Art

“JIGSAW WORLD” ความสุขที่อยากมอบให้ผู้คน ในแบบฉบับของ “ฟิน พาขวัญ”

พจนานุกรมได้นิยามคำว่า ความสุข (น.) ไว้ว่า ‘ความสบายกายสบายใจ’ แต่สำหรับ ฟิน - พาขวัญ สิทธิธรรม นักศึกษาปี 4 คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เขานิยามมันว่า “พลังบวกที่อยากส่งต่อให้ผู้อื่น” ดังนั้น คริปโตอาร์ตทุกคอลเลคชั่นที่เธอสร้าง รวมถึง “JIGSAW WORLD” NFT Music ที่เราจะพาทุกคนมารู้จักในครั้งนี้ จึงไม่ใช่แค่งาน 3D Animation ประกอบเพลงทั่วๆ ไป แต่เป็นชิ้นงานที่แฝงไปด้วยความสุขจากครีเอเตอร์

“JIGSAW WORLD ความสุขที่ให้ผู้คนได้ท่องเที่ยวผ่านชิ้นงาน”

เธอเล่าให้เราฟังถึงจุดกำเนิดของคอลเลคชั่นนี้เมื่อ 6 เดือนที่แล้วว่า “งานของฟินทุกชิ้นมีจุดประสงค์คืออยากส่งพลังบวกให้คนเห็นมีความสุข JIGSAW WORLD ก็เช่นกัน ฟินทำเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของประเทศต่างๆ เพราะปกติเราเป็นคนที่ชอบไปเที่ยวมาก แต่ในยุคโควิด-19 มันทำให้ไม่สามารถไปได้ และเชื่อว่าหลายคนเจอปัญหาเดียวกัน เลยเอาสถานที่ที่เราอยากไปมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างผลงงาน แล้วใส่ทุกอย่างที่เราได้เรียนรู้มา ทั้ง 3D Animation และ Music ลงไป เหมือนเป็นการรวบรวมทุกอย่างแล้วก็ถ่ายทอดลงไปในงาน เพื่อให้จิ๊กซอว์ของเราไปเติมเต็มคอลเลคเตอร์ คือทางตาเราสามารถเพลิดเพลินไปกับศิลปะได้ และทางหูก็ได้ฟังเพลงเพราะๆ ไปด้วย”



การให้ความสำคัญกับการค้นคว้าหาข้อมูล

เมื่อถามถึงขั้นตอนการดีไซน์ความสุขแต่ละชิ้น เธอบอกว่าได้ใช้เวลากับแต่ละชิ้นนานพอสมควร รวมๆ แล้วเกือบ 1 เดือนขึ้นไป โดยเน้นไปที่การรีเสิร์ชข้อมูลเป็นหลัก 

“เมื่อเราเลือกได้แล้วว่าจะทำของประเทศไหน ก็ต้องไปดูต่อว่าแลนด์มาร์คของประเทศนั้นคืออะไร มีที่มาที่ไปยังไง ต้องวางแผนว่าจะปั้นชิ้นส่วนไหนก่อน แล้วโทนสีจะเป็นอย่างไร เพราะงานต้องทำเป็นอนิเมชั่นขยับได้ มีลูกเล่นต่างๆ และสุดท้ายก่อนจะเริ่มทำจริง เราก็ต้องดีไซน์ความเข้ากันได้ของเพลงกับงานด้วย เช่น ผลงานโอซาก้า ก็ต้องหาว่าเครื่องดนตรีของญี่ปุ่นเป็นยังไง หยิบเอาสิ่งไหนมาใช้ได้บ้าง”

สร้างสรรค์ความสุขให้เต็มที่ด้วยเพลงที่ทำเอง

เธอเล่าต่อว่า ก่อนที่จะมาทำ NFT Music คอลเลคชั่น JIGSAW WORLD เธอเคยเป็นครีเอเตอร์ที่สร้างผลงาน 3D ธรรมดามาก่อน ทักษะด้านการทำเพลงเป็นศูนย์ แต่เมื่ออยากหันมาใส่เพลงในผลงาน เลยเริ่มต้นด้วยการซื้อเพลงจากแพลตฟอร์มต่างๆ ก่อน แต่ทำไปทำมาก็รู้สึกว่ามันไม่ตอบโจทย์กับงานของเธอ สุดท้ายเลยต้องเรียนรู้ที่จะสร้างเพลงเอง 

“เพิ่งจะมาเรียนรู้การทำเพลงช่วงที่สร้างคอลเลคชั่นนี้เลยค่ะ มีที่ปรึกษาเป็นรุ่นพี่คอยช่วยเหลือ เลยพัฒนาได้ไว แต่ช่วงแรกรู้สึกว่ามันยาก เพราะต้องเริ่มจากศูนย์ ฟินไม่เข้าใจกับเกี่ยวกับดนตรีเลย นอกจากเรียบเรียงทำนองแล้ว ดนตรีมันจะต้องใส่จินตนาการมากขึ้น เพื่อให้คนฟังคล้อยตามว่าเราต้องการสื่ออะไร ทำให้ต้องลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้ง”



ความพิเศษของ JIGSAW WORLD ที่มีมากกว่าความสุข

“คอลเลคชั่นนี้จะมีแค่ 40 ชิ้น เพราะอยากให้มันมีจำนวนจำกัด และพิเศษสำหรับคนซื้อจริงๆ ตอนนี้ขายไปเกินครึ่งแล้วค่ะ ยังมีเหลืออีกนิดหน่อย”

งานชิ้นที่ชอบมากเป็นพิเศษ

ฉากหนึ่งใน Avatar (Zhangjiajie) กับบ้าน Hobbit ค่ะ เพราะรู้สึกว่าตอนทำมันอบอุ่นมาก เหมือนสร้างผลงานใหม่จากความทรงจำเก่าๆ มันเลยมีกลิ่นอายความเพ้อฝันของเราใส่เข้าไปด้วย ทำให้เรามีความสุขมากขึ้นที่ได้ทำ และถ่ายทอดออกมา

เคยกังวลไหมว่า NFT Music จะขายยาก?

