Art

ส่องสถานการณ์แฟนด้อมญี่ปุ่น ในยุคที่จีน-เกาหลีตีตลาดแฟนคลับไทย

Photo credit: JaME

ช่วงโควิดนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสกลับไปติดตามผลงานของศิลปินญี่ปุ่นหลายคนอย่างจริงจังอีกครั้ง ทั้งเทปเป (เทปเป โคอิเกะ) ยามะพี (โทโมฮิสะ ยามาชิตะ) ฟุคุชิ โซตะ และนักร้องน้องใหม่ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนอย่าง FANTASTICS from EXILE TRIBE ซึ่งบางคนก็ตามข่าวได้ไม่ยาก เพราะมีบ้านแฟนคลับที่คอยแปล และตัวศิลปินเองก็มี Twitter, Instagram, และเว็บไซต์ออฟฟิเชียล ให้แฟนคลับต่างชาติได้ติดตาม แต่กับศิลปินบางคนที่ยังไม่แมสในไทย แค่จะดูรายการวาไรตี้ก็เจอกับคำว่าล็อกโซนแล้ว ซับไตเติลภาษาอังกฤษก็ไม่มี แถมยังไม่ค่อยมีบ้านแปลให้ติดตามด้วย เลยแอบสงสัยว่าเวลาผ่านมาขนาดนี้แล้ว ทำไมการติดตามผลงานของศิลปินญี่ปุ่นยังท้าทายไม่เปลี่ยนเลย ทั้งๆ ที่โซเชียลมีเดียก็เข้าถึงง่ายมากขึ้น

แต่พอลองไปเสิร์ชดูเล่นๆ ในทวิตเตอร์ก็พบว่า บางคนเห็นด้วยกับการที่ศิลปิน-ไอดอลญี่ปุ่นติดตามยาก แต่บางคนก็บอกว่าไม่ได้ตามยากขนาดนั้น สรุปแล้วฝั่งญี่ปุ่นตามยากจริงไหม แล้วแฟนคลับตามศิลปินกันยังไง ในเมื่อตอนนี้มันอาจไม่แมสเท่าด้อมจีนหรือเกาหลี คอนเทนต์นี้เลยจะพาไปส่องแฟนด้อมญี่ปุ่นในไทยกันว่าจริงๆ แล้วการติดตามศิลปินฝั่งนี้มันยากหรือง่ายกันแน่ 

ทำไมศิลปินญี่ปุ่นถึงติดตามยากกว่าศิลปินประเทศอื่น?

จากการรวบรวมข้อมูลทั้งใน Twitter และเว็บบอร์ดต่างๆ ส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่าแฟนด้อมญี่ปุ่นตามยากจริงเพราะมีความชาตินิยมสูง ลำพังคนในประเทศก็สนับสนุนกันอย่างจริงจังแล้ว บางค่ายเลยไม่ทำคอนเทนต์ภาษาอังกฤษ ไม่เปิดให้ชาวต่างชาติดู ไม่ตีตลาดอินเตอร์ ต่อมาคือลิขสิทธิ์แรง จะดูคอนเทนต์อะไรสักอย่างก็ต้องสมัครและจ่ายเงินค่าสมาชิก น้อยครั้งและน้อยค่ายมากที่จะนำวิดีโอเกี่ยวกับศิลปินลง YouTube ซึ่งหลายครั้งเว็บไซต์ออฟฟิเชียลเองก็ไม่มีภาษาอังกฤษ รองรับแค่เบอร์โทรศัพท์ของญี่ปุ่นเท่านั้น และยังไม่รับบัตรเครดิตจากต่างประเทศ นอกจากนี้วงการบันเทิงญี่ปุ่นก็ให้ความเป็นส่วนตัวกับศิลปินมาก การอัปเดตเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตประจำวันเลยไม่ถี่เท่ากับศิลปินประเทศอื่น

