria อย่างเป็นทางการ ได้รับเกียรติจาก เกว็นโดลิน คาร์ดโน อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เป็นประธานในพิธีเปิด โดยมี เจมส์ นาคท์เวย์, ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์, อดุลญา ฮุนตระกูล, สุรินทร์ บัญญัติปิยพจน์, อุมาวร วินด์เซอร์-ไคลฟ์ และ ณภัชป์ รัตนศักดิ์ ให้การต้อนรับ พร้อมด้วยศิลปินช่างภาพที่มีชื่อเสียงทั้งระดับประเทศและระดับโลก พร้อมแขกผู้มีเกียรติร่วมชมนิทรรศการระดับโลกครั้งนี้อย่างคับคั่ง โดยพิธีเปิดจัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 ณ ชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ นายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์  และช่างภาพ
ชื่อดัง เผยว่า การจัดนิทรรศการในครั้งนี้เป็นหนึ่งใน RPST Master Series ซึ่งเป็นการนำภาพถ่ายของช่างภาพระดับโลกมาจัดแสดงให้คนไทยและคนในเอเชียแปซิฟิกได้ชม ไม่ว่าจะเป็น ไมเคิล เคนนา (Michael Kenna) ปรมาจารย์นักถ่ายภาพแนว Fine Art ร่วมสมัย, เคนโระ อิสึ (Kenro Izu) นักถ่ายภาพนิ่งแบบ Still life มือฉมังคนหนึ่งของโลก, ทอม จาโคบี (Tom Jacobi) ช่างภาพมือรางวัลระดับโลกจากเยอรมนี,
เซบาสเทียว ซาลกาโด (Sebastiao Salgado) ช่างภาพสารคดีระดับตำนานของโลก และเซบาสเตียน
โคปแลนด์ (Sebastian Copeland)
ช่างภาพมือรางวัล ผู้เป็นทั้งนักสำรวจขั้วโลก ซึ่งการจัดมาสเตอร์ ซีรีส์ในแต่ละครั้ง ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีและมีผู้เข้าชมเพิ่มมากขึ้นทุกปี อย่างครั้งที่จัดนิทรรศการ “Beyond the Air We Breathe: Addressing Climate Change” มีคณะครูพานักเรียนอนุบาลมาชมงานและวาดรูป เพื่อสอนจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ ผ่านการเรียนรู้ทางถ่ายภาพ

สำหรับจุดเริ่มต้นการจัดนิทรรศการของ เจมส์ นาคท์เวย์ เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2561 เมื่อเจมส์ เดินทางมาร่วมงาน นิทรรศการ "Sebastiao Salgado: The World Through His Eyes” จัดขึ้นโดยสมาคมฯ ที่ประเทศไทย จึงเกิดการพูดคุยถึงการจัดแสดงภาพถ่ายของเจมส์ครั้งแรกในเอเชียแปซิฟิกขึ้น  โดยทางสมาคมฯ
ใช้เวลาในการจัดเตรียมถึง 5 ปี เพราะอยากให้นิทรรศการ James Nachtwey: Memoria สร้างแรงกระเพื่อมทางสังคมให้ตระหนักถึงความเลวร้ายของสงคราม ความเสียหายของการใช้ความรุนแรง รวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ช่างภาพและคนที่รักการถ่ายภาพ และที่สำคัญคือ เพื่อเปิดให้เข้าชมฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งโดยปกติแล้วการชมนิทรรศการ James Nachtwey: Memoria ในต่างประเทศจะต้องเสียค่าเข้าชม และต้องเข้าคิวรอนานมากกว่าจะได้เข้าชม

“เขาไม่ได้เป็นแค่ช่างภาพสงคราม แต่ภาพถ่ายของเขาทำให้เห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของการมีชีวิตอยู่ ซึ่งเราไม่สามารถบอกได้ว่าใครถูกใครผิด และความพิเศษของภาพถ่ายที่นอกเหนือจากภาพที่สวยงามและเล่าเรื่องแล้ว ทำให้เกิดคำถามว่า เขาเอาตัวเองไปอยู่ตรงนั้นได้อย่างไร ผมว่าเขาเป็นคนเดียวในโลกที่สามารถเก็บทุกความรู้สึก เก็บทุกบรรยากาศในขณะนั้นออกมาได้ ภาพทุกภาพที่คัดเลือกมาจัดแสดงไม่ได้สะท้อนแค่ความสามารถของช่างภาพ แต่เล่าถึงบริบทของสิ่งที่เขาเห็นอยู่ตรงหน้า ความบ้าคลั่งของสงคราม เหมือนโลกคู่ขนานที่แต่ละคนใช้ชีวิตอยู่เพื่อเอาชีวิตรอดไปวันต่อวัน เราไม่รู้เลยว่าคนที่อยู่ในภาพของเจมส์ปัจจุบันเขายังมีชีวิตอยู่ไหม และสิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น ผมว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้มนุษย์อย่างเราตระหนักรู้ว่า เราควรรักกัน สงครามไม่ควรจะเกิดขึ้น และเห็นถึงความพิเศษของการมีชีวิตอยู่ ผมว่าสิ่งที่ดีที่สุดของการได้เห็นภาพขนาดใหญ่ที่ช่างภาพพิถีพิถันทุกกระเบียดนิ้ว คือการเห็นความงามที่เกิดขึ้นบนโลกถ่ายภาพที่ปรากฏอยู่บนกระดาษ” ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ กล่าว

