'Lost in Translation' ภาพยนตร์เรื่องที่สองในฐานะผู้กำกับของโซเฟีย คอปโปลา (Sofia Coppola) สร้างความประทับใจฝากไว้ในใจผู้คนในปี 2003 เธอสร้างภาพยนตร์โรแมนติกที่แฝงไปด้วยความตลกร้ายของความสัมพันธ์ เศร้าสะเทือนใจ และโรแมนติกสุดซึ้งโดยค่อยๆ แทรกซึมเข้าไปในคนดูผ่านตัวละครโดยไม่รู้ตัว และทำให้มันดูง่าย โมเดิร์น และเข้าถึงง่าย ไม่ใช่หนังที่ต้องใช้สมาธิขนาดนั้นถึงจะเข้าใจบทภาพยนตร์
เนื้อเรื่องกล่าวถึงดาราหนังผู้โดดเดี่ยว บ็อบ แฮร์ริส (แสดงโดยบิล เมอร์เรย์) และเป็นนักศึกษาจบใหม่มีปัญหากับชีวิตคู่อย่าง ชาร์ลอตต์ (แสดงโดย สการ์เลตต์ โจแฮนสัน) พบกันที่โตเกียว บ็อบไปที่นั่นเพื่อถ่ายทำโฆษณาวิสกี้ของญี่ปุ่น ชาร์ลอตต์มาพร้อมกับสามีช่างภาพคนดังของเธอ คนแปลกหน้าในต่างแดน ทั้งสองพบกันในช่วงเวลาที่ทั้งสองต้องการหลบหนีความฟุ้งซ่าน และทำความเข้าใจกันท่ามกลางแสงไฟในกรุงโตเกียวที่สว่างไสวหลังจากมีโอกาสพบกันในบาร์ของโรงแรมอันเงียบสงบ พวกเขาก่อตัวเป็นสายสัมพันธ์ที่ไม่น่าเป็นไปได้พอๆ กับที่จริงใจที่มีความหมายของคนแปลกหน้าทั้งสองคน
นักแสดงหลักของเราทั้งสองคน บิล เมอร์เรย์ และ สการ์เลตต์ โจแฮนสัน แสดงให้เห็นถึงมิตรภาพ และความสัมพันธ์ทางอารมณ์ที่เพิ่มขึ้นต่อกันด้วยความงามที่ละเอียดอ่อน ค่อยเป็นค่อยไป ด้วยค่ำคืนที่เรียบง่ายในเมือง และการสนทนายามเย็นในห้องพักในโรงแรมในฐานะคนนอนไม่หลับสองคน บทสรุปของภาพยนตร์เรื่องนี้ ทั้งสองคนหลงทางในความสับสนของตัวเอง เชื่อมโยงกันด้วยความอ้างว้าง และค้นพบตัวเองในตัวของอีกคนนึง เมื่อดำเนินมาถึงฉากที่น่ารักเมื่อพวกเขาคุยกันถึงเรื่องที่กลัวที่สุดในชีวิตให้กันและกันฟัง โดยนอนอยู่บนเตียง มือไม่แตะกัน ริมฝีปากไม่สบกัน สำหรับนักเขียนแล้วแทบไม่มีความตึงเครียดทางเพศเลย แต่ความใกล้ชิดมีมากกว่าความต้องการทั่วไป และเมื่อบ็อบบอกเธอว่าเขารู้สึกอย่างไรเมื่อลูกๆ ของเขาเกิดมา ความสัมพันธ์ชั่วครู่ของทั้งคู่ก็เหมือนไม่มีชื่อเรียก มันไม่ได้เป็นการนอกใจหรืออะไรเลย มันทำให้คนตั้งคำถามนิดหน่อยว่าพวกเขาเป็นคนรัก? เพื่อน? ที่ปรึกษาและลูกศิษย์ในความลึกลับของชีวิต? พ่อและลูกสาว? ความสัมพันธ์ของคนสองคนที่เหงา อ้างว้าง ค้นพบกันจะสามารถพัฒนาเป็นความรักได้หรือไม่ เพราะเนื้อหาของภาพยนตร์แสดงให้เราเห็นว่า ไม่มีประโยชน์ที่บ็อบจะขอเบอร์โทรศัพท์เธอ หรือที่ชาร์ลอตต์ขอเบอร์เขา เพราะความสัมพันธ์นี้ไม่สามารถยืดเยื้อ หรือฟื้นคืนชีพได้เกินกว่าช่วงเวลาแห่งความปลาบปลื้มเล็กน้อยนี้ และเราสามารถรับรู้ได้ถึงความจริงในการสัมผัสนิ้วก้อยเท้ามากกว่าฉากเซ็กซ์เป็นไหนๆ
“I just feel so alone, even when I'm surrounded by other people”
จุดแข็งอย่างหนึ่งของบทภาพยนตร์ของคอปโปลาคือตัวละครของเธอ และทุกสิ่งที่ตัวละครทำนั้นมีความเป็นมนุษย์อยู่สูง ไม่เหมือนตัวละครในภาพยนตร์ส่วนใหญ่ พวกเขาไม่รู้สึกว่าพวกเขาเข้ากันได้อย่างรวดเร็ว และพวกเขาไม่ได้รักกันทันที มันเป็นเรื่องราวง่ายๆที่ผู้ชายที่แต่งงานแล้วไม่มีความสุขได้พบกับผู้หญิงที่แต่งงานแล้วไม่มีความสุข ในสถานที่ที่ทั้งคู่ไม่คุ้นเคย และจู่ๆ ก็ตระหนักว่าพวกเขาต่างก็มีสิ่งที่เหลืออยู่อย่างน้อยก็ในตอนนี้ ในยุคที่ฮอลลีวูดในยุคนั้นพยายาม (โดยส่วนใหญ่ไม่สำเร็จ) สร้างหนังที่หักมุม เพิ่มนู่นนี่เข้ามาทำให้คนดูรู้สึกเหมือนโดนยัดเยียดให้รู้สึกตาม ในทางกลับกันโซเฟีย คอปโปลาใช้สิ่งที่ง่ายๆ ทั่วไป และเปลี่ยนให้เป็นสิ่งที่ใครก็ตามที่เคยสัมผัส เคยมีประสบการณ์และอารมณ์ สร้างสามารถเข้าถึงได้ และรู้สึกร่วมไปกับมันได้อย่างดีเยี่ยม
ความเชื่อมโยงทางอารมณ์ระหว่างบ็อบและชาร์ลอตต์เกิดจากการแสดงอันน่าทึ่งของบิล เมอร์เรย์และสการ์เลตต์ โจแฮนสัน ซึ่งอายุ 18 ปีเมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉาย แสดงให้เห็นว่าอนาคตของเธอสดใสเพียงใดในวงการภาพยนตร์ เมื่อเธอเปิดเผยความไร้เดียงสา ความอ้างว้าง และความสงสัยในการแต่งงานของเธอในฐานะชาร์ลอตต์ ตลอดช่วงแรกๆ ของภาพยนตร์ ความไร้เดียงสาของชาร์ลอตต์ทำให้เธอตั้งคำถามเกี่ยวกับการแต่งงาน และเป้าหมายในชีวิตของเธอผ่านการแสดงได้ดีเยี่ยม และการแสดงของบิล เมอร์เรย์ บอกได้เลยว่าจะดีกว่านี้ไปไม่ได้แล้ว การปลุกความรู้สึกอ้างว้างมากมายจากการแสดงของเขา ในขณะที่ยังคงโปรย 'ความเป็นเมอร์เรย์' ของเขาลงในภาพยนตร์เรื่องนี้ ในขณะเดียวกัน การใช้ภาพสื่อความหมายในหนัง เนื่องจากหนังดำเนินเรื่องเรื่อยๆ ปล่อยให้คนดูดื่มด่ำกับบรรยากาศในเมืองโตเกียว หนังใช้ภาพ มุมกล้อง ได้เป็นประโยชน์มาก ในการสื่อความเหงา ความโดดเดี่ยวในเมืองใหญ่ได้ดีเยี่ยม
อะไรคือ Lost in Translation กันแน่? สำหรับนักเขียนเอง จากการดูภาพยนตร์เรื่องนี้ซ้ำๆ ในช่วงวัยที่ต่างกันทำให้เข้าใจหัวใจหลักของภาพยนตร์มากขึ้น และเข้าใจว่า Lost in Translation คืออะไร การที่เราใช้ชีวิตด้วยกัน และอยู่ด้วยกันมานาน ทำให้บางครั้งเราหลงลืม จนดูไม่ออกว่าคนข้างกายเราต้องการอะไร หรือเราขาดอะไรไป เมื่อความรู้สึกนั้นก่อตัวในใจมากขึ้น มันทำให้เราการสื่อสาร หรือการแสดงออกไปจืดจางและจางหายไปด้วย
การดำเนินเรื่องของหนังนั้นค่อนข้างเรียบเรื่อยค่อนไปทางเนือยๆ ไม่ได้มีจุดพีก หรือจุดตื่นเต้นอะไร อารมณ์เดียวกันกับหนังหว่องกาไว ที่คนดูอาจจะจำเป็นต้องมีอารมณ์ร่วม หรือประสบการณ์ร่วมสักหน่อยถึงจะอินไปกับหนัง เหมาะกับการดูในวันหยุดสบายๆ ฝนตก บรรยากาศเย็นๆ หากดูตอนนี้แล้วยังรู้สึกไม่เข้าใจ ไม่อินในตัวภาพยนตร์ แต่หากวันไหนรู้สึกว่าเหงาเป็นพิเศษ การกลับมาดู Lost in Translation อาจจะสร้างความรู้สึกใหม่ๆ ให้กับคนดูได้เหมือนกัน