ไม่รู้ว่าอัลกอริทึมของ Facebook ทำงานอย่างไร ถึงทำให้คอนเทนต์จาก “แก้วใส: Daily Life Story” โผล่มาบนหน้าฟีด เอกลักษณ์ของเพจนี้คือการบอกเล่าวิถีชีวิตของ Phu Thon People (คนภูธร) ในตำบลทุ่งแก จังหวัดสกลนคร ด้วยการพากย์เสียงแบบ “เว้าไทยได้ เว้าลาวท่อง สปีคอีงลิชคล่อง” ต้องยอมรับเลยว่าดูไปเพียงคลิปเดียวก็หลงเสน่ห์จนต้องกดติดตาม พอดูไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งรู้สึกว่าโคตรเจ๋ง จนอยากจะบอกต่อให้หลายคนได้รู้จัก เพราะนอกจากจะนำเสนอวิถีชีวิตแล้ว เพจนี้ยังเป็นเสมือนพื้นที่สะท้อนปัญหาของการบริหารประเทศรวมศูนย์แบบไทยๆ และชวนขบคิดถึงการพัฒนาที่ดีกว่านี้ – มันเจ๋งขนาดที่ทำให้เราคิดถึงปัญหาเชิงโครสร้างเลยล่ะ
TMI of เจ้าของเพจ “แก้วใส”
“ชื่อแก้วใส - กชกร บัวล้ำล้ำค่ะ (นามสกุลไม่ได้พิมพ์ผิดนะคะ บัวล้ำล้ำจริงๆ) (Kaewsai - Kotchakorn Bualamlam) ตอนมัธยมชอบทำหนังสั้นมากๆ แต่ตอนนี้เรียนอยู่ปี 4 คณะครุศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด เป็นคนสกลนคร แต่กำลังฝึกสอนอยู่ที่กาฬสินธุ์ ชีวิตเราก็จะวนเวียนอยู่ที่ 3 จังหวัดนี้ นี่ก็เพิ่งกลับจากกินชาบูร้านอร่อยที่อยู่ไกลไปอีกอำเภอ ต้องขี่มอเตอร์ไซค์ไป 15 กิโล”
บทสนทนาระหว่างเรานั้นเริ่มต้นด้วยอะไรที่เรียบง่ายและเป็นกันเอง แต่บอกเลยว่าแค่เริ่มก็เห็นหลายสิ่งที่สะท้อนออกมา ไม่ว่าจะเป็นตัวตนของแก้วใส และความเป็นอยู่ของคนต่างจังหวัด
คำนำของไดอารี่
“แก้วใส: Daily Life Story เกิดจากการที่เราอยากลองทำเพจเล่นๆ เพราะตอนมัธยมเราทำหนังสั้นมาก่อน เคยได้ทุนไปแข่งทั้งในและต่างประเทศ พื้นฐานเลยเป็นคนที่ชอบตัดต่อ ชอบทำคลิปอยู่แล้ว คอนเทนต์ในเพจก็จะเป็นตัวเองมากๆ เล่าเรื่องธรรมดาในชีวิตของตัวเอง แต่ละวันเจออะไรก็ถ่ายเก็บเอาไว้ แล้วกลับมาพากย์เสียง ส่วนการพูด ในชีวิตจริงก็เป็นคนที่พูดผสมกันหมดเลย ทั้งภาษาอีสาน กลาง อังกฤษ”
ชอบทำหนังสั้น แต่ทำไมมาเรียนครู?
“เราชอบทำหนังสั้นมาตลอด แต่ด้วยบริบทสังคมที่นี่มันบีบบังคับให้เราเรียนทำหนังไม่ได้ เพราะไม่รู้จะกลับมาทำอะไร ที่บ้านมีแต่ดินกับทุ่งนา อีกอย่างคือเราคิดว่าค่าอุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนมันแพง ไม่อยากรบกวนพ่อแม่ ก็เลยต้องเรียนครู เพราะข้าราชการมันเป็นอาชีพมั่นคงและนิยมกันในชนบท ตอนแรกร้องไห้หนักมากที่ไม่ได้เรียนสิ่งที่ชอบ แต่มันเจ็บจนชินแล้ว”
“เรื่องนี้มันทำให้เราคิดมาตลอดว่าถ้าประเทศเรามีสวัสดิการด้านการศึกษา ความฝันของใครหลายๆ คนคงมีโอกาสได้เป็นจริงมากกว่านี้”
“เว้าไทยได้ เว้าลาวท่อง สปีคอีงลิชคล่องมาก”
“เราพูดแบบนี้เพราะเริ่มจากแม่ตัวเอง แม่เราจะชอบพูดกับฝรั่ง เวลาเจอฝรั่งที่เซเว่นก็จะชอบให้เราเข้าไปคุย ซึ่งเราก็เป็นคนกล้าแสดงออกด้วย ก็เลยกล้าพูด แถวบ้านเราจะมีฝรั่งอยู่ในหมู่บ้านละ 2-3 คน เพราะผู้หญิงที่เขาอยากยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ก็จะลงไปทำงานที่พัทยา และแต่งงานกับคนต่างชาติ เหมือนในสารคดีเรื่อง “Heartbound” (2018) ส่วนการพัฒนาภาษา เราเป็นคนที่ชอบดูหนังนอกกระแส แต่ส่วนใหญ่ไม่มีซับไตเติลภาษาไทย เลยต้องพยายามแปลเอง และพาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ เช่น โหลดทุกแอปฯ ที่ฟรี สอบชิงทุนไปแข่งหนังสั้นที่ต่างประเทศ”
5 ภาพยนตร์สะท้อนผู้หญิงที่ถูกมองเป็นชายขอบของสังคม
“ปกติคนอื่นก็มองว่าเราแปลกอยู่แล้วนะ ด้วยความที่ตอนเราอยู่มหาวิทยาลัย เราทำกิจกรรมด้านการเมืองด้วย คนก็เลยจะไม่ค่อยหัวซา (ไม่ค่อยสนใจ) เราเท่าไหร่ อารมณ์แบบว่า “มันบ้าๆ บ๊องๆ ปล่อยมันไป” เขาเลยชินกับการพูดของเรา”
แท้จริงแล้ว ไลฟ์สไตล์ของวัยรุ่นอีสานเป็นเหมือนในคอนเทนต์ของเพจหรือเปล่า?
“ถ้าไม่นับเราที่ชอบไปร่วมกิจกรรมทางการเมือง คนอื่นก็รักสนุกเหมือนวัยรุ่นทั่วไป อย่างมหาวิทยาลัยเราจะตั้งอยู่ห่างจากตัวเมือง 30 กม. ถ้าเป็นวัยรุ่นชนชั้นกลางที่มีรถเก๋ง เขาก็จะขับรถไปดูหนังในเมือง แต่ถ้าเป็นวัยรุ่นทั่วไปอาจมีมากสุดแค่มอเตอร์ไซค์ ซึ่งจะเข้าเมืองครั้งหนึ่งก็ใช้เวลาครึ่งชั่วโมง มันเหนื่อยเกินไป ตัวเลือกเลยจะมีแค่ร้านเหล้า 2-3 ร้าน กับร้านนม”
แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวแบบแก้วใสสไตล์
“สกลนครเป็นพื้นที่ของการต่อสู้ทางการเมืองที่ยาวนาน และมีนักพูดนักคิดทางการเมืองเสียชีวิตที่นี่ แต่รัฐไทยไม่ให้ความสำคัญ เราเลยอยากชวนทุกคนไปดูอนุสรณ์สถานครูเตียง ศิริขันธ์, ศูนย์การเรียนรู้ครูครอง จันดาวงศ์, และอนุสรณ์สถานจิตร ภูมิศักดิ์”\
นอกจากถ่ายทอดกิจวัตรประจำวันของตัวเอง ยังถ่ายทอดมนต์เสน่ห์ของภาคอีสาน
“คนอีสานมีวิถีชีวิตหลายอย่างที่น่าสนใจ มันมีทั้งความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาพุทธ ศาสนาผี วัฒนธรรมประเพณีและประวัติศาสตร์ลาว ซึ่งเชื่อมโยงร้อยเรียงเป็นอันเดียวกันแบบแทบจะแยกไม่ออก เช่น บุญซําฮะ (ชําระ) การทำบุญเบิกบ้านในช่วงฮีตสิบสอง คองสิบสี่ ที่เพิ่งเขียนลงเพจไป เราคิดว่าตรงนี้มันเป็นเสน่ห์ เพราะลึกๆ แล้ว ถ้าไม่พูดถึงการเข้ามายึดครองของรัฐสยาม เราก็เชื่อว่าเรามีเชื้อชาติลาว เพราะเรากินข้าวเหนียว เราพูดภาษาลาว”
จุดเริ่มต้นของเพจแก้วใสกับแฮชแท็ก #Realบ้านนอกNoRomanticize
ถึงจะนำเสนอวิถีชีวิตของคนอีสานและวัฒนธรรมประเพณีที่สวยงาม แก้วใสก็ไม่ได้สนับสนุนให้คนอื่นมองว่าชีวิตวิถีบ้านนอกนั้นเป็นเรื่องราวสวยงามชวนโรแมนติก (Romanticize)
“ที่ผ่านมา สื่อของรัฐนำเสนอภาพลักษณ์ว่าภาคอีสานมีความเรียบง่าย น่าอยู่ แต่เราไม่อยากให้คนเมืองมองว่าชีวิตคนต่างจังหวัดสบายขนาดนั้น เพราะมันจะทำให้คนอีสานคิดว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็โอเคดีแล้ว ชีวิตไม่ได้ขาดอะไร บางส่วนพอใจกับการไม่มีรถไฟฟ้าความเร็วสูง หรือต้องเปลี่ยนมาปลูกข้าวแบบไม่ใส่ปุ๋ยเพราะมันแพง ทั้งๆ ที่แบบนั้นมันไม่โอเค เพจแก้วใสเลยอยากสะท้อนปัญหาของการกระจายอำนาจรัฐและการเมืองท้องถิ่นอยู่เรื่อยๆ”
“ปัญหาของสังคมชนบทมันชัดเจนมากว่าต้องปรับที่การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น คือเปลี่ยนจากล่างขึ้นบน และที่สำคัญคือเรื่องการศึกษา คนบ้านเราออกจากระบบการศึกษาเพื่อไปทำงานกันเยอะมาก เพราะไม่มีเงินเรียนต่อ ถ้าระบบการศึกษาดี บางคนคงไม่ต้องไปทำงานต่างถิ่น หรือเลือกทำงานที่เหนื่อยอย่างเป็นผู้ให้บริการทางเพศ (Sex worker)”
ผลตอบรับเมื่อเพจแห่งรอยยิ้มผลิตคอนเทนต์การเมือง
“ก็มีทั้งคนที่เข้าใจและไม่เข้าใจ เช่น บางคนก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องออกมาพูดให้ต่างจังหวัดดูแร้นแค้นขนาดนั้น หรือบางทีก็มี IO มาด่า ซึ่งเราก็เฉยๆ เพราะมองว่าเป็นขบวนการของรัฐที่อยากต่อสู้กับคนต่อต้าน ส่วนพ่อแม่เรา เมื่อก่อนเขาไม่เคยยอมรับการเรียกร้องทางการเมืองของเรา แต่พอเราทำเพจนี้ เราพูดเรื่องการเมือง เขาก็ได้เห็นว่ามีคนคิดเหมือนเราอยู่ ลูกเขาไม่ได้เป็นบ้า เขาก็เริ่มยอมรับได้ เหมือนเราได้ให้ความรู้เขาไปในตัวด้วย”
สรุปแล้ว “แก้วใส: Daily Life Story” จัดอยู่ในหมวดหมู่ไหน?
“‘Education’ – เราอยากให้คนอื่นพูดภาษาอังกฤษได้ แล้วกลับมาพัฒนาบ้านเรา เพราะเด็กชนบทมักจะรู้สึกว่าภาษาอังกฤษห่างไกลตัว แต่เรารู้สึกว่ามันช่วยให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับโลก และอยากให้ทุกคนรับรู้ถึงปัญหาของคนอีสานแบบ no romanticize ให้ได้เกิดการเปลี่ยนแปลง”
“สำหรับคนที่อาจจะมาติดตามเพจด้วยความตลก ถ้าต่อไปเราพูดเรื่องเครียดกว่าเดิม ก็ยังอยากให้อยู่ด้วยกัน เพราะเราตั้งใจให้เพจเป็น soft power ที่สามารถสร้างพลังอันเข้มแข็งได้ในอนาคต เราอยากให้เพจของเรามีการต่อสู้ทางความคิด มันจะได้สร้างอุดมการณ์บางอย่าง ส่วนคนที่อยากฝึกภาษาอังกฤษ ก็อยากให้มาดูเพจเรา เพราะเราก็เป็นคนชายขอบที่ออกจะธรรมดามากๆ แต่วันนี้เราสามารถเล่าเรื่องของตัวเองได้แล้ว”
“ข่อยเฮ็ดได่ เจ่ากะเฮ็ดได่”
ติดตามเพจของแก้วใสได้ที่ แก้วใส: Daily Life Story