โดยนิทรรศการครั้งนี้ ได้รวบรวมผลงานภาพถ่ายที่มีชื่อเสียงระดับโลก ซึ่งเป็นเสมือนโลโก้ประจำตัวของ เจมส์ นาคท์เวย์ จำนวน 126 ภาพ ที่ถ่ายในสงครามและภัยพิบัติต่างๆ ทุกภูมิภาคทั่วโลก ทั้งเวสต์แบงก์, ยูกันดา, เอลซัลวาดอร์, เฮติ, เลบานอน, นิการากัว, เชชเนีย, โคโซโว, บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา, อัลบาเนีย, ซูดาน, โซมาเลีย, รวันดา, ชายแดนรวันดา-แทนซาเนีย, ซาอีร์, อัฟกานิสถาน, สหรัฐอเมริกา, กรีซ, โครเอเชีย, เนปาล, อิรัก, ปากีสถาน, โรมาเนีย, อินโดนีเซีย, กัมพูชา, แซมเบีย, ซิมบับเว, เวียดนาม, แอฟริกาใต้ และโปแลนด์ ซึ่งเป็นผลงานที่นำไปจัดแสดงในเมืองใหญ่มาแล้วทั่วโลก ได้แก่ มิลาน ประเทศอิตาลี, ปารีส ประเทศฝรั่งเศส, สต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน, นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา และล่าสุดจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย และเป็นครั้งแรกของโลกกับการเปิดเผยภาพถ่ายชุดสงครามยูเครนสู่สายตาชาวโลก

อดุลญา ฮุนตระกูล ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า งานนิทรรศการครั้งนี้เป็นงานที่นับได้ว่าเป็นหนึ่งในงานสำคัญของปี ซึ่งทาง BACC ได้มีโอกาสร่วมงานกับสมาคมฯ อยู่บ่อยครั้ง และทางสมาคมก็ได้เป็นเครือข่ายสำคัญที่คอยสนับสนุน BACC อยู่เสมอ ดังนั้น BACC จึงมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นผู้ร่วมจัดงานและมีโอกาสช่วยนำเสนองานภาพถ่ายของศิลปินสำคัญอย่าง เจมส์ นาคท์เวย์ ซึ่งเป็นที่รู้จักและยอมรับในวงการช่างภาพด้วยความกล้าหาญของเขา ที่มุ่งหาสถานการณ์ที่อันตรายและท้าทาย เพื่อจับภาพอันสำคัญของช่วงเวลานั้น เพื่อนำมาสื่อสารต่อและเล่าเรื่องถึงเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น น้อยนักที่จะได้มีโอกาสชมงานภาพถ่ายของเจมส์ในแบบ Retrospective งานครั้งนี้จึงถือว่าเป็นโอกาสที่พิเศษมาก

นิทรรศการ James Nachtwey: Memoria แสดงถึงความทรงจำในการทำงานกว่า 4 ทศวรรษ ในฐานะช่างภาพสงคราม ผู้เสี่ยงชีวิตเพื่อบันทึกภาพความบ้าคลั่งของสงคราม แม้เขาได้รับบาดเจ็บระหว่างปฏิบัติหน้าที่ผู้สังเกตการณ์โลกอยู่หลายครั้ง และเห็นเพื่อนร่วมงานถูกยิงเสียชีวิต แต่เจมส์ นาคท์เวย์ ยังคงคว้ากล้องออกสู่สนามรบและสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครน เขาอุทิศชีวิตเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของผู้อื่น เป็นพยานถึงความวิกลจริตของสงคราม การจับภาพความงามและความโหดร้าย ในช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดและในสถานที่อันตรายที่สุด ภาพถ่ายของเขาแสดงให้เห็นช่วงเวลาแห่งความเกลียดชัง การทำลายล้างอย่างไร้เหตุผล ความกล้าหาญและการแสดงความเมตตาระหว่างมนุษย์อย่างเงียบๆ

นอกจากภาพถ่ายข้างต้นแล้วยังมีการจัดฉายภาพยนตร์วีดีโอสั้นที่เล่าถึงชีวิตและการทำงานเป็นช่างภาพสารคดีสงครามและโศกนาฏกรรมภัยพิบัติที่ กำกับโดย โทมัส นอร์ดานสตัด ซึ่งเคยกล่าวถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า เลนส์ของ เจมส์ นาคท์เวย์ มองทะลุถึงส่วนลึกของมนุษย์ ภาพแต่ละภาพบ่งบอกถึงความน่ากลัว ความเจ็บปวดและความโศกเศร้า แต่ก็แฝงไปด้วยความสมดุลที่แสนเปราะบางของความหวัง การต่อสู้ และการเอาชีวิตรอด การช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยปราศจากความเห็นแก่ตัว และการกระทำที่เต็มไปด้วยความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

นิทรรศการ James Nachtwey: Memoria

ตั้งแต่วันนี้ - 26 พฤศจิกายน 2566 (ยกเว้นวันจันทร์)

เวลา 10.00 – 20.00 น.

ชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ไม่เสียค่าเข้าชม

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.rpst.or.th/