เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (2 เมษายน 2023) เรามีโอกาสได้ไปเดินชมงานศิลปะติดตั้งในสวนป่าเบญจกิตติ ภายในงาน Unfolding Bangkok: Greeting Benjakitti ซึ่งมีงานหนึ่งที่สะดุดหูเรามาก ใช่แล้ว สะดุดหู เพราะงานที่เรากำลังจะพูดถึงนี้คือ ‘งานติดตั้งศิลปะเสียง’ (Sound Installation) ที่พาทุกคนไปสัมผัสกับเสียงที่แฝงเร้นอยู่ในสวนสาธารณะแห่งนี้ ซึ่งเป็นฝีมือของ ‘Lab 5 Soundworks’ ทีมสร้างสรรค์เสียงที่นำโดย ‘มีน’ – สรัญรัตน์ แสงชัย และ ‘น๊อต’ – ภาคภูมิ เจริญวิริยะ
วันนี้ EQ เลยอยากพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ ‘Sound Artist’ อาชีพที่สร้างสรรค์ผลงานจากเสียง อาชีพนี้คืออะไร ทำงานอย่างไร และที่มาที่ไปของงานจัดแสดงในครั้งนี้จะเป็นอย่างไร เราจะอาสาพาทุกคนไปสำรวจเรื่องนี้เอง
จากความสนใจในวัยเรียน สู่จุดเริ่มต้นของ Lab 5 Soundworks และเส้นทางของ ‘Sound Artist’
น๊อตเล่าให้เราฟังว่า การเดินทางของ Lab 5 Soundworks เริ่มต้นที่เขา และมีนเรียนมหาวิทยาลัยมาด้วยกัน ที่คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในสาขาวิชาดนตรีเชิงพาณิชย์ ซึ่งสอนเกี่ยวกับการผลิตดนตรี โดยที่น๊อตและมีนสนใจกลุ่มวิชา ‘Sonic Art’ และ ‘Motion Picture Scoring’ เป็นพิเศษ ทำให้ทั้งคู่ได้เริ่มทำเพลงประกอบละครเวทีโรงเล็กมาตั้งแต่สมัยเรียน รวมถึงการทำเพลงโฆษณา อีเวนท์ และเพลงประกอบภาพยนตร์ หลังจากจบการศึกษา ซึ่งก็มีส่วนหนึ่งของการทำงาน ที่เป็นพื้นที่สำหรับงานศิลปะ
“งาน Sound Art ที่เคยทำก็มีที่หอศิลป์ฯ เมื่อช่วงปี 2012 เป็นงานธีสิสจบด้วย แล้วก็ทำสองอย่างควบคู่ไปคือ หาเลี้ยงชีพด้วย Commercial Music แล้วฝั่ง Sound Art ก็ทำบ้าง แล้วแต่โอกาสที่เข้ามา” มีนเสริม
“จริงๆ ถ้าพูดเรื่อง Sound Artist โดยเจาะจง มันก็จะอยู่ในโลกของการทำศิลปะ เป็นเหมือนศิลปินแขนงหนึ่ง ที่ใช้เสียงเป็นสื่อหลัก” น๊อตกล่าวก่อนเสริมว่า งานศิลปะเสียง คือการใช่เสียงสื่อสารในสิ่งที่ศิลปินอยากบอกเล่า โดยที่จะมีภาพหรือไม่นั้นเป็นปัจจัยรอง
นั่นก็ทำให้เราสงสัยว่า การเป็น Sound Artist ต้องเรียนจบด้านดนตรีมาโดยเฉพาะแบบเขาทั้งคู่หรือไม่? ซึ่งน๊อตก็ตอบกับเราว่า ไม่จำเป็นเลย เพราะ เขามองว่า Sound Artist ก็เหมือนศิลปินทั่วไป ที่ไม่จำเป็นจะต้องจบสายศิลปะก็ได้ เพียงแค่มีความสนใจ และอาจจะต้องมีสกิลที่เข้าใจเครื่องไม้เครื่องมือพื้นฐานบ้าง แต่จริงๆ แล้วใครๆ ก็สามารถเป็นได้
