ก้าวเข้าสู่เดือนพฤษภาคมทั้งที เหล่าคนแฟชั่นต้องรู้กันดีอยู่แล้วว่า ทุกวันจันทร์แรกของเดือนนี้จะมีหนึ่งอีเวนท์สำคัญสำหรับวงการแฟชั่นอย่าง ‘The Met Gala’ งานกาล่าเพื่อสนับสนุน ‘The Costume Institute’ ที่เป็นส่วนหนึ่งของ ‘The Metropolitan Musuem of Art’ ในมหานครนิวยอร์ก อีกทั้งยังเป็นการฉลองเปิดนิทรรศการใหม่ช่วงฤดูใบไม้ผลิ ก่อนที่จะเปิดให้สาธารณชนเข้าชม ซึ่งในทุกๆ ปีจะมีเหล่าดารา เซเลบฯ จากทั่วทุกมุมโลกตบเท้าเข้ามาเดินเฉิดฉายในชุดสุดอลังการ จากแฟชั่นเฮาส์ระดับท็อป
อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญที่คนตั้งหน้าตั้งตารอคงหนีไม่พ้น ‘ธีมงาน’ ซึ่งในปีนี้ Met Gala จะจัดงานภายใต้ธีม ‘Karl Lagerfeld: A Line of Beauty’ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากนิทรรศกาลประจำฤดูใบไม้ผลินี้ ที่จะรวบรวมผลงานของดีไซเนอร์ผู้ล่วงลับเอาไว้ ตั้งแต่งานออกแบบในยุค 50’s จนถึงงานคอลเลกชั่นสุดท้ายในปี 2019 โดยผลงานที่จัดแสดงจะเป็นผลงานที่ ‘Karl Lagerfeld’ ดีไซน์ให้กับแบรนด์ต่างๆ ทั้ง Balmain, Patou, Chloé, Fendi, Chanel และ Karl Lagerfeld
แน่นอนว่า กว่า 60 ปี ในวงการแฟชั่น Karl Lagerfeld ได้ฝากผลงานที่น่าจดจำเอาไว้มากมาย เรียกได้ว่า เขาเป็นหนึ่งในตำนานของวงการแฟชั่นที่คนทั้งโลกจะต้องนึกถึง แต่รู้ไหมว่า ไม่ใช่เพียงแค่ผลงานออกแบบสุดวิจิตรเท่านั้นที่ Karl ได้ฝากเอาไว้ เพราะตลอดชีวิตการทำงานของเขา Lagerfeld ได้ฝากคำวิจารณ์สุดเจ็บแสบไว้มากมายบนหน้าประวัติศาสตร์วงการแฟชั่น วันนี้เราเลยอยากชวนทุกคนย้อนกลับไปดูวีรกรรมของดีไซเนอร์คนดังที่ได้ฝากเอาไว้ไม่ว่าจะเป็นการเหยียดรูปลักษณ์ ทัศนคติต่อต้านเฟมินิสต์ ไปจนถึงการเหยียดเชื้อชาติ
Photo Credit: @heidiklum / NBC News
อ้วนไปนิด ผิวไม่ดี ดูไม่แพง สารพัดคำวิจารณ์จากปากกรรไกรของดีไซเนอร์ ถึงเหล่าตัวท็อปฮอลลีวูด
ย้อนกลับไปในปี 2009 ดีไซเนอร์คนดังเคยออกมาวิจารณ์รูปร่างของนางแบบสาวชาวเยอรมันอย่าง ‘Heidi Klum’ ว่าเธอตัวหนัก และหน้าอกใหญ่เกินจะเป็นนางแบบ
“Heidi Klum ไม่ใช่นางแบบบนรันเวย์ เธอหนักเกินไป แถมยังมีหน้าอกใหญ่เกินไป เธอชอบยิ้มโง่ๆ อยู่เสมอ ซึ่งมันไม่เปรี้ยวจี๊ดล้ำสมัย เธอคือนางแบบโฆษณา!” Lagerfeld แสดงความเห็นก่อนเสริมว่า “ฉันไม่รู้จัก Heidi Klum เธอเป็นที่รู้จักในฝรั่งเศส Claudia Schiffer (นางแบบชื่อดัง คนสนิทของ Karl Lagerfeld) ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเธอเป็นใคร”