Yonezu Kenshi | Photo credit: Booking Agent Info

รุจ - รุจรวี นิสิตปริญญาโท คณะอักษรศาสตร์ วิชาเอกวรรณคดีเปรียบเทียบ จุฬาฯ แฟนคลับของศิลปิน Yonezu Kenshi ที่อยู่ในแฟนด้อมมามากกว่า 10 ปี เขาเห็นด้วยกับคำที่ว่าศิลปินญี่ปุ่นตามยาก และแชร์กับเราว่า “อุปสรรคในการติดตามงานฝั่งญี่ปุ่น คือนิสัยหวงความเป็นส่วนตัว เพราะทุกช่องทางที่เราตาม นานๆ ทีศิลปินจะมาอัปเดต รายการวาไรตี้ก็ไม่ค่อยออก ต้องรอคนแปลข่าวหรือแปลเพลงลง YouTube ถึงจะรู้ว่าเขาออกเพลงใหม่ ยิ่งกับเคนชิ เราตามเหมือนไม่ได้ตาม นิสัยเขามีความเป็นศิลปินมาก จะมีความเคลื่อนไหวทีก็คือช่วงทำงาน ส่วนเรื่องชีวิตประจำวัน เราแทบไม่รู้อะไรเลย”

King & Prince | Photo credit: Jpop Thailand

ส่วน พลอย – เพ็ญพิชชา ผู้ที่ติดตามศิลปินค่าย Johnny & Associates มานาน 8 ปี และชื่นชอบวง King & Prince มากเป็นพิเศษ มีความเห็นต่างออกไป เพราะเธอไม่คิดว่าฝั่งญี่ปุ่นตามยากขนาดนั้น “เรารู้สึกว่าวงที่เราตามได้เดบิวต์ในยุคที่ค่อนข้างตีตลาดกลุ่มแฟนคลับต่างประเทศ แฟนคลับอินเตอร์ก็สามารถเข้าถึงคอนเทนต์ส่วนใหญ่ได้ เช่น การไลฟ์สดในไอจี มีบัญชีใน Twitter ให้คอยอัปเดตข่าวสารตลอด ลงเพลงและคอนเทนต์ใน YouTube ด้วย มีน้อยมากที่ต้องอาศัยดูจากแอคเคานต์ในแฟนด้อมหรือบ้านแฟนเบสที่คอยเอามาแปลให้อีกที”

มาถึงตรงนี้ ผู้เขียนคงสรุปได้ว่า การที่จะตามยากหรือง่ายนั้นก็ขึ้นอยู่กับศิลปินและค่าย เพราะถ้าเป็นค่ายที่ไม่ได้มีเป้าหมายว่าจะเจาะกลุ่มต่างชาติ การที่แฟนไทยจะรู้จัก หรือมีบ้านแฟนคลับคอยแปลก็คงยาก แฟนคลับคนอื่นๆ จากต่างประเทศเองก็ตามยากไปด้วย แต่ถ้าเป็นค่ายซึ่งใหญ่และมีชื่อเสียงมากอย่าง Johnny & Associates ที่ตั้งใจเจาะกลุ่มตลาดอินเตอร์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเพลงหรือคอนเทนต์ใดๆ ที่มาจากศิลปินและไอดอลในค่าย ก็จะตามได้ง่ายขึ้นเพราะมีภาษาอังกฤษประกอบ หรืออย่างน้อยคอนเทนต์ก็ไม่ค่อยจะล็อกโซนประเทศ มีลงในแอปพลิเคชันที่ใช้ได้ทั่วโลก สิ่งเหล่านี้เอื้อให้แฟนคลับชาวต่างชาติติดตามศิลปินที่ชื่นชอบได้ไม่ยาก

Hey! Say! JUMP | Photo credit: Pr Times

เสน่ห์-ข้อจำกัดของการติดตามศิลปินญี่ปุ่น

น้ำเพ็ญ แฟนคลับรุ่นเดอะของ ARASHI, KAT-TUN, Hey! Say! JUMP มองว่าเสน่ห์ของการติดตามศิลปินที่ค่อนข้างยาก คือการที่แฟนคลับซึ่งสมัครสมาชิกไว้จะได้รับสิทธิพิเศษหลายอย่าง ส่วนข้อจำกัดคือ คอนเทนต์ที่มียังเสพได้เฉพาะกลุ่มคนที่รู้ภาษาญี่ปุ่น แม้ตอนนี้จะมีแอปพลิเคชันที่ช่วยเหลือด้านการแปลแล้ว คนที่ไม่รู้ภาษาก็ยังรู้สึกว่าตามยากอยู่ดี

