Art

ชวนมองภาพถ่ายในบรรยากาศใหม่ ผ่านเลนส์และงานโมชั่นของ “Peerafoto”

“DREAM BANGKOK” เป็นงาน NFT ที่เรามีโอกาสได้เห็นบนจอดิจิทัลในโปรเจกต์ #BKKNFT เมื่อไม่นานมานี้ และคิดว่ามันพิเศษมากทีเดียว เพราะวิวกรุงเทพที่เต็มไปด้วยแสงไฟกับการมองเห็นทางช้างเผือกนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย แต่คุณ โอ - พีระ สถวิรวงศ์ เจ้าของผลงานนี้ก็ทำให้มันเป็นจริงขึ้นมาได้ 

“ความสวยงามอยู่รอบตัวเราเสมอ แต่บางครั้งเพราะอะไรบางอย่าง เราจึงไม่สามารถมองเห็นได้ เหมือนกับที่ในความเป็นจริงแล้ว การมองเห็นทางช้างเผือกในกรุงเทพนั้นเป็นเรื่องยากมาก เพราะมันมักจะถูกแสงสีจากเมืองบดบังไปซะหมด” 

คุณโอพูดถึงจุดประสงค์ของการสร้างสรรค์ภาพนี้ ก่อนจะเล่าถึงที่มาที่ไปของภาพว่า มันเป็นการผสมผสานระหว่างภาพวิวยามค่ำคืนของกรุงเทพและภาพทางช้างเผือกที่ตัวเองเคยถ่ายไว้ แล้วเอามาใส่แสงวิบวับเข้าไปให้กลายเป็นภาพเคลื่อนไหวที่ดูเหนือจริง (Surreal) ซึ่งเป็นที่ถูกใจของ Collector หลายคนเอามากๆ และทำให้ภาพนี้ถูกซื้อไปที่ราคาสูงถึง 0.825 ETH

อย่างไรก็ตาม NFT ของคุณโอหรือครีเอเตอร์ที่ใช้ชื่อว่า Peerafoto ยังมีอีกหลายภาพที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เราไม่รอช้าที่จะชวนเขามาบอกเล่าถึงงานของตัวเองให้ชาว EQ ได้รู้จักกันมากขึ้น

Peerafoto สร้างงานแบบไหนบ้าง

งานของผมจะมีทั้งภาพเดี่ยวและภาพที่ลงเป็นคอลเล็กชันครับ ภาพที่ลงขายแบบเดี่ยวๆ จะเป็นการนำภาพที่ถ่ายตอนไปเที่ยวญี่ปุ่นและในประเทศไทยมาทำใหม่ ใส่แสงสี ใส่การเคลื่อนไหว แต่เราก็จะประเมินถึงความเป็นไปได้ถึงการแต่งให้เข้ากับโทนสีที่อยากทำด้วยนะ เพราะไม่ใช่ทุกภาพที่มันจะเอามาทำได้ 

ส่วนคอลเล็กชัน NEON BANGKOK ที่เพิ่งเริ่มทำเมื่อเดือนที่แล้ว จะนำเสนอสถานที่ท่องเที่ยวในกรุงเทพที่นักท่องเที่ยวอาจไม่ค่อยได้เห็น ผ่านรูปภาพที่ถ่ายขึ้นใหม่ทั้งหมด เรียกได้ว่าเริ่มต้นใหม่ตั้งแต่หาโลเคชั่น หามุม ถ่ายภาพ และดีไซน์งานเลย

นิยามงานของตัวเองว่า…

“ภาพถ่ายที่ทำให้น่าสนใจมากขึ้นด้วยการทำให้เคลื่อนไหว และใส่แสงสีนีออนแบบ Cyberpunk เข้าไปครับ”

มันเป็นสไตล์ที่ผมชอบและอยากทำ เพราะได้แรงบันดาลใจมาจากงานอดิเรก เช่น การเล่นเกม อ่านมังงะ ดูอนิเมะ หรือพวกหนัง Sci-Fi เวลาทำสิ่งเหล่านี้จะมีความรู้สึกว่าถ้ามันเกิดขึ้นได้ในโลกของความเป็นจริงก็น่าจะเจ๋งดี อย่างงานที่ชื่อว่า Cyber Station ที่ผมชอบมากๆ เป็นรูปรถไฟของญี่ปุ่นที่เอามาเติมแต่งแสงสีนีออนเข้าไป แล้วใส่โมชั่นการเคลื่อนไหว เพื่อให้มันได้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในโลกของเกม

ตัวตนของผู้สร้างงาน 

ถ้าไม่นับเรื่องเทคนิคการเคลื่อนไหว แล้วมองแค่องค์ประกอบภาพถ่าย เราก็มองว่าแต่ละชิ้นงานของ Peerafoto มันสวยมากๆ อยู่แล้ว แบบนี้อาชีพหลักคงไม่พ้นช่างภาพใช่ไหมคะ?

