Art

“Love Makes Me Blythe” Doll photography NFT ที่เป็นมากกว่าภาพถ่ายตุ๊กตา

แม้ว่าช่วงนี้กระแสของโลกคริปโตจะแผ่วลง แต่ผลงาน NFT ของศิลปินไทยนั้นไม่เคยแผ่วตามไปเลยจริงๆ ยกตัวอย่างเช่น ครีเอเตอร์ที่เราจะพาไปรู้จักกันในวันนี้ เธอเป็นเจ้าของคอลเล็กชั่น Love Makes Me Blythe ที่มักจะมาอัปเดตให้คอมมูนิตี้เห็นว่าดรอปงานใหม่แล้ว และขายงานใหม่ได้อยู่เสมอ

เริ่มแรกเราอยากสัมภาษณ์เธอเพียงเพราะ สนใจงานสไตล์ ‘Doll photography’ ที่เห็นได้ไม่บ่อยในบ้านเรา แต่พอได้เลียบๆ เคียงๆ พูดคุยดู ก็พบว่า ความน่าสนใจของคอลเล็กชั่นนี้ไม่ได้มีแค่สไตล์ผลงานเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องการสะท้อนความน่าสนใจของ NFT ในอีกหลายแง่มุม จนทำให้เราไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมคอลเล็กชั่นนี้ถึงขายได้ต่อเนื่อง

ทันทีที่ได้เจอกัน พลอย เจ้าของ ‘Love Makes Me Blythe NFT’ ทักทายเราด้วยน้ำเสียงสุดสดใส ตามสไตล์สาวช่างพูดของเธอ

“สวัสดีค่ะ พลอยนะคะ ปกติทำงานฟูลไทม์ขายเครื่องครัวออนไลน์ เวลาว่างชอบออกไปถ่ายรูปงานสต๊อกโฟโต้ แต่ตอนนี้เอนเอียงไปทาง NFT มากกว่าค่ะ” 

ทำไมถึงเอนเอียงมาหา NFT มากกว่าถ่ายภาพสต็อก

มีช่วงหนึ่งที่เหมือนเป็นขาลงของ Shutterstock เพราะมีการปรับเรทใหม่ ซึ่งราคามันลงมาเยอะมาก เพื่อนๆ ในวงการก็เริ่มเบื่อ มีผันตัวไปทำ NFT กันบ้าง ซึ่งเมื่อธันวาคมปี 2021 พลอยก็เลยลองดูบ้างแบบ เอาวะ ซักตั้ง ขายได้ไม่ได้ก็อีกเรื่อง

คอนเซ็ปต์ของ Love Makes Me Blythe คืออะไร

เป็นงานสไตล์ Doll photography หรือภาพถ่ายตุ๊กตา มีคอนเซ็ปต์หลักๆ คือ “Be a reason for someone to smile” และแตกออกเป็นอีก 3 คอนเซ็ปต์ย่อย คือ Doll Therapy, Positive Vibes และ Cuteness Overload ซึ่งในแต่ละรูปก็จะมีคอนเซ็ปต์ และธีมที่ต่างกันไปอีก เช่น Vintage, Fairy Tales, Animals, Career เป็นต้นค่ะ

“มันเริ่มมาจากเวลาที่พลอยเครียดกับการทำงาน แต่พอกลับบ้านมาจับน้อง (ตุ๊กตา) เปลี่ยนชุด หวีผม แล้วรู้สึกว่าความเครียดมันเบาลง น้องช่วยให้เราหายเครียดได้อย่างมหัศจรรย์ เลยอยากเอาความรู้สึกนั้นมาถ่ายทอดผ่าน NFT ใส่พลังงานบวกลงไป เพื่อเป็นกำลังใจให้คนที่มีวันแย่ๆ”

อะไรดลใจให้ทำ NFT สไตล์ Doll photography 

เอาตรงๆ เลยก็คือ ทำงานกราฟิกไม่เป็นเลย ถ่ายรูปเป็นอย่างเดียว (หัวเราะ) และส่วนตัวชอบในความที่ตุ๊กตาสามารถบอกเล่าเรื่องราวผ่านรูปถ่ายได้น่าสนใจดี ก็เลยเลือกมาทาง Doll photography ซึ่งมันมีความยากอยู่เหมือนกัน เพราะงานสไตล์รูปถ่าย จะไม่เหมือนงานกราฟิก มันทยอยทำวันละนิดไม่ได้ ต้องใช้เวลาเยอะ ทั้งคิดคอนเซ็ปต์ สั่งทำงานชุด งานหมวกอีก 2-3 เดือน หาสถานที่ที่จะไปถ่ายทำ จับน้องแต่งตัว ถ่ายรูป ไม่ใช่คิดแล้วจะพร้อมถ่ายได้เลย

ช่วงแรกกับการเข้าสู่วงการนี้เป็นอย่างไรบ้าง

ช่วงแรกมีอุปสรรคค่ะ เพราะงานส่วนใหญ่ที่เห็นว่าขายดี จะเป็นงานแนวกราฟิก ส่วนสายภาพถ่าย เราเห็นคนดังในวงการสต๊อกทำแล้วร่วงเยอะเหมือนกัน ฐานแฟนคลับงานภาพถ่ายตุ๊กตาก็แทบไม่มีเลย ก็ใจคอไม่ค่อยดี แต่ความอยากลองมีมากกว่า ก็สู้จนมีคนมาซื้องานได้สำเร็จ แต่มันก็พิสูจน์แล้วนะว่า ไม่ว่างาน NFT จะเป็นแนวไหน ทุกคนก็ขายได้

เห็นว่าทำมีงาน Collab กับศิลปินหลายคนเลย เล่าให้เราฟังหน่อย

มีเป็น NFT Music ค่ะ คือเราอยากทำโปรเจกต์คอลแล็บอยู่แล้ว แต่ถ้าไปคอลแล็บกับสายกราฟิก ก็คิดไม่ออกว่ามันจะเป็นยังไง เลยลงตัวที่ไปชวนศิลปิน NFT Music มาทำงานด้วยกัน มีงานที่ทำกับพี่กบ Kevin Lin เป็นดนตรีฟังสบายแบบ Ocean Therapy คุณ BeerNK48 ที่คอสเพลย์เรื่องบุพเพสันนิวาส ก็ทำเพลงไทย แล้วก็งาน Baby goat ที่คอลแล็บกับพี่แมว จิรศักดิ์ ชิ้นนี้พี่แมวจะทำเพลงมาให้ในสไตล์ใสๆ น่ารักๆ เหมือนน้องแพะกำลังผิวปากอยู่ในป่าใหญ่ ประมาณนั้นค่ะ

“การคอลแล็บสำคัญนะ เพราะเราจะได้ช่วยกันโปรโมตงาน โปรโมตคอมมูฯ มันเพิ่ม Visibility ได้ ทำให้คอลเลกเตอร์เราอาจจะสนใจซื้องานของพาร์ทเนอร์ ส่วนคอลเลกเตอร์พาร์ทเนอร์ก็อาจมาเป็นคอลเลกเตอร์เราได้ในอนาคต”

การสะสม NFT แตกต่างจากสะสมภาพดิจิทัลทั่วไปอย่างไร

คอลเลกเตอร์ที่เก็บงาน Love Makes Me Blythe พลอยได้ต่อยอดเรื่อง Real-world utility (สิทธิประโยชน์ในโลกจริง) ด้วย คือร่วมกับพาร์ทเนอร์อย่างร้าน Play Space Cafe คาเฟ่ชิคๆ สไตล์วินเทจ ที่มีแต่ของอร่อย และมีพื้นที่ให้ศิลปินจัดแสดงผลงาน มอบส่วนลด ค่าอาหาร และเครื่องดื่ม 10% ให้คอลเลกเตอร์ของพลอย แค่เปิดกระเป๋า metamask แล้วโชว์ผลงานที่เก็บไป

เห็นว่าพลอยช่วยสนับสนุน Local community ด้วยใช่ไหม เล่าให้เราฟังหน่อย

อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่า งานของพลอยจะต้องสั่งทำชุด ทำหมวกให้น้องตุ๊กตา ซึ่งก็จะมาจากการสนับสนุนร้านงานฝีมือในไทย จะเรียกว่าสนับสนุน Local community ก็ได้ เพราะพอขายงานได้ ก็จะแบ่งงบมาอุดหนุนร้านงานฝีมือตลอด อย่างงานหมวกชิบะ Rare drop ก็จะเป็นงานของร้านหนึ่ง ที่เราจะช่วยซัพพอร์ตเรื่องงานกันอย่างเต็มที่ และทุกครั้งที่มีโอกาส พลอยก็จะกลับไปอุดหนุนร้านเขา บางทีมีส่งขนม และโปสการ์ดไปให้ พลอยชอบที่จะทำงานแบบช่วยๆ กันแบบนี้

หมวกหมาชิบะ Rare Drop

“พอเราเอาความชอบในการถ่ายรูป และตุ๊กตา มารวมกัน มันเลยกลายเป็นแพสชั่นที่ทำให้เราสร้างงาน NFT ได้เรื่อยๆ และสามารถหาเงินมาช่วยสนับสนุน Local community ได้ด้วย คิดว่ามันเด็ดมากเลยค่ะ”

คิดว่าอะไรที่ทำให้ตัวเองขายงานได้แบบสวนกระแสขาลงของวงการคริปโต 

น่าจะเป็นที่การดรอปงานสม่ำเสมอคือ พลอยจะมีแพลนดรอปงานทุกเดือน เดือนละ 3 ครั้ง ทุกวันที่ 2, 12, 22 และจะมีดรอปพิเศษช่วงเทศกาล แล้วก็การที่แอคทีฟในคอมมูฯ ตลอด คุยกับคอลเลกเตอร์ แฟนคลับที่ชื่นชอบงานบ่อยๆ ไม่หายไปไหน

“อยากขอบคุณทุกคนที่อุดหนุนงาน, ร่วมคอลแล็บ และเป็นพาร์ทเนอร์กันนะคะ ยังไงขอฝากคอลเลคชั่น Love Makes Me Blythe ไว้ในอ้อมใจทุกคนด้วยนะคะ แอบกระซิบว่าเดือนหน้าจะดรอปงานธีมแม่นาค เตรียมติดตามกันด้วยนะคะ” 

นี่คือ ความน่าสนใจทั้งหมดของ Love Makes Me Blythe ที่เราอยากนำเสนอว่าเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการพยายามสร้างสิทธิประโยชน์ ให้ NFT เป็นมากกว่าภาพถ่ายตุ๊กตาทั่วไป ซึ่งความจริงแล้วมันเป็นจุดเด่นสำคัญที่ทำให้ NFT ต่างจากการขายภาพดิจิทัลทั่วไป แต่ศิลปินบางคนอาจจะยังไปไม่ถึงตรงนั้น 

ติดตามและสนับสนุน Love Makes Me Blythe NFT ได้ทาง

OpenSea: EnchantedFairy_NFT 
Twitter: @BlytheLoveStory