ไม่เพียงเท่านั้นเขายังวิจารณ์ถึงผิวพรรณของ ‘Seal’ นักร้องชาวอังกฤษ และสามีของ Heidi (ในเวลานั้น) ว่า “ฉันไม่ใช่แพทย์ผิวหนังแต่ ฉันก็ไม่ได้อยากมีผิวแบบเขา ผิวของฉันดูดีกว่า เขาเหมือนถูกปกคลุมด้วยหลุมอุกกาบาต”
ในปีเดียวกันเขาก็ยังไม่ออกมาตอบโต้กระแสวิจารณ์เรื่องรูปลักษณ์ของนางแบบในวงการแฟชั่นที่ผอมจนน่ากลัว ด้วยการบอกว่า คนที่วิจารณ์นางแบบผอมๆ ว่าน่าเกลียด ก็เป็นแค่พวกมัมมี่อ้วนๆ ที่ได้แต่นั่งกอดถุงขนมอยู่หน้าจอทีวีเท่านั้น ทั้งยังแสดงความคิดเห็นต่อนางแบบพลัสไซส์อีกว่า “ไม่มีใครอยากดูผู้หญิงอวบๆ หรอก”
Photo Credit: Pop Sugar / Entertainment Weekly / ELLE
จากเหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า Karl มีทัศนคติเชิงลบต่อรูปลักษณ์ที่ไม่อยู่ในกรอบของอุดมคติ และประเด็นนี้ก็ได้รับการพิสูจน์อีกครั้งในปี 2012 เมื่อเขาวิจารณ์นักร้องสาวเสียงทรงพลังอย่าง ‘Adele’ ว่า "เธอออกจะอ้วนไปสักนิด แต่ว่าเธอหน้าสวย และเสียงปัง" ก่อนจะออกมาอธิบายผ่าน CNN ว่า เขาไม่ได้บอกว่าเธอ ‘อ้วน’ เพียงแค่บอกว่าเธอ ‘อวบนิดหน่อย’ ซึ่งอวบนิดหน่อยไม่ได้แปลว่าอ้วน แล้วหลังจากนั้น Adele ก็ลดน้ำหนักลง 8 กิโลกรัม เขาจึงคิดว่าสิ่งที่พูดก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร
นอกจากเรื่องรูปร่างแล้ว ยังมีคำวิจารณ์ ‘ตรงๆ’ ที่ไอคอนิกดีไซเนอร์คนนี้ฝากเอาไว้ในวงการอีกมากมายอย่าง การวิจารณ์ ‘Meryl Streep’ นักแสดงมากความสามารถ ในปี 2017 ว่าเป็น ‘นักแสดงอัจฉริยะ แต่ชีป’ เนื่องจากเขา ‘เข้าใจว่า’ เธอปฏิเสธชุดจาก Chanel ราคากว่าแสนยูโร ที่เขาดีไซน์ แล้วไปใส่ชุดจากดีไซเนอร์คนอื่นที่จ้างเธอใส่แทน ก่อนจะออกมายอมรับว่า ‘เขาเข้าใจผิด’ ซึ่งฝั่ง Meryl Streep ก็ออกมาตอบโต้ว่า เธอไม่ถือสาอะไร แต่สิ่งที่ Lagerfeld ออกมาพูดนั้นมัน ‘ไม่ใช่คำขอโทษ’
“เขาโกหก พวกเขาตีพิมพ์เรื่องหลอกลวง และฉันยังรอ (คำขอโทษ) อยู่” Streep เสริม