“ใช่ครับ อาชีพหลักผมเป็นช่างภาพสต๊อกสาย Landscape ท่องเที่ยว ที่ขายภาพออนไลน์มา 9 ปีแล้ว และเห็นความเปิดกว้างของตลาด NFT ทั้งในแง่ไอเดีย เทคนิค และการสร้างรายได้ ก็เลยเข้าสู่วงการนี้ตั้งแต่มีนาคมปีก่อน ตอนแรกเริ่มขายที่ Opensea แต่รู้สึกว่างานภาพถ่ายยังค่อนข้างจำกัดกับการลงภาพเยอะเป็นคอลเลกชัน พอดีกับที่ได้ Invited มาใหม่ เลยได้ไปลงขายงานแบบเป็นชิ้นเดี่ยวๆ อยู่ที่ Foundation ยาวๆ ครับ” 

โอกาสดีๆ ที่มาพร้อม NFT 

เราเห็นว่า NFT ที่คุณโอทำค่อนข้างฉีกจากสไตล์งานภาพสต๊อกของตัวเองพอสมควร ทำไมถึงเป็นแบบนั้น?

“งานทั้งสองแบบมัน Based on มาจากการถ่ายภาพเหมือนกัน แต่ภาพสต๊อกจะเน้นจัดองค์ประกอบแบบเคลียร์ๆ ไว้ก่อน เพื่อให้ลูกค้าเอาไปใช้ได้ง่าย ส่วน NFT มันไร้ข้อจำกัด ผมอยากทำภาพแบบไหน โทนสีอะไรก็ทำได้ เป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่ ซึ่งตรงนี้มันเป็นโอกาสครั้งแรกที่ทำให้ผมได้เริ่มเรียนรู้การทำภาพเคลื่อนไหว (ที่ไม่เคยทำมาก่อน) เป็นอะไรที่ใหม่มาก กว่าจะได้งาน NFT สักชิ้นก็นาน เพราะเราไม่เคย แต่ผมว่ามันก็สนุกไปอีกแบบ”

นอกจากการทำภาพเคลื่อนไหวแล้ว คุณโอยังเล่าเพิ่มเติมอีกว่า NFT ยังให้โอกาสที่น่าจดจำอีกหลายครั้ง เช่น การขายงานชิ้นแรกได้ การที่มี Collector มาแข่งกันประมูลงานของเขา (Bid Wars) หรือตอนที่ผู้ชนะประมูลมาทวีตถึงเขาว่าชื่นชอบงาน ซึ่งมันเป็นแรงขับเคลื่อนให้เขามีแรงทำงานชิ้นใหม่ต่อไปได้เป็นอย่างดี

ช่วงแรกที่ก้าวมาทำสิ่งใหม่ในตลาดใหม่ ได้เตรียมใจไว้ไหมถ้าเกิดขายงานไม่ได้

“ถ้าสมมติงานขายไม่ได้ ผมก็จะกลับมาดูงานตัวเองแล้วพัฒนาให้มันดีขึ้นนะ 

ผมเชื่อว่าโอกาสมันจะมา ถ้างานเราดีพอ”

ปัญหาที่ก้าวผ่านมาแล้ว

หลังจากทำ NFT มาสักพัก มีปัญหาอะไรบ้างที่เคยเจอและอยากมาแชร์กับพวกเรา

“Scammers ครับ เจอเยอะมาก ส่วนใหญ่มาจากทวิตเตอร์ เช่น มาในรูปแบบเป็น Collector ที่อยากซื้องานเราแต่ให้เราโอนเงินค่าแก๊สให้หน่อย หรือจะเป็นการมาหลอกให้คลิกลิงค์ Invited มันหลายรูปแบบมาก ซึ่งไม่ค่อย Make Sense ก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่แล้ว เวลาเขาส่งลิงค์มาผมก็จะไม่กล้ากดเข้าไป ศิลปินหน้าใหม่ต้องระวังเรื่องนี้มากๆ เพราะมีโอกาสถูกแฮก E-wallet ได้” 

เป้าหมายของ Peerafoto ในปีนี้

แพลนของปีนี้ก็คือการทำคอลเลกชัน NEON BANGKOK ให้ดีที่สุด คือออกไปถ่ายรูปมุมใหม่ๆ ให้มากที่สุด เพราะอย่างที่รู้กันว่าในกรุงเทพมีมุมสวยๆ เยอะ เราอยากจะให้คนอื่นได้เห็น และจะพยายามพัฒนางานของตัวเองให้มีความสวยงามมากขึ้น ส่วนในอนาคตก็จะมีคอลเล็กชันอื่นๆ ที่เรามีไอเดียไว้แล้วเพิ่มเติมขึ้นมาอีก ก็อยากให้รอติดตามกันครับ ฝากด้วยครับ

ติดตามผลงานและพูดคุยกับ Peerafoto ทั้งหมดได้ที่ 

Foundation: Peerafoto

Facebook: Peera Sathavirawong

Twitter: Peera_Foto

Instagram: peera_foto