Art

Luckyleg กับโปรเจกต์งานศิลปะ ที่ถ่ายทอด และเชื่อมโยงเรื่องราวประวัติศาสตร์ สังคม และการเมือง

"ที่เราเคยรู้ว่าเรามีเสรีภาพ แต่มันไม่จริง 100% ขนาดนั้น ตัวงานของเราก็เหมือนช่วยให้เกิดการสะท้อนว่า เสรีภาพมันถูกจำกัดเท่าไหน คนพูดได้ประมาณไหน งานของเราอาจช่วยให้เขาขำได้บ้าง ปลอบประโลมไปในตัว และทำให้เขาเห็นความจริง อีกแง่มุมของสังคมที่กำลังเรียกร้อง"

กว่า 7 ปีแล้ว ที่งานศิลปะของศิลปิน ‘Luckyleg’ ผู้ถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์ผ่านกำแพง ผืนผ้าใบ และแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่เชื่อมโยงเรื่องประวัติศาสตร์ สังคม และการเมือง ให้เป็นเรื่องที่ขับเคลื่อน และเคลื่อนไหวได้ตลอดเวลา จนโดดเด่น เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาผู้คนที่พบเห็น 

Luckyleg เริ่มต้นทำงานศิลปะได้อย่างไร

ตอนแรกผมไม่ได้มาจากสตรีทอาร์ตเลยครับ ผมทำงาน Painting บนแคนวาส เราก็ศึกษาสตรีทอาร์ตมาบ้าง แต่เจอปัญหากับตัวเองคือ ความที่เป็นงานแกลเลอรี่ ที่ดีลกับเขาไว้ว่าจะจัดงานแสดง แต่เขาลืม และจัดคิวผิด รู้สึกเหมือนต้องมาง้อ แล้วก็รอ ทั้งๆ ที่นัดกันแล้ว มันรู้สึกเหมือนเขาไม่ให้ความสำคัญในงาน เลยเอาผลงานของเราที่พูดถึงสังคมอยู่แล้ว ไปทำงานสตรีทอาร์ตเลย เพราะจะได้ให้คนทั่วๆ ไปเห็นงาน และเห็นความคิดของเราโดยตรง แบบไม่ต้องผ่านเเกลเลอรี่ ซึ่งงานตอนแรกๆ ที่ทำก็ยังไม่ได้พ่นสเปรย์ ผมใช้แปรงจุ่มสีเพนท์ลงบนกำแพงครับ ผมทำงานเพนท์สีอะคริลิกโดยใช้แปรงมาประมาณ 2 ปี ตั้งแต่ชิ้นเล็กๆ จนถึงชิ้นใหญ่ๆ ในตอนนั้นยังไม่มีทักษะการใช้สเปรย์ แค่อยากถ่ายทอดความคิด ส่วนงานพ่นทำมาได้ 4 ปีแล้วครับ

“ผมแค่อยากสื่อสารผลงานของเรา ที่สะท้อนปัญหาของยุคสมัยให้คนเห็นอยู่แล้ว แต่เราไม่เคยทำในรูปแบบสตรีทอาร์ต อยากลองทำอะไรใหม่ๆ”

ชื่อ Luckyleg ได้มาจากไหน

ก่อนเรียนมหาวิทยาลัยผมประสบอุบัติเหตุ พอมาเรียนขาก็มีปัญหา พวกพี่ๆ เขาเลยตั้งชื่อ ‘Luckyleg’ ให้เรา เพราะเขาอยากให้เราหาย ขอให้โชคดีนะ รู้สึกว่าชื่อนี้มาจากความเป็นมนุษยธรรม ความเห็นใจคนๆ หนึ่ง ถือว่าเป็นชื่อที่ดี และมงคลอยู่นะ แล้วชื่อนี้เป็นชื่อที่เพื่อนๆ พี่ๆ เรียกกันตั้งแต่อยู่มหาวิทยาลัยแล้ว เป็นชื่อ IG ในโซเชียล และเฟสบุ๊กของเราอยู่แล้ว แล้วพวกเขาก็รู้จักเราอยู่แล้ว 

จุดเด่นของงานศิลปะ Luckyleg คืออะไร

งานของผมคือ งานที่นำประเด็นซีเรียส ที่มีการถกเถียงในสังคม ทั้งสังคมทั่วไป และสังคมการเมือง หรือในโลกนี้ รวมทั้งเรื่องความเชื่อ และศาสนาด้วย เอามาทำให้มีความฮา ความขำ ความตลก ตลกร้าย จิกกัด และเสียดสีไปในตัว ประชดประชันบ้าง บางชิ้นก็กระชากใจไปเลย หรือเล่นกับความเชื่อเก่าๆ ส่วนรูปแบบก็ไม่รู้ว่าคนจะจำผมแบบไหน แต่มันก็ไม่ได้เป็นรูปแบบที่ตายตัวว่าเป็นคาแร็กเตอร์เรา ถ้าเป็นเรื่องเนื้อหา คนน่าจะรู้ว่าเป็นเรา

นอกจากงานสตรีทอาร์ท เราทำงานศิลปะชนิดอื่นด้วยไหม

ผมทำทั้ง Painting, Digital Paint, Street Art และตอนนี้ทำประติมากรรมอยู่ แต่ยังไม่ได้เผยแพร่ จริงๆ ผมไม่รู้จะเรียกตัวเองว่าอะไร เรียกว่า ‘ผู้วิพากษ์วิจารณ์ทางสังคมโดยใช้ศิลปะ’ แล้วกัน เพราะไม่ได้มีรูปแบบงานรูปแบบเดียวครับ

ทำไมจึงสนใจงาน Appropriation 

ส่วนใหญ่ถ้าติดตามงานผมจะเห็นว่า ผมเอาสื่อป๊อปๆ ที่ไม่ใช่แค่ตัวศิลปะ มีทั้งดนตรี, ภาพยนตร์, สังคม, การเมือง และประเด็นต่างๆ ซึ่งเป็นภาพจำของคนอยู่แล้วมาเล่น เพื่อต่อยอด และแตกประเด็นไปจากสิ่งเก่าที่มันพูดเรื่องนี้ แค่เอามาลองพลิกนิดหนึ่ง มันก็เปลี่ยนความหมายแล้ว ในประวัติศาสตร์ศิลป์มันหมุนวนอยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมุนวนซ้ำเป็นรอยเดิม หมุนวนเป็นเกลียวสว่านขึ้นไป มันเกิดจากการต่อยอดของศิลปินแต่ละยุคแต่ละสมัย เพื่อนำมาเจาะประเด็นทางสังคมในตอนนั้นๆ

“เหมือนให้งานของเรา ได้สะท้อนความคิดของผู้คนในตอนนั้น ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาด้วยว่า ภาพต้นฉบับมันเกิดอะไรขึ้น ณ ตอนนั้น แล้วมันซ้ำรอยกันไหมในตอนนี้ มันต่างกันอย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่มันก็คล้ายๆ กันนะ เรื่องราวมันก็วนๆ อยู่ ทำไมคนเราไม่คิดจะเรียนรู้สักที”

การทำงาน ระหว่าง 'บนผ้าใบ' และ 'บนกำแพง' แตกต่างกันไหม

แน่นอนว่า รูปแบบมันต่างกันอยู่แล้ว แต่กระบวนการคิดไม่ต่างครับ ถ้าบนผ้าใบเราก็สามารถทำ และใช้เวลากับมันได้นานกว่ากำแพง สามารถใส่รายละเอียด เรื่องราว ที่มันมีดีเทล และเหมาะสมกับตัวผ้าใบ ขณะที่บนกำแพงทำไม่ได้ ด้วยพื้นที่ สภาพอากาศ เทคนิค หรือ งบประมาณ แต่บนกำแพงมันมีความตื่นเต้น เพราะเราไปเจอสถานที่จริง เจอผู้คนจริง ในขณะที่เรากำลังทำอยู่ บางทีเจอตำรวจ มันก็ได้เห็นการสะท้อนกลับ ณ เวลานั้นของผู้คน 

แต่ละงานใช้ระยะเวลานานแค่ไหน

งานผ้าใบทำนานกว่า เพราะงานละเอียดกว่า องค์ประกอบเยอะกว่า (บางชิ้นใช้เวลาทำเป็นเดือน แล้วกลับมาทำใหม่) ส่วนกำแพงคือ งานที่เห็นแล้วเก็ทเลย ไม่ต้องละเอียดมาก (ใช้เวลาทำประมาณ 6 ชั่วโมง ต่อ 1 ชิ้นงาน)

โดยส่วนตัว Luckyleg ชอบงานแบบไหนมากกว่า

คงอยู่ที่ช่วงเวลานั้นๆ ถ้าเป็นแพชชั่นเราอยากทำบนกำแพงตลอดอยู่แล้ว แต่ก็มีหลายปัจจัย อย่างกำแพงนี้ใช้ได้ไหม กำแพงสวยไหม มีงบประมาณเรื่องสีไหม มีรูปแบบงานที่เหมาะกับกำแพงนี้ไหม มีประเด็นที่จะเล่นบนกำแพงแบบไหนที่เราคิดออก ณ ตอนนั้น สภาพอากาศเป็นอย่างไร และหน้าฝนจะค่อนข้างซับซ้อนหน่อย เพราะงานเราใช้เวลาในการทำ ส่วนงานบนผ้าใบก็ชอบ เพราะเป็นงานพื้นฐานของเราก่อนที่จะมาทำบนกำแพง ความคิดอันนี้มันปิ๊งขึ้นมา แล้วเราคิดว่า ถ้าอยู่บนผ้าใบก็คงจะดี และเหมาะกว่า เพราะน่าจะใช้รายละเอียด และสีสันได้เยอะกว่าบนกำแพง เพราะใช้เวลานาน และสร้างอิมแพกกับคนได้มากกว่าในแง่ของรูปแบบ หรือรายละเอียดของรูป 

“บางทีเขามาถามเราว่า ภาพอะไร? พูดถึงการเมืองไหม? ซึ่งมีทั้ง 2 ฝ่าย ซ้าย-ขวา ทั้งคนที่สนใจ หรือเมินเฉยก็มี มีทุกรูปแบบครับ”

ทำไม Luckyleg เน้นหนักให้งานศิลปะสื่อสาร และพูดเรื่อง 'สังคม' 

คนทำงานศิลปะ มีความยึดโยงกับสังคมอยู่แล้ว มีความอ่อนไหวต่อสิ่งรอบข้างในตัวเองอยู่แล้ว มันคือ สถานการณ์ของยุคสมัยในตัวผลงาน มันเป็นประสบการณ์ร่วมของเราด้วยในส่วนของสังคม เราก็โดนเหมือนผู้คนอื่นๆ ในสังคมแหละ บางทีเขาพูดผ่านเสียงตัวเองไม่ได้ เราก็พูดเรื่องราวของเราๆ ที่รู้สึกเหมือนกัน หรือมีจุดร่วมเดียวกัน เหมือนการปลอบประโลมไปในตัว ไปรังควานคนที่มีอำนาจในตัวศิลปะ เพราะถ้าพูดเป็นคำพูด คนอาจจะเดือดร้อน มันเป็นเรื่องราวของยุคสมัย การบันทึกประวัติศาสตร์ของยุคสมัยที่เป็นข้อเรียกร้อง หรือเป็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็น 

“งานของเราที่ออกมาไม่สามารถพูดตรงๆ ได้ มันต้องใช้รูปแบบแบบนี้ เพื่อสะท้อนออกไปว่า คนคิดประมาณนี้ และมันเป็นเครื่องมือที่ไปรบกวนคนที่ใช้อำนาจเกินเลยในทางความคิด ทำให้เกิดหลายอารมณ์”

งานชิ้นแรกของ Luckyleg คืองานอะไร

งาน Painting บนผ้าใบ ตอนนั้นจะมีงานแสดงเดี่ยว (หลังจากเป็นทหารเกณฑ์) วันไหนพักก็กลับบ้านมาวาดรูปเพื่อเอางานนี้ไปแสดงหลังปลดแล้ว จัดแสดงที่ BACC (หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร) เป็นงานที่สะท้อนเกี่ยวกับการใช้ Propaganda ของสื่อ หรือผู้มีอำนาจที่พูดคำสวยหรูผ่านสื่อ แต่ความเป็นจริงไม่เคยทำแบบที่พูดเลย เป็นงาน Painting ที่มี Text ที่สวย แต่ภาพมันย้อนแย้งกัน คล้ายงานโปสเตอร์ที่มีรูป

ผลงานชิ้นล่าสุดของ Luckyleg เป็นอย่างไร

ผมพ่น ‘ชาร์ลี แชปลิน’ ยุคนั้นกับ ‘ฮิตเลอร์’ ผ่านสื่อเหมือนคล้ายๆ คนเดียวกัน ชาร์ลีเขาทำภาพยนตร์ขึ้นมาเพื่อสะท้อน และปลุกผู้คนให้ตื่นว่า เราเป็นมนุษย์ เราควรรักกัน หรือ Stop war ที่เขาพูดๆ กัน ผมดูแล้วชอบมาก มันสะเทือนใจ และพ่วงกับยุคนี้มีสงครามยูเครน หรือจีน เลยนำภาพชาร์ลีภาพนี้มาเล่น แล้วเปลี่ยนมือเป็นสัญลักษณ์นิ้ว Love you แทน เพื่อสื่อสารว่า บทเรียนล่าสุดที่ผ่านมา ความเกลียดชัง อำนาจ หรือความสูญเสีย มันไม่ใช่คำตอบนะ แต่ความรักคือคำตอบ ล้อนิดๆ ให้คนมาดูแล้วยิ้มหน่อยๆ (งานนี้อยู่ตรงตึกใกล้สวนสาธารณะที่เขากำลังจะทุบแล้ว อยู่จังหวัดนครปฐมในตัวเมืองเลย เทศบาลเขาจะทำพื้นที่ตรงนั้นเป็นอ่างเก็บน้ำเพิ่ม แต่ตอนนี้ไม่รู้ว่าเขาทุบไปแล้วหรือยัง)

2 ผลงานที่ประทับใจที่สุดคือชิ้นไหนบ้าง

ถ้าเป็นงานสตรีทอาร์ต ผมชอบชิ้นที่เป็นรูป ‘ชัชชาติ’ นะ ชิ้นนั้นมันบังเอิญ และเราก็ไม่ได้วางแผนไว้เลย วันนั้นผมว่างแล้วตอนเย็นต้องรอเพื่อทำธุระ หรือมีนัด ทั้งวันนั้นว่าง เลยออกไปพ่นดีกว่า ตอนนั้นชัชชาติกำลังมา เรื่องกระแสประชาธิปไตย เรื่องเลือกตั้งผู้ว่าในรอบ 8 ปี คนตื่นรู้ทางประชาธิปไตยเยอะขึ้น สังคมก็เริ่มมี ‘ชัชชาติฟีเว่อร์’ เราอยู่กรุงเทพฯ พอดี และก็เป็นฝ่ายประชาธิปไตย โดยใช้เทคนิคที่ผมถนัด คือ การพ่น มันก็สอดรับกัน ในการกลับตาลปัตรของสังคม ของกระบวนการยุติธรรม ใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมงในการพ่น ชิ้นนี้อยู่แถวพระราม 9 ครับ 

อีกชิ้นที่ชอบเป็นงาน Painting ชื่อ ‘ภิกษุมอนโร’ เป็นพระภิกษุที่ทำท่าเลียนแบบมาริลิน มอนโร ชิ้นนี้มันไปกระตุกความคิด ค่านิยม และความเชื่อของคนมาก จนเกิดการถกเถียงในเพจผมเอง และไม่ใช่แค่ในไทย โดนทัวร์พม่า ศรีลังกา อินเดีย กัมพูชาลง ส่วนคนไทยมีทั้งชอบ และไม่ชอบ มันเกิดประเด็นทางสังคมเลยชิ้นนี้ ผมรู้สึกว่า งานศิลปะชิ้นนี้มันทำงานได้ดีมาก มันเหมือนอาวุธทางความเชื่อที่มันใหม่ ที่เข้าไปเจาะความเชื่อเก่า ซึ่งสภาวะทางสังคมของเมืองไทยมีอยู่แล้ว ภิกษุที่ออกเรื่องฉาวในวงการสงฆ์ แต่พอเป็นงานศิลปะ ผมก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมคนมันรับไม่ได้ ผมเลยชอบชิ้นนี้ และรู้สึกว่าเป็นมาสเตอร์พีสสำหรับผม ณ ตอนนี้นะ ที่รู้สึกชอบมากๆ เลย ชิ้นนี้อยู่ที่บ้านผมเอง

อะไรคือ อุปสรรค และปัญหาในการทำงาน

ถ้าสตรีทอาร์ตอุปสรรคเยอะอยู่นะ ทั้งเรื่องสภาพอากาศ, อุปกรณ์, สี, งบประมาณ, พื้นที่ทำงานที่ได้บ้างไม่ได้บ้าง เพราะผมเคยโดนจับมา 2 ครั้ง และเรื่องของความคิดในตัวงาน อยากทำงานศิลปะให้ยาวๆ ต้องไม่ซับซ้อนเกินไป และไม่ตรงเกินไป โดยใช้สัญญะที่ทำให้พูด หรือนึกถึง เพื่อสะท้อนให้คนดูแล้วรู้สึกโอเค และนึกถึงเรื่องนี้ได้ เพราะเราอยากทำงานศิลปะไปอีกเรื่อยๆ 

คิดว่าผลงานชิ้นไหนที่สร้างชื่อ และทำให้คนรู้จัก Luckyleg

เป็นชิ้นตัวช้างครับ ที่เอางานซัลวาดอร์ ดาลีมาเล่นครับ ตอนนั้นกระแสการอภิปรายประชาธิปไตยกำลังแรงมากในสภา แล้วเอาอันนี้มาเล่นพอดี เป็นการสร้างชื่อสำหรับชิ้นแรกๆ เลยก็ว่าได้ และเป็นชิ้นแรกที่เพนท์บนดิจิทัล 

‘ศิลปะ’ กับ ‘การเมือง’ มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร

ศิลปะมันเป็นการเมืองในตัวเองอยู่แล้ว คือ งานศิลปะแต่ละรูปแบบถูกการให้ค่าของแต่ละคน หรือแต่ละฝ่ายอยู่แล้ว ฝั่งอนุรักษ์เขาจะชอบงานศิลปะที่บริสุทธิ์ ที่พูดถึงความงามแบบเทพเจ้า ที่หลีกหนีความเป็นจริง และใฝ่หาการสรรเสริญ พูดแต่ภาพของโลกที่สวยงาม แต่ความเป็นจริงมันมีการต่อสู้ทางความคิดตลอดเวลา และมันจะเกิดศิลปะอีกแบบที่อยู่ดีๆ ก็เกิดมา ผ่านความคิดของผู้คนในสังคม จนศิลปินนำมาต่อยอด และต่อต้านความคิดเดิมๆ จนเกิดรูปแบบใหม่ เหมือนที่เราได้เรียนรู้ศิลปะในแต่ละยุคแต่ละสมัย มันเป็นการเมืองในตัวเองอยู่แล้วครับ มันอยู่ที่ฝ่ายไหนคิดแบบไหน และให้ค่ากับมันอย่างไร

“ศิลปะเป็นสิ่งสะท้อนยุคสมัย ในขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือที่ใช้รบกวน หรือโจมตีทางความคิดแบบเก่า เพื่อที่จะพูดถึงเสรีภาพที่เพิ่มมากขึ้น ถ้าเปรียบเป็นภาพก็เหมือนมิสไซล์ที่เคลือบด้วยกระจก คือยุคนี้มันสามารถพูดไปได้ทั่วโลกเลย สำหรับงานผมมันสะท้อนเรื่องราวในยุคสมัยของตัวมันเอง และโจมตีในตัวมันเองผ่านความงาม”

คิดอย่างไรกับคำว่า ‘ศิลปะเสียดสีสังคม’ และ ‘ศิลปะสะท้อนสังคม’

สะท้อนคือ กระจก แต่เสียดสีคือ การนำความจริงมาล้อเล่นจนรู้สึกว่า มันไปกระตุกความคิดของคนในสังคมที่มีความเชื่อ มีภาพจำเดิมๆ ความเชื่อเก่าๆ ที่ยังยอมรับความจริงไม่ได้ แต่ความจริ