Art

“nipatn_” คอมมิกอาร์ต NFT ที่บอกเล่าตัวตนของ “โอ๊ต นิพัฒน์” ผ่านเส้นสีและกลิ่นอายยุค 2000s

“ผมรู้ตัวว่าตัวเองไม่ได้วาดรูปเก่งขนาดนั้น แต่ไม่เคยกังวลนะว่างานดีหรือไม่ดี 

เราแค่พยายามทำงานที่มันเป็นตัวเองที่สุด”

บางครั้ง NFT ที่ขายได้ ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นภาพวาดเลิศหรูจากศิลปินระดับโลกเสมอไป ขอแค่เป็นงานที่มีความแตกต่าง ไม่เหมือนใคร และบ่งบอกถึงตัวตนของศิลปินคนนั้นได้ก็พอ ทั้งหมดคือสิ่งที่เราได้เรียนรู้หลังจากคุยกับ โอ๊ต - นิพัฒน์ ศรีสวัสดิ์ (Nipat Srisawad) เจ้าของแอคเคาท์ nipatn_ บน Foundation 

และแน่นอนว่าความความคิดที่น่าสนใจของเขาไม่ได้จบอยู่แค่ที่ผลงานเท่านั้นหรอกนะ เพราะมันยังต่อยอดไปถึงการสร้างตัวตนและการขายงานโลกคริปโทอาร์ตนี้ด้วย ถ้าไม่อยากพลาดที่เรื่องราวเจ๋งๆ จากคนเจ๋ง ชาว EQ ต้องห้ามพลาดบทสัมภาษณ์นี้!

เปลี่ยนความฝันวัยเด็กมาเป็น NFT ที่บ่งบอกตัวตน

โอ๊ตเริ่มเล่าให้เราฟังว่าตอนเด็กๆ อยากเป็นนักเขียนการ์ตูนมาตลอด แต่ก็รู้ว่าตัวเองไม่ได้วาดรูปเก่งขนาดนั้น เลยเบนสายไปเรียนออกแบบและทำงานด้าน Graphic Design แล้วเลือกวาดรูปเป็นงานอดิเรกแทน ก่อนจะลาออกออกจากงานประจำเมื่อกลางปี 2021 เพื่อมาตามความฝันกับการเป็น NFT Artist สายภาพวาดแบบเต็มตัว เพราะเห็นโอกาสใหม่ที่น่าลอง

“งานเราจะเรียกว่า Comic Art ก็ได้ มันเป็นภาพวาดการ์ตูนที่ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือการ์ตูน อนิเมชั่นในยุค 2000s เพราะเราเกิดปี 91 แล้วก็โตมาในยุค 2000 คือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกไปดิจิทัล งานเลยค่อนข้าง Simple มากๆ มีแค่เส้นและสี ไม่ได้มีดีเทลอะไรเยอะ ทุกอย่างทำใน Photoshop ตั้งแต่เริ่มสเก็ต วาด และลงสี”

ช่วงแรกกังวลไหม เพราะ Comic Art NFT มีคู่แข่งเยอะและบางคนเขาวาดเก่งกว่าเรา

“ไม่กังวลนะ ถึงงานในตลาดจะเยอะ แต่เรารู้สึกว่างานของทุกคนมันไม่เหมือนกัน ทุกคนมีเอกลักษณ์ของตัวเอง อย่างของเราก็จะเป็นเรื่อง Character Design ที่ค่อนข้างไม่เหมือนคนอื่น คือทุกอย่างมันจะดูง่าย คนอื่นจะมองว่างานเราอะมันวาดง่าย ดูขี้เกียจหน่อยๆ (หัวเราะ) และเราว่าเรื่องความสวยงามมันไม่ใช่ทั้งหมด สำคัญคือคุณภาพกับสตอรี่ที่น่าสนใจมากกว่า”

“เรามี Character ที่ชอบวาดอยู่บ่อยๆ ถ้าตอนแรกที่ลงงานบน Opensea จะทำเป็น STARBOT UNIVERSE คือตัวละครทุกตัวจะแต่งชุดแบบ Sci-Fi และมีดาวแปะอยู่ที่หัวเหมือนเซนต์เซย่า ส่วนบน Foundation ก็จะเป็นตัวละครที่มันมีเขา แต่งตัวแบบร็อคแมนที่มือมีปืน หรือว่ามียานอวกาศ ตามสไตล์ยุค 2000 ซึ่งอะไรพวกนี้ทำให้งานขายดีจนเราตัดสินใจลาออกมาทำงานนี้แบบเต็มตัว เพื่อโฟกัสกับมันโดยเฉพาะ”

มีสีสันเป็น Signature 

เห็นว่าอีกเรื่องที่มักจะได้ยิน Collectors ชื่นชมในงานของคุณคือการใช้สีสันที่แปลกกว่าคนอื่น 

“ใช่ครับ Collectors หลายคนนอกจากชอบ Character Design แล้ว เขายังพูดถึงเรื่องการใช้สีด้วย แต่จริงๆ แล้วเราไม่ได้มีหลักเลือกสีอะไรเลย มันแค่เป็นเรามากกว่า เรามีพาเลทสีใน Photoshop ที่สร้างไว้ใช้เองเหมือนเป็น Signature ของตัวเองมานานเป็นสิบปีแล้ว แค่ตอนแรกที่มันยังไม่มี NFT พื้นที่ในการพรีเซนต์ตัวเองมันก็ยังไม่ค่อยมีเท่าไหร่” 

