Daily Pickup

‘LUNA: The Immersive Musical Experience’ ละครเวทีที่ว่าด้วยการเติบโตสำหรับทุกคน

เมื่อพูดถึง ‘ละครเวที’ หลายคนก็คงจะนึกถึงภาพของเวทีการแสดงที่ถูกแยกออกจากส่วนของผู้ชมอย่างชัดเจน แต่ไม่ใช่กับละครเวทีที่เพิ่งเปิดม่านไปล่าสุดอย่าง ‘LUNA: The Immersive Musical Experience’ เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่ให้ผู้ชมได้เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงและโรงละคร สัมผัสจินตนาการไม่รู้จบ และเรียนรู้ ‘ความเป็นมนุษย์’ ผ่านตัวละครและเสียงเพลงมากกว่า 30 บทเพลง ที่จะทำให้ประสบการณ์การดูละครเวทีในครั้งนี้ ไม่เหมือนกับครั้งไหนๆ ที่ผ่านมา

นอกเหนือจากความสนุกสนานของเทคนิคใหม่ที่ถูกนำมาใช้ในละครเรื่องนี้ ยังมีความท้าทายและเรื่องราวเบื้องหลังที่ ‘วรัชญ์ อนุมานศิริกุล’ ผู้ก่อตั้ง Castscape และเจ้าของโปรเจ็กต์ LUNA: The Immersive Musical Experience เล่าให้ EQ ฟัง และนี่คือเรื่องราวที่จะสร้างสีสันและความเปลี่ยนแปลงให้กับวงการละครเวทีของไทยอีกเรื่องหนึ่ง

เรื่องราวของสองฟากฝั่ง

“เรื่อง LUNA มาจากวรรณกรรมเรื่อง ‘The Girl Who Drank the Moon’ ซึ่งเป็นเรื่องราวของหมู่บ้านหนึ่ง ที่มีความเชื่อว่า ทุกปีพวกเขาจะต้องเอาเด็กมาสังเวยให้แม่มดกลางป่า ในขณะเดียวกัน ทุกๆ ปีก็จะมีแม่มดคนหนึ่งมารับเด็กที่ถูกทิ้งเอาไว้กลางป่า ซึ่งแม่มดเองก็ไม่รู้ว่าทำไมถึงมีเด็กถูกทิ้งไว้ทุกปี นางก็ถูกชะตากับเด็กคนหนึ่ง และเผลอป้อนแสงจันทร์ให้กับเด็กคนนี้ ซึ่งก็คือ ‘ลูน่า’ พอป้อนแสงจันทร์ให้ ลูน่าก็มีพลังเวทมนต์ แม่มดจึงไม่สามารถส่งลูน่าให้ใครดูแลได้ และต้องเลี้ยงเด็กคนนี้เอาไว้เอง” วรัชญ์เล่าเรื่องย่อ

ในขณะที่เรื่องราวของลูน่ากับการเรียนรู้เพื่อควบคุมพลังเวทมนต์ของเธอถูกเล่าขานอยู่ ‘ฝั่งป่า’ อีกฟากฝั่งของเรื่องคือ ‘ฝั่งเมือง’ ก็มีเรื่องราวอีกชุดที่ถูกเล่าขนานกันไป โดยเป็นเรื่องราวของชาวเมืองที่จัดพิธีกรรมสังเวยเด็กให้แม่มด ซึ่งพยายามเปิดเปลือยและตั้งคำถามว่า “ทำไมมนุษย์ต้องกระทำในสิ่งที่ถูกบังคับให้เชื่อตลอดมา” ผ่านตัวละคร ‘แอนเทน’ หลานชายผู้อาวุโสผู้ตั้งคำถามกับพิธีกรรมของชาวเมืองที่ทำต่อๆ กันมายาวนาน

“เด็กชายคนนี้เห็นการสังเวยเด็กทุกปี แล้วก็ตั้งคำถามตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งแอนเทนเป็นหลานชายของผู้อาวุโส และจะเป็นผู้สืบทอดการทำพิธีของหมู่บ้าน แต่เขาเคยเข้าร่วมพิธีนี้แล้วเห็นแม่ที่ถูกลากลูกไป แล้วแม่คนนั้นก็กรีดร้องเหมือนจะเป็นบ้า มันเป็นภาพติดตามาตั้งแต่วันนั้น เขาจึงพยายามหลีกเลี่ยงพิธีกรรมนี้ จนวันหนึ่ง ลูกของเขากลับเป็นเด็กที่ต้องถูกสังเวย แอนเทนจึงตัดสินใจฆ่าแม่มดตนนั้นเสีย” วรัชญ์กล่าว