Arashi | Photo credit: arashi_5_official

ป่าน แฟนคลับ MIYAVI เจ้าของแอคเคานต์ @MIYAVIThailand ขอแชร์เรื่องข้อจำกัดก่อนว่า “บางครั้งก็ทำให้รู้สึกเหนื่อยและท้อใจว่าทำไมต้องยากขนาดนี้ เวลาศิลปินแชร์ลิงก์มาก็ตื่นเต้น พอกดไปดูแล้วเจอ “This content is not available in your country” ก็ทำให้ต้องข้ามบางคอนเทนต์ไปเลย” ส่วนในด้านของเสน่ห์ เธอบอกว่า “เป็นการที่เราต้องพยายามอย่างหนัก แล้วเหมือนมันได้ทุ่มใจลงไป พอตามข่าวได้ก็จะรู้สึกดีมากๆ”

แต่ถึงจะติดตามยาก ก็ยังง่ายกว่าเมื่อก่อน

ปราง: สมัยนี้ถือว่าติดตามศิลปินได้ง่ายขึ้นมาก ถ้าย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน เราต้องพึ่งพาข่าวจากเว็บบอร์ด ไม่ก็นิตยสาร แม้จะมีพวกโซเชียลมีเดียแล้ว ทางญี่ปุ่นเองก็ยังติดการประกาศข่าวแค่เฉพาะในประเทศ ดาราดังอย่าง ‘ยามะพี’ (โทโมฮิสะ ยามาชิตะ) ก็เพิ่งจะมีแอคเคานต์บน Instagram เมื่อ 2-3 ปีที่แล้วเอง แต่เดี๋ยวนี้มีทั้งโซเชียลมีเดียของศิลปิน ของค่าย และแฟนคลับที่ช่วยแปล

Tomohisa Yamashita | Photo credit: tomo.y9

พลอย: ยุคนี้ถือว่าติดตามข่าวสารได้ง่าย และจำนวนแฟนคลับก็เพิ่มมากขึ้น แถมส่วนใหญ่เก่งภาษาญี่ปุ่นกันทั้งนั้น หลายๆ คนทำข้อมูลของศิลปินไว้เพื่อตกคนเข้าแฟนด้อมอยู่ตลอด ทำให้เรารู้ข่าวสารได้เร็วขึ้นมากกว่าเมื่อก่อนเยอะเลย ตอนนี้เราติดตามฝั่งจีนอยู่ด้วย แต่ก็ยังรู้สึกว่าฝั่งญี่ปุ่นตีตลาดได้โอเคกว่า ในฝั่งจีน ถ้าอยากตามศิลปินส่วนใหญ่ก็ต้องสมัครแอปฯ ของจีน ซึ่งมันค่อนข้างยุ่งยากสำหรับมือใหม่ แต่ศิลปินฝั่งญี่ปุ่นที่เพิ่งเดบิวต์ก็จะมีโซเชียลมีเดียให้ติดตามหลายช่องทาง เข้าถึงได้ง่ายกว่า

จริงไหมที่วันนี้แฟนด้อมญี่ปุ่นลดลงจนอาจจะเลือนหายไป?

ป่าน: ไม่ได้รู้สึกแบบนั้น เพราะเท่าที่อยู่ในแฟนด้อมญี่ปุ่นมา 5-6 ปี รู้สึกว่าทุกวันนี้ จำนวนคนที่ตามก็ไม่ได้ลดลง แต่อาจจะต่างคนต่างตาม ไม่ได้เกาะตัวกันเป็นกลุ่มก้อนเสียเท่าไหร่ เพราะส่วนมากก็จะเป็นแฟนคลับที่ตามวงการญี่ปุ่นกันมานานจนเชี่ยวชาญ สามารถตามข่าวเองได้ ไว้ค่อยนัดพบกันวันที่ศิลปินมาไทย ส่วนศิลปินอย่าง MIYAVI เองก็ให้ความสำคัญกับแฟน เขาสื่อสารภาษาอังกฤษทั้งในงานต่างๆ และ SNS แฟนคลับเลยติดตามข่าวสารกันเองได้ ไม่ต้องตามฟอลฯ บ้านแปล มองเผินๆ เลยเหมือนว่าแฟนด้อมญี่ปุ่นมีคนอยู่ไม่เยอะ

