Daily Pickup

‘MOONLIGHT’ ชีวิตที่ลื่นไถล จนพานพบเจอตัวตน และภาพยนตร์ดีกรีออสการ์

Moonlight เป็นภาพยนตร์แนวดราม่าชีวิต ออกฉายในวันที่ 2 กันยายน 2016 กำกับโดย ‘แบร์รี เจนกินส์’ (Barry Jenkins) ซึ่งนำเสนอความเห็นอกเห็นใจ และออกแบบตัวละครออกมาได้อย่างซับซ้อน แต่สวยงาม สร้างจากบทละครที่ยังไม่ได้เผยแพร่เรื่อง ‘In Moonlight Black Boys Look Blue’ โดย Tarell Alvin McCraney บอกเล่าเรื่องราวของชายหนุ่มผิวสีที่สับสนกับเพศสภาพของตนเอง เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่มีนักแสดงชาวแอฟริกันอเมริกันทั้งหมด และเป็นเรื่องแรกที่มีตัวละครหลักเป็นเกย์ที่คว้ารางวัลสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม และ บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม จากงานประกาศรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 89 อีกทั้งยังได้รับรางวัลลูกโลกทองคำ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ประเภทภาพยนตร์ดรามา ถือว่าเป็นภาพยนตร์ที่กวาดรางวัลมาเกือบครบทุกสาขา การันตรีคุณภาพของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้อย่างดีเยี่ยม

ขอพิมพ์ไว้ตรงนี้เลยว่านักเขียนชอบเรื่องนี้มากเป็นการส่วนตัว เพราะมันทั้งเรียบง่าย แต่ก็ลึกซึ้ง ตัวหนังเล่าถึงชีวิตมนุษย์ในแบบที่เป็นสากลมากที่สุด เราจะรับรู้ถึงนัยของการยอมรับความเป็นตัวเองได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้โดยทันที ถึงแม้ในบริบทของวัฒนธรรมจะแตกต่างกันกับประเทศของเราแค่ไหนก็ตาม หนังบอกเล่าเรื่องราวในวัยผู้ใหญ่ของเด็กชายผิวสีที่เป็นเกย์ พร้อมแสดงให้เห็นถึงปัญหาที่เกย์ผิวดำต้องเผชิญได้อย่างชัดเจน ภายใต้บริบทของสังคมในยุค 90s ตัวบทค่อยๆ นำเราไปติดตาม ‘ไชรอน’ (Chiron) ในช่วงสามจุดสำคัญตั้งแต่ ‘วัยเด็ก’ (Little) ‘วัยรุ่น’ (Chiron) และ ’วัยผู้ใหญ่’ (Black) ในขณะที่เขาต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาชนะสถานการณ์ที่ยากไร้ และแม่ที่ติดยาเสพติดของเขา เพื่อการยอมรับเรื่องเพศของตัวเองในที่สุด

ลิตเติ้ล (Little) เป็นฉายาที่เพื่อนๆ ของไชรอนตั้งให้ เขามักจะถูกเพื่อนๆ ที่โรงเรียนกลั่นแกล้งเสมอ เพราะเขาไม่ตรงตามมาตรฐานของความเป็นชาย ในสายตาเพื่อนๆ และเขาเติบโตมากับฮวน (Juan) ซึ่งหนังดึงเอาความเจ็บปวดของไชรอนออกมาผ่านทางสีหน้า ท่าทาง และการกระทำอย่างหนักหน่วง สายตาที่ตัวละครสื่อออกมากับบริบทที่เขากำลังเผชิญอยู่ ถูกส่งตรงมายังคนดูอย่าท่วมท้น ความแร้นแค้นของชีวิต การเป็นคนดำที่สับสนในเพศสภาพของตัวเองส่งผลให้เขาต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง จากลิตเติ้ล สู่ไชรอน และกลายเป็นแบล็กในที่สุด ถึงแม้เราจะพยายามไม่เป็นคนในแบบที่เราชังมากแค่ไหน แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สภาพสังคมที่เราอยู่เป็นเหตุผลหลักที่หล่อหลอมให้สักวันหนึ่งเรากลายเป็นคนในแบบที่เราเกลียด เช่น ไชรอน ที่สุดท้ายแล้ว เขาก็กลับกลายมาเป็นพ่อค้าค้ายาเสียเอง

แบร์รี เจนกินส์ และผู้กำกับภาพ เจมส์ แล็กซ์ตัน บอกเล่าความย้อนแย้งทางอารมณ์ของมนุษย์ ผสานเข้ากับงานภาพที่สวยงาม นับว่าเป็นการออกแบบภาพที่ทำได้ดีมาก ไมอามี เมืองแห่งการพักผ่อนในวันหยุด กลายเป็นฝันร้ายที่แสนสวยงาม โอบล้อมด้วยมหาสมุทรซึ่งแสดงถึงอิสรภาพ ซีนที่ไชรอนลอยตัวอยู่เหนือน้ำทำให้เรารู้สึกถึงการถูกขังอยู่ในร่างกายของเขาเอง ทั้งเจ็บปวด สับสน และอึดอัด ไหนจะเรื่องที่แม่ของเขาติดยาอีก แต่คนที่ช่วยให้ไชรอนผ่านช่วงเวลาลำบากในวัยเด็กมาได้กลับเป็นพ่อค้าค้ายาอย่างฮวนไปเสียได้ และเขาก็เป็นคนที่ปลดล็อกสิ่งสำคัญในใจของไชรอนให้เริ่มเข้าใจธรรมชาติของเรื่องเพศของเขา