แรงบันดาลใจจากชีวิต ‘ป้าหมอ’

ละครเวทีเรื่อง LUNA นี้ ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมเรื่อง The Girl Who Drank the Moon บทประพันธ์ของ ‘เคลลี่ บาร์นฮิลล์’ (Kelly Barnhill) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสุดยอดนวนิยายที่ให้คุณค่าสูงสุดแก่เยาวชนสหรัฐอเมริกา ประจำปี ค.ศ. 2017 และเป็นหนึ่งในบทประพันธ์ที่เติบโตพร้อมกับผู้อ่าน วรัชญ์บอกกับเราว่า ยิ่งผู้อ่านมีประสบการณ์ชีวิตมากเท่าไร ก็จะสามารถสัมผัสความหมายที่ลึกซึ้งของวรรณกรรมเรื่องนี้ได้มากขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ ละครเวทีเรื่องนี้ยังได้รับแรงบันดาลใจจาก ‘ป้าหมอ’ หรือ ‘แพทย์หญิง ดร.เคลียวพันธ์ สูรพันธ์ุ’ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิชัยพฤกษ์ บ้านดูแลเด็กกำพร้าและเด็กด้อยโอกาส มานานกว่า 37 ปี

(แพทย์หญิง ดร.เคลียวพันธ์ สูรพันธ์ุ) Photo credit: เรื่องเด็ด

“จริงๆ แล้วละครเวทีเรื่องนี้ มันเชื่อมโยงกับชีวิตของผมด้วย ตรงที่ตัวละครแม่มดในป่า มันคือตัวแทนชีวิตของบุคคลหนึ่ง นั่นก็คือป้าหมอ ตั้งแต่ผมเรียนจบก็ได้เป็นอาสาสมัครช่วยท่านประมาณ 5 ปี โดยท่านเป็นหมอที่อุทิศชีวิตของตัวเองเพื่อดูแลเด็กกำพร้า ท่านมอบความรัก เลี้ยงเด็กทุกคนเหมือนเป็นลูกของตัวเอง แล้วก็พยายามส่งเสียพวกเขาให้ไปไกลที่สุดเท่าที่เด็กคนหนึ่งจะมีโอกาสไปได้

พอผมได้เจอวรรณกรรมเรื่องนี้ก็นึกถึงป้าหมอ และอยากใช้เรื่องนี้เพื่อบอกกับทุกคนว่า ถ้าเปรียบเด็กที่ถูกทิ้งเป็นเด็กกำพร้า ในชีวิตจริงก็คือสังคมที่ทำให้เรามีเด็กที่สูญเสียโอกาสในทุกๆ ปี และผมก็อยากใช้เรื่องนี้เพื่อพูดว่า ยังมีคนๆ หนึ่งที่ทำหน้าที่ตรงนี้ และไม่เคยหยุดที่จะทำงานเพื่อดูแลเด็กๆ เหล่านี้เลย” วรัชญ์เล่า

บทเรียนเรื่องการเติบโต

แม้จะมีหลายเรื่องราวเกิดขึ้นตลอด 2 ชั่วโมง 30 นาทีของการแสดง เรื่องราวทั้งหมดนั้นล้วนแล้วแต่ทิ้งบางอย่างไว้ให้คนดูได้ตกตะกอนและเรียนรู้ เพื่อนำมาซึ่ง ‘ความเข้าใจ’ เรื่องความเป็นมนุษย์และความเป็นไปในสังคม