“ปกติวิชวลอาร์ตทั้งหลายเรามองเห็น จับต้องมันได้ แต่ว่าเสียงมันอาจจะต้องฝึกการได้ยินด้วย หมายถึงว่าเราต้องฝึกฟัง หรือให้ความสนใจกับการฟังมากขึ้น ไม่ถึงกับต้องเรียนดนตรีหรอก แค่เป็นคนทั่วไปที่สนใจการฟัง แล้วสามารถเอาเสียงมาสื่อสารต่อได้ก็พอ” มีนกล่าวเสริมคำตอบของน๊อต ก่อนอธิบายให้เราฟังเพิ่มเติมว่า ศิลปินบางคนก็ทำอาชีพหลักอื่นๆ เช่น สถาปนิก, นักธรรมชาติวิทยา หรือบางคนก็เป็น Visual Artist เพียงแต่พวกเขาอยากจะเปลี่ยนวิธีสื่อสารบ้างเท่านั้น
ถ้าใครเป็นแฟนนางงาม อาจจะเคยได้ยินผลงานของ Lab 5 Soundworks มาบ้างแล้ว (เพียงแต่คุณอาจจะไม่รู้) นั่นก็คือ ผลงานการเรียบเรียงดนตรีในการประกวด ‘Miss Universe Thailand 2020’ นอกจากนี้ยังมีผลงานการทำเพลง และเรียบเรียงดนตรีให้กับละครเวทีอย่าง ‘ชายกลาง เดอะมิวสิคัล’ และ ‘สูตรเสน่หา เดอะมิวสิคัล’ อีกด้วย
“งานเราส่วนใหญ่ถ้าเป็นเชิงพาณิชย์เราไม่ได้เทคตัวเองเป็นศิลปิน แต่เหมือนว่าทำงานเสิร์ฟตามโจทย์มากกว่า ฉะนั้นมันอาจจะไม่ได้มีชื่อในงานนั้นๆ เป็นหลัก แต่ถ้าเป็นงานที่ทำล่าสุดก็จะมีซีรีส์ ‘เส้นลองจิจูดที่ 180 องศาลากผ่านเรา’ ก็ arrange ทำเพลงให้กับซีรีส์ งานมันเยอะนะ แต่ว่ามันอยู่ตรงจุดนั้นจุดนี้” มีนเล่าให้เราฟัง
‘Benjakitti Sound Project’ กับการตีแผ่เสียงที่ซ่อนเร้นในสวนกลางเมือง
พูดถึงงานในฝั่งของศิลปะกันบ้าง กับงานล่าสุดที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ตอนนี้อย่าง ‘Unfolding Bangkok: Greeting Benjakitti’ ที่ทาง Lab 5 Soundworks ได้จัดแสดงผลงานศิลปะเสียงอยู่ด้วย มีนอธิบายให้เราฟังว่า จุดเริ่มต้นของการเข้าร่วมงานนี้มาจากรุ่นพี่ที่เคยทำงาน Performing Art ด้วยกัน เป็นคนชวนให้ทั้งคู่มาทำโปรเจกต์นี้ “เขาสนใจว่า พื้นที่ตรงนี้มีเสียงเยอะนะ มันทำอะไรได้ไหม
เราก็เลย โอเค งั้นก็ทำด้วยกันนี่แหละ เราก็ไปดีไซน์มาว่า ด้วยธีม Unfolding Bangkok - Greeting Benjakitti นี้ เราจะเอางานเสียงของเรามาทำอะไรได้บ้าง” มีนเล่าก่อนจะบอกต่อว่า เธอสนใจเรื่องเกี่ยวกับผัสสะ การรับรู้ และ ‘Acousmatic’ ซึ่งเป็นเหมือนการที่เราฟังเสียงโดยที่ไม่ต้องระบุว่ามันคืออะไร เช่น เราได้ยินเสียงนกร้อง แล้วฟังแค่ว่า มันร้องเป็นแพทเทิร์นอย่างไร แต่ไม่ต้องบอกก็ได้ว่ามันคือ นกพันธุ์อะไร แค่ลองจอยกับสิ่งที่เกิดขึ้นดูว่า มันเกิดย่านเสียงอะไรขึ้นตรงไหนบ้าง
“คอนเซ็ปต์เราคือ การ unfold เสียงในสวนนี้ว่า เรามาสวน เราคาดหวังอะไร ในจินตนาการของเราสวนมันเป็นแบบไหน พอได้มาจริงๆ เราได้ยินอะไรบ้าง ซึ่งเราแบ่งกิจกรรมเป็นสองส่วน มีช่วงเวิร์กช็อป Sound Walk เมื่อปลายเดือนมีนาคม แล้วช่วงนี้ก็เป็น Sound Installation ที่มันเกี่ยวเนื่องกันมา” มีนอธิบายต่อ
น๊อตเล่าว่า กิจกรรม ‘Sound Walk’ คือ เวิร์กช็อปในส่วนแรกของโปรเจกต์นี้ ซึ่งให้คนที่สมัครเข้าร่วม ใช้เสียงนำทางในสวนเบญจกิติ ได้ยินอะไรแล้วสนใจก็เดินตามไป ก่อนที่จะบันทึกเสียงเหล่านั้นมาเล่าเรื่องราวร่วมกัน ตามประสบการณ์ของตัวเอง
“มันเป็นการตั้งคำถามว่า สวนที่มันควรจะเป็นมันเป็นอย่างไร ก่อนมาที่นี่ หรือจากประสบการณ์ที่เคยไปสวนอื่นมาเป็นอย่างไร แล้วพอมาอยู่จริงๆ แล้วเป็นอย่างไร สิ่งที่พบก็คือ หลายคนมองสวนแล้วรู้สึกว่า มันควรจะต้องสงบ มีเสียงธรรมชาติ แต่ที่นี่จริงๆ มันกลายเป็นว่า มีเสียงรถ เสียงทางด่วน เสียงก่อสร้าง แล้วมันจะมีอยู่ทุกที่ของสวนนี้เลยนะ” น๊อตอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมส่วนแรก
เสียงเหล่านั้นที่ได้จากการบันทึกของผู้ร่วมกิจกรรมเวิร์กช็อป จะถูกนำมาปรับแต่งด้วยเทคนิคต่างๆ ในสตูดิโอ ผ่านมุมมองของมีน และน๊อต เช่น การสอดแทรกเสียงดนตรีเข้าไปในเสียงธรรมชาติ, การนำเสียงอีกาจำนวนมากมาร้อยต่อกัน หรือการแทรกเสียงของทางด่วนเข้ามาเป็นช่วงๆ ให้ดังขึ้น และดับลงเป็นระยะ เป็นต้น นี่คือ สิ่งที่ทั้งคู่ตั้งใจร้อยเรียงออกมา เป็นบทสรุปที่เปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้ตีความมันด้วยตัวเอง แล้วนำมาติดตั้งเป็น ‘Sound Installation’ กิจกรรมส่วนที่สองที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในตอนนี้
ลำโพง 12 ตัวที่ถูกติดตั้งไว้โดยรอบพื้นที่ใต้บันไดกลางบรรยากาศสีเขียวของสวนป่าแห่งนี้ ชวนให้เราเข้าไปอยู่ในห้วงของเสียงที่ซ่อนเร้นรอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นเสียงอีกา และนกต่างๆ, เสียงแมลง, เสียงกิจกรรมในสวน หรือแม้แต่เสียงของรถยนต์บนท้องถนนรอบข้าง ต่างถูกนำมาร้อยเรียงต่อกัน ทำให้เกิดความสงสัยว่า เสียงที่กำลังได้ยิน มีต้นกำเนิดมาจากลำโพง หรือมันกำลังดังขึ้นมาจริงๆ ณ ขณะนั้นกันแน่
“อยากให้ฟังแล้วเกิดคำถามว่า ‘นี่มันอะไรวะ’ หมายถึงว่า เราฟังอะไรอยู่ แล้วก็อยากให้ลองออกไปเดินหา หรือว่าใช้หูนำทางในการเดินเที่ยวที่นี่” – น๊อต
มีนเล่าให้เราฟังต่อว่า งานติดตั้งนี้มีความยาวกว่า 40 นาที ลำโพงทั้ง 12 ตัว เปิดแทร็กแยกกันอย่างอิสระ ซึ่งพวกเขาไม่ได้บังคับว่า จะต้องฟังให้ครบเวลาเท่านั้น แต่ละคนอาจจะเข้าไปฟังเพียง 5-10 นาที แล้วค่อยกลับมาฟังใหม่ก็ได้ เพราะศิลปะเสียงที่ติดตั้งอยู่นี้ ไม่ได้มีจุดเริ่มต้น หรือจุดจบที่ชัดเจน
พอเราได้ลองไปสัมผัสประสบการณ์นี้ด้วยตัวเองแล้ว เราจึงเกิดความอยากรู้ว่า ฟีดแบ็กจากคนที่แวะเวียนเข้ามาฟังงานนี้เป็นอย่างไร มีนกับน๊อตพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า คนส่วนใหญ่ไม่ได้พูดออกมาตรงๆ ว่า ชอบหรือไม่ชอบ แต่จะแสดงออกมาด้วยการถามคำถาม และพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งทั้งคู่ดีใจมากที่คนสนใจ ตั้งคำถาม และพยายามจะเชื่อมโยงงานนี้เข้ากับตัวเอง
“ก็เซอร์ไพรส์ และรู้สึกดีว่า คนเปิดรับอะไรแบบนี้มากขึ้น เปลี่ยนไปจากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่เคยจัดงานในหอศิลป์ คนที่มาดูเขาก็จะ ‘ฟังไม่รู้เรื่องเลย’ ‘อะไรก็ไม่รู้อะ’ ประมาณนี้ เป็นฟีดแบ็กไม่รู้ต้องตอบว่าอะไร แต่ตอนนี้คำถามมันเปลี่ยน แล้วเราก็รู้สึกว่า เออ สนุกขึ้น” มีนกล่าว
เมื่อเสียงเป็นอะไรก็ได้ และความท้าทายไม่ได้อยู่แค่ที่คนฟัง
‘เสียงเป็นได้ทุกอย่าง เพราะมันคือ สัมผัสหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนใช้เพื่อการรับรู้อยู่แล้ว’ เป็นคำตอบที่เราได้จากการถามมีนและน๊อต ซึ่งทำให้เราสงสัยต่อไปอีกว่า แล้วอย่างนี้มันมีเสียงที่เพราะ หรือไม่เพราะอยู่จริงไหม?
“มันเป็นเรื่องปัจเจกมากกว่า แล้วมันขึ้นอยู่กับความทรงจำร่วมของวัฒนธรรมนั้นๆ ด้วย อย่างเพลงสงกรานต์ บ้านเราสนุกมาก แต่เราไปเปิดให้คนชาติอื่นฟัง เขาอาจจะไม่ได้เห็นภาพอย่างที่เราเห็น ว่ามันมาพร้อมกับความร้อน แต่มันก็เย็นชุ่มฉ่ำ สนุกสุดเหวี่ยง เขาอาจจะไม่ได้เห็นภาพนี้” น๊อตอธิบายก่อนจะบอกต่อว่า เสียงถูกใช้เพื่อสื่อสารตามแต่ละจุดประสงค์ ซึ่งเราไม่สามารถตัดสินได้ว่า เสียงใดเพราะ หรือไม่เพราะ ก่อนจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้นว่า เพลงป๊อบที่เราฟังกัน อาจจะมีสูตรสำเร็จอยู่บ้างว่า เรียบเรียงแบบไหน ใช้คอร์ดอย่างไร องค์ประกอบแบบไหน ที่จะทำให้เพลงดัง หรือมีคนชอบ แต่ท้ายที่สุดเพราะหรือไม่ ก็แล้วแต่คนที่ฟังอยู่ดี
“ในแง่ศิลปะนี่ยิ่งปัจเจกเข้าไปใหญ่เลย มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้ฟังก์ชั่นไหนของเสียง ซึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่า คนทำออกแบบมาเพื่ออะไร และคนฟังมีเป้าหมายในการที่จะมาเสพด้วยความรู้สึกอะไร” มีนกล่าว
คุยกันไปสักพักเราจึงให้ทั้งคู่ช่วยกันนิยามคำว่า Sound Art ในแบบของพวกเขาขึ้นมา ซึ่งคำตอบที่ได้ก็ทำให้เราเปิดมุมมองใหม่ไปอีก ทั้งคู่บอกเราว่า Sound Art คือ ‘เนื้อตัวของพวกเขา’ เป็นวิธีคิด เป็นกรอบการทำงาน และเป็นพื้นที่เปิดกว้างให้กับการสร้างสรรค์ผลงานในอาชีพศิลปิน ซึ่งน๊อตบอกกับเราอีกว่า สำหรับเขา Sound Art ก็คือหนึ่งในกระบวนการทำงานของเขาไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ หรืองานเชิงพาณิชย์ก็ตาม เพียงแต่ในงาน Commercial Music มีการเสริมไอเดียที่ตอบโจทย์ลูกค้าลงไปเท่านั้นเอง
ความยากของ Sound Art ในการสื่อสารให้คนเข้าใจคือ ทุกวันนี้คนใช้ภาพในการสื่อสารกันเยอะขึ้น และเราไม่ได้ถูกฝึกให้ใช้หูมากเท่าคนทำดนตรี ดังนั้นการตีความศิลปะจากเสียงเพียงอย่างเดียว จึงยากกว่าการตีความผ่านการมองเห็นอยู่แล้ว นอกจากนี้สื่อเสียงยังเปิดกว้างให้กับการตีความ ซึ่งเราสามารถฟังผิดพลาด หรือตีความคลาดเคลื่อนไปได้
“สำหรับเรานะ กลายเป็นว่าเราทำงานด้านเสียง แต่กลับไม่เชื่อในความแม่นยำของการสื่อสารด้วยเสียง มันเปิดโอกาสให้ตีความ แก๊ปของความผิดพลาดในการสื่อสารจึงมีอยู่ เสียงจะให้ความรู้สึกแบบนี้กับคนหนึ่ง แต่กับอีกคนหนึ่งอาจจะไม่ใช่ความรู้สึกแบบเดียวกัน” น๊อตอธิบาาย
ซึ่งการสื่อสารทั้งในแง่ของเนื้อหาตรงๆ และคอนเซ็ปต์ของงาน คือหนึ่งในความท้าทายของการออกแบบงานศิลปะเสียงที่น๊อตเล่าให้เราฟัง ก่อนที่มีนจะเสริมว่า Sound Art เป็นงานศิลปะที่ ‘อยู่บนเวลา’ คือ การสร้างงานก็ต้องใช้เวลา และการฟังเพื่อทำความเข้าใจกับชิ้นงานก็ต้องใช้เวลาในการตกผลึกกับตัวเองด้วยเช่นกัน ซึ่งเธอมองว่านี่คือ อีกหนึ่งความท้าทายใหญ่ในการทำงานศิลปะเสียง
“มันจะไม่ใช่แบบ 3 นาทีจบ แล้วเล่นใหม่ทั้งหมด เพราะแบบนั้นเรายังไม่ทันได้คุยกับตัวเองเลย แต่ก็อย่างที่บอกค่ะ ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องอยู่ทั้งหมด 40 นาที อาจจะวันนี้ 5-10 นาที แล้วก็ลองสังเกตตัวเอง วันหลังค่อยกลับมาฟังใหม่ก็ได้ นอกจากนี้ในฐานะคนทำ เราจะต้องทำอย่างไรให้เขาเข้าใจ ก็ชาเลนจ์เหมือนกัน” มีนกล่าว
ท้ายที่สุดแล้ว เสียงที่จะนำมาใช้สร้าง Sound Art จะเป็นอะไรก็ได้ ไม่ใช่เสียงดนตรี หรือเสียงที่เพราะ มีนบอกเราว่า ทั้งหมดขึ้นอยู่กับคอนเซ็ปต์ของงานว่าอยากสื่อสารอะไร และจะใช้เสียงแบบไหนเป็นตัวแทนในการสื่อสารให้คนเข้าใจเรื่องของเรา
ได้เวลาฟังเสียงของศิลปินผู้สร้างงานเสียง
ในฐานะคนทำงานศิลปะ น๊อตกับมีนดีใจทุกครั้งที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของคนในสังคม ที่ให้ความสนใจกับงานสร้างสรรค์มากขึ้น ทั้งการพยายามตั้งคำถาม การเอาตัวเองเข้าไปเชื่อมโยงกับงานนั้นๆ แม้ว่าคนทั่วไปอาจจะยังไม่กล้าเข้ามามีส่วนร่วมกับงานศิลปะจัดแสดงของพวกเขาชัดเจนนัก เมื่อเทียบกับคนต่างประเทศที่พวกเขาเคยได้เห็น ตอนไปจัดแสดงผลงานที่กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ค แต่แค่คนเริ่มตั้งคำถาม เริ่มพูดคุยกัน ทั้งคู่ก็ดีใจแล้ว
พอพูดถึงฝั่งคนที่เข้ามาเสพผลงาน เราก็อดไม่ได้ที่จะถามถึงคนที่สร้างผลงานบ้าง ซึ่งเราก็ได้เห็นจากมุมมองของมีนและน๊อตว่า คอมมูนิตี้ของ Sound Artist ในไทยยังไม่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน หรือมีสังคมชัดเจนเท่าไรนัก โดยทั้งคู่อธิบายผ่านประสบการณ์ส่วนตัวว่า บางครั้งคนทำเพลงก็ไม่ได้รวม Sound Art ไว้ในงา