ครั้งหนึ่งครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของ Chanel คนนี้ยังเคยแสดงความคิดเห็นต่อกรณีของ ‘Kim Kardashian’ ที่ถูกปล้นเครื่องเพชรไปจากโรงแรมในปารีสว่า เธอไม่ควรแปลกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเธอเลือกที่จะอยู่โรงแรมที่ไม่มีคนคอยรักษาความปลอดภัย อีกทั้งยังโพสต์เครื่องเพชรอวดลงบนอินเทอร์เน็ต ก็ย่อมมีคนอยากจะมาแบ่งเธอใช้อยู่แล้ว
ไม่เพียงแต่คำวิจารณ์ในเรื่องแฟชั่น ความงาม และวงการฮอลลีวูดเท่านั้น Karl Lagerfeld ยังเป็นคนหนึ่งที่มักจะถูกพูดถึงในฐานะคนที่ต่อต้านเฟมินิสต์อีกด้วย
‘น่าเกลียดไม่พอจะเป็นเฟมินิสต์’ ทัศนคติจากคนที่ออกแบบสินค้าเพื่อ ‘ผู้หญิง’ มาค่อนชีวิต
ในปี 2009 ดีไซเนอร์ปากแซ่บคนนี้ยังเคยให้สัมภาษณ์กับทางนิตยสาร Harper’s Bazaar โดยรับหน้าที่ถ่ายทอดบทสัมภาษณ์แทน ‘Coco Chanel’ ผู้ล่วงลับ กับคำถามที่ว่า ‘เสื้อผ้าของคุณได้ปลดแอกผู้หญิงในยุค 20’s แล้วตอนนี้คุณยังเป็นเฟมินิสต์อยู่ไหม?’ ก่อนที่ Karl ในบทบาท Coco จะตอบออกไปว่า
“ฉันไม่เคยเป็นเฟมินิสต์ เพราะฉันไม่เคยน่าเกลียดพอที่จะเป็นแบบนั้น”
ซึ่งประโยคนี้ก็กลายเป็นตำนานในหน้าประวัติศาสตร์วงการแฟชั่น ที่ทำให้หลายๆ ได้เห็นว่า Karl Lagerfeld มีทัศนคติต่อต้านสตรีนิยมอย่างชัดเจน แต่แล้วครั้งหนึ่งที่งาน Paris Fashion Week ในโชว์ของ Chanel Spring/Summer 2015 ภายใต้การกุมบังเหียนของ Karl Lagerfeld ก็ได้สร้างเสียงฮือฮาอีกครั้ง เมื่อ Grand Palais ถูกเนรมิตให้กลายเป็นถนนสายหลักของกรุงปารีส ก่อนที่ดีไซเนอร์คนดังจะขนทัพนางแบบออกมาเดินขบวนเรียกร้องสิทธิสตรี (ในชุด Chanel) จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า เขาเป็น ‘จอมฉวยโอกาส’ ที่เล่นกับมูฟเมนต์ทางสังคมเพียงเพื่อจะขายเสื้อผ้า
จนแล้วจนรอด ทัศนคติแอนตี้เฟมินิสต์ของ Lagerfeld ก็ถูกเปิดเผยอีกครั้งเมื่อ เขาแสดงความคิดเห็นต่อการเคลื่อนไหว ‘#MeToo’ ของเหล่าผู้หญิงจากหลายๆ วงการในปี 2018 ว่า เขาเริ่มรู้สึก ‘เอียน’ กับมูฟเมนต์นี้ พร้อมส่งคำวิจารณ์ตรงๆ (อีกตามเคย) ถึงดาราที่ออกมาเคลื่อนไหวว่า สิ่งที่น่าตกใจกว่าอะไรทั้งหมดคือ เหล่าดาราที่ใช้เวลากว่า 20 ปี ถึงจะจดจำเรื่องพวกนี้ได้ พร้อมเสริมอีกด้วยว่า “นี่ยังไม่นับรวมความจริงที่ว่า เรื่องพวกนี้ไม่มีพยานรู้เห็นอีกนะ” เรียกได้ว่า เป็นการแสดงความคิดเห็นที่ไม่เห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้อย่างเจ็บแสบจริงๆ