“จุดประสงค์หนึ่งของคนเขียนเรื่องนี้ ที่เขาคิดว่าสำคัญกับเด็กๆ มากคือ เขาอยากให้เด็กมีความสามารถในการตั้งคำถามว่า อะไรทำให้คนเราเชื่อมโยงกัน และอะไรทำให้คนเราต้องพรากจากกัน ในหมู่บ้านเองก็มีการสร้างอคติขึ้นมาว่าแม่มดคือสิ่งชั่วร้าย อยู่ดีๆ เราก็เกลียดคนๆ หนึ่งเพราะเรื่องเล่าบางอย่าง เด็กและชาวเมืองเกลียดแม่มดโดยที่ไม่เคยรู้ความจริง มันคือการสอนเด็ก ซึ่งจริงๆ ก็อาจจะพูดเรื่องการเมืองปัจจุบันด้วย ถ้าเป็นเด็ก มันเชื่อมโยงกับเรื่องเล่า แต่สำหรับผู้ใหญ่ มันก็พูดเรื่องการเมือง ที่สร้างความเชื่อบางอย่างให้คนเกลียดอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งมันเป็นเรื่องราวร่วมสมัย” วรัชญ์ชี้

‘การตั้งคำถาม’ เป็นหนึ่งในแง่มุมสะท้อนสังคมที่ละครเวทีเรื่องนี้พยายามทำให้เกิดขึ้น ‘การรับมือกับความเศร้า’ ก็เป็นอีกหนึ่งแง่มุมที่ถูกบรรจุเอาไว้ในการแสดงครั้งนี้เช่นกัน วรัชญ์เล่าว่า ตลอดสองปีของการระบาดของโรคโควิด-19 ความสัมพันธ์ทางกายภาพของมนุษย์นั้นถูกจำกัดอย่างเสียไม่ได้ นำมาซึ่งความเศร้าที่ก่อขึ้นในใจของคน นอกจากนี้ ยังมีแง่คิดอื่นๆ อีกมากมายที่แต่ละตัวละครในเรื่องได้เผยให้เห็น ซึ่งคนดูแต่ละคนก็อาจจะตีความแตกต่างกันออกไป

“ถ้าเป็นฝั่งป่า ก็อาจจะเป็นเรื่อง coming of age อย่างคนที่ตามลูน่า ก็จะเจอลูน่าถามตัวเองว่าฉันเป็นใครกันแน่นะ ฉันเป็นเด็กกำพร้า อะไรที่อยู่ในตัวฉัน ฉันต้องไปยังไงต่อ หรือถ้าฉันตามมังกรไป มันก็เหมือนมีบางอย่างที่ติดอยู่ข้างใน และทำให้ลูน่าเลือกที่จะอยู่ในกรอบ หรือถ้าฝั่งเมืองก็จะเป็นเรื่องการไม่ยอมรับความเศร้า ทุกคนพยายามทำให้ตัวเองไม่รู้สึกเศร้า ถ้ามีเรื่องเศร้า ก็จะมองโลกในแง่ดีมากๆ แบบที่ไม่ยอมรับรู้ถึงมัน ตัวละครบางตัวเลือกที่จะปกปิดความเศร้าและทำร้ายคนอื่น แง่มุมพวกนี้มันจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับแต่ละตัวละคร หรือตัวละครพระเอกที่ไม่มั่นใจ ไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง ไม่กล้า รู้สึกว่าตัวเองทำไม่ได้ จนวันหนึ่งเจอสิ่งสำคัญที่ทำให้ต้องลุกขึ้นมาทำบางอย่างเพื่อมัน”

เทคนิคใหม่แสนท้าทาย

อีกหนึ่งความพิเศษของละครเวที LUNA คือเทคนิค Immersive Musical ที่ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในไทย ซึ่งวรัชญ์อธิบายว่า เหมือนกับการเข้าไปในเกม RPG และคนดูก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวนั้นจริงๆ

“เหมือนคนดูได้เข้าไปอยู่ในเรื่องราวนั้นจริงๆ ไม่ใช่การรับรู้ผ่านการบอกเล่า เหตุผลที่เราใช้เทคนิคนี้ เพราะมันตรงกับเรื่องราวที่เราจะพูด ปกติเวลาที่ดูละครเวที เราจะสามารถเห็นจากมุมมองของบุคคลที่สาม เราเห็นทั้งเรื่อง แต่สำหรับเทคนิค Immersive เราจะเห็นแค่จากมุมที่เราเจอ ตัวละครที่เราเจอ และไม่สามารถเห็นได้ทั้งเรื่อง สมมติว่าเราเริ่มต้นจากฝั่งเมืองและเชื่อมากว่าแม่มดเป็นคนชั่วร้าย เราก็จะถูกทำให้เชื่อแบบนั้น เขาเชียร์ให้ไปฆ่าแม่มด เพื่อความอยู่รอดของพวกเราทุกคน แต่ในขณะที่ฝั่งป่าก็จะบอกว่า ฉันไม่รู้เรื่องอะไรเลย” วรัชญ์อธิบาย