เหตุผลที่ถามออกไปก็เพราะว่าตลอด 1 ปีกว่าๆ ที่ผ่านมา กระแส NFT Music ในไทยค่อนข้างเงียบเมื่อเทียบกับงานแบบอื่น อาจด้วยข้อจำกัดต่างๆ เช่น เพลงไม่มีเนื้อร้อง คนส่วนมากเลยไม่ค่อยอิน ประกอบกับราคาที่สูงด้วยความเป็น 3D Animation

“ตอนนั้นที่อยากทำ เรามีความคิดเดียวเลยคือ อยากทำอะไรที่เป็นมากกว่างานศิลปะ อยากสร้างลูกเล่นให้ผู้ชมรู้สึกเข้าถึงเรามากขึ้น ซึ่งดนตรีมันตอบโจทย์ เราเลยสนุกที่ได้ลองทำ และส่วนตัวคิดว่าถึงดนตรีไม่มีเนื้อร้องก็ไม่มีปัญหากับการทำงาน เพราะเราใช้งานศิลปะเป็นคำบอกเล่าหลัก ส่วนดนตรีเป็นสิ่งที่มาเสริม การได้มองไปพร้อมกับฟัง จะช่วยให้เข้าใจมากขึ้นว่าเราจะสื่ออะไร NFT ปกติมันมีเรื่องราว มีความน่าสนใจอยู่แล้ว แต่พอใส่ดนตรีเข้าไปด้วย ก็เหมือนเพิ่มมิติ ทำให้ผู้คนเข้าถึงงานของเราได้ง่ายขึ้น”

“ฟินไม่เคยกลัวว่างานจะขายยาก เพราะเชื่อในเอกลักษณ์ของตัวเองว่ามันไม่เหมือนคนอื่นค่ะ ไม่ว่าจะเป็นสีสันคุมโทนม่วง-ชมพู หรือคอนเซปต์ที่แตกต่าง”

ความยากของการเป็นกลุ่มคนแรกๆ ที่ทำ NFT Music ในไทย

“ยากที่สุดคือการที่ไม่มี case study ให้เรียนรู้ ต้องลองผิดลองถูกเอาเอง เพราะทั่วโลกมีเพลงเป็นพันล้านเพลง ต้องดูว่าทำยังไงงานเราถึงจะโดดเด่นออกมา และตอบสนองความเป็น ‘ฟิน’ ให้ได้มากที่สุด”

6 เดือนที่ผ่านมากับความเปลี่ยนแปลงของ NFT Music ในไทย

“ถึงตอนแรกมันจะเงียบมากๆ แต่ตอนนี้กระแสดีขึ้นแล้ว มีศิลปินดังๆ เริ่มเข้ามาสนใจมากขึ้น คอลเลคเตอร์เองก็มีความเข้าใจ และอยากซื้อ NFT Music มากขึ้นด้วย ยกตัวอย่างคอลเลคเตอร์ของฟินเอง เขามองว่าเมื่อซื้อแล้วมันสามารถเอางานและเพลงที่เราสร้างไปใช้ได้ รู้สึกคุ้มค่ากับการซื้อ”

ผลกระทบจากเหรียญ LUNA

“เรื่องนี้น่ากังวลอยู่ระดับหนึ่งค่ะ นอกจากเหรียญ LUNA ที่มูลค่าตกไปอย่างน่าตกใจ ยังมี ETH, NEAR และอื่นๆ ที่มีบทบาทต่อ NFT ก็ตกลงไปเกิน 60% ทำให้ราคา NFT ที่ตั้งไว้ก็ตกไปด้วยค่ะ ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป ตัวเราในฐานะครีเอเตอร์ก็จะปรับแผนใหม่ค่ะ อาจเน้นจำนวนการขายให้มากขึ้น เพื่อให้ยังมีรายได้เท่าเดิมอยู่”

สิ่งที่อยากฝากถึงครีเอเตอร์หน้าใหม่ 

“ถึงมูลค่าเหรียญจะขึ้นลง แต่ไม่อยากให้กังวลมากเกินไป แผนการทำงานสามารถปรับเปลี่ยนได้ ฟินมองว่า NFT มันคือพื้นที่ที่คนชอบศิลปะ ไม่ว่ามีชื่อเสียงหรือไม่ สามารถทำรายได้ได้ แค่ลงมือทำ และอย่ากลัวที่จะขายไม่ได้ เพราะทุกคนมีสไตล์ มีเอกลักษณ์แตกต่างกัน ไม่ต้องกลัวว่าจะแปลกแยก ที่นี่เป็นโลกกว้างที่มีคนรอสนับสนุนอยู่”

ติดตามคอลเลคชั่นของ JIGSAW WORLD ได้ที่:

OpenSea - JIGSAW WORLD

ร่วมชมแกลเลอรี่ออนไลน์ Metaverse ของ Findz ได้ที่:

ONCYBER - Findz HOME