นอกจากนี้เขายังเคยพูดไว้อีกว่า เขาไม่เห็นด้วยกับการที่ต้องคอยถามนางแบบว่า พวกเธอสะดวกที่จะโพสท่าทางต่างๆ ไหม เพราะเขามองว่ามันเป็นสิ่งที่ ‘มากเกินไป’ เสียจนดีไซเนอร์อย่างเขาทำงานไม่ได้ ก่อนจะแสดงความคิดเห็นปกป้อง ‘Karl Templer’ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของนิตยสาร Interview ที่ถูกกล่าวหาว่า ‘พยายามจะดึงกางเกงของนางแบบลง’ จนถูกคว่ำบาตรออกจากวงการ ว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ ก่อนจะแสดงความเห็นต่อว่า
“ถ้าไม่อยากถูกกระชากกางเกงก็อย่ามาเป็นนางแบบ! ไปเป็นแม่ชีเสีย มันมีที่สำหรับพวกเธอเสมอในคอนแวนต์ พวกเขาเปิดรับสมัครอยู่ตลอดนั่นแหละ!”
ถ้าคิดว่าการวิจารณ์รูปร่าง และแอนตี้สิทธิสตรีนั้นหนักแล้ว ลองเจอประเด็นการเหยียดเชื้อชาติของ Karl เสียก่อน แล้วคุณจะต้องอึ้งว่า ดีไซเนอร์แนวหน้าของวงการแฟชั่นโลกคนนี้จะปากแจ๋วไปได้ถึงไหน
Photo Credit: @muglerize
จากความ ‘ไม่ตั้งใจ’ สู่การเหยียดเชื้อชาติแบบไม่รู้จบ
เริ่มตั้งแต่ในปี 1994 ที่ Chanel ต้องออกมาขอโทษต่อชาวมุสลิม เนื่องจากมีโองการบางส่วนจากคัมภีร์อัลกุรอานปรากฏบนเดรสที่ดีไซน์โดย Karl Lagerfeld แม้ว่าในภายหลังตัวดีไซเนอร์จะออกมาพูดว่า เขา ‘ไม่ได้ตั้งใจ’ และคิดว่าข้อความเหล่านั้นมาจากบทกวีรักของอินเดีย ที่ได้แรงบัลดาลใจมาจากทัชมาฮาล
เรื่องราวลุกลามขึ้น เมื่อหัวหน้ากลุ่มนักบวชมุสลิมของอินโดนีเซียในขณะนั้น กล่าวว่า คำพูดดังกล่าวของ Lagerfeld เป็นการ ‘ดูหมิ่นศาสนา’ จนเกิดเป็นผลกระทบต่อการส่งออก Chanel ในประเทศมุสลิม ถึงขั้นที่ ‘Claude Eliette’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Chanel ต้องออกโรงขอโทษต่อคอมมูนิตี้ชาวมุสลิม พร้อมทั้งประกาศเผาทำลายเดรสทั้งสามตัวที่ปรากฏข้อความจากคัมภีร์อัลกุรอานอีกด้วย
ความเกลียดชังชาวมุสลิมยังไม่จบลงเพียงเท่านั้น เมื่อดีไซเนอร์คนดังยังคงสร้างวีรกรรมปากแจ๋วอย่างต่อเนื่อง โดยครั้งนี้เขาแสดงความคิดเห็นผ่านรายการทอล์กโชว์สัญชาติฝรั่งเศส ในปี 2017 ว่า การที่ประเทศเยอรมันยอมรับผู้ลี้ภัยจากประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม นับว่าเป็นการ ‘ดูหมิ่น’ ชาวยิวที่ตกเป็นเหยื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