เมื่อเป็นเทคนิคใหม่ที่เพิ่งถูกนำมาใช้กับการแสดงละครเวทีครั้งแรก ก็ย่อมมีความท้าทายเกิดขึ้นมากมาย วรัชญ์ระบุว่า ในแง่ของการแสดงก็คงหนีไม่พ้นเรื่องการจัดคิวและจังหวะเวลา ที่ทุกอย่างต้อง ‘เป๊ะ’ ประมาณหนึ่ง ซึ่งจำเป็นต้องใช้การซักซ้อมอย่างหนัก เพื่อให้ละครสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น และเส้นเรื่องเรียงออกมาได้ตรงกันอย่างสมบูรณ์แบบ

“ความท้าทายอีกอย่างคือ ด้วยความที่มันเป็นรูปแบบใหม่ คนดูจะไม่ค่อยชินกับการที่เขาไม่รู้ทั้งเรื่อง และวิธีการที่คนดูเข้ามาดูแบบไม่มีประสบการณ์ บางทีเขาก็อาจจะไม่เข้าใจ อันนี้แหละคือความยาก แต่ถ้าคนดูเป็นคนที่เชื่อมโยงอะไรรวดเร็ว เดินในเมืองแล้วสืบเรื่องได้ว่าเมืองนี้เป็นแบบนี้ ซึ่งมันก็ต้องต่อภาพในหัวประมาณหนึ่ง เรียกได้ว่าจะมีส่วนที่ขาดหายไปค่อนข้างเยอะ แต่ก็ถือเป็นเสน่ห์เหมือนกัน เพราะมันจะสร้างบทสนทนาหลังการดูละครเรื่องนี้”

ละครเวทีเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม

ละครเวทีเรื่อง LUNA: The Immersive Musical Experience เป็นผลงานของทีม Castscape ทีมงานเล็กๆ ที่เชื่อว่า ‘ละครสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้’ ซึ่งนำมาสู่การสร้างงานละครเวทีด้วยเทคนิคพิเศษเรื่องนี้ขึ้น โดยหวังว่ามันจะสามารถสะท้อนหรือเป็นตัวแทนในการ ‘พูด’ ถึงบางเรื่องในสังคมนี้ได้

“กลุ่มละครเวทีของเราเกิดจากคนตัวเล็ก เราไม่ได้เป็นบริษัทใหญ่ ไม่ได้มีอะไรมาก่อน และวงการละครเวทีในประเทศไทยก็ค่อนข้างแคบ อีกหนึ่งอย่างที่เราอยากจะสะท้อนก็คือ เมื่อทุกคนมาร่วมมือกัน มันจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างได้ หมายถึงว่าถ้าคนหนึ่งทำอะไรเล็กๆ ก็อาจจะมีข้อจำกัดเยอะ แต่ถ้าเราช่วยกันและเสริมในสิ่งที่แต่ละคนสามารถสร้างขึ้นมาได้ ผลลัพธ์ก็จะดีเกินกว่าที่คิด”

แม้ต้นทุนจะสูง แต่ทีมงานและนักแสดงกว่า 250 ชีวิตของละครเวทีเรื่อง LUNA: The Immersive Musical Experience ก็พยายามกันอย่างเต็มที่ในการทำให้ผู้ชมชาวไทยได้สัมผัสประสบการณ์การรับชมละครด้วยเทคนิค Immersive Musical และได้มีส่วนร่วมกับการแสดงละครไปด้วยกัน พร้อมกับเรียนรู้แง่มุมความเป็นมนุษย์จากการกระทำและพฤติกรรมของตัวละคร ซึ่งเราเชื่อจริงๆ ว่าละครเวทีเรื่องนี้จะทิ้งอะไรบางอย่างเอาไว้ในหัวใจของผู้ชมอย่างแน่นอน

LUNA: The Immersive Musical Experience

จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ - 28 มกราคม 2023 ณ The Emquartier Q Stadium ชั้น M อาคาร C

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

Facebook: Catscape

Instragram: catscape