สิ้นสุดกันไปแล้วกับงาน “นฤมิตไพรด์” (Bangkok Naruemit Pride 2022) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา โดยเป็นการจับมือร่วมกันของ ‘คณะทำงานบางกอกนฤมิตไพรด์’ และ ‘กลุ่มเครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศ’ งานนี้มีเพื่อเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศอันสวยงาม และสนับสนุนสิทธิเสรีภาพของทุกคนในคอมมูนิตี้ LGBTQ+ ที่สำคัญยังเป็น พาเหรดไพรด์ที่จัดขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกของกรุงเทพฯ หลังจากที่เคยมีงานไพรด์ขนาดเล็กเมื่อปี พ.ศ. 2549 การกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ เต็มไปด้วยความภาคภูมิใจ และความครึกครื้น ในการแสดงตัวตนในพื้นที่สาธารณะ
ขบวนไพรด์ในปีนี้ เริ่มต้นที่วัดแขก และหยุดลงตรงซอยสีลม ตั้งแต่หัวขบวนยันท้ายขบวนคลาคล่ำไปด้วยผู้คน หลากเพศหลากวัย โดยทุกคนมีความหวังเดียวกันคือการผลักดัน ‘ร่าง พ.ร.บ. คู่สมรส’ ให้ผ่านการอนุมัติในประชุมสภาผู้แทนราษฎรของวันที่ 8 มิถุนายนที่จะถึงนี้ นอกจากจะมีการเรียกร้องเพื่อสิทธิสมรสเท่าเทียมในพาเหรดแล้ว นักกิจกรรมที่เข้าร่วมยังส่งเสียงเพื่อให้การค้าประเวณีถูกกฎหมาย ล้มล้างระบบปิตาธิปไตย (ชายเป็นใหญ่) ทวงคืนความยุติธรรมให้แก่ผู้ที่ถูกคุกคามทางเพศและนักโทษทางการเมือง นอกจากนี้ยังมีการยืนสงบนิ่งครู่หนึ่ง เป็นการไว้อาลัยให้แก่ผู้ที่สูญเสียและล่วงลับจากสงครามทั่วโลก โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่มีการข่มขืนเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง
ขบวนสีรุ้งนี้ได้รวบรวมคนจากกลุ่มต่างๆ เอาไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองอย่างอาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ และ น.ต.ศิธา ทิวารี, พริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) นักกิจกรรมทางการเมือง, กลุ่มนางงาม – ชญาธนุส ศรทัตต์ (เฌอเอม), อิงฟ้า วราหะ (มุก), ปิยาภรณ์ แสนโกศิก (ปุ้ย) ผู้อำนวยการกองประกวด Miss Universe Thailand, ณวัฒน์ อิสรไกรศีล ประธานและผู้ก่อตั้ง Miss Grand International, กลุ่ม SWING, GIRLxGirl, FOR-SOGI, กรินทร์ อ่องชุ่ม (ตูน หิ้วหวี), ไปจนถึงอินเทอร์เน็ตไอคอนอย่าง ลีนา จังจรรจา (ลีน่าจัง) และ กิตติคุณ ธรรมกิติราษฎร์ (หม่อมดิวไดอารี่) สมกับเป็นงานที่จัดเพื่อโอบรับความหลากหลายของสังคมเอาไว้อย่างแท้จริง
แม้พาเหรดไพรด์นี้จะจบลงบนถนนที่ได้เหยียบย่ำ ผู้มีความหลากหลายทางเพศก็ยังต้องก้าวเดินต่อไปบนถนนสู่ความเท่าเทียมอันสมบูรณ์ ตราบใดที่กฎหมายยังไม่ครอบคลุมและปกป้องพวกเขาได้อย่างที่ควรจะเป็น ทุกคนควรมีสิทธิที่จะรัก ที่จะไม่มีแรงดึงดูดทางเพศ ที่จะเปลี่ยนแปลงเพศสภาพ และจะเป็นอะไรก็ได้ที่ต้องการ – ในสังคมที่ยังไม่เปิดกว้างมากพอ พวกเขาเหล่านี้ก็ได้มารวมตัวกัน ร่วมแสดงจุดยืนและเรียกร้องถึงความเท่าเทียม ณ “นฤมิตไพรด์”