“Nocturnal Animals” หรือชื่อไทยคือ “คืนทมิฬ” ผลงานการกำกับของ ‘ทอม ฟอร์ด’ (Tom Ford) ดีไซน์เนอร์มากความสามารถที่เคยสร้างความฮือฮาในโลกแฟชั่น ในโลกของภาพยนตร์ก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เมื่อได้ ‘เอมี อดัมส์’ (Amy Adams) และ ‘เจค จิลเลนฮาล’ (Jake Gyllenhaal) มาสร้างปรากฏการณ์ภาพยนตร์ระทึกขวัญแนวจิตวิทยาอเมริกัน โดยดัดแปลงจากนิยายเรื่อง “Tony and Susan” ของ ‘ออสติน ไรท์’ (Austin Wright) ส่วนของภาพ องค์ประกอบศิลป์ สกอร์ รวมไปถึงไดอะล็อกที่เต็มไปด้วยความพิถีพิถัน ทำให้หนังเรื่องนี้นับเป็นอีกผลงานศิลปะชิ้นเอกของฟอร์ดเลยก็ว่าได้
“Nocturnal Animals” ว่าด้วยเรื่องราวของ ‘ซูซาน มอร์โรว์’ (เอมี่ อดัมส์) นักค้างานศิลปะและเป็นเจ้าของอาร์ตแกลเลอรี ในลอสแองเจลิส เรียกได้ว่าชีวิตของเธอดีพร้อมไปด้วยฐานะและครอบครัวที่มั่งคั่ง แต่แล้วชีวิตที่แสนสมบูรณ์แบบของเธอกลับไม่ได้เต็มไปด้วยความสุขเหมือนที่หวังไว้ ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับสามีกำลังดิ่งลงเหวด้วยปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้า จนกระทั่งวันหนึ่ง เธอได้รับนิยายต้นฉบับเรื่อง “Nocturnal Animals” จาก ‘เอ็ดเวิร์ด เชฟฟิลด์’ (เจค จิลเลนฮาล) สามีเก่าของเธอที่ไม่ได้ติดต่อกันมานานหลายปี และเมื่อซูซานได้เริ่มเปิดหน้าแรกของนิยายต้นฉบับเรื่องนี้ ตัวอักษรก็ค่อยๆ กัดกินหัวใจเธออย่างช้าๆ ขุดคุ้ยอดีตให้หวนกลับคืนมามีชีวิตในจิตใจของเธออีกครั้ง
“ตัวอักษร ฆ่าคนได้” คำกล่าวนี้อาจจะดูเกินจริง
แต่หากเปลี่ยนจากคำว่า ‘คน’ เป็น ‘ความรู้สึก’
ก็คงจะไม่ไกลจากความจริงมากนัก
ผู้กำกับเลือกที่จะกระพือบรรยากาศความอึดอัดตั้งแต่เริ่มเรื่อง สร้างอารมณ์ที่คลุมเครือให้เป็นโทนของหนังเรื่องนี้ ผ่านการเสนอเรื่องราวจาก 2 มุมมอง ในแบบของหนังซ้อนหนัง เรื่องราวในหนังสือถูกเล่าเป็นฉากๆ สลับกันไป ตัวของซูซานเองก็เป็นคนที่มีพรสวรรค์ในด้านงานศิลปะ เธอจึงตกหลุมพรางของสุนทรียะได้อย่างง่ายดาย และเอ็ดเวิร์ดรู้เรื่องนี้ดี จึงใช้หนังสือเป็นจุดอ่อนในการแก้แค้นผ่านความงามของตัวอักษร การเล่าเรื่องที่ดิบและก้าวร้าวในนิยายที่เอ็ดเวิร์ดมอบให้ซูซาน
เป็นเหมือนคำอุปมาเปรียบเปรยความสัมพันธ์ของพวกเขาในอดีต ความบิดเบี้ยวและผิดหวังของเอ็ดเวิร์ดถูกกลั่นออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้ และส่งต่อให้ตัวต้นเหตุของมันอย่างซูซานโดยเฉพาะ
แน่นอนว่าซูซานตกลงไปในหลุมพรางตัวอักษรของเอ็ดเวิร์ดจนถึงก้นหลุม เธอดำดิ่งลงไปในเรื่องราวผ่านตัวอักษร นิยายต้นฉบับเล่มนี้ทำงานกับเธอได้เป็นอย่างดี การแก้แค้นเข้าใกล้เส้นชัยเข้ามาทุกที สุดท้ายแล้วซูซานก็ได้ส่งอีเมลไปขอนัดพบเอ็ดเวิร์ดอีกครั้ง แม้เอ็ดเวิร์ดจะตอบรับ เขากลับไม่มาตามอย่างที่สัญญาไว้ ทิ้งให้ซูซานเผชิญกับรู้สึกถึงความผิดหวัง อ้างว้าง และโดดเดี่ยว เหมือนที่ซูซานเคยทำไว้กับตัวเขาในอดีต การแก้แค้นที่ปราศจากบาดแผลภายนอก แต่กลับสร้างแผลเป็นในใจที่ไม่มีวันหายให้กับอดีตคนรัก จะเห็นได้ว่าฟอร์ดเล่นกับความรู้สึกของคนดูได้อย่างเชี่ยวชาญ การกำกับที่ค่อยๆ ปลดปล่อยอารมณ์ ความแค้น ออกมาทีละน้อยแต่แนบเนียบ เป็นความใส่ใจในรายละเอียดที่เป็นจุดเด่นในการทำงานของเขา และเจคก็สามารถดึงเอาความรู้สึกของตัวละครออกมาได้อย่างไร้ที่ติ “Nocturnal Animals” ได้ยกระดับคำว่า ‘แก้แค้น’ ไปอีกเลเวลในแบบที่ไม่ต้องมีเลือดออกสักหยด
ในส่วนของงานออกแบบเครื่องแต่งกายที่เป็นความถนัดของฟอร์ดอยู่แล้วนั้น ก็โดดเด่นไม่แพ้กันเลย รวมไปถึงภาพ ซาวด์ จนสงสัยว่าเสียงหัวใจที่ได้ยินนี้มาจากตัวหนัง หรือหัวใจของนักเขียนเองกันแน่
แม้ว่า “Nocturnal Animals” จะเป็นการเล่าเรื่องสลับกันไปมาระหว่างเรื่องในหนังสือและความจริง แต่ในระหว่าง 2 ชั่วโมงนั้นแทบจะหารอยต่อระหว่างการเล่าเรื่องแทบไม่เจอเลย เต็มไปด้วยความลุ้นระทึก และเข้าถึงความรู้สึกของตัวละครได้แบบเต็มสูบ ถึงแม้ว่าจะต้องใช้เวลาสักพักในการประมวลผลหลังจากจบเรื่อง หรืออาจจะต้องดูถึงหลายครั้งเพื่อทำความเข้าใจกับหนังเรื่องนี้ แต่เชื่อเถอะว่ามันคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปแน่ๆ เพราะนอกจากในแง่ของภาพยนตร์แล้ว งานชิ้นนี้ยังเป็นผลงานศิลปะชิ้นเอกที่ฟอร์ดได้ฝากลวดลายและฝีมือเอาไว้ในวงการภาพยนตร์อีกหนึ่งเรื่อง
ขอขอบคุณรูปภาพจาก Apple TV