การตีตลาดของจีน-เกาหลีส่งผลกระทบต่อแฟนด้อมญี่ปุ่นมากน้อยแค่ไหน 

ปราง: เราว่าส่งผลเยอะมาก เคยอ่านบทสัมภาษณ์ของดาราญี่ปุ่นคนหนึ่งที่พูดถึงการเผยแพร่งานต่างประเทศว่า ญี่ปุ่นมีดีแต่ไม่ค่อยเผยแพร่ อย่างกรณีซีรีส์ Squid Game ก็เป็นแนวเอาตัวรอดเหมือนหนังเรื่อง Battle Royale ที่ญี่ปุ่นทำมานานแล้ว ทำให้วงการบันเทิงญี่ปุ่นไม่สามารถก้าวไปถึงจุดแมสแบบนั้นได้ และเรามองว่าการมาของดาราจีนก็แย่งพื้นที่ดาราญี่ปุ่นไปเยอะ เพื่อนฝั่งญี่ปุ่นไปติดตามดาราจีนเยอะขึ้น การหาคนที่อยู่แฟนด้อมญี่ปุ่นอย่างเดียวก็จะยากกว่าแต่ก่อน

น้ำเพ็ญ: คิดว่าไม่ส่งผลกระทบมาก เรามองว่าที่มีคนชอบศิลปินฝั่งญี่ปุ่น ก็เพราะว่ามันมีเอกลักษณ์ความเป็นญี่ปุ่น การมีหรือไม่มีชาติอื่น ไม่ได้ทำให้คนที่ชอบเปลี่ยนใจไปได้ แต่แฟนคลับสมัยนี้ก็อาจมาในลักษณะของคนที่ตามหลายแฟนด้อมไปพร้อมกัน

แนะนำแฟนคลับมือใหม่ที่อยากเข้าแฟนด้อมญี่ปุ่น 

KAT-TUN | Photo credit: Dawn Graf

น้ำเพ็ญ: ต่อให้ไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นก็ติดตามได้ ไอดอลญี่ปุ่นแต่ละคนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ถ้าได้ดูการแสดงสดของเขาแล้ว ความสนุกจะทำให้ไม่รู้สึกว่าภาษาเป็นอุปสรรค แต่ถ้าอยากดูคอนเทนต์อื่นอย่างรายการวาไรตี้ให้เข้าใจ จะเลือกติดตามแอคเคานต์ของแฟนคลับคนอื่นๆ ที่คอยแปลคอนเทนต์ก็ได้ 

ป่าน: เราเป็นคนหนึ่งที่ไม่รู้ภาษาญี่ปุ่น ไม่เก่งภาษาอังกฤษด้วย แต่เริ่มหาข่าวสารจากแอคเคานต์ของแฟนคลับก่อน พอแอบตามดูไปสักพักก็จะเริ่มรู้แนวทางของศิลปินที่เราชอบ ว่าเขาอัปเดตคอนเทนต์ที่ไหน ประมาณไหน ก็ค่อยๆ ขยับขยายไป เราว่าแฟนคลับทุกคนพร้อมขายศิลปินที่ชอบให้มีคนมาติดตามเยอะๆ อยู่แล้ว สงสัยตรงไหนก็ถามได้เลย หรือถ้าอยากตาม MIYAVI ก็มาพูดคุยกันได้ที่ @MIYAVIThailand นะคะ

Miyavi Lee Ishihara | Photo credit: miyavi_ishihara

ปราง: ถ้าอยากจะติดตามศิลปินญี่ปุ่นจริงๆ เดี๋ยวนี้ไม่ได้ตามยากมากแล้ว แค่ติดตามเว็บไซต์และแอคเคานต์ออฟฟิเชียลเป็นหลัก ก็ตามข่าวสารได้มากในระดับหนึ่งแล้วค่ะ

ติดตามและอัปเดตเรื่องราวใหม่ๆ กับพวกเราได้ที่ Exotic Quixotic