ความพิเศษของ NFT 

เป็นเรื่องการมีมูลค่ากับการเป็นไวรัลที่มันจะเทียบกับตลาดทั่วไปไม่ได้ อย่างบางงานที่เราอาจจะรู้สึกว่ารูปอะไรไม่เห็นจะสวยเลยแต่กลับขายได้เป็นร้อยล้าน หรือเวลาที่เราวาดรูปหนึ่งแล้วมันจุด (กระแส) ติด มันก็จะติดแบบพุ่งกระฉูดไปเลย

ขายงานแบบไหนที่ใช่สำหรับ nipatn_

“วิธีที่ใช้แล้วได้ผลสำหรับเราคือการตามหา Collectors ที่สะสมงานสไตล์เดียวกับที่เราทำ หรือคนที่เราคิดว่าเขาน่าจะชอบงานเราให้เจอ ทั้งใน Twitter และ Foundation แล้วไป Follow เขา เขาก็จะเห็นงานของเรา”

ศิลปินต้องอย่าทำตัวเป็นบอท

เรื่องต่อไปที่โอ๊ตอยากแชร์กับเพื่อนศิลปินคือ ความยากของการทำงาน NFT อยู่ที่การทำให้คนเชื่อว่าเป็นศิลปินจริงๆ เพราะฉะนั้นอย่าทำตัวเองให้เหมือนบอท ต้องเป็นคนหน่อย พยายามสร้างตัวตนบน Social Network แล้วคุยกับคนอื่นบ้าง โดยเฉพาะคนที่มาซื้องานเรา เพื่อสร้าง Community ของตัวเองให้คนอื่นเห็นชีวิตในแง่มุมอื่นนอกจากการโพสต์แค่รูปวาดหรือแปะลิงค์แล้วจบไป 

จิตแข็ง - กระจายเสี่ยง คือคุณสมบัติของผู้อยู่รอด

คนที่จะเข้ามาหารายได้ คุณตัองรู้ก่อนว่าไม่ใช่ทุกวันหรือทุกเดือนที่จะขายงานได้เงินเท่าเดิมตลอด ความเสี่ยงมันค่อนข้างสูง สิ่งสำคัญคือต้องจิตแข็ง

“ตอนที่ผมทำ NFT 2 เดือนแรก ขายดีมากได้เงินเยอะมาก ก็เลยตัดสินใจออกจากงานประจำในเดือนที่ 3 แต่เดือนนั้นมันขายไม่ได้ กราฟพุ่งลงดิ่งไปเลย มันไม่มีอะไรแน่นอน เราเลยต้องมีสุขภาพจิตที่ดี ไม่นอยด์ง่าย ไม่งั้นตายแน่”

นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องกระจายความเสี่ยงไปขายงานในหลายแพลตฟอร์ม ตอนนี้ Marketplace เกิดขึ้นเยอะมาก ศิลปินก็มีทางเลือกเยอะขึ้น เวลามี platform อะไรใหม่ๆ มาแล้วถ้าเราเข้าไปเป็นกลุ่มแรกมันก็จะมีเปอร์เซ็นต์สูงที่จะไปได้ไกล แต่อย่าลืมรักษาคุณภาพของผลงานด้วย 

ทำไมขายงานไม่ได้แต่สู้ต่อ 

“เราแค่รู้สึกว่าคงไม่จบแค่นี้ มันจะขายไม่ได้ตลอดก็คงจะเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะยังมีอีกหลายแพลตฟอร์มที่ยังไม่ได้ไปลองเลยด้วยซ้ำ เราก็ตั้งใจทำงานไปเรื่อยๆ เพราะเลือกแล้วไงว่าเราจะทำสิ่งนี้เป็นหลัก”

สุดท้ายแล้วเราได้อะไรบ้างตั้งแต่รู้จักโลก NFT

มันทำให้เรามีเงินขนาดที่ออกจากงานเดิมได้เลย เงินเก็บก็มากขึ้น มีเวลาใช้ชีวิตมากขึ้น และได้ทำงานที่ตัวเองชอบ     

อีกอย่างคือเรากล้าใช้ภาษาอังกฤษห่วยๆ ของเราคุยกับฝรั่งเยอะขึ้น ได้รู้จักคนมากขึ้น มีเพื่อนที่เป็นคนต่างชาติที่คุยกันช่วยเหลือกัน และได้งานด้วย อย่างตอนนี้มี Collector ต่างชาติที่เขาซื้องานเราบ่อยๆ ก็ชวนไปทำโปรเจกต์หนึ่งอยู่ (แต่ขออุบไว้ก่อน) 

“สุดท้ายคือได้เจอศิลปินไทยที่เก่งๆ เยอะมาก โลก NFT มีคนไทยที่โคตรเก่งเต็มไปหมดเลย เพราะมันทำให้ทุกคนมีพื้นที่เท่ากันในการพรีเซนต์ความเป็นตัวเอง”

ติดตามและอัปเดตผลงานหลากสีสันของโอ๊ต นิพัฒน์ ทั้งหมดได้ที่

Foundation: @nipatn_

Lynkfire: nipatn_

Twitter: @nipatn__

Instagram: nipatn_

Facebook: @nipatn.work