“คุณต้องตัดสินใจว่าคุณต้องการเป็นใคร…คุณไม่สามารถให้ใครตัดสินใจแทนคุณได้” – ฮวนพูดกับไชรอน

​Moonlight ได้นำชื่อของภาพยนตร์มาเป็นส่วนหนึ่งของงานภภาพ การใช้ภาพเล่าเรื่องเป็นเสมือนผลงานศิลปะที่แฝงนัยลงไปแม้กระทั่งแสงที่ตกสะท้อนใส่ผิวตัวละครเป็นเฉดสีฟ้าในเวลากลางคืน หรือแสงสีทองที่สะท้อนจากโคมไฟถนน แม้จะมีฉากธรรมดาๆ อยู่ตลอดทั้งเรื่อง แต่ภาพยนต์เรื่องนี้ทำให้การดำเนินเรื่องดูเหมือนความฝัน และมีการเคลื่อนไหวของมวลความรู้สึกอยู่ในทุกซีน

เจนกินส์สร้างภาพยนตร์ที่มีเนื้อเรื่องสั้นๆ และมักจะเงียบๆ ซึ่งตัวเอกของเขาแทบจะไม่พูด แต่ความลึกที่เห็นได้ชัดของตัวละครไชรอนนั้นยังคงลึกซึ้ง แม้ว่าบางครั้งคาแร็กเตอร์ของเขาจะดูเยือกเย็นก็ตาม การสร้างภาพยนตร์ของผู้กำกับฉายแววบทกวีในวิธีการเล่าเรื่อง และสุนทรียภาพของงานวิชวล ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนความคิด และตรึงในหัวใจของผู้ชม ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่แสดงอารมณ์ และเป็นเข้าถึงคนดูเท่านั้น แต่งานภาพในเรื่องยังเป็นงานศิลปะที่ยอดเยี่ยมอีกด้วย ผนวกกับดนตรีประกอบที่เสริมสร้างให้ Moonlight อิมแพกกับใจคนดูขึ้นไปอีกเป็นทวีคูณ ตัวละครอาจพูดเป็นเสียงพึมพำ เหมือนพูดกับตัวเองเสียส่วนใหญ่ บทสนทนาที่แสนเรียบง่ายแต่ก็หนักแน่นเหมือนบทกวี เมื่อไชรอนเปิดเผยความเจ็บปวดของเขาได้อย่างน่าสะเทือนใจ และผู้กำกับค่อยๆ ดึงคุณไปในหัวใจของตัวละคร และป้อนความรู้สึกใส่คนดูผ่านดนตรีที่ส่งให้แต่ละซีนในภาพยนต์เรื่องนี้ ฝังลึกลงไปในห้วงอารมณ์ของคนดู

ความโดดเด่น ในบทบาทของฮวนที่ มาเฮอร์ชาลา อาลี ทำได้ดีพอๆ กับที่เขาถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ แม้ว่าเขาไม่ได้อยู่หน้าจอมานาน แต่ก็ทิ้งความประทับใจไว้ไม่รู้ลืม นักแสดงหนุ่มสามคนที่เล่นเป็นไชรอน มีคุณสมบัติที่คล้ายคลึงกันซึ่งทำให้การแสดงในฉากสุดท้ายนั้นน่าติดตามอย่างยิ่ง แต่ละคนมีช่วงเวลาของตัวเองมากกว่าที่จะเผยให้เห็นโลกในหัวของพวกเขา บริบทส่วนใหญ่เกิดขึ้นรอบตัวพวกเขา แต่พวกเขาสะท้อนสภาพแวดล้อมของพวกเขาได้อย่างยอดเยี่ยม Moonlight เป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับชีวิตที่ลื่นไถลระหว่างรอยร้าว และผสานมันด้วยการยอมรับในผลของมันได้อย่างดีเยี่ยมจริงๆ

ด้วยความที่ภาพยนตร์ค่อนข้างนิ่ง และใช้อารมณ์สื่อเสียส่วนใหญ่ คอหนังแอคชั่นมาชมอาจจะรู้สึกเบื่อได้ง่ายๆ ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเหมาะกับคนเฉพาะกลุ่มจริงๆ แต่ถ้าหากได้เปิดใจลองดูแล้ว นักเขียนเชื่อว่าจะมีหลายๆ สิ่งในภาพยนตร์ Moonlight นี้จะตรึงอยู่ในใจของคนดูไปอีกนานแน่นอน