“ไม่มีใครสามารถฆ่าชาวยิวหลายล้านคนได้ แม้ว่าจะผ่านมาหลายสิบปีแล้ว ดังนั้นคุณเลยเอาศัตรูที่เลวร้ายที่สุดจำนวนหลายล้านคนมาแทนที่พวกเขา” Lagerfeld กล่าวในรายการ
“ฉันรู้จักใครบางคนในเยอรมันที่จับตัวเด็กชาวซีเรียคนหนึ่งไป แล้วหลังจากนั้นสี่วันก็ออกมาพูดว่า 'สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เยอรมันคิดค้นขึ้นคือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’,” เขาเสริมขึ้น
สิ่งที่เขาพูดไปก็น่าจะมากพอที่จะจุดชนวนให้ชาวมุสลิมเดือดดาลได้แล้ว แต่ก็ดูเหมือนจะยังไม่พอสำหรับ Karl เมื่อเขาวิจารณ์นายกรัฐมนตรี ‘Angela Merkel’ ของเยอรมันที่ต้อนรับผู้ลี้ภัยจากประเทศมุสลิม รวมไปถึงซีเรีย เข้าสู่ประเทศ โดยที่เรียกนโยบายนี้ของเธอว่าเป็น ‘ความผิดพลาดครั้งใหญ่’
“เธอมีผู้อพยพอยู่แล้วเป็นล้านๆ คน ที่พวกเขาปรับตัวได้ดี ทำงาน และทำทุกอย่างได้เป็นปกติ เธอไม่จำเป็นต้องเอาอีกเป็นล้านคนมาล้างภาพความเป็นแม่เลี้ยงใจร้ายภายหลังเหตุการณ์วิกฤตหนี้กรีซก็ได้” Lagerfeld กล่าว
นอกจากนี้ในปี 2013 เขายังเคยใช้ ‘Claudia Schiffer’ (นางแบบคู่บุญ ชาวเยอรมัน) มาถ่ายแคมเปญโดยให้เธอทาผิวสีเหลืองเพื่อแต่งลุคแบบคนเอเชีย และทาผิวดำพร้อมใสวิกแอโฟร เพื่อแต่งลุคคนผิวดำ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมายถึงความเหมาะสม
สารพัดวีรกรรมของ Karl Lagerfeld ที่เรายกมาเล่าให้ได้อ่านในวันนี้ยังไม่ใช่ทั้งหมด แต่เราคิดว่าเท่านี้ก็น่าจะเพียงพอแล้วที่จะตั้งคำถามว่า เราจะสามารถมองผลงานดีไซน์แยกออกมาจากความเห็นส่วนตัวของศิลปินได้หรือไม่? ความปากแจ๋วตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา มีผลต่อคุณค่าของงานดีไซน์ไหม? แล้วแบบนี้เราควรจะสนับสนุน หรือเชิดชูงานระดับตำนาน จากบุคคลที่เหยียดรูปร่าง เหยียดเพศ และเหยียดเชื้อชาติอยู่หรือไม่?
ท้ายที่สุดแล้วเรามองว่า ในปัจจุบันนี้วงการแฟชั่นก็เริ่มเปิดรับความหลากหลายมากขึ้น เราได้เห็นนางแบบ นายแบบ หลากเชื้อชาติ หลายสีผิว ทั้งยังมีรูปร่างที่แตกต่างกัน และผู้คนในสังคมเองก็เริ่มตระหนักรู้ถึงสิทธิความเท่าเทียมมากขึ้น ก็ได้แต่หวังว่าวันหนึ่งวงการแฟชั่นจะเป็นพื้นที่สำหรับความสร้างสรรค์ และความหลากหลาย ที่ไม่ใช่แค่การขายฝัน และขายของอย่างที่ผ่านมา
“Enjoy Met Gala ครับทุกคน”
